โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประเทศไทย เผยผลสำรวจเงินเดือน - แนวโน้มการจ้างงานปี 2565 เผย 10 ข้อน่ารู้ แนวโน้มตลาดงานในประเทศไทย ค่าตอบแทนการย้ายงานขยับ 10 - 30% ในสาขาดิจิทัลเรียกเงินเดือนเพิ่มสูงสุด 30% หากย้ายงานใหม่ วัฒนธรรมองค์กรยืดหยุ่น การสื่อสารช่วยดึงดูดการทำงาน
ปี 2565 เป็นปีที่ภาคธุรกิจมีความหวังว่าภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นชัดเจนหลังจากที่ในปี 2563 - 2564 ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายระลอกทำให้เศรษฐกิจและภาคธุรกิจโดยรวมได้รับผลกระทบ
โดยตลาดแรงงานถือว่าเริ่มมีสัญญาณในการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีเมื่อการควบคุมการระบาดในประเทศและในภาคการผลิตทำได้ดีขึ้น มีการเร่งรัดเรื่องการฉีดวัคซีนที่ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้ ช่วยให้ตลาดแรงงานฟื้นตัว ความต้องการจ้างงานของภาคเอกชนมีมากขึ้น
"กรุงเทพธุรกิจ" สัมภาษณ์ "ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา" ผู้จัดการโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงลอนดอนและ สำนักงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกี่ยวกับแนวโน้มการจ้างงาน ตำแหน่งงานที่ได้รับความสนใจ รวมทั้งข้อมูลแนวโน้มเงินเดือนในสาขางานที่น่าสนใจใน ในปี 2565
ปุณยนุช กล่าวว่าการระบาดของโควิด-19 ในปี 2564 ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทยและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก น้อยกว่าเมื่อเทียบกับปี 2563
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2564 การจ้างงานในหลายประเทศในภูมิภาคได้มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่ในประเทศไทยการฟื้นตัวยังค่อนข้างช้าเนื่องจากการระบาดในช่วงแรกยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการผลิต ขณะที่ในภาคเทคโนโลยีและดิจิทัล ได้มีการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกอุตสาหกรรมและพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดและนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจในยุคดิจิทัล
ผลการสำรวจเงินเดือนในปี 2565 ของโรเบิร์ต วอลเทอร์สสำหรับประเทศไทย มีสาระสำคัญน่าสนใจ 10 ข้อ ได้แก่
1.อัตราเงินเดือนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10-30% สำหรับผู้ที่หางานใหม่ในปี 2565 โดยสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดมากเช่น ตำแหน่งที่เกี่ยวกับความปลอดภัยไซเบอร์ การควบคุมไลน์การผลิตให้มีความต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ที่มีความรู้เรื่องวิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สามารถปรับเพิ่มเงินเดือนได้กว่า 30% กรณีที่มีการย้ายงานไปที่ใหม่
2.ความต้องการในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีจะเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้เกิดการขาดแคลนบุคลากร สืบเนื่องมาจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจในยุคดิจิทัลอย่างแพร่หลายในทุกอุตสาหกรรม
3.พนักงานที่มีทักษะทางเทคโนโลยีจะเป็นที่ต้องการอย่างสูงด้วยข้อเสนอที่น่าจูงใจ ในขณะที่บริษัทจะต้องปรับค่าตอบแทนและสวัสดิการเพื่อให้สามารถรักษาบุคลากรด้านเทคโนโลยี ด้านระบบการจัดการอัตโนมัติและการวิเคราะห์ผล ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดไว้ได้
ในขณะที่การสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถภายในประเทศยังคงดำเนินต่อไป ตำแหน่งที่สามารถทำงานจากระยะไกลได้ (remote working) จะดึงดูดผู้สมัครจากต่างประเทศที่ไม่จำเป็นต้องย้ายมาประเทศไทย
4.ภาคการผลิตของไทยจะฟื้นตัวเพื่อเตรียมพร้อมกับความต้องการที่มาจากทั่วโลก โดยการผลิตในไทยจะได้รับอานิสงค์จากการกระจายฐานการผลิตจากประเทศอุตสาหกรรมมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
5.ผู้สมัครงานต้องการการทำงานที่ยืดหยุ่น และแผนการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น
6.การทำงานระยะไกล (remote working) กำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับทักษะการสื่อสารที่จำเป็นเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับทีมงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
7.อัตราการลาออกของพนักงานจะสูงขึ้นเนื่องจากพนักงานกำลังมองหางานใหม่ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิดจะยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้พนักงานตระหนักถึงความเสี่ยงในการเปลี่ยนงาน ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรเฉพาะในบางด้านเท่านั้น
8.การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะเป็นทักษะที่นายจ้างต้องการในตัวผู้สมัครควบคู่ไปกับทักษะการเรียนรู้และการทำงานเชิงรุก
9.การเพิ่มขึ้นของทำงานจากระยะไกล (remote working) ส่งผลต่อการเพิ่มความหลากหลายของพนักงาน นำไปสู่พนักงานที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้น พนักงานให้ความสำคัญกับเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรมากขึ้น และบางองค์กรต้องการการทำงานแบบไฮบริดที่มีการทำงานทั้ง
และ 10.สิ่งที่ถูกให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น คือ การที่นายจ้างจะต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนแก่พนักงานในกรณีที่ต้องมีการเรียกมาทำงานที่หน้างานโดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในวงกว้าง
ปุณยนุชกล่าวต่อว่าสำหรับทิศทางการจ้างงานในปี 2565 การทำงานแบบในออฟฟิศจะถูกให้ความสำคัญน้อยลง แต่จะเน้นรูปแบบการทำงานจากระยะไกล (remote working) ที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ในโลกใบนี้มากขึ้น
รวมไปถึงความต้องการในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลจะมีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในด้านเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ การขาย และการตลาด รวมไปถึงตำแหน่งที่ผู้สมัครสามารถใช้ทักษะของตนได้โดยไม่ต้องมีการฝึกอบรมใดๆ จะสามารถเรียกเงินเดือนที่สูงได้ การปรับตัวของเงินเดือนในปี 2565 ยังคงสอดคล้องกับปีก่อนหน้าที่ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ จะอิงตามความสามารถในการแข่งขัน
ทั้งนี้ในปี 2565 การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ ได้ก่อให้เกิดความต้องการจ้างงานในหลายตำแหน่ง ตัวอย่างเช่น บริการทางการเงิน ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการขยายโครงข่าย 5G การวิเคราะห์ข้อมูล และบล็อกเชน รวมถึงการบริการลูกค้า การบริการทางธนาคารแบบเสมือนจริง นอกเหนือจากนี้ ในปี 2565 เทคโนโลยีจะยังมีบทบาทเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทคโนโลยีด้านการศึกษา เทคโนโลยีด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีการผลิตแบบอัตโนมัติ จะเป็นที่ต้องการอย่างมาก ควบคู่ไปกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การทำงานจากที่บ้านทำให้เกิดการขยายขอบเขตการสรรหาบุคลากรซึ่งมุ่งเน้นที่ความหลากหลายและการทำงานร่วมกันมากขึ้น ทักษะด้านการจัดการ (soft skills) และการสื่อสารถือว่ามีความจำเป็น
"ในปี 2565 ในทุกอุตสาหกรรมพนักงานมีความมั่นใจในโอกาสการจ้างงานใหม่และส่วนใหญ่คาดหวังว่าจะได้รับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ยอดเยี่ยมแล้ว ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่านโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อนร่วมงาน และวัฒนธรรมองค์กรที่สร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานทำงานอย่างดีที่สุด รวมถึงการทำงานที่ท้าทายและน่าสนใจมากขึ้น ถือเป็นปัจจัยที่พนักงานให้ความสำคัญสูงที่สุดในลำดับแรก" ปุณยนุช กล่าว