Radio Taiwan International รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. 2566 ว่าแรงงานไทยในไต้หวันมีแนวโน้มทำอัตวินิบาตกรรมหรือฆ่าตัวตายมากขึ้นต่อเนื่อง เฉพาะปี 2565 ที่ผ่านมา ฆ่าตัวตายไปแล้ว 18 ราย จากยอดจำนวนการเสียชีวิตของคนไทยในไต้หวันที่เสียชีวิตในปี 2565 จำนวน 101 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาส่วนตัว อาทิ ภาวะโรคซึมเศร้า ปัญหาสุขภาพ ความรักและภาระหนี้สิน เป็นต้น ทำให้เกิดความเครียด สำนักงานแรงงานไทย ไทเป วอนร่วมด้วยช่วยกัน แนะรับฟังปัญหาและเคียงข้างเพื่อนรอบข้างที่มักมองโลกในแง่ลบ เพราะเพียงนาที ชีวิตเปลี่ยนได้
เริ่มต้นปีใหม่ 2566 แนวโน้มดังกล่าวยังขยายไม่หยุด มีคนงานไทยฆ่าตัวตายไปแล้วอย่างน้อย 3 ราย ล่าสุดเป็นแรงงานไทยอายุ 29 ปี มาจากจังหวัดอุดรธานี เดินทางมาทำงานกับโรงงานผลิตสายไฟและเคเบิลที่เขตหลูจู๋ นครเถาหยวนเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา มีเพื่อนแรงงานไทยพบใช้เชือกผูกคอกับราวบันไดหอพักที่ชั้นสองหย่อนตัวลงชั้นหนึ่ง รีบแจ้งผู้จัดการเรียกรถพยาบาล ช่วยกันนำร่างลงมาส่งรักษาที่โรงพยาบาลฉางเกิง ขณะไปถึง แพทย์ช่วยกู้ชีพให้หัวใจกลับมาทำงานได้ แต่เนื่องจากสมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงเป็นเวลานาน แม้หัวใจจะทำงาน แต่มีภาวะเป็นผักตลอดไป นายจ้างและบริษัทจัดหางานช่วยประสานงานกับญาติที่เมืองไทย อธิบายความเห็นของแพทย์ ญาติตัดสินใจไม่กู้ชีพอีกหากมีภาวะฉุกเฉิน 2 วันต่อมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล จากการบอกเล่าของเพื่อน ๆ ในโรงงาน ก่อนเกิดเหตุ แรงงานไทยรายนี้มีสีหน้าหงอยเหงา ไม่ค่อยพูดจา แต่ไม่แสดงอาการจะจบชีวิตตัวเองเช่นนี้ ทางนายจ้างและบริษัทจัดหางานบอกเสียใจที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้และจะช่วยเหลือทายาทจัดการศพและยื่นขอเงินสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันได้นิมนต์พระไทยมาทำพิธีสวดมนต์ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่แรงงานไทยในหอพักที่มีประมาณ 30 คนเศษ
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายแต่ละครั้ง จะส่งผลกระทบต่อคนใกล้เคียงอย่างน้อย 6 คน หากเหตุการณ์เกิดขึ้นในโรงงานจะมีผลกระทบต่อคนจำนวนมากได้ ปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตาย ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากความถี่ของปัญหามีมากขึ้นกว่าในอดีต รวมทั้งระดับความเครียด ความกดดันที่สูงขึ้นของผู้คนในสังคมปัจจุบัน ในขณะที่ความแข็งแรงของสุขภาพจิตที่ลดลง
สำนักงานแรงงานไทย ไทเป วอนแรงงานไทยร่วมด้วยช่วยกัน เมื่อพบว่า เพื่อนร่วมงานมีลักษณะบ่งบอกว่ามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายแล้ว ต้องรีบให้ความช่วยเหลือ ป้องกัน ซึ่งทำได้ในหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสถานการณ์ คนที่คิดฆ่าตัวตายมักมองโลกในแง่ลบ คิดว่าไม่มีใครช่วยเขาได้ เราจึงควรเป็นฝ่ายเข้าหาเขามากกว่ารอให้เขาร้องขอ โดยปกติ ก่อนเกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้นสามารถสังเกตเห็นเป็นสัญญาณได้หลายอย่าง เช่น คิดว่าตัวเองไร้ค่า มีแต่ความล้มเหลวทำอะไรไม่สำเร็จ รู้สึกท้อแท้ รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ ไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไร คิดถึงคนที่ตายไปแล้ว สนใจข่าวการตาย ขาดความสนใจในตัวเอง ปล่อยเนื้อปล่อยตัวไม่ดูแลตัวเอง ไม่กินข้าว ไม่อาบน้ำ ไม่นอน ชอบเก็บตัวตามลำพัง แยกตัวจากครอบครัวและเพื่อนฝูง ขาดความสนใจต่อสิ่งรอบข้าง ไม่รู้สึกสนุกสนานกับสิ่งที่เคยชอบ มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มเหล้าจัด ขับรถเร็ว พูดบ่น หรือเขียนข้อความเกี่ยวกับความคิดอยากตาย เป็นต้น
นางสาวประภาวดี แก้วศิริพงษ์ ผอ. สำนักงานแรงงานไทยกล่าวเรียกร้องว่า การรับฟังและเคียงข้างผู้ที่มีภาวะที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย แม้เพียงเวลาเล็กน้อย หรือเพียง 24 ชม. ก็อาจช่วยให้เขาเปลี่ยนความคิดให้ดีขึ้น และยับยั้งชั่งใจตัวเองได้