ก.แรงงาน เคาะมาตรการเยียวยา 4 กิจการ เน้นผู้ประกันตน ม.33
นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยผ่านรายการ “เป็นเรื่องเป็นข่าว” เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาจากผลกระทบโควิด-19 ระบุว่า ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม เฉพาะผู้ประกันตน ม.33 ใน 4 กิจการ
ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม ที่จะเยียวยา จะเยียวยาเฉพาะมาตรา 33 ทั้งกลุ่มก่อสร้าง , สถานบริการ , ร้านอาหาร , กลุ่มศิลปะ บันเทิงและสันทนาการ ซึ่งจะได้รับการดูแลตามประกาศกระทรวงแรงงาน เนื่องจากมีเหตุต้องปิดกิจการ โดยจะได้รับเงินชดเชย 50% ของฐานค่าจ้าง 15,000 บาท
เมื่อถามว่า เพราะเหตุใดผู้ประกันตนรูปแบบอื่น เช่น ม.39, ม.40 ไม่ได้รับการชดเชยนั้น นายสุรชัย ตอบว่า แม้จะถือเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม แต่เป็นคนละรูปแบบ ซึ่งใน ม.33 จะมีนายจ้าง และการที่กระทรวงแรงงานเข้าไปดูแล เนื่องจากว่าเป็นองค์กรนิติบุคคลที่จะต้องปิดกิจการหรือหยุดงาน
ขณะที่ถ้าเป็น ม.39, ม.40 จะมุ่งเน้นไปเรื่องของประกันสุขภาพ รวมทั้งเป็นผู้ประกันตนเอง ไม่ได้มีเงินสมทบจากนายจ้างเหมือน ม.33 ซึ่งจะได้รับการเยียวยาอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าไม่มีลูกจ้าง ทำงานอิสระ ซึ่งปัจจุบันจะได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้น 3,000 บาท ผ่านโครงการคนละครึ่ง ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล
ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยรับผลโควิดระลอก 3 ชัดขึ้น หวั่นยืดเยื้อ กระทบแรงงานสูญเสียทักษะ
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคมได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการแพร่ระบาดระลอก 3 ของ COVID-19 ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รายได้ของภาคครัวเรือน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลง แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บางส่วน ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนก็ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามอุปสงค์ในประเทศและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลงจากการแพร่ระบาดระลอก 3 ส่งผลให้การลงทุนทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้างปรับลดลง
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตร หมวดสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ การส่งออกที่ฟื้นตัวช่วยพยุงให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อน ในช่วงที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ต่อการผลิตและการส่งออกในบางสินค้า โดยเฉพาะอาหารแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ด้านการใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนขยายตัวได้เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากผลของมาตรการลดค่าไฟฟ้า เพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในระยะเดียวปีก่อนที่มีมาตรการลดค่าน้ำประปาของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบางและได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอก 3 โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อนตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอน แม้ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่
ส่วนมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด (สีแดงเข้ม) ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 นั้น ยอมรับว่ามาตรการเหล่านี้มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่ง ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและประเมินผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ธปท. ยอมรับว่า กังวลสถานการณ์ COVID-19 ยืดเยื้อ เป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคแรงงาน มีอัตราการว่างงานนานกว่าที่คาด และอาจจะกลายเป็นแผลเป็นที่แก้ได้ยากขึ้นในอนาคต เนื่องจากแรงงานบางส่วนที่ไม่ได้ทำงานเป็นระยะเวลานานอาจจะสูญเสียทักษะไป เพราะฉะนั้น เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นก็ต้องเร่งฟื้นฟูทักษะให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยว
ที่มา: สำนักข่าวไทย, 30/6/2564
เผยตั้งแต่ปี 2563 จนถึงไตรมาส 1/2564 มีแรงงานที่ต้องออกจากระบบประกันสังคม ม.33 แล้วกว่า 1 ล้านคน
นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) กล่าวในงานสัมมนา เปิดตัวรายงาน “ภาวะประชากรสูงวัยและตลาดแรงงานในประเทศไทย” ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นประเด็นท้าทายต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงตลาดแรงงาน ซึ่งรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกในการคุ้มครองทางสังคม ตลาดแรงงาน รวมถึงประชากรสูงวัยที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นให้สามารถรับมือและเข้าใจกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้
“ภาวะประชากรสูงวัยในไทย ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในไทย และอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตได้ ดังนั้นการมีนโยบายที่ดี จึงมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนตลาดแรงงานอย่างมาก และทำให้ตลาดแรงงานไทยมีความยั่งยืน ประชากรมีความเป็นอยู่ที่ดี” นางเบอร์กิท กล่าว
นางสาวฟรานเชสก้า ลามานน่า นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมถึงการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งและเป็นแรงกดดันสำหรับตลาดแรงงานในไทย โดยงานหลายอย่างถูกแทนด้วยระบบอัตโนมัติ นั่นหมายความว่าแรงงานจะต้องมีการเพิ่มทักษะให้มากขึ้น ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญและเป็นโอกาสที่ดีของตลาดแรงงานไทยที่จะเร่งดำเนินการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงเรื่องภาวะประชากรสูงวัยในตลาดแรงงานไทยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทย และจะมีผลสูงมากในเรื่องการจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือน
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า อัตรากำลังของวัยทำงานในตลาดแรงงานไทยลดลงอย่างรวดเร็ว โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ในส่วนของไทยมีอัตรากำลังวัยทำงานหดตัวเป็นอันดับ 3 รองจากเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ขณะที่ประชากรสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 14% โดยที่สหรัฐฯ ใช้เวลาถึง 69 ปีสำหรับการเปลี่ยนแปลงของประชากรในลักษณะดังกล่าว
นอกจากนี้ไทยยังมีแรงงานนอกระบบมากกว่า 50% ของกำลังแรงงานทั้งหมด สะท้อนว่าแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม และการดูแลด้านสุขภาพโดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไทยยังประสบปัญหาความยากจนอยู่ แต่ปัจจุบันอัตราความยากจนค่อย ๆ ดีขึ้น แต่หากไม่มีนโยบายเรื่องการจัดการแรงงานที่ดีพอ งานที่มีอยู่อาจจะไม่เพียงพอทำให้ประชากรอยู่ได้อย่างเพียงพอ
นายแฮรี่ โมรอซ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 2/2563 ตลาดแรงงานไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้ตำแหน่งงาน 7 แสนตำแหน่งหายไปจากตลาดแรงงาน รวมถึงชั่วโมงการทำงานก็ลดลงด้วย ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าแรงงานในระบบ ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานอีกครั้ง สะท้อนจากในไตรมาส 1/2564 พบว่า ชั่วโมงการทำงานมีการปรับตัวลดลงกว่าปีก่อน ตรงนี้บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานไทยไม่มีการฟื้นตัว หรือฟื้นตัวได้ช้า แรงงานในภาคอุตสาหกรรมหายไปจำนวนมาก ขณะที่แรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด
“ผลกระทบจากประชากรสูงวัยเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างชัดเจน การหดตัวของวัยทำงานอย่างมากในไทยจะหลายเป็นปัญหาในระยะยาว หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีนโยบายที่ชัดเจน อาจทำให้ตั้งแต่ปี 2563 – 2583 จะมีแรงงานในวันทำงานลดลงอย่างน้อย 4 ล้านคน ขณะที่ประชากรสูงวัยที่ปรับเพิ่มขึ้น จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงด้วย” นายแฮรี่ กล่าว
นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงไตรมาส 1/2564 มีแรงงานที่ต้องออกจากระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 แล้วกว่า 1 ล้านคน ขณะที่ก็มีแรงงานบางส่วนที่สามารถกลับเข้ามาในระบบประกันสังคม รวมถึงแรงงานที่ได้รับการจ้างงานใหม่รวมกว่า 7 แสนคน ส่วนที่เหลือกลายเป็นแรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระ หรือไปอยู่ในภาคเกษตร เป็นต้น
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาการขาดรายได้ของแรงงานในระยะสั้นนั้น รัฐบาลได้มีนโยบายในการพยุงรายได้ การเติมเงินให้ผู้ประกันตน เสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเพื่อพยุงการจ้างงานในระบบผ่านมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมให้แรงงานใหม่ได้มีโอกาสทำงาน ช่วยทำให้ตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวได้ดีขึ้น และสามารถพยุงการจ้างงานในระบบได้หลายหมื่นอัตรา
อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานยังเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดินหน้ามาตรการระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในระบบรายเล็กให้สามารถอยู่รอดได้ โดยการช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงานแทนนายจ้าง ไม่เกิน 50% หรือไม่เกิน 6 แสนบาท สำหรับนายจ้างหรือสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีแรงงานไม่เกิน 200 คน ซึ่งสะท้อนว่าในภาวะวิกฤติของโควิด-19 แรงงานที่ถูกกระทบ รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานพยายามดูแลให้มีการรักษาสภาพการจ้างงานในตลาดให้ยาวที่สุด ผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเงินทั้งนายจ้างและแรงงานให้มากที่สุด
ครม.อนุมัติ 5 พันล้าน เยียวยาแรงงาน-ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากข้อกำหนด ฉ.25
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดควบคุมโควิด-19 ฉบับที่ 25 ทั้งแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคมและนอกระบบ ในกิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมสาขาศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ในระยะเวลา 1 เดือน โดยใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท
สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือ กลุ่มแรก คือ แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทย ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมที่ได้มีการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างและนายจ้างตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่ แต่ไม่เกิน 90 วัน
กลุ่มที่ 2 ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง จะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และกลุ่มที่ 3 ผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แยกเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุด ไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,000 บาทต่อคน
กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน "ถุงเงิน" ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือนกรกฎาคม เช่นกัน โดยผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท และกรณีที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่ม ของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการคนละครึ่งและมีลูกจ้างแต่ยัง ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม ภายในเดือน ก.ค. 2564 นี้
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 29/6/2564
แผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ประกาศให้พนักงานลาหยุด 1 ปี โดยไม่จ่ายเงินเดือน ลดค่าใช้จ่ายองค์กร เริ่ม 1 ก.ค. 2564
วันที่ 29 มิถุนายน 2564 รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่สายทรัพยากรบุคคล รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทฯ ได้ออกประกาศบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ที่ 025/2564 เรื่องโครงการให้พนักงานลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนค่าจ้าง (Code 8300) ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 1 ปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 -30 มิ.ย. 2565 ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2564
โครงการนี้เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรให้แก่บริษัท รวมทั้งให้พนักงานบางกลุ่มที่มีปัญหาด้านสุขภาพสามารถเข้ารับการรักษาและดูแลสุขภาพได้ โดยไม่เป็นภาระต่อตัวพนักงานและบริษัทฯ เพิ่มพูนความรู้ให้พนักงานและเกิดประโยชน์กับบริษัทฯ กรณีพนักงานลาไปศึกษาต่อ และให้พนักงานที่ต้องการลาติดตามคู่สมรส โดยพนักงานที่จะเข้าร่วมโครงการได้จะต้องเป็นพนักงานที่ผ่านการกลั่นกรองเข้าสู่โครงสร้างองค์กรปัจจุบันนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2564 และยังคงมีสภาพเป็นพนักงานของบริษัทฯ ณ วันที่พนักงานแจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ และเป็นพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยเท่านั้น
โครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนครั้งนี้ เป็นรูปแบบความสมัครใจร่วมกันทั้งสองฝ่ายระหว่างบริษัทฯ กับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ อย่างไรก็ตามทางบริษัทฯ สงวนสิทธิพิจารณาอนุมัติตามดุลพินิจบริษัทฯ แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยคำนึงถึงความเหมาะสม และผลกระทบหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ต่องาน เป็นสำคัญ โดยพนักงานจะเริ่มลาได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่สามารถถอนเรื่องคืนหรือยกเลิกได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากบริษัทฯ และบริษัทฯยัง มีสิทธิ โดยฝ่ายเดียวที่จะเรียกพนักงานให้กลับมาทำงานก่อนกำหนดระยะเวลาการลา โดยให้ถือว่าการลาในครั้งนั้นสิ้นสุดลงทันที หากพนักงานไม่กลับมาเข้าปฏิบัติงาน จะถือว่าพนักงานมีความผิดทางวินัย
รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัทฯ จะนับระยะเวลาการลาทั้งหมด เป็นเวลาในการปฏิบัติงาน ในการคำนวณอายุการทำงาน เพื่อให้สิทธิตามกฎหมายของพนักงาน โดยในระหว่างที่ลา บริษัทฯ และพนักงานที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะไม่ส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ขณะที่พนักงานจะไม่ได้รับค่าจ้างและเงินใดๆ จากบริษัทฯ ตลอดระยะเวลาของการลา แต่ยังคงได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์จากบริษัท
สำหรับกรณีที่พนักงานลาติดต่อกันตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป บริษัทฯ จะจ่ายเงินช่วยเหลือจำนวน 1,650 บาทต่อเดือนให้แก่พนักงาน (ก่อนหักภาษี) เพื่อช่วยเหลือพนักงานให้ยังมีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอยู่ เพื่อที่พนักงานจะได้คงสิทธิในการได้รับผลประโยชน์ทดแทนต่าง ๆ จากกองทุนประกันสังคมในระหว่างระยะเวลาการลานี้ เท่านั้น
นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาการลา ห้ามพนักงานดำเนินกิจการส่วนตัวหรือร่วมกิจการในห้างหุ้นส่วน ร้านค้าบริษัท องค์กร หรือบุคคลใด ๆ ซึ่งขัดต่อผลประโยชน์ หรืออาจก่อไห้เกิดความเสียหายแก่บริษัทฯ รวมทั้งไม่ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในส่วนราชการหรือในทางการเมือง เว้นแต่ได้รับความยินยอม และต้องรักษาวินัยและปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัท ไม่กระทำการใด ๆ อันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียงของบริษัทฯ
และห้ามพนักงานเข้ามายังสถานที่ทำการของบริษัทฯ โดยเมื่อสิ้นสุดการลา หรือบริษัทฯ เรียกพนักงานให้กลับมาทำงานให้กับบริษัทฯให้พนักงานรายงานตัวต่อต้นสังกัดโดยผู้บังคับบัญชาจะเป็นผู้พิจารณาประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยอาจพิจารณาให้พนักงานไปปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เหมาะสมต่อไป
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 29/6/2564
ธุรกิจกลางคืนยื่น 8 ข้อ ร้องรัฐช่วยเหลือผลกระทบโควิด
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เป็นผู้แทนรับหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี จากสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง นำโดยนายนนทเดช บูรณะสิทธิพร จาก The Rock Pub, นายธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ จาก The Concert
นายวรเมธ พัฒนพฤกษ์ รองหัวหน้าชมรมผู้ประกอบอาชีพอิสระสายคอนเสิร์ตและอีเว้นท์ และนายพัชร เกิดศิริ จาก iHearBand ด้วยการประสานความร่วมมือกับกลุ่มชอบทำ โดยนายพิษณุพงษ์ ถิรโชติภูวนันท์, นายชัยรัตน์ มหาคุณ และนายพุฒิพงศ์ พจน์จำเนียร ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ในระลอกที่ 3 ซึ่งทำให้ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงต้องปิดสถานบันเทิงหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ส่งผลโดยตรงต่อผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืน
รวมถึงลูกจ้างทุกประเภท ทั้งที่เข้าระบบประกันสังคม และกลุ่มอาชีพอิสระที่รับค่าจ้างแบบรายวัน เช่น นักดนตรี, พนักงานเสิร์ฟ, บาร์เทนเดอร์, พนักงานเชียร์สินค้า, พนักงานโบกรถ, พ่อค้า แม่ค้า ที่ขายของในตลาดกลางคืน ร้านอาหารข้างทางต่าง ๆ เป็นต้น
นายธนกร กล่าวว่า สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง ได้เสนอแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด COVID-19 ดังนี้
1.ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม 2.ขอให้มีคำสั่งปลดล็อกเพื่อให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการและสามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ภายในวันที่ 1 ก.ค.2564 โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค.เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค 3.ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอลล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้
4.ผ่อนปรนให้มีการจัดงานมหรสพ โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค.เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค 5.พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงโดยเร็วที่สุด 6.พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้ หรือการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ
7.เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน หรือประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน เข้าร่วมรับฟัง, เสนอแนะ, พูดคุย ในกระบวนการออกมาตรการและนโยบายต่าง ๆ และ 8.เปิดช่องทางสื่อสารเพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน
นายธนกร กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลมีการหารือถึงมาตรการพิเศษช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับประทบจากการปิดแคมป์คนงาน และธุรกิจร้านอาหารที่ถูกสั่งห้ามกินในร้านแล้ว
ในส่วนของธุรกิจกลางคืนและบันเทิง วันนี้ตนเองเป็นผู้แทนในนามของรัฐบาลมารับหนังสือร้องทุกข์จากสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย จะนำเข้าหารือใน ศบค.ผ่านไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ มั่นใจว่ารัฐบาลจะพิจารณามาตรการช่วยเหลือและเยียวยาให้กับผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงที่ได้รับผลกระทบของโรคระบาด COVID-19 อย่างแน่นอน
กทม. ติดตามมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานในแคมป์ ยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ในวงกว้าง
ห้องประชุมประชาราษฎร์บำเพ็ญ ชั้น 4 สำนักงานเขตห้วยขวาง นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยการร่วมประสานงานการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลุ่มกรุงเทพกลาง เพื่อดำเนินการกำกับ ควบคุม และติดตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในแคมป์ก่อสร้างและแคมป์ที่พักคนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. 64 โดยมี นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง พร้อมคณะผู้บริหารเขต ร่วมให้ข้อมูลและรับมอบนโยบาย
สืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้แถลงหลังจากการประชุมหารือร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 25 มิ ย. 64 ให้ปิดแคมป์ก่อสร้างและแคมป์ที่พักคนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมไปถึงพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการชั่วคราวระยะเวลา 1 เดือน เพื่อระงับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 6/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขและระงับยับยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา) มีผลตั้งแต่ 28 มิ.ย. 64 เป็นต้นไป รวมทั้งประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 34) มีผลตั้งแต่ 28 มิ.ย. 64
ทั้งนี้ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้รองปลัดกรุงเทพมหานคร ดำเนินการกำกับ ควบคุม และติดตามการปิดแคมป์ก่อสร้างและแคมป์ที่พักคนงานก่อสร้างในพื้นที่เขตที่รับผิดชอบ โดยมอบหมายประธานกลุ่มเขต ทั้ง 6 กลุ่มเขต จัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมประสานงานการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร หน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเข้าควบคุมและชะลอการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งพบระบาดเป็นกลุ่มก้อนกระจายในหลายพื้นที่ รวมทั้งสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายเดินทางของกลุ่มเสี่ยง เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่เป็นวงกว้างสู่พื้นที่อื่น ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มีมาตรการตรวจสอบเข้มงวดในแคมป์คนงานก่อสร้างและแคมป์ที่พักคนงาน โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการกำกับ และควบคุมดูแลผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามที่ทางราชการกำหนดโดยเคร่งครัด
ในส่วนของการยกระดับมาตรการในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อแก้ไขและระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในทุกเขต เป็นเวลา 30 วัน และงดเคลื่อนย้ายแรงงานนั้น เวลา 09.30 น. รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจแคมป์ที่พักคนงาน บริษัท บวิค-ไทย จำกัด ถนนเพชรพระราม แยก 9 เขตห้วยขวาง จากข้อมูล ณ วันที่ 27 มิ.ย. 64 พบว่ามีจำนวนคนงานที่พักอาศัยในแคมป์ ทั้งหมด 834 คน ตรวจพบเชื้อ 194 คน (23.26%) ไม่พบเชื้อ 640 คน (76.74%) ซึ่งในขณะนี้ได้ทำการปิดแคมป์แล้วตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อฯ คำสั่งเลขที่ 1000/2564 ลว. 25 มิ.ย. 64 ปิดตั้งแต่ 26-28 มิ.ย. 64 พร้อมปฏิบัติตามมาตรการ Bubble and Seal ภายในแคมป์คนงานเพื่อจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงาน และมีการแยกกักตัวผู้ที่ติดเชื้อกับผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูงภายในแคมป์อย่างเป็นระบบ โดยมีการแยกกักผู้ป่วย ผู้เสี่ยงสูง และผู้ไม่ติดเชื้อ ออกจากกันอย่างเด็ดขาด เช่น อาคารที่พัก ห้องน้ำ การรับประทานอาหาร โดยมีนายจ้างนำอาหารไปให้บริการในแคมป์ ซึ่งในเบื้องต้นสำนักงานเขตห้วยขวางจะช่วยเหลือส่งมอบอาหารสำหรับผู้ป่วยภายในแคมป์ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตห้วยขวาง ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ และฝ่ายความมั่นคงจาก บก.ควบคุม กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เข้าร่วมควบคุมพื้นที่เพื่อควบคุมการเข้า-ออกแคมป์ และการเคลื่อนย้ายแรงงาน ตามแผนที่กำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
จากนั้น เวลา 10.00 น. ลงพื้นที่ลงพื้นที่ตรวจแคมป์ที่พักคนงาน บริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง จำกัด (บ้านพักคนงานสะพานควาย) ซอยพหลโยธิน 15 ถนนพหลโยธิน แขวงพญาไท เขตพญาไท จากข้อมูล ณ วันที่ 27 มิ.ย. 64 พบว่ามีจำนวนคนงานที่พักอาศัยในแคมป์ ทั้งหมด 378 คน ตรวจพบเชื้อ 217 คน (57.41%) ไม่พบเชื้อ 161 คน (42.59%) ซึ่งในขณะนี้ได้ทำการปิดแคมป์แล้วตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อฯ สำนักงานเขตพญาไท วันที่ 21 มิ.ย. 64 ให้แคมป์ฯ ปรับปรุงสถานที่ให้ถูกสุขลักษณะและเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดและห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานเข้า-ออกสถานที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และปฏิบัติตามมาตรการ Bubble and Seal โดยสำนักงานเขตพญาไทร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 11 ประดิพัทธ์ ลงพื้นที่แนะนำและตรวจสอบการจัดแบ่งพื้นที่สำหรับผู้ติดเชื้อภายในแคมป์ โดยแบ่งพื้นที่ผู้ติดเชื้อแยกเป็นสัดส่วน ตามมาตรการอย่างเคร่งครัด พร้อมจัดตั้งกองอำนวยการเฉพาะกิจควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 บริเวณแคมป์ โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ บก.ควบคุม กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางซื่อ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจ เขตพญาไท ประจำการ 24 ชั่วโมง เพื่อควบคุมการเข้า-ออกแคมป์และควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน
จากนั้น รองปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ณ บริเวณซอยวานิช 2 ข้างสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ โดยมีนางสาวอาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่เขต ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 13 ไมตรีวานิช สน.พลับพลาไชย และหน่วยงานด้านความมั่นคงจาก ช.พัน 1 รอ. ร้อย.สห.สนาม 3 พน. และพัน ส.ห.12 ดูแลความเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่รับบริการตรวจคัดกรอง โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค ทำการตรวจคัดกรองด้วยวิธีค้นหาเชื้อทางโพรงจมูก (SWAB) เป้าหมายวันละ 500 คน สำหรับผู้ต้องการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 จะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชน ปากกาหมึกสีน้ำเงิน โทรศัพท์มือถือที่สามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้มาด้วย และควรรับประทานอาหารหรือยารักษาโรคประจำตัวให้เรียบร้อยก่อนมาตรวจ ทั้งนี้สามารถเดินทางมาลงทะเบียนขอรับการตรวจคัดกรองด้วยตนเองได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 64 โดยเริ่มทำการตรวจคัดกรองตั้งแต่เวลา 08.00 - 12.00 น. สอบถามเพิ่มเติมที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ เขตสัมพันธวงศ์ โทร. 0 2233 0846
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 28/6/2564
'ประกันสังคม' เคาะเยียวยาแรงงานจากมาตรการคุม 10 จังหวัด ชดเชย 7 แสนคน 50% ของค่าจ้างคนงานถูกสั่งปิดแคมป์
สำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. พร้อมให้ความช่วยเหลือเยียวยา แรงงาน ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน กรณีที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา มีมติให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเวลา 1 เดือน
รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงแรงงาน ได้ประเมินแล้วว่า ใน 10 จังหวัด มีผู้ประกันตน ในกิจกรรมต่างๆ ได้รับชดเชย ทั้งสิ้น 719,601 คน ซึ่งคาดว่าจะใช้เงิน พันล้านบาท ขณะที่ปีที่แล้ว มีการปิด ไป 3 เดือน ใช้เงิน ไปทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท
นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า จากเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ได้มีการประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และมีมติให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ในแคมป์คนงานนั้น
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานจัดประชุมร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งนี้โดยตรง โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในการประชุม พร้อมผู้บริหารกระทรวงแรงงาน นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งตนและผู้บริหารของสำนักงานประกันสังคม เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้อง ศ.นิคม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน เพื่อหารือในแนวปฏิบัติกรณีปิด (Seal) แคมป์คนงานก่อสร้าง
ในส่วนของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง/ผู้ประกันตน จะจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างของสถานประกอบการที่ ศบค.สั่งปิด โดยจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ้าง
ซึ่งประกันสังคมจะจ่ายเงินเยียวยาชดเชยให้กับ แรงงาน ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรอง ตลอดเวลาการปิดแคมป์ โดยจะมีระบบตรวจสอบว่าลูกจ้าง/ผู้ประกันตนที่จะได้รับเงินชดเชยจะต้องอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง หากไม่อยู่หรือมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัย ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว
สำหรับลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่รับผิดชอบจะเข้าไปตรวจสอบและขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องเพื่อให้ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ยังเข้ามาร่วมดูแลและเยียวยาแรงงาน ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ด้วย โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะเข้าไปดูและในส่วนนายจ้างสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของลูกจ้างในแคมป์คนงานอย่างเคร่งครัด และกรมการจัดหางาน จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือหากพบว่ามีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็จะนำเข้าสู่ระบบให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
รวมถึงประสานกระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก (swab) แก่ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนในแคมป์คนงานให้ได้ครบ 100% ทุกแคมป์ หากพบลูกจ้าง/ผู้ประกันตนติดเชื้อ ก็จะได้รับการรักษาตามขั้นตอนของสาธารณสุข ผู้ที่ไม่พบเชื้อก็จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังได้ขอความร่วมมือสถานประกอบการให้ดูแลเรื่องอาหารของคนงานทุกมื้อด้วย ตลอด 1 เดือนที่ปิดแคมป์ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคแบบ “Bubble and Seal” เพื่อไม่ให้คนงานเคลื่อนย้าย และมีการเดินทางข้ามพื้นที่คลัสเตอร์ หรือชุมชนที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก เช่น โรงงานในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยในพื้นที่ระบาดจะมีการตรวจเชิงรุก และการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้ขึ้นทะเบียนแจ้งความประสงค์ไว้
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/6/2564
รมว.แรงงาน ย้ำมาตรการเยียวยาปิดแคมป์ก่อสร้าง จ่ายเฉพาะแรงงานที่อยู่ในแคมป์
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมระหว่างกระทรวงแรงงานกับผู้ประกอบการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 24 คน อาทิ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท ฤทธา จำกัด, บริษัท วีมงคลก่อสร้าง จำกัด, บริษัท ยูเวิร์ด 999 จำกัด, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ เพื่อหารือในแนวปฏิบัติกรณีปิด (Seal) แคมป์คนงานก่อสร้าง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในกลุ่มแรงงานไทยและต่างด้าว ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน
นายสุชาติ กล่าวว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์แคมป์คนงานนั้น และได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานดูแลค่าใช้จ่าย เงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างแทนผู้ประกอบการ
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่มีการปิดแคมป์ กระทรวงแรงงานจะจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 เนื่องจากสถานประกอบการถูกปิดตามคำสั่ง ศบค. โดยให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเป็นเงินสด 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ให้คนงานทุกๆ 5 วัน พร้อมดูแลเรื่องอาหารทุกมื้อด้วย ตลอด 1 เดือน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรองวันต่อวัน ตลอดเวลาการปิดแคมป์ก่อสร้าง
นอกจากนี้ ยังมีระบบการตรวจสอบว่าแรงงานที่จะได้รับการเยียวยาจะต้องอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง หากไม่อยู่ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว กระทรวงแรงงานจะประสานกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก (swab) แก่แรงงานในแคมป์คนงาน 100 เปอร์เซ็นต์ หากตรวจพบเชื้อจะต้องแยกตัวแรงงานเพื่อมาเข้าสู่การรักษาตามขั้นตอนของสาธารณสุข ส่วนผู้ที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อก็จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมทั้งการเฝ้าระวังตรวจสอบทุกโรงงานในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble and Seal
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานยังได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าไปตรวจตราทำความเข้าใจกับนายจ้างผู้ประกอบการให้เข้มงวดถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 ของลูกจ้างในแคมป์คนงาน และกรมการจัดหางานเข้าไปตรวจสอบหากกรณีพบว่ามีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็จะนำเข้าสู่ระบบทำให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 27/6/2564
การบินไทยออกหนังสือประกาศเลิกจ้างพนักงาน 854 คน มีผลวันที่ 27 ก.ค. 2564 นี้
25 มิ.ย.2564 รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่สายทรัพยากรบุคคล รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามออกประกาศ เรื่อง เลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยพนักงาน จำนวน 854 คน ซึ่งจะมีผลในวันที่ 27 ก.ค.นี้ เนื่องจากบริษัทฯ ประสบปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการการบินได้ตามปกติ จนกระทั่งบริษัทฯ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ
ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ แล้ว บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องปรับปรุงองค์กรทุกๆ ด้าน เช่น ด้านแรงงาน ด้านการลงทุน หรือด้านกลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนด้านลง และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดธุรกิจการบิน
อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงองค์กรดังกล่าว เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้บริษัทฯ สามารถประกอบกิจการต่อไป เพื่อให้มีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการฯ รวมถึงเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของบริษัทฯ
รายงานข่าวจากการบินไทย ระบุอีกว่า จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นปรับปรุงโครงสร้างองค์กร โดยลดจำนวนพนักงานลง และต้องเลิกจ้างพนักงานจำนวน 854 คน โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 27 ก.ค. 2564 (สิ้นสุดเวลาทำการ) ทั้งนี้ บริษัทจะจ่ายค่าชดเชย เงินอื่น ๆ ตามกฎหมาย และเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง หรือระเบียบบริษัทฯ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ประกอบด้วย ค่าจ้างถึงวันทำงานวันสุดท้าย, วันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้, ค่าชดเชย, สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินบำเหน็จ
ทั้งนี้ จะจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวข้างต้นหลังจากหักภาษี ณ ที่จ่าย (สำหรับพนักงานที่บริษัทฯ ไม่ได้รับภาระภาษีให้) และหนี้จำนวนใด ๆ ของพนักงานที่ถูกเลิกจ้างมีอยู่ต่อบริษัทฯ หรือสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด ให้แจ้งและคืนทรัพย์สินของบริษัทฯ ที่อยู่ในความครอบครอง หรือตามที่ได้ทำขึ้นในระหว่างที่เป็นลูกจ้างของบริษัทฯ โดยทันที ซึ่งรวมไปถึงเอกสาร บันทึก รายการ หรือสิ่งที่เก็บข้อมูลใด ๆ ที่เกี่ยวกับการทำงาน ข้อมูลของบริษัทฯ หรือลูกค้า และความลับทางการค้าของบริษัทฯ ภายในวันที่ 27 ก.ค. 2564 ก่อนสิ้นสุดเวลาทำการ
นอกจากนี้ บริษัทฯ ขอแจ้งเตือนว่า พนักงานยังคงมีสถานะเป็นพนักงานของบริษัทฯ จนถึงวันที่การเลิกจ้างมีผล พนักงานจึงยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน นโยบาย ระเบียบ และคำสั่งของบริษัทฯ ทุกฉบับอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม หากบริษัทฯ พบว่า พนักงานรายใดกระทำการผิดกฎหมาย ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน นโยบาย ระเบียบ หรือคำสั่งของบริษัทฯ อาจจะพิจารณาดำเนินการทางวินัยกับพนักงานอย่างเหมาะสม ซึ่งรวมถึงการเลิกจ้างพนักงานที่กระทำผิดนั้นโดยทันที และไม่จ่ายค่าชดเชย
แนะสร้างแบบประเมินความพร้อมเด็กม.ต้น ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อประเมินความพร้อมของเด็กและเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน กล่าวว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้จัดทำโครงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อประเมินความพร้อมของเด็กและเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อพัฒนาเครื่องมือสำรวจสถานะความพร้อมของเด็กและเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับบริบทของไทย และพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ระบบประเมินความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานแบบออนไลน์ พร้อมทั้งระบบฐานข้อมูลที่พร้อมรองรับข้อมูลรายจังหวัดทั่วประเทศ ด้วยการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นใน 5 จังหวัด จำนวน 1,200 คน
เครื่องมือดังกล่าวจะช่วยให้นักเรียนทราบระดับความพร้อมและสามารถค้นหาอาชีพที่ตนเองต้องการ ช่วยให้เกิดแรงจูงใจในการศึกษาเล่าเรียน ลดอัตราการออกกลางคัน ลดการทำงานไม่ตรงกับวุฒิการศึกษา นอกจากนี้แล้ว Career Readiness Survey จะให้ข้อมูลแก่หน่วยงานในระดับพื้นที่และระดับประเทศ ที่สามารถนำไปใช้กำหนดแผนยุทธศาสตร์และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อปรับทิศทางการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานได้ด้วย
“สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้นักเรียนไทยตกอยู่ในภาวะ 4 เสี่ยง ได้แก่ เสี่ยงเรียน เสี่ยงจิต เสี่ยงชีวิต และเสี่ยงเหลื่อมล้ำ เด็กต้องเรียนออนไลน์ เสี่ยงต่อการการเรียนตกต่ำและถดถอยลง เด็กเก่งหรือเด็กที่มีความพร้อมยังพอประคองเอาตัวรอดไปได้ แต่สำหรับเด็กที่ไม่มีความพร้อมจะยิ่งถูกทิ้งห่างออกไปไกล จึงเกิดช่องว่างเด็กเก่งกับเด็กอ่อน เมื่อเจอสภาพแบบนี้เด็กจะเกิดความกดดัน เพราะเรียนไม่รู้เรื่อง ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็เจอกับสภาพฝืดเคืองทางการเงิน กลายเป็นความกดดันจากครอบครัว ส่งผลเสี่ยงต่อสุขภาพจิต อีกทั้งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เด็กที่มีน้องเล็กก็ต้องดูแลน้อง ขณะที่พ่อแม่ก็มีวิถีชีวิตเปลี่ยนไปต้องดิ้นรนมากขึ้น เป็นความเสี่ยงในชีวิตที่ไม่มีความแน่นอน ทั้งเรื่องการเรียน การเงิน และโรคระบาด สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำระยะยาว ระหว่างเด็กที่มีความพร้อมกับเด็กที่ไม่พร้อม”
แบบประเมินที่ใช้จะทดสอบทักษะที่จำเป็น 5 มิติ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานสำหรับการทำงาน ประกอบด้วย 1. การคำนวณพื้นฐานสำหรับใช้ในการทำงาน 2. พื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือแอปพลิเคชันที่จำเป็นในการทำงาน 3. ทักษะการสื่อสารเพื่อความเข้าใจในการทำงาน 4. ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และฟิสิกส์ และ 5. ทักษะทางสังคมและการทำงาน (Soft Skill) เช่น บุคลิก ความเป็นผู้นำ เป็นต้น ซึ่งจากการประเมินผลเด็กในกลุ่มตัวอย่างพบว่าเด็กกว่า ร้อยละ 50 ไม่มีความพร้อมสำหรับตลาดแรงงาน ร้อยละ 40 อยู่ในระดับปานกลาง และมีเพียง ร้อยละ 10 เท่านั้นที่อยู่ในกลุ่มที่มีทักษะเหมาะสม โดยทักษะที่มีปัญหามากที่สุดคือ ทักษะด้านการคำนวณพื้นฐาน และทักษะด้านการสื่อสารพื้นฐาน ซึ่งแบบประเมินความพร้อมฯ ที่จัดทำขึ้นจะเป็นเครื่องมือช่วยหาแนวทางพัฒนาเด็กที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังจบ ม.3 ได้เหมาะสม เพราะจากการสำรวจพบว่า เด็กที่เข้าสู่ตลาดแรงงานหลังจบ ม.3 กว่าร้อยละ 90 เป็นแรงงานที่ขาดทักษะฝีมือ ไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง และไม่สามารถพัฒนาเป็นฝีมือแรงงานได้ ทำให้ได้รับค่าจ้างต่ำ และรับค่าจ้างระดับนั้นไปตลอดชีวิต ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มักสมรสในกลุ่มเดียวกัน เป็นการส่งต่อความยากจนและความเหลื่อมล้ำจากรุ่นสู่รุ่น แต่หากเราสามารถพัฒนาให้เด็กมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นครบถ้วน จะเป็นการสร้างโอกาสในการทำงานที่มีรายได้มากขึ้น รวมถึงมีโอกาสที่เขาอาจจะศึกษาได้ตามอัธยาศัย หยุดการส่งต่อความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องต่าง ๆ ลงได้ในที่สุด
แบบประเมินฯ จะช่วยให้สถานศึกษาชี้เป้าได้ว่า เด็กแต่ละคนควรได้รับการพัฒนาทักษะด้านใด และสถานศึกษายังสามารถพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะกับการพัฒนาเด็ก โดยโรงเรียนสามารถสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ร่วมกับนายจ้าง ปราชญ์ชุมชน และพ่อแม่ เพื่อจัดทำหลักสูตรพัฒนาเด็กให้มีความพร้อมก่อนเข้าตลาดแรงงานได้อย่างเหมาะสม ตามบริบทของสังคม ซึ่ง ขณะนี้โครงการฯ ได้จัดทำแบบประเมินต้นแบบในเฟสแรกเรียบร้อยแล้ว โดยระยะต่อไปจะนำแบบประเมินดังกล่าวไปใช้กับโรงเรียนที่เป็นเครือข่ายของ กสศ. จำนวน 34 แห่ง และระยะที่ 3 จะขยายผลไปสู่การใช้ประเมินเด็กทั่วประเทศ ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าการใช้แบบประเมินความพร้อมของเด็กและเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน จะช่วยพัฒนาเด็กที่ไม่พร้อมให้มีทักษะและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องต่าง ๆ
กระชับความร่วมมือ ‘ไทย-อิสราเอล’ ส่งเสริมสิทธิสวัสดิการแรงงานไทย
24 มิ.ย. 2564 เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเมอีร์ ชโลโม (H.E. Mr. Meir Shlomo) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในโอกาสพ้นจากหน้าที่ โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตฯ ที่ได้ทำคุณประโยชน์ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย- อิสราเอล ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้อย่างดียิ่ง ยินดีที่ความสัมพันธ์เป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ก้าวหน้ามาตามลำดับ และเชื่อมั่นว่าทั้งสองประเทศยังมีสาขาความร่วมมือที่มีศักยภาพอีกมาก จึงขอให้สานต่อความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านการค้า แรงงาน ตลอดจนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งไทยพร้อมจะร่วมมือกับอิสราเอลเพื่อผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป และโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19
นายกฯ ยังได้ชื่นชมศักยภาพของอิสราเอลที่สามารถจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับนโยบายของไทยที่ให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เช่นเดียวกัน
ด้านเอกอัครราชทูตฯ กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นตลอดระยะเวลาของการทำงานและเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้มาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตใน ประเทศไทย เป็นประเทศแรก พร้อมยืนยันว่าจะสานต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคีให้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยจะสามารถบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยศักยภาพทางสาธารณสุข พร้อมชื่นชมที่นายกรัฐมนตรีสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนว่าจะสามารถเปิดประเทศได้ภายใน 120 วัน ถือเป็นโอกาสในการฟื้นฟูความร่วมมือในอนาคตภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ได้แก่ ด้านแรงงาน อิสราเอลมีแนวทางที่จะส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการของแรงงานไทยและประโยชน์ของนายจ้าง โดยเฉพาะแรงงานไทยในภาคการเกษตร ซึ่งทางเอกอัครราชทูตฯ มีส่วนสำคัญในการผลักดันความตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานไทยทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรในรัฐอิสราเอลระหว่างไทยกับอิสราเอลฉบับใหม่ ด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การส่งเสริมการค้าการลงทุนเป็นหนึ่งในวาระที่สำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 ซึ่งไทยพร้อมที่จะเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน
พร้อมกันนี้ อิสราเอลยินดีที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเกษตร การแปรรูปผลิตทางการเกษตร และการบริหารจัดการน้ำ รวมไปถึงนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยพร้อมที่จะพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมให้สอดรับกับยุค New normal ด้านวิชาการ ทั้งสองประเทศยินดีจะสานต่อความร่วมมือผ่านองค์กรความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศของอิสราเอล (MASHAV) ผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น การบริจาคโรงเรือนสำหรับปลูกพืชพร้อมระบบน้ำ (Hydroponic Greenhouses) ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเกาะสมุย เป็นต้น
นอกจากนี้เอกอัคราชทูตฯ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวว่า ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจำนวนมากทั้งก่อนและหลังการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งให้ความสนใจต่อโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) เป็นอย่างมาก
อย่างวไรก็ตามนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้วสามารถเดินทางมายัง จ.ภูเก็ตได้ตามข้อกำหนด ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องที่มีแผนจะขยายไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า เป็นต้น
จับตาโควิดสายพันธุ์เดลตา พบมากในแรงงาน คาด 3-4 เดือนระบาดหนักในไทย
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความถึงกรณี "การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19" โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ได้ร่วมแถลงข่าวกับท่านอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เราได้มีการศึกษาการกลายพันธุ์ของไวรัสในประเทศไทย อาทิตย์ละหลายร้อยตัวอย่างซึ่งถือว่า เป็นตัวแทนของประเทศ
ในขณะเดียวกันที่ศูนย์เองก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็วในเกือบทุกตัวอย่างหลายร้อยตัวอย่างเช่นเดียวกัน และมีจำนวนที่มากพอที่ได้ข้อมูลตรงกันว่า ขณะนี้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือสายพันธุ์ แอลฟา ส่วนน้อยประมาณ 10% เป็นสายพันธุ์อินเดียหรือเดลตา และประมาณเกือบ 1 เปอร์เซ็นต์เป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือ เบตา
สายพันธุ์เดลตา ที่พบส่วนใหญ่ยังพบในกลุ่มคนงาน ที่มีอายุน้อย แรงงานที่อยู่เป็นกลุ่มก้อน และสายพันธุ์เดลตา จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย นับตั้งแต่เริ่มพบมาเป็นเวลากว่าเดือน และคงจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน จึงจะมาเป็นไวรัสส่วนใหญ่ต่อไป
ดังนั้น การให้วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยในขณะนี้ยังมีประสิทธิภาพดี ในการป้องกันสายพันธุ์แอลฟา ส่วนในอนาคต การติดตามสายพันธุ์ มีความจำเป็นเพื่อปรับกลยุทธ์ในการป้องกันโรคให้เหมาะสมต่อไป
สายพันธุ์ที่กลัวว่าจะหลบหลีกวัคซีนได้มาก คือสายพันธุ์เบตา ขณะนี้ยังพบในวงจำกัดอยู่ในบริเวณภาคใต้ แต่เนื่องจากสายพันธุ์นี้มีการแพร่ระบาดได้ต่ำกว่าสายพันธุ์อื่น ความน่ากลัวของสายพันธุ์นี้ ที่จะระบาดอย่างกว้างขวางจึงน้อยลง
วัคซีนในปัจจุบันทุกบริษัททำมาจากสายพันธุ์ดั้งเดิม คือสายพันธุ์อู่ฮั่น และแน่นอนเมื่อมีสายพันธุ์เดลตาเกิดขึ้นแล้ว ในอนาคตก็คงจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอีก เป็นวงจรที่เปลี่ยนไปตามพันธุกรรมของ RNA ไวรัส และเชื่อว่าในปีหน้า จะมีวัคซีนใน Generation ที่ 2 เพื่อให้ตรงกับสายพันธุ์ที่คาดการณ์ว่าจะระบาดในปีหน้า เช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในวัคซีนจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน สำหรับวัคซีนทุกตัวที่จะใช้ในปีหน้า
เราต้องรีบให้วัคซีนเพื่อป้องกันเหตุการณ์ขณะนี้ให้เร็วที่สุด ถึงแม้ว่าไวรัสจะเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม วัคซีนที่ใช้อยู่ก็ยังสามารถป้องกันได้แต่อาจจะมีประสิทธิภาพลดลงบ้าง อย่างน้อยก็ลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตลงได้อย่างแน่นอน
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 23/6/2564
สธ.-แรงงาน-สภากาชาดไทย พัฒนา อสต.สกัดโควิดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2564 ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การบูรณาการการดำเนินงานพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขในโรงงาน สถานประกอบการและชุมชน ร่วมกับนายนิยม สองแก้ว รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พลโท นพ.อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย และนางสุกานดา วรเชษฐบัญชา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และสภากาชาดไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของอาสาสมัครต่างด้าวหรือ อสต.ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตของประเทศ และช่วยเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคและลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด19 อสต.ได้แสดงบทบาทสำคัญในการช่วยให้งานเฝ้าระวัง ป้องกันโรค โควิด 19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2563 เป็นต้นมาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาขับเคลื่อนการดำเนินงานแรงงานต่างด้าว โดยมอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้สนับสนุน ประสาน ติดตาม และสร้างเครือข่ายในการพัฒนา อสต.
ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ในการพัฒนาศักยภาพ อสต. กรม สบส. รับผิดชอบเรื่องการกำหนดมาตรฐาน คุณภาพ ดำเนินการจัดทำพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม และฝึกอบรมให้กับ อสต.และอสม.ในโรงงานสถานประกอบการ และชุม พร้อมจัดทำแนวทางการดำเนินคู่มือชุดความรู้ สื่อประชาชน รวมถึงจัดทำระเบียบ หลักเกณฑ์ว่าด้วย อสต.และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำโรงงาน/สถานประกอบการ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพให้กลุ่มแรงงาน ที่นำไปสู่การลดภาระค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลของหน่วยบริการในการดูแลกลุ่มแรงงาน รวมถึงการช่วยให้เข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กรม สบส.ได้ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ อสต.มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2557 ในพื้นที่ 8 แห่ง โดยจัดทำหลักสูตรการอบรมครู ก. และ อสต.ทั่วไป พร้อมคู่มือต้นแบบการอบรม 4 ภาษา ได้แก่ ทั้งลาว เวียดนาม พม่า และกัมพูชา ปัจจุบันมีอสต. ที่ผ่านการอบรม แล้วจำนวน 6,001 คนทั่วประเทศ จากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้ง จะเป็นการบูรณาการการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม และขยายผล ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
นายนิยม สองแก้ว รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน มีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขในโรงงาน สถานประกอบการและชุมชน ในรูปแบบอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำโรงงาน สถานประกอบการ เพื่อขยายเครือข่ายด้านแรงงาน
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุว่า กรมการจัดหางาน เราได้ให้จัดหางานจังหวัด จัดหางานเขตพื้นที่ แนะนำ และเชิญชวน ส่งเสริม สนับสนุน นายจ้างและสถานประกอบการ จัดให้มี อสต. และอาสาสมัครสาธารณสุข ประจำโรงงาน หรือสถานประกอบการ กรณีที่เป็นแรงงานไทย พร้อมทั้งมีส่วนร่วมจัดฝึกอบรม อสต. และสอดส่องดูแลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด 19 ของแรงงานต่างด้าว และสนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสต. ในการส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคในสถานประกอบการอีกด้วย
ด้านนายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ขยายเป็นวงกว้างทั้งในกลุ่มประชากรทั่วไป และกลุ่มแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองที่มีภารกิจในการคุ้มครองแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตทีดี การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือแบบบูรณาการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคโควิด 19 ในรูปแบบของ อสต.สำหรับกลุ่มแรงงาน เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานให้ลูกจ้างทุกคนมีความปลอดภัยในการทำงาน และมีสุขภาพอนามัยที่ดี
พลโท นพ.อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า สำนักบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ จะดำเนินการสนับสนุน ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ และร่วมพัฒนา อสต. สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องดำรงชีพตามจำเป็นในการพัฒนาและการปฏิบัติงานของ อสต. แรงงานต่างด้าว และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำโรงงาน เพื่อให้ทุกคนในผืนแผ่นดินไทยมีสุขภาพดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าเชื้อชาติใดสัญชาติใด ในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
นางสุกานดา วรเชษฐบัญชา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานบริการกิจการเหล่ากาชาด กล่าวเพิ่มเติมว่า เหล่ากาชาดจังหวัด และกิ่งกาชาดอำเภอ จะเป็นประสานหน่วยงานและสถานประกอบการในพื้นที่ ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนและร่วมพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำสถานประกอบการแก่หน่วยงานในพื้นที่ที่มีการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขในโรงงาน สถานประกอบการและชุมชน
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 23/6/2564
เผยนายจ้างถูกเลือกปฏิบัติ-เรียกเก็บเงินตรวจ COVID-19 แรงงานข้ามชาติ
23 มิ.ย. 2564 นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และการเข้าถึงวัคซีนพบว่า ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติติดเชื้อสะสม จำนวน 41,784 คน ( ณ วันที่ 15 มิ.ย.64) แบ่งเป็น เมียนมา 35,377 คน กัมพูชา 4,707 คน และลาว 1,700 คน โดยการแพร่ระบาดในระลอกที่สาม มีความรุนแรงและกระจายตัวออกเป็นวงกว้างของการระบาดมากกว่าทั้งสองระลอกที่ผ่านมา
"เฉพาะระลอกนี้มีแรงงานข้ามชาติติดเชื้อทั้งหมด 26,241 คน เป็นเมียนมา 20,163 คน กัมพูชา 4,478 คน และลาว 1,600 คน ซึ่งสาเหตุของการกระจายตัวส่วนหนึ่งมาจากถูกเลิกจ้างเพราะนายจ้างต้องปิดกิจการโดยเฉพาะในภาคบริการ เพราะวิกฤตโควิด หรือ ตามคำสั่งของศบค."นายอดิศรกล่าว
นายอดิศร กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้บีบให้แรงงามข้ามชาติเหล่านี้ต้องไปหางานทำที่อื่นเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง เมื่อมีการเปลี่ยนงาน เปลี่ยนนายจ้าง ทำให้แรงงามข้ามชาติจากเดิมที่มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำงานอย่างถูกกฎหมาย กลายเป็นผิดกฎหมายไป เช่น ถูกจับว่าทำงานผิดประเภท หรือเอกสารแรงงานไม่ตรงกับนายจ้างปัจจุบัน แม้ว่าเป็นเรื่องที่ทั้งตัวแรงงานและนายจ้างไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่กระทรวงแรงงานกลับมีการตั้งชุดเฉพาะกิจ เพื่อติดตามและตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวขึ้นมา 6 ชุดขึ้นมากวาดล้างคนเหล่านี้ ซึ่งนโยบายดังกล่าวทำให้มีความกังวลว่าจะยิ่งทำให้แรงงานยิ่งหลบซ่อน หากไม่สบายก็จะไม่กล้าออกมาแสดงตัวขอพบแพทย์ เพราะกลัวจะถูกจับ"
“เรากังวลว่าถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่ คนยังติดกันเยอะและมีการไล่จับ ทำให้คนจำนวนมากหลบ ไม่กล้าออกมาหาหมอ ซึ่งตัวนี้น่าห่วงถ้าการจัดการอย่างมีความขัดแย้งกันอยู่แบบนี้เรามองว่าการควบคุมโรคติดต่อจะทำได้ยากขึ้น และไม่ได้เกินประโยชน์อะไร ดังนั้นควรจัดการคนอยู่เพื่อกันไม่ให้คนเข้า ควรทำให้คนรู้สึกสบายใจที่จะอยู่”นายอดิศรกล่าว
นายอดิศร กล่าวอีกว่า ทำอย่างไรให้เข้ามาอย่างถูกต้องผ่านการตรวจโรคให้เรียบร้อย ส่วนคนที่ตั้งใจมาแสวงหาการอยู่รอดที่พักพิงเราก็ต้องให้เขาเหล่านี้มีที่พักอาศัยอยู่ได้ ภาครัฐจะต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกันคือทำอย่างไรก็ได้ให้คนงานเข้าถึงการควบคุมโรค ทั้งการตรวจ และวัคซีน ให้ได้เร็วที่สุด และจะต้องใช้หลัก 4 อ. ในการจัดการ คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย อาชีพ และมีการดูแลรักษาเมื่อมีอาการ ซึ่งตอนนี้ไม่มีการใช้ 4 อ. เลยการระบาดก็เลยชัดเจนมากขึ้น
สำหรับการเข้าถึงวัคซีนของแรงงานข้ามชาตินั้น หากเป็นแรงงานที่มีเอกสาร ซึ่งมีจำนวนประมาณ 2 ล้านคน ในพื้นที่เสี่ยงจะมีระบบของวัคซีน แต่พบข้อจำกัดว่า ยังไม่มีภาษาประเทศต้นทางของแรงงาน และทั้งแอปพลิเคชั่น และเว็ปไซต์สำหรับจองไม่เอื้อต่อการลงทะเบียน ส่วนแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามม.33 ที่มีจำนวนประมาณ1 ล้านคนนั้น มีช่องทางจองวัคซีนผ่านสำนักงานประกันสังคม และในพื้นที่เสี่ยงมีระบบจองของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนายจ้างจะต้องเป็นผู้ลงทะเบียนให้ ทำให้มีโอกาสตกหล่น และระยะเวลาในการลงทะเบียนนั้นจำกัด ไม่มีแผนขยายระยะเวลาการลงทะเบียน อีกทั้งไม่รับทราบข้อมูลนัดหมาย
ขณะที่การเข้าถึงวัคซีนของผู้ติดตามแรงงาน ซึ่งมีประมาณ 1 แสนคน มีระบบจองหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และมีวัคซีนทางเลือกที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะฉีดในเด็กอย่างไร และยังพบปัญหาว่าผู้ติดตามแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่คือลูก ไม่มีเอกสารเพราะไม่ได้เกิดในไทย ส่วนกลุ่มที่ไม่มีเอกสารเลย ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 1-2 ล้านคนนั้น ไม่มีช่องทางในการเข้าถึงวัคซีน นอกจากวัคซีนทางเลือกที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง เพราะระบบลงทะเบียนขอรับวัคซีนส่วนใหญ่ต้องมีเอกสาร และการพิจารณาให้วัคซีนแรงงานข้ามชาติในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน
นายอดิศร ประเมินว่ากระทรวงแรงงานกลัวกระแสสังคมมากกว่าว่าเหตุใดถึงไม่จัดการแรงงานที่ผิดกฎหมาย กระแสนี้มาพร้อมกับข่าวคนลักลอบเข้าประเทศ แต่เมื่อไม่สามารถจัดการคนลักลอบเข้าประเทศได้ ก็มาเข้มงวดกับคนที่อยู่ข้างในประเทศแทน ดังนั้นในศบค.จะต้องตัดสินใจในเรื่องนี้ และกล้าเสนอไปยังรัฐบาลว่าต้องการแบบไหน เพราะส่งผลกระทบต่อการแพร่ระบาด
ด้าน นายปภพ เสียมหาญ นายจ้างร้านอาหารย่านห้วยขวางที่เป็นนายจ้างของแรงงานข้ามชาติสะท้อนว่า ตั้งแต่ระลอกแรกถึงปัจจุบัน เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ขึ้น นโยบายแรกคือให้ปิดร้านอาหาร และไม่ได้บอกล่วงหน้า ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเตรียมความพร้อมได้ และไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เลยว่าปิดแล้ว จะเปิดอีกครั้งเมื่อไหร่ ซึ่งนอกจากส่งผลกระทบทางธุรกิจแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องของการจ้างงาน เนื่องจากเป็นระบบลูกจ้างประจำ จ่ายเป็นเงินเดือน
"เมื่อวันทำงานลดลง ก็จะต้องขอลดเงินเดือนตามสัดส่วนที่ประกันสังคมกำหนด ลูกจ้างบางรายก็รับได้ แต่บางรายไม่ไหว ก็ขอลาออก ไปทำงานที่อื่น ซึ่งกระทบกับนายจ้างมาก เพราะถ้าวันหนึ่งเปิดร้าน แต่ไม่มีคนงานพอ ก็จะเปิดร้านไม่ได้ และหากรับใหม่ก็จะเริ่มกระบวนการจ้างงานแรงงานข้ามชาติใหม่ ซี่งนายจ้างจะต้องสำรองค่าใช้จ่ายเยอะมาก"
"กรณีปิดตลาดห้วยขวาง แรงงานจำนวนมากเปลี่ยนจากรับงานรายวันที่ตลาดไปเป็นรถเข็นขายของริมถนน ไก่ทอด หมูทอด เคลื่อนย้ายตลอดเพราะถ้าเขาหยุดงานเขาไม่มีกิน ไม่มีเงินค่าที่พัก เขาก็เลือกที่จะไม่กักตัว มันก็เลยลามมาถึงตลาดใกล้เคียงด้วย” พูดตรงๆในพื้นที่ห้วยขวางไม่มีใครกักตัวเลย แม้ว่าจะเป็นคนสัมผัสใกล้ชิดกับคนติดโควิดก็ตาม" ผู้ประกอบการระบุ
นายปภพ กล่าวว่า ในการแพร่ระบาดที่ผ่านมา มีการประกาศว่าจะมีจุดตรวจเชิงรุกมาตั้งให้กลุ่มเสี่ยงสามารถไปตรวจได้ คนไทยใช้บัตรประชาชน แรงงานข้ามชาติใช้พาสปอร์ต ร้านของตนก็จะใช้วิธีการนี้โดยให้ลูกจ้างไปจองคิวตั้งแต่ 6 โมงเช้า แต่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่รับตรวจแรงงานข้ามชาติ ตนก็แย้งไปว่าในเว็บไซต์บอกว่าให้ตรวจกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด ทางเจ้าหน้าที่บอกว่า คนไทย ยังตรวจไม่ครบเลยจะไปตรวจต่าวด้าวได้อย่างไร ซึ่งยอมรับว่าได้ยินเช่นนั้นก็รู้สึกก็โมโห เลยโทรศัพท์ไปสอบถามโดยตรงกับสำนักงานเขต และ กทม. ซึ่งก็ยืนยันคำตอบมาเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ในจุดตรวจ
"เขาบอกว่าที่ลาดพร้าวมีรับตรวจคนละ600 บาท ตรวจละเอียด3,000 บาท แต่ต้องจ่ายเงินเอง พอพูดแบบนี้แรงงานก็ไม่อยากตรวจ เพราะไม่อยากเสียเงิน เรานายจ้างก็ต้องควักกระเป๋าให้ เพราะถ้าไม่ตรวจก็เปิดร้านไม่ได้ ไม่รู้ใครติดไม่ติดบ้าง ถึงวันนี้ไม่มีอะไรเยียวยา ไม่มีมาตราการเป็นรูปธรรมชัดเจน"นายปภพกล่าว
นายปภพ ยังระบุว่า แม้ว่าศบค.จะประกาศผ่อนคลายให้เปิดร้านอาหารได้ แต่ในพื้นที่ที่แพร่ระบาดจริงจะมีการประกาศเฉพาะพื้นที่อีก ทำให้นายจ้างต้องลุ้นตลอดเวลาว่าจะเปิดหรือปิด
ทั้งนี้อยากเสนอแนะไปยังรัฐบาลว่าควรจัดการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานข้ามชาติด้วย และต้องไม่มีภาระทั้งตัวแรงงานและนายจ้าง เพราะเจ็บตัวกันมามากแล้ว ภาระไม่ควรเกิดขึ้นกับประชาชน ทุกคนต้องได้รับปฎิบัติที่เท่าเทียมกัน รวมถึงการเข้าถึงการรักษาที่วันนี้เห็นหลายคนติดโควิด แต่ไม่มีรถไปรับเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา อยู่ในที่พักตัวเอง คนเหล่านี้เป็นตัวเลขแฝงที่ศบค.ไม่ได้รายงานว่ามีผู้ติดเชื้อกี่รายที่ยังไม่ได้รับการรักษา
คุ้มครองสิทธิฯ ร่วมรับเรื่องร้องทุกข์ กรณีปิจกิจการโดยไม่บอกล่วงหน้า ทำให้ลูกจ้าง 1,338 คน ได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่ได้รับค่าจ้าง
22 มิ.ย. 2564 ที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ชั้น 1 อาคารกระทรวงยุติธรรม นางจิตรณวัชรี พะนัด ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย และสมาชิกรวม 10 คน เดินทางเข้ายื่นเรื่องร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยมี ดร.โฆสิต สุวินิจจิต คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นางสุจิตรา แก้วไกร ผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และนายปริญญ์วัฒน์ เปี่ยมปิ่นวงศ์ หัวหน้าศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข เป็นผู้แทนรับเรื่องดังกล่าว
สำหรับการเข้าร้องทุกข์ในครั้งนี้ จากกรณี บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าชุดชั้นในสตรี มีลูกจ้างจำนวน 1,338 คน ได้ประกาศปิดกิจการเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าชดเชย เป็นเหตุให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน ปัจจุบัน บริษัท บริลเลียนท์ฯ ยังไม่ได้จ่ายเงินค่าจ้างและค่าชดเชยต่างๆ ตามที่พนักงานตรวจแรงงานออกคำสั่ง จึงมีข้อเรียกร้องโดยขอให้กระทรวงยุติธรรมประสานไปยังรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี หาแนวทางจ่ายค่าจ้างแทนให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และติดตามนายจ้างมารับผิดชอบเงินจำนวนดังกล่าว รวมถึงดำเนินการตามกฎหมายอาญา นอกจากนี้ ขอให้หามาตรการป้องกันไม่ให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนแล้วหนี ปล่อยลอยแพลูกจ้าง โดยกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (NAP) พร้อมทั้งจะนำประเด็นดังกล่าวหารือในเวทีระดับนโยบาย และเรียกร้องไปยังบริษัทฯ
ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรม ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว และจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามและให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป
ศบค. เปิดรายชื่อคลัสเตอร์โรงงานใหม่ มีทั้งโรงงานรองเท้า แปรรูปอาหาร อาหารทะเล โรงงานหมู โรงงานเสื้อผ้า
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) กล่าวตอนหนึ่งระหว่างแถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดประจำวันว่า วันนี้พบ “คลัสเตอร์ใหม่”ในต่างจังหวัดหลายแห่ง ได้แก่
- สมุทรปราการ อ.บางพลี โรงงานรองเท้า พบผู้ติดเชื้อ 326 ราย และ อ.เมืองสมุทรปราการ โรงงานแปรรูปอาหาร พบผู้ติดเชื้อ 7 ราย
- สงขลา อ.สทิงพระ โรงงานอาหารทะเลกระป๋อง พบผู้ติดเชื้อ 262 ราย
- สมุทรสาคร อ.กระทุ่มแบน โรงงานเสื้อผ้า พบผู้ติดเชื้อ 6 ราย
- นครปฐม อ.เมืองนครปฐม โรงงานหมูรวม 4 แห่ง พบผู้ติดเชื้อสะสมรวม 171 ราย
- ระยอง อ.เมืองระยอง แคมป์ก่อสร้าง พบผู้ติดเชื้อ 51 ราย
- พระนครศรีอยุธยา ศูนย์วิทยุกู้ภัย พบผู้ติดเชื้อ 14 ราย
- ปราจีนบุรี อ.ศรีมหาโพธิ์ โรงงานหินเทียม พบผู้ติดเชื้อ 8 ราย
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 22/6/2564
แกนนำแรงงานฯ นำอดีต พนง.บอดี้แฟชั่น พบ รมว.แรงงาน ทวงถามข้อเรียกร้องหลังถูกเลิกจ้าง
22 มิ.ย. 2564 นายชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย ประธานกลุ่มแรงงานเพื่อสังคม นำอดีตพนักงานบริษัท บอดี้ แฟชั่น จ.นครสวรรค์ จำนวน 60 คน เข้าพบ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอบคุณที่ให้การช่วยเหลือพนักงานที่ถูกเลิกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างรวดเร็ว และติดตามความคืบหน้าตามข้อเรียกร้องด้านแรงงาน โดยมี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายณัฐวัฒน์ ธีรทัศน์ธำรง คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ที่กระทรวงแรงงาน
นายสุชาติกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนผู้ใช้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างที่ประสบปัญหาว่างงานจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในวันนี้ ตัวแทนอดีตพนักงานบริษัทบอดี้แฟชั่นได้เข้ามาให้กำลังใจและขอบคุณที่รัฐบาล และกระทรวงแรงงานให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างรวดเร็ว ทั้งการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากประกันสังคม รวมทั้งเยียวยาความเดือดร้อนให้ลูกจ้างจากเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จำนวน 858 คน ที่ถูกเลิกจ้างและยังไม่ได้รับค่าจ้าง เพื่อช่วยให้ผู้ใช้แรงงานได้มีเงินในการดำรงชีพ อันเนื่องมาจากการถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
“ผมได้มอบหมายให้ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อเรียกร้องด้านแรงงานประเด็นต่างๆ ของกลุ่มแรงงานเพื่อสังคมที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ และรายงานความคืบหน้าให้สมาชิกกลุ่มแรงงานทราบต่อไป” นายสุชาติกล่าว และว่า การดำเนินงานของกระทรวงแรงงานในการให้ความช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง เป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับอย่างถูกต้อง ครบถ้วน
ที่มา: มติชนออนไลน์, 22/6/2564
รมว.แรงงานไม่อนุมัติโยกวัคซีนประกันสังคม จาก กทม. ไปสระบุรี
ทีมข่าวช่อง 7 HD ได้รับข้อมูลการสื่อสารผ่านระบบแอปพลิเคชันไลน์ กลุ่มหัวหน้าส่วนราชการ กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.64 มีการสอบถามไปยังนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กรณีสำนักงานแรงงานจังหวัดสระบุรี ได้รับการประสานจากฝ่ายบุคคล บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ขอความช่วยเหลือเรื่อง การขอโยกวัคซีนประกันสังคม จาก กทม.มายัง จ.สระบุรี โดยให้เหตุผลว่า ทางบริษัทได้จดทะเบียนประกันสังคมที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ 4 ซึ่งอยู่ในเขตบางรัก กทม. ทำให้ต้องขนย้ายพนักงานประมาณ 1 พันคน จากสระบุรีมายัง กทม. จึงอยากให้มีการโอนย้ายวัคซีนมาที่ จ.สระบุรี เพื่อความสะดวกและความปลอดภัย
นายสุชาติ ชี้แจงว่า การเคลื่อนย้ายมาฉีดที่ต่างจังหวัด จะเป็นการล่อแหลม เสี่ยงต่อการถูกโจมตีว่า เอาวัคซีนมาจากกรุงเทพฯ ข้ามมาให้ที่ จ.สระบุรี ซึ่งเข้าใจดีว่าบริษัทลงประกันสังคมในพื้นที่ กรุงเทพฯ แต่คนอื่น ๆ ที่ต่างจังหวัดอาจไม่เข้าใจ และกลายเป็นครหาได้ว่าเป็น “วัคซีนเส้น” ทำให้กระทรวงแรงงานต้องตกเป็นจำเลยสังคม จึงไม่อนุญาตให้โยกวัคซีน
โฆษกแรงงานเผยความคืบหน้าปรับปรุงกฎหมายพระราชบัญญัติประกันสังคม
นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยถึงกรณีที่ ส.ส.จองชัย วงศ์ทรายทอง ส.ส.จังหวัดชลบุรี เขต 2 พรรคพลังประชารัฐที่ขอให้พิจารณาการนำเงินสมทบของผู้ประกันตนมาใช้ก่อน ในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยให้คำนึงถึงสถานะความมั่นคงของกองทุนว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงนี้
โดยจากกรณีที่ ส.ส.จองชัย วงศ์ทรายทอง ส.ส.จังหวัดชลบุรี เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ ออกมาให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำเงินสมทบของผู้ประกันตนมาใช้ก่อน ในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยให้คำนึงถึงสถานะความมั่นคงของกองทุน ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านที่กรุณาให้ข้อเสนอแนะ และยังให้ความสำคัญที่เล็งเห็นถึงอนาคตของกองทุนประกันสังคม กรณีการนำเงินสมทบของผู้ประกันตนในอนาคตมาใช้ก่อนนั้น ในเรื่องนี้นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้มีแนวคิดก่อนจะมารับตำแหน่งรมว.แรงงานและเมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้วก็ได้ตอบรับข้อเสนอแนะจากกลุ่มต่างๆ โดยมีการประชุมหารือ เพื่อพูดคุย รายงานความคืบหน้า รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ได้พยายามหาช่องทางต่างๆให้ข้อเสนอดังกล่าวเป็นผลโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตน โดยให้นำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการประกันสังคมหลายครั้ง ตลอดจนให้สำนักงานประกันสังคมหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา และประสานงานกับกระทรวงการคลัง จนในที่สุดข้อบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมที่กำหนดไว้อย่างรัดกุม ให้ใช้เงินสะสมกรณีชราภาพในยามที่เกษียณแล้วเท่านั้นคือ อายุ 55 ปีขึ้นไปและไม่ได้อยู่ในสถานภาพการเป็นลูกจ้าง ดังนั้นจึงต้องแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขกฎหมายตามขั้นตอน
ส่วนความคืบหน้าการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติประกันสังคมนั้น ขณะนี้ได้ผ่านการสอบถามความคิดเห็นจากผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วนแล้ว และได้ยกร่างปรับปรุงกฎหมายฯ ในประเด็นดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถนำเข้าคณะกรรมการร่างกฏหมายกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาตรวจสอบร่างกฎหมาย จากนั้นเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนนำเข้าสู่สภาฯ พิจารณาแก้ไขต่อไป
ก.แรงงาน เดินหน้าเร่งฉีดวัคซีนให้ลูกจ้างโรงงานใน กทม.
กระทรวงแรงงาน เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยเฉพาะในกลุ่มลูกจ้างโรงงานต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ป้องกันการระบาดเป็นกลุ่มก้อน
สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังคงน่าเป็นห่วง ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อกว่า 1,000 คน การระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือคลัสเตอร์ ก็ยังมีจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง และตามโรงงานต่าง ๆ
ภาครัฐโดยกระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรม จึงเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 กลุ่มลูกจ้างโรงงานในกรุงเทพมหานคร โดยจัดให้มีการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีน บริษัท โรงงานฟุตบอลล์ไทย สปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด เขตหนองจอก ซึ่งเปิดมาแล้ว 6 วัน คือตั้งแต่วันที่ 7-11 มิถุนายน และวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา มีกลุ่มลูกจ้าง แรงงาน ของสถานประกอบการ บริษัท โรงงานต่าง ๆ มาลงทะเบียน รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว มากกว่า 250,000 คน
กลุ่มคนทำงานธุรกิจกลางคืนขอเยียวยา หลังเจอสั่งปิดเหมารวมช่วง COVID-19
17 มิ.ย. 2564 ที่รัฐสภา สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง นำโดยนายนนทเดช บูรณะสิทธิพร ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) เพื่อขอมาตรการผ่อนปรนและมาตรการเยียวยาให้กับกลุ่มผู้ประกธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19
โดยนายนนทเดชกล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในระลอกที่ 3 ทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 19) วันที่ 9 เม.ย.64 โดยระบุหัวข้อหลัก 3 ข้อ ว่าด้วยการกำหนดให้มีการปิดสถานบริการ หรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพรโรค, การพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการและการตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ จากคำสั่งดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงทั้งหมด ซึ่งไม่ได้มีแต่เจ้าของธุรกิจ หรือผู้ประกอบการแต่รวมไปถึงลูกจ้างทุกประเภททั้งที่เข้าระบบประกันสังคม และกลุ่มอาชีพอิสระที่รับค่าจ้างแบบรายวัน ซึ่งที่ผ่านมายังมีผู้ได้รับผลกระทบและไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาจากภาครัฐได้อย่างครบถ้วน ทางสมาพันธ์ฯ จึงขอเรียกร้องมาตรการเยียวยาดังนี้
1.ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม
2.ขอให้มีคำสั่งปลดล็อกเพื่อให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการ และสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ภายในวันที่ 1 ก.ค.64 โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค
3.ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้
4.ผ่อนปรนให้มีการจัดงานมหรสพโดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค
5.พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงโดยเร็วที่สุด
6.พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้ และหรือการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ
7.เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน และหรือประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าร่วมรับฟัง, เสนอแนะ, พูดคุย ในกระบวนการการออกมาตรการและนโยบายต่างๆ
8.เปิดช่องทางสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน
ด้าน นพ.ชลน่านกล่าวว่า กลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิด เพราะมาตรการของรัฐที่ใช้ เช่น การสั่งปิดแบบเหมารวม แล้วมีมาตรการเยียวยาที่ไม่ครอบคลุมทั่วถึง ซึ่งข้อเรียกร้องที่ทางสมาพันธ์ฯยื่นมานั้นเป็นการดูแลช่วยเหลือเร่งด่วน ซึ่งแนวทางของสภาเรานั้น เราจะดูให้ครอบคลุมว่ามาตรการที่เราจะสามารถไปช่วยขับเคลื่อนในนามของการเป็นผู้แทนของประชาชน เราคงต้องดูแนวทางว่าจะทำอย่างไรและจะเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งกลไกลที่เราทำอยู่ง่ายและเร็วคือ การตั้งกระทู้ด้วยวาจา หรือสอบข้อเท็จจริงในชั้นกรรมาธิการ เพราะเราสามารถเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงได้ ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้เราก็จะดำเนินการให้
ที่มา: มติชนออนไลน์, 17/6/2564
ศบค.ระบุพบคลัสเตอร์ COVID-19 ในโรงงาน 27 จังหวัด
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.เผยถึงจังหวัดที่มีรายงงานคลัสเตอร์โควิด-19 ในโรงงาน ตั้งแต่ 1 เม.ย.-16 มิ.ย. 2564 มีทั้งสิ้น 27 จังหวัด ดังนี้ 1.พิษณุโลก 2.นครสวรรค์ 3.นครนายก 4.นนทบุรี 5.ปทุมธานี 6.พระนครศรีอยุธยา 7.ลพบุรี 8.สระบุรี 9.นครปฐม 10.ประจวบคีรีขันธ์ 11.เพชรบุรี 12.ราชบุรี 13.สมุทรสงคราม 14.สมุทรสาคร 15.สุพรรณบุรี 16.ฉะเชิงเทรา 17.ชลบุรี 18.ปราจีนบุรี 19.ระยอง 20.สมุทรปราการ 21.นครราชสีมา 22.นครศรีธรรมราช 23.ระนอง 24.ตรัง 25.ปัตตานี 26.สงขลา 27.กรุงเทพมหานคร
ส่วนคลัสเตอร์โควิด-19 ระบาดใหม่ พบ 8 คลัสเตอร์กระจายใน 5 จังหวัด ดังนี้ 1.นนทบุรี ที่บริษัทกระจกและอะลูมิเนียม อ.ไทรน้อย พบผู้ป่วยรายใหม่ 19 ราย และบริษัทอะลูมิเนียม อ.บางบัวทอง พบผู้ป่วยรายใหม่ 6 ราย 2.สมุทรปราการ ที่บริษัทไม้แขวนเสื้อพลาสติก อ.พระประแดง พบผู้ป่วยรายใหม่ 26 ราย บริษัทผลิตผ้า อ.เมือง พบผู้ป่วยรายใหม่ 8 ราย บริษัทผลิตซอสปรุงรส อ.เมือง พบผู้ป่วยรายใหม่ 8 ราย 3.สมุทรสาคร โรงงานอาหารทะเลแช่แข็ง อ.เมือง พบผู้ป่วยรายใหม่ 23 ราย 4.ปทุมธานี บริษัทนำเข้าเครื่องจักร อ.ลาดหลุมแก้ว พบผู้ป่วยรายใหม่ 78 ราย และ 5.พระนครศรีอยุธยา โรงงานอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ พบผู้ป่วยรายใหม่ 7 ราย
เผยยอด 7 วันผู้ประกันตน ม.33 ฉีดวัคซีน COVID-19 ไปแล้วกว่า 2.5 แสนคน
16 มิ.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน พร้อมด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ตรวจเยี่ยมการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์ฉีดศูนย์บริษัท โรงงานฟุตบอลไทย สปอร์ตติ้ง กู๊ดส์ จำกัด ถ.ฉลองกรุง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 10 มีศักยภาพการฉีดวันละ 1,000 คน มีทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกรจากโรงพยาบาลนวมินทร์ 1 เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาฯรมว.แรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายธีระวิทย์ วงศ์เพชร คณะที่ปรึกษารมว.งแรงงาน นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ร่วมตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ด้วย โดย นายกมล โชคไพบูลย์กิจ ประธานกรรมการบริษัท โรงงานฟุตบอลล์ไทย สปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด พร้อมด้วยผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งแต่วันที่ 7-11 และ 14-15 มิ.ย. 2564 มีผู้ประกันตนได้รับการฉีดวัคซีนแล้วทั้งสิ้นจำนวน 254,631 คน
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ของกระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในวันนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าไปมาก รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน มีความตั้งใจที่จะลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบการโรงงาน รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่แรงงาน ให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้ภาคธุรกิจได้มีการขับเคลื่อนต่อไปได้โดยเร็ว
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 16/6/2564
“กสร.” เร่งช่วยเหลือ-ชี้แจงสิทธิกลุ่มลูกจ้างอัลฟ่า หลังถูกเลิกจ้างกะทันหันกว่า 200 คน
นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีและโฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กรณีที่บริษัท อัลฟ่า เพอร์ฟอร์มานซ์ กรุ๊ป จำกัด (อัลฟ่า) ได้มีหนังสือประกาศเลิกจ้างลูกจ้างเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2564 โดยปิดกิจการเนื่องจากประสบปัญหาทางธุรกิจการขนส่งพัสดุอีคอมเมิร์ซซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้พนักงานประมาณ 407 คน ถูกเลิกจ้างทันที โดยนายสุชาติ ชมกลิ่นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจึงได้สั่งการให้ กสร. เร่งดำเนินการช่วยเหลือโดยเร็วเพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมายอย่างครบถ้วน
โดยเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมาตัวแทนลูกจ้างและลูกจ้าง บริษัท อัลฟ่าฯ จำนวน 200 คน ได้เดินทางเข้ามาปรึกษาพูดคุยกับพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ช่วยเหลือกรณีบริษัทปิดกิจการ โดยยังไม่ได้รับค่าจ้าง ค่าชดเชย ค่าจ้างเงินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินประกันในการทำงาน เจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และแนะนำขั้นตอนการดำเนินการยื่นคำร้องตามอำนาจหน้าที่ของกรมให้กลุ่มลูกจ้างได้รับทราบ
ทั้งนี้ภายหลังจากการปรึกษาพูดคุยลูกจ้างทั้งหมดยังไม่ประสงค์จะยื่นคำร้องในวันนี้ โดยจะกลับไปเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง และจะแต่งตั้งตัวแทนลูกจ้างมายื่นคำร้อง ในวันจันทร์ที่ 21 มิ.ย. 2564 ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 (สรพ.5) ซึ่งกรมจะได้เร่งรัดพูดคุยกับนายจ้างให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและดูแลสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างให้เป็นไปตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดต่อไป
มติ ครม.เห็นชอบ ลดเงินสมทบผู้ประกันตน ม.40 ยันไม่กระทบเงินชราภาพ
15 มิ.ย. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน ในกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... (โควิด-19) ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา 40 เหลือร้อยละ 60 ของเงินสมทบเดิม เป็นระยะเวลา 6 เดือน และร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ในกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... ลดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งนี้ จะมีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
สำหรับการลดเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ เหลือร้อยละ 60 ของเงินสมทบเดิม เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยส่งเงินสมทบ 3 ทางเลือกดังนี้
ทางเลือกที่ 1 (ได้ประโยชน์ทดแทน 3 กรณี) อัตราเงินสมทบใหม่ 42 บาท/เดือน จากอัตราเงินสมทบเดิม 70 บาท/เดือน
ทางเลือกที่ 2 (ได้ประโยชน์ทดแทน 4 กรณี) อัตราเงินสมทบใหม่ 60 บาท/เดือน จากอัตราเดิมที่ 100 บาท/เดือน
ทางเลือกที่ 3 (ได้ประโยชน์ทดแทน 5 กรณี) อัตราเงินสมทบใหม่ 180 บาท/เดือน จากอัตราเดิมที่ 300 บาท/เดือน
สำหรับเงินสมทบที่รัฐบาลชำระเข้ากองทุนประกันสังคม ให้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงแต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 อัตราเงินสมทบใหม่ 21 บาท/เดือน จากอัตราเงินสมทบเดิม 30 บาท/เดือน
ทางเลือกที่ 2 อัตราเงินสมทบใหม่ 30 บาท/เดือน จากอัตราเดิมที่ 50 บาท/เดือน
ทางเลือกที่ 3 อัตราเงินสมทบใหม่ 90 บาท/เดือน จากอัตราเดิมที่ 150 บาท/เดือน
สำหรับการปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน จะส่งผลให้ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบลดลง 378 ล้านบาท ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนและเพิ่มกำลังซื้อมากขึ้น จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในระหว่างการระบาดของโควิด-19 ขณะที่รัฐบาลลดนำส่งเงินสมทบลง 189 ล้านบาท รวมทั้งแรงงานนอกระบบมีแนวโน้มที่จะเลือกส่งเงินสมทบตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ ซึ่งเป็นแบบสมัครใจเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่มีการลดอัตราการจ่ายเงินสมทบดังกล่าว โดยกระทรวงแรงงานคาดว่าจะมีเงินสมทบลดลงหลังจากการปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบ 6 เดือน จำนวน 567 ล้านบาท เหลือจำนวน 850.5 ล้านบาท จากจำนวนเดิม 1,417.5 ล้านบาท แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมจัดสรรเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามอัตราปกติ
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 15/6/2564
สมาคมภัตตาคารไทยจี้รัฐอุ้มร้านอาหารเล็ก หวั่นแรงงาน-ซัพพลายเชนล้มโดมิโน่
ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯจึงฝากโจทย์ไปยัง ธปท.ว่ามีมาตรการใดบ้างที่ “ตอบโจทย์” ธุรกิจร้านอาหารโดยตรง เหมือนอย่างมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) ที่ผู้ประกอบการโรงแรมได้ประโยชน์และเข้าถึงโดยตรง
ทั้งนี้สมาคมฯพบว่าจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีธุรกิจร้านอาหารมาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแค่ประมาณ 15,000 ราย แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว “ร้านอาหารขนาดเล็ก” เช่น ตามห้องแถว สตรีทฟู้ด ต่างเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.90) และทาง “กรมสรรพากร” ได้ลงพื้นที่ประเมินรายได้ต่อปีและเก็บภาษีครบทุกเม็ดทุกหน่วย! จึงมองว่าทางกรมสรรพากรน่าจะมีฐานข้อมูลผู้เสียภาษีที่เป็นร้านอาหารขนาดเล็ก โดยทางสมาคมฯประเมินว่าน่าจะมีหลักแสนราย แต่กลับยังไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3
“สมาคมฯจึงอยากให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารรายเล็กด้วย เพราะคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในผู้เสียภาษีเหมือนกัน โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน ให้เข้าถึงเงินกู้อย่างน้อย 30% ของฐานรายได้ที่เสียภาษีต่อปี โดยอาจจะอ้างอิงจากฐานฯเมื่อปี 2562 เพื่อนำเงินกู้มาหมุนเวียนจ่ายค่าใช้จ่ายประจำ เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ และอื่นๆ”
หลังยอดขายของธุรกิจร้านอาหารตกลงเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 โดยเดือน มิ.ย.นี้คาดว่าร้านอาหารส่วนใหญ่มียอดขายฟื้นตัวอยู่ที่ระดับไม่เกิน 30% จากยอดขายปกติ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาซึ่งยอดขายหดตัวรุนแรงเหลือเพียง 10% ทั้งยังส่งผลกระทบต่อ “ซัพพลายเชน” เชื่อมโยงไปยังผู้ผลิตวัตถุดิบและผู้ให้บริการประเภทต่างๆ รวมถึง “การจ้างงาน” ประกอบกับธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่เน้นใช้เงินสดนำมาหมุนเวียน ส่วนใหญ่สายป่านสั้น อยู่ได้นานประมาณ 3 เดือน แต่วิกฤติโควิด-19 อยู่มานานกว่า 15 เดือนแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างตรงจุด
และจากการสำรวจผลกระทบหลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ออกมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อควบคุมโรค ให้ผู้บริโภคสามารถนั่งทานอาหารในร้านแค่ 25% ต่อรอบ แต่พบว่าผู้บริโภคก็ยังไม่มา ต่อให้ทาง ศบค.ประกาศปรับมาตรการอนุญาตให้นั่งได้เต็ม 100% ขณะนี้ ทางสมาคมฯก็ยังไม่มั่นใจว่าจะมีคนกลับไปนั่งทานในร้านอาหารเต็มพื้นที่เหมือนเดิม เพราะผู้บริโภคก็อาจจะยังกลัว ไม่ต้องการอยู่ในที่แออัด เพราะหวั่นว่าจะมีการแพร่ระบาดซ้ำ
“ต้องยอมรับว่าเวลานี้คนลำบากจริงๆ จากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น รัฐบาลเองก็พยายามอย่างดีที่สุด เช่น ออกนโยบายแจกเงินผ่านโครงการต่างๆ เพื่อเติมเงินในระบบเศรษฐกิจ แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำเลย และทางสมาคมฯหวังว่าจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านก้อนใหม่ ควรจะต้องให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีได้เข้าถึงความช่วยเหลือ เพราะธุรกิจร้านอาหารไม่มีสินทรัพย์ขนาดใหญ่แบบโรงแรม แต่เรามีคน มีซัพพลายเชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนตัวเล็กๆ ของประเทศและมีจำนวนมหาศาล ถ้าล้ม ก็จะล้มครืนเป็นโดมิโน่ไปเรื่อยๆ”
ฐนิวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางสมาคมฯได้ยื่นเรื่องไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอฉีดวัคซีนแก่พนักงานร้านอาหารวันละ 1,000 คนในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่สถานีกลางบางซื่อ และสัปดาห์นี้อาจจะได้จำนวนต่อวันมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้สมาคมฯได้ส่งหนังสือถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อขอให้มีการฉีดวัคซีนแก่พนักงานร้านอาหาร 40,000 คนทั่วประเทศ
นอกจากนี้แรงงานส่วนหนึ่งของร้านอาหารเป็น “แรงงานต่างด้าว” ซึ่งยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน เมื่อวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าได้รับการจัดสรรแก่คนไทยตามแผนของรัฐบาล ก็คงจะมีการจัดสรรให้แรงงานต่างด้าวครอบคลุมทุกประเทศในลำดับถัดไป
“ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มองว่าร้านอาหารเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการระบาดของโรคโควิด-19 และเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ก็ควรจะมีการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่พนักงานร้านอาหารซึ่งถือเป็นบุคลากรด่านหน้า มีความเสี่ยงในการติดโรคจากลูกค้าและผู้ที่มาติดต่ออื่นๆ เช่นกัน” นายกสมาคมภัตตาคารไทยกล่าว
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 15/6/2564
เจาะเลือดหาภูมิคุ้มกันแรงงานแคมป์หลักสี่ หลังติดเชื้อ COVID-19 ว่ามีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหรือไม่ หากมีภูมิคุ้มกันร้อยละ 80-90 จะพิจารณาเปิดแคมป์งานก่อสร้าง
14 มิ.ย. 2564 แรงงานก่อสร้าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่อาศัยอยู่ภายในแคมป์คนงานซอยยายผล เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ทั้งแรงงานคนไทยและแรงงานข้ามชาติ ทยอยเดินทางมาเจาะเลือดและตรวจน้ำลายหาเชื้อ COVID-19 เพื่อติดตามการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน หลังการติดเชื้อ COVID-19 และเพื่อศึกษาวิจัยปัจจัยความแตกต่างทางพันธุกรรมของโควิด เนื่องจากพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) จำนวน 36 คน
นายไพฑูรย์ งามมุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตหลักสี่ เปิดเผยว่า การตรวจครั้งนี้จะดำเนินการตรวจระหว่างวันที่ 14-15 มิ.ย. บริเวณไซต์งานก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยสำนักงานเขตหลักสี่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และศูนย์บริการสาธารณสุข 53 ทุ่งสองห้อง ซึ่งจะร่วมกันตรวจภูมิคุ้มกัน COVID-19 คนงานหลังหายป่วย รวมถึงคนงานไม่ติดเชื้อที่ไซต์งานก่อสร้างเพื่อหาระดับภูมิต้านทานของเชื้อ หากมีภูมิคุ้มกันร้อยละ 80-90 จะพิจารณาเปิดแคมป์งานก่อสร้าง
“ยังติดตามสถานการณ์อยู่ เราเพิ่งเปลี่ยนสถานะจากสีแดงมาเป็นสีเหลือง ไม่พบผู้ป่วย 14 วัน ต่อไปเราจะเปลี่ยนสถานะเป็นสีเขียว ถ้า 28 วันไม่มีผู้ป่วยเลย เราก็จะเข้าสู่ระยะปลอดภัยได้”
สำหรับความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้างอิตาเลียนไทยฯ ขณะนี้ไม่พบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในกลุ่มคนงานของแคมป์ฯ เป็นเวลา 17 วันต่อเนื่อง ตั้งแต่วันสุดท้ายที่พบผู้ติดเชื้อคือ วันที่ 26 พ.ค. - 11 มิ.ย. 2564
กองบัญชาการควบคุมรักษาความปลอดภัย COVID-19 ประจำพื้นที่แคมป์อิตาเลียนไทย เขตหลักสี่ รายงานว่า คนงานก่อสร้างของ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ทั้งหมด 1,724 คน ติดเชื้อ 1,483 คน ไม่ติดเชื้อ 241 คน หายป่วยแล้ว 1,459 คน และยังอยู่ระหว่างการรักษา 24 คน ไม่พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง 17 วัน
เร่งให้ความช่วยเหลือคุ้มครองตามกฎหมาย ลูกจ้างบริษัท อัลฟ่าฯ 400 ชีวิตถูกเลิกจ้าง
14 มิ.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณี บริษัท อัลฟ่า เพอร์ฟอร์มานซ์ กรุ๊ป จำกัด ได้ส่งหนังสือบอกเลิกจ้างพนักงาน โดยให้มีผลเลิกจ้างพนักงานทันทีในวันที่ 13 มิ.ย. ทำให้พนักงานประมาณ 400 คนถูกเลิกจ้างทันที และยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการได้เงินชดเชยนั้น ในเรื่องนี้ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่ เข้าไปติดตามสาเหตุการประกาศหยุดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน รวมทั้งเร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยด่วน และได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือคุ้มครองตามกฎหมาย
ด้าน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 พบว่า บริษัท อัลฟ่า เพอร์ฟอร์มานซ์ กรุ๊ป จำกัด (อัลฟ่า) มีสำนักงานตั้งอยู่ที่เลขที่ 338 ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ได้ส่งหนังสือบอกเลิกจ้างพนักงานเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2564 โดยให้มีผลเลิกจ้างพนักงานในวันที่ 13 มิ.ย. 2564 ทำให้พนักงานประมาณ 400 คนถูกเลิกจ้างทันที และยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการได้เงินชดเชย ซึ่งบริษัทแจ้งต่อพนักงานว่าจะมีการประชุมพูดคุยกันเรื่องค่าชดเชยในวันที่ 14 มิ.ย. 2564
สำหรับสาเหตุการหยุดกิจการเนื่องจากบริษัทประสบปัญหาทางธุรกิจการขนส่งพัสดุอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันที่รุนแรงทำให้ต้องหยุดดำเนินธุรกิจและเลิกกิจการ
นายอภิญญา กล่าวต่อว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ได้เข้าติดตามให้มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและได้ประสานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การให้คำปรึกษาข้อกฎหมาย สิทธิประโยชน์ การใช้สิทธิประกันการว่างงาน การหาตำแหน่งงานว่างให้การฝึกทักษะทางด้านอาชีพตามความต้องการ การขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เป็นต้น
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 14/6/2564
บริษัท อัลฟ่าฯ ผู้ให้บริการส่งพัสดุด่วนสำหรับอีคอมเมิร์ซ ส่งจดหมายบอกเลิกจ้างพนักงาน กะทันหัน
13 มิ.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท อัลฟ่า เพอร์ฟอร์มานซ์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการส่งพัสดุด่วนสำหรับอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจออนไลน์ และธุรกิจค้าปลีก ได้ส่งหนังสือบอกเลิกจ้างแก่พนักงานลงวันที่ 11 มิถุนายน 2564 และมีผลวันนี้ (13 มิ.ย.)
โดยหนังสือดังกล่าว ระบุว่า อย่างที่ท่านได้ทราบเป็นอย่างดี หลายปี ที่ผ่านมาการขนส่งพัสดุอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันที่รุนแรง อัลฟ่าได้แข่งขันและถูกจัดอันดับสูงสุดในเรื่องของคุณภาพการให้บริการที่ดี โดยลูกค้าของเรา ทั้งนี้ อัลฟ่า ซาบซึ้ง และขอขอบคุณทุกท่านมาก กับการมีส่วนร่วมของท่านทั้งหลาย
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานโยบายการแข่งขันในอุตสาหกรรมของเราได้กลายเปลี่ยนจากคุณภาพการให้บริการเป็นการตัดราคามากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดราคาในปีนี้ได้เป็นไปในระดับที่ไม่ยั่งยืนเป็นการตัตราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน ผู้เล่นในอุตสาหกรรมของเราส่วนใหญ่ ยังขาดทุนและใช้วิธีแก้ไขการขาดทุน
โดยการระดมทุนมากขึ้น น่าเสียดายที่แม้อัลฟ่าจะมีความพยายามมากมาย สุดท้ายแล้วเราก็ไม่สามารถระดมทุนเพิ่มเติมจากนักลงทุน เพื่อต่อสู้กับอุตสาหกรรมที่มีค่าใช้จ่ายสูงนี้ได้อีก ดังนั้น เราจึงไม่สามารถให้บริการทางธุรกิจของเราต่อไปได้ เราต้องหยุดการดำเนินธุรกิจและเลิกกิจการ โดยอัลฟ่ามีความเสียใจที่แจ้งให้ท่านทราบว่าพนักงานทุกคนจะถูกเลิกจ้าง โดยมีผลในวันที่ 13 มิถุนายน 2564
ผู้สื่อข่าวรายงาน เพิ่มเติมว่า จากการติดต่อเข้าไปยังบริษัท อัลฟ่า เพอร์ฟอร์มานซ์ กรุ๊ป จำกัด พบว่าพนักงานไม่ได้รับสาย โดยระบบอัตโนมัติแจ้งให้ติดต่อกลับมาอีกครั้งในวันทำการระหว่างวันจันทร์ถึงเสาร์
ขณะเดียวกัน ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท อัลฟ่า เพอร์ฟอร์มานซ์ กรุ๊ป จำกัด จดทะเบียนบริษัท วันที่ 25 มิถุนายน 2556 มีทุนจดทะเบียน 12 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ ประกอบกิจการซื้อขายสินค้า และบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์
สำหรับผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (ปี2561-2563)พบว่า ขาดทุนต่อเนื่อง โดยปี 2561มีรายได้รวม 281ล้านบาท ขาดทุน 98 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้รวม 297 ล้านบาท ขาดทุน 87 ล้านบาทและปี2563 มีรายได้รวม 242 ล้านบาท ขาดทุน 47 ล้านบาท
รมว.แรงงาน มอบ กกจ.-กสร.โน้มน้าวสถานประกอบการจ้างเหมาบริการสร้างงานคนพิการ
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ประชาชน และให้ความช่วยเหลือแรงงานกลุ่มเปราะบาง ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างยิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่ยังมีทั้งศักยภาพ และความต้องการในการทำงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสการมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ อย่างเหมาะสมและยั่งยืน เพราะตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จ้างคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วน 100 : 1 หากไม่สามารถดำเนินการได้ จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในอัตรา 114,245 บาทต่อปี ตามจำนวนคนพิการที่ไม่ได้จ้าง ซึ่งกองทุนฯ จะนำเงินดังกล่าว ไปส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการต่อไป
ทั้งนี้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มคนพิการ ดังนั้นเพื่อช่วยเหลือให้คนพิการมีงานทำ มีรายได้สามารถดูแลตนเองและครอบครัว โดยได้รับการจ้างงานจากสถานประกอบการในรูปแบบอื่น ที่เป็นทางเลือกตามกฎหมายและสามารถดำเนินการได้ จึงมอบหมายกรมการจัดหางาน (กกจ.) ให้ประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้สถานประกอบการเลือกใช้วิธีการจ้างเหมาบริการคนพิการปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐในจังหวัดที่คนพิการอาศัยอยู่ ซึ่งเป็น 1 ในกิจกรรมการดำเนินการตามมาตรา 35 ที่จะทำให้คนพิการเกิดรายได้ทันที สามารถมีงานทำและได้รับการจ้างงานโดยตรง
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ล่าสุดได้สั่งการสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ โดยมีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ร่วมบูรณาการภารกิจ ตามนโยบายรัฐมนตรี เพื่อสำรวจความต้องการจ้างงานของสถานประกอบการ รวมทั้งสร้างการรับรู้แนวทางการดำเนินการตามมาตรา 35 และโน้มน้าวให้นายจ้าง/สถานประกอบการหันมาใช้การส่งเสริมการจ้างงงานคนพิการเชิงสังคม ประเภทการจ้างเหมาบริการ โดยจ้างงานคนพิการเป็นพนักงานเพื่อปฏิบัติงานสนับสนุนองค์กรในท้องถิ่นที่มีภารกิจสาธารณประโยชน์ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน/ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการของท้องถิ่น/เทศบาล ซึ่งช่วยให้คนพิการในพื้นที่ห่างไกล ได้รับโอกาสมีอาชีพ มีงานทำอย่างทั่วถึง สามารถพึ่งพาตนเองได้ทัดเทียมคนทั่วไป
“สำหรับสถานประกอบการที่สนใจร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม มาตรา 35 สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1–10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว
4 วัน รับวัคซีนโควิด ม.33 กว่า 1.7 แสนคน โฆษก ก.แรงงาน แจงปิดระบบชั่วคราวปรับยอดขอฉีด
11 มิ.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำคณะไปตรวจเยี่ยมการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ศูนย์ฉีดศูนย์ฉีดวัคซีน บริษัท โรงงานฟุตบอลไทย สปอร์ตติ้ง กู๊ดส์ จำกัด ถนนฉลองกรุง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรุงเทพมหานคร เขตพื้นที่ 10 มีศักยภาพการฉีดวันละ 1,000 คน มีทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกรจากโรงพยาบาล (รพ.) นวมินทร์ 1 เป็นผู้ดำเนินการ
นายสุชาติ เปิดเผยว่า การตรวจเยี่ยมจุดฉีดวัคซีนผู้ประกันตน ม.33 ครั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการให้บริการฉีดวัคซีน ซึ่งจากผลการดำเนินการ 4 วันที่ผ่านมา มีผู้มาฉีดวัคซีนจำนวน 174,193 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 87.09 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้วันละ 50,000 คน 4 วัน จะต้องฉีดได้ 200,000 คน
“การฉีดวัคซีนผู้ประกันตนมาตรา 33 รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน มีความตั้งใจที่จะลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบการ เพื่อให้กิจการต่างๆ สามารถดำเนินต่อไปได้ “นายสุชาติ กล่าว
ด้าน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) กล่าวถึงกรณี สปส.จำเป็นต้องปิดระบบการให้บริการฉีดวัคซีนแก่ผู้ประกันตน ม.33 ทั้ง 45 จุดทั่วกรุงเทพฯ เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน และจะเปิดให้บริการใหม่ในวันที่ 28 มิถุนายน ว่า เพื่อปรับปรุงระบบการให้บริการ ทั้งนี้เนื่องจากพบว่า ตลอดช่วงที่ให้บริการมาเป็นเวลา 4 วัน พบปัญหาอุปสรรคในการให้บริการ 1.พบว่าตัวเลขผู้ประกันตนที่สถานประกอบการหรือนายจ้างส่งให้ สปส.กับจำนวนผู้ประกันตนที่เข้าไปรับบริการไม่ตรงกัน เช่น ส่งชื่อไป 1,000 คน แต่ไปฉีดจริงหลักร้อยคน
นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า 2.เนื่องจากจุดให้บริการบางแห่ง เป็นพื้นที่ภายนอกอาคาร ไม่มีระบบปรับอากาศ ประกอบกับในระหว่างให้บริการอากาศร้อน ทำให้ผู้ที่ไปรอฉีดวัคซีนความดันสูง อีกทั้งยังมีฝนตกและลมกระโชกแรงในบางเวลา ทำให้ต้องยุติการฉีดซึ่งทำให้การบริการยิ่งล่าช้า
“ดังนั้น จากปัญหาทั้ง 2 เรื่องนี้ จึงได้พิจารณาและขอปิดการให้บริการชั่วคราว เพื่อให้จัดหาสถานที่ใหม่ เป็นอาคารที่มีระบบปรับอากาศ อีกทั้งต้องให้สถานประกอบการและ สปส.ได้ทบทวนจำนวนผู้ประกันตนที่จะขอรับวัคซีนจริง เพื่อให้การบริการที่จะเปิดใหม่ดำเนินการไปอย่างราบรื่น และสะดวก สบายแก่ผู้เข้าใช้บริการ” โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) กล่าว
ที่มา: มติชนออนไลน์, 11/6/2564
ประกันสังคมเผย 3 วันฉีดวัคซีนแล้ว 1.2 แสนคน
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ติดตามบรรยากาศ ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จุดฉีดวัคซีนศูนย์การค้ามาบุญครอง พบว่า ล่าสุด ผู้ประกันตน ม.33 ที่ได้ลงทะเบียนไว้กับทางบริษัทแจ้งความประสงค์เข้ารับวัคซีน โควิด-19 และผู้ประกันตนม.33 ที่ได้บันทึกลงระบบ e-service ตามที่สำนักงานประกันสังคมสำรวจไว้ได้เดินทางมารับการตรวจและเข้ารับวัคซีนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับจุดฉีดวัคซีนศูนย์การค้ามาบุญครอง จะให้บริการตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2564 เปิดให้บริการฉีดวัคซีนตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. บริเวณชั้น G โซน C ลานปทุมวันฮอลล์ และ รามาฮอลล์ รวมพื้นที่กว่า 1,600 ตร.ม. รองรับผู้ประกันตนประมาณ 1,200 คน/วัน
ขณะที่ สำนักงานประกันสังคม เปิดเผยภาพรวมการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกัน ทั้ง 45 จุด พบว่า วันที่ 7 มิ.ย. มียอดการฉีดวัคซีน 36,706 คน, วันที่ 8 มิ.ย. อีก 41,438 คน และวันที่ 9 มิ.ย. อีก 45,962 คน รวม 3 วัน ฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตนแล้ว 124,106 คน
BTS ส่งพนักงานรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 100% แล้ว
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้นำพนักงานส่วนหน้าที่ปฏิบัติงานประจำสถานีรถไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และแม่บ้านประจำสถานีรถไฟฟ้าทุกคน เข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบทุกคน ตามประกาศนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง การฉีดวัคซีนให้เป็นวาระแห่งชาติ และเป็นไปตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงคมนาคม ที่ให้กลุ่มบริการระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทในเขตกรุงเทพฯ เข้ารับวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง และเป็นกลุ่มที่ต้องสัมผัสกับผู้ใช้บริการโดยตรง เพื่อสร้างความมั่นใจในการให้บริการกับผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสได้มั่นใจมากยิ่งขึ้นในการเดินทาง
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า บริษัทฯ ขอบคุณความห่วงใยจากหน่วยงานรัฐทุกฝ่ายอีกครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว จะสามารถเพิ่มความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และผู้โดยสารรถไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเพิ่มความถี่ในการเช็ดทำความสะอาดในขบวนรถไฟฟ้าทุกๆ ชั่วโมง เพิ่มความถี่ในการฉีดพ่น และเช็ดทำความสะอาดภายในขบวนรถไฟฟ้า และจุดสัมผัสร่วมภายในสถานีทุกชั่วโมง และบริเวณรอบสถานีด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ จาก 2 ชั่วโมงครั้ง เป็นทุกๆ 1 ชั่วโมง ในทุกสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส และจัดเจ้าหน้าที่ให้บริการเจลแอลกอฮอล์เคลื่อนที่เพิ่มเติมบนชั้นชานชาลาสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทุกช่วงเวลา
นายสุรพงษ์ ยืนยันว่า บริษัทฯ ได้ทำทุกวิถีทางเพื่อให้บริการผู้โดยสารมั่นใจ และผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ ตามปณิธานของนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริษัทฯ ที่เคยกล่าวไว้ว่า มหันตภัยโควิด-19 ครั้งนี้ยิ่งใหญ่มาก และเราทุกคนต่างได้รับความเจ็บปวด ถึงแม้จะลำบาก แต่เราก็ต้องสู้กับโรคโควิด-19 ไม่ทิ้งกัน และสู้ไปด้วยกัน ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอีกไม่ช้า ประเทศไทยจะก้าวผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ และดีขึ้นในเร็ววัน เพราะความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายที่พร้อมสู้ไปด้วยกัน
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 10/6/2564
ผบ.สส. พร้อมส่งทหารคุมแคมป์แรงงาน กทม. ตั้งชุดลาดตระเวนสกัดเคลื่อนย้าย
พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (หน.ศปม.) กล่าวถึงกรณี ศบค. ประสานหน่วยงานความมั่นคงให้ส่ง กำลังทหาร ตำรวจ คุมเข้มแคมป์คนงานก่อสร้างใน กทม. หลังพบว่ายังมีการเคลื่อนย้าย ว่า เป็นภาพรวมของนโยบาย ว่าเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงจะเข้าไปดูแลในการควบคุม ตั้งแต่การตั้งจุดตรวจ การตรวจสถานที่ต่างๆ ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบัน หลังจากมีการตรวจแคมป์คนงาน ที่เป็นคลัสเตอร์การแพร่ระบาด โควิด -19 และยังมีการเคลื่อนย้ายกันออกไป ทั้งนี้ต้องไปดูว่า ศบค.ได้กำหนด แคมป์คนงานในแต่ละพื้นที่เอาไว้อย่างไร
ซึ่งในแนวทางปฏิบัติหากมีกรณีเช่นนี้เราจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจวแคมป์แรงงาน จะต้องได้รับการควบคุมแบบไหน การเข้าออก สามารถเล็ดออกจากพื้นที่ได้หรือไม่ จำเป็น ต้องมีเครื่องกีดขวางมากั้นช่องโหว่ที่ยังปิดไม่ได้หรือไม่ เช่น รั้วลวดหนาม โดยประสานกับผู้ประกอบการที่ดูแลพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการลักลอบโดย 1.จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดเข้า-ออก และพิจารณาเป็นกรณีไปหากจำเป็นต้องเข้า-ออก
2 ลาดตระเวนในพื้นที่เพื่อให้ไม่ให้มีการลักลอบ ทั้งนี้ยืนยันว่าจะใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารจะเป็นส่วนเสริม และใช้ สารวัตรทหาร(สห.)ในการปฏิบัติงาน ยกเว้นกรณีมีแคมป์แรงงานหลายแห่งทีต้องควบคุม จำเป็นต้องใช้กำลังทหาร ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า แคมป์แรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของเหล่าทัพใด ก็จะประสานเหล่าทัพนั้นส่งกำลังทหารไปดูแล
ก.แรงงาน เผยอนุมัติเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเยียวยาเลิกจ้างพนักงานบอดี้แฟชั่นและอื่น ๆ 887 คน รวม 11.8 ล้านบาท
กระทรวงแรงงานอนุมัติเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง 11.8 ล้านบาท เยียวยาความเดือดร้อนให้ลูกจ้างบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 858 คน และบริษัทอื่นๆ อีก 29 คน ที่ถูกเลิกจ้างและยังไม่ได้รับค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากนายจ้าง
นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ในฐานะโฆษกกรม เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยถึงการช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนของลูกจ้างจำนวนมากที่ถูกบริษัทเลิกจ้าง ทั้งจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจซ้ำเติมลูกจ้างหากยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ตามกฎหมาย จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เร่งรัด ติดตามการช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้กำหนดเป็นนโยบายและมาตรการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองแรงงานตามกฎหมายอย่างเร่งด่วน
โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ครั้งที่ 6/2564 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2564 พิจารณาอนุมัติเงินสงเคราะห์กรณีอื่นนอกจากค่าชดเชยของลูกจ้าง จำนวน 887 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 11,814,904.36 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้างบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 858 คน และบริษัทอื่นๆ อีก 29 คน
นางโสภา เกียรตินิรชา โฆษก กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เป็นกลไกที่กระทรวงแรงงานจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอน เพื่อช่วยให้ผู้ใช้แรงงานได้มีเงินในการดำรงชีพ จากการถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งหากลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างกรณีไม่ได้รับค่าชดเชย หรือสิทธิประโยชน์อื่น เช่น ค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นต้น สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่
ที่มา: ประชาติธุรกิจ, 9/6/2564
โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี จ.อุดรธานี ประกาศปิดกิจการหลังเปิดมานาน 58 ปี พร้อมยอมจ่ายชดเชยตามกฎหมาย ด้านตัวแทนสหภาพฯ ยอมรับตกใจเหลืออีกแค่ 5 เดือนจะเกษียณ
8 มิ.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่ด้านหน้าโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี จ.อุดรธานี มีพนักงาน-ลูกจ้างเกือบ 300 คนได้เดินทางมารวมตัวที่ด้านหน้าอาคารสหภาพแรงงานน้ำตาลกุมภวาปี หลังจากบริษัท มีจดหมายนัดหมายให้พนักงานลูกจ้างมารับฟังคำชี้แจงการเลิกกิจการ ซึ่งเปิดกิจการมามากกว่า 58 ปี
การหารือเรื่องการเลิกจ้างครั้งนี้ มีนายฮิเดยูกิ มุราคามิ ประธานบริษัทน้ำตาลกุมภวาปี จำกัด เดินทางมาชี้แจงด้วยตนเอง และมีนายชัยวัฒน์ ศรมณี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.อุดรธานี เป็นตัวแทนเข้าร่วมเจรจากับตัวแทนพนักงานและลูกจ้าง 5 คน ตามมาตรการป้องกัน COVID-19
ทั้งนี้ ระหว่างการประชุมชี้แจง มีการเผยแพร่เอกสาร 2 ฉบับ ฉบับแรกประกาศวันหยุดพิเศษ ระบุเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีพนักงานประจำ 8 มิ.ย.- 2 ก.ค.นี้ พนักงานชั่วคราว 8-12 มิ.ย.นี้ แต่ยังคงได้รับค่าจ้าง และพนักงานที่ยังคงต้องมาทำงานในช่วงวันหยุดพิเศษ จะจ่ายค่าแรงและค่าล่วงเวลาในวันหยุด
ส่วนอีกฉบับเป็นจดหมายถึงเกษตรกรชาวไร่อ้อยครอบครัวตราซ้อน เรื่องแจ้งหยุดกิจการที่ดำเนินกิจการมาเกินกว่าครึ่งศตวรรษ ขอขอบคุณเกษตรกรชาวไร่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีมาโดยตลอด จดหมายระบุต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทตกอยู่ในสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจที่ยากลำบากดังนั้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่จัดขึ้นเมื่อวานนี้ (7 มิ.ย.) จึงมีมติตัดสินใจจะหยุดกิจการน้ำตาล หลังจากนี้อย่างเป็นทางการ
จากการตัดสินใจครั้งนี้บริษัทได้ร้องขอบริษัทน้ำตาลเกษตรผล จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทน้ำตาลตราช้อนให้รับการโอนย้ายสัญญาซื้อขายอ้อย ที่บริษัททำร่วมกับเกษตรกรทุกท่าน สำหรับรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องบริษํทน้ำตาลเกษตรผล จะแจ้งให้เกษตรกรทุกท่านทราบต่อไปขอแสดงความนับถือ
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า บริษัทฯ ชี้แจงว่าประสบปัญหาขาดทุนติดต่อกัน 6-7 ปีแล้ว จึงจะปิดกิจการทั้งหมด โดยมีพนักงาน-ลูกจ้างอยู่รวม 280 คนทั้งรายวันรายเดือน ก็จะต้องเลิกจ้างรวมทั้งลูกจ้างตามฤดูกาลอีกกว่า 1,000 คน ก็จะไม่มีการจ้าง และได้ประกาศหยุดงานตั้งแต่วันนี้ -2 ก.ค.2564 แต่ยังมีค่าจ้าง
“การเลิกจ้างจะเริ่มวันที่ 3 ก.ค.นี้ แบ่งเป็นการสมัครใจลาออกจะได้รับการชดเชย 3 ส่วนคือเงินชดเชยตามกฎหมาย เงินช่วยเหลือพิเศษและเงินช่วยเหลือจากการลาออกคนที่สมัครใจลาออกให้ยื่นเรื่องวันนี้-12 มิ.ย.นี้ ”
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า แต่หากเลยวันที่ 3 ก.ค.นี้ ถือว่าสิ้นสุดการเป็นพนักงาน หากไม่สมัครใจลาออกก็จะดำเนินการเลิกจ้างตามกฎหมาย ซึ่งจะจ่ายชดเชยเฉพาะตามกฎหมาย ซึ่งมีจำนวนแตกต่างกันมากเช่น ผู้มีอายุงานมากกว่า 20 ปี ตามกฎหมายจะได้ชดเชย 400 วันจะบวกเพิ่มเงินช่วยพิเศษอีก 120 วันและเงินช่วยเหลือการลาออก 90 วัน รวมแล้ว 610 วัน
ทั้งนี้ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจ.อุดรธานีได้จัดเจ้าหน้าที่ไปให้คำปรึกษาแก่พนักงาน-ลูกจ้างที่จะตัดสินใจตั้งแต่วันที่ 8 -12 มิ.ย.นี้
ด้านนายถิรวัฒน์ สุทธายาคม อดีตประธานสหภาพแรงงานน้ำตาลกุมภวาปี ยอมรับว่า งงและตกใจ แต่ต้องยอมรับกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น
“เสียใจ เพราะว่าอยู่ที่นี่มานานมากมาอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.2525 เริ่มต้นชีวิตกันใหม่ที่นี่ เพราะมาจาก จ.กระบี่และก็มาอยู่ที่นี่ 39 ปี และอีก 5 เดือนก็จะเกษียณมีความผูกพักกับโรงงานมาก”
วอนนายจ้างพาแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียน หลังรัฐขยายเวลาให้ถึงเดือน ก.ย. 2564
ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่าในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ยังมีการพูดถึงแรงงานต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมายในประเทศที่มีอยู่ประมาณ 200,000 ราย โดยอยู่ในกทม.ประมาณ 70,000 ราย ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขยายเวลาให้คนกลุ่มนี้ลงทะเบียนเข้าระบบไปถึงเดือนก.ย. ดังนั้นจึงขอให้นายแจ้งนำแรงงานไปเข้าระบบให้ถูกต้อง เพื่อจะได้เข้าสู่มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรคต่างๆ เพราะแม้ว่าเร็วๆนี้โควิดอาจหมดไปแต่ยังต้องเฝ้าระวังโรคอื่นๆต่อไปด้วย เพราะหากมีโรคอยู่ในแรงงานที่ไม่สามารถตรวจสอบได้จะถือเป็นภัยของประเทศ จึงขอให้นายจ้างนำแรงงานเหล่านี้เข้าระบบ
อยุธยาพบคลัสเตอร์แรงงานก่อสร้าง 180 ราย สั่งปิดพื้นที่เข้า-ออก
9 มิ.ย. 2564 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รายงานว่า ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้กำหนดให้ตรวจเชิงรุกภายในแคมป์คนงานก่อสร้างในตำบลเกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564 ทั้งหมด 597 คน แบ่งเป็นกลุ่มผู้ค้ารถเร่ จำนวน 34 คน กลุ่มแรงงาน ประกอบด้วย 1.แรงงานไทย (staff-/office/คนงาน) จำนวน 167 คน 2.คนงานต่างด้าว (พม่า/กัมพูชา) จำนวน 396 คน
ผลการตรวจเชิงรุกพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เบื้องต้น 180 ราย ทางอำเภอพระนครศรีอยุธยา อบต.เกาะเรียน พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ปิดพื้นที่แคมป์คนงานดังกล่าว ไม่ให้มีการเดินทางของกลุ่มเป้าหมายไปนอกพื้นที่เพื่อไม่ให้แพร่กระจายเชื้อสู่ชุมชน
ทั้งนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 32 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 1,116 ราย รักษาหายแล้ว 557 ราย รักษาอยู่ 489 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม จำนวน 10 ราย
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 9/6/2564
ประกันสังคมแจงไม่รับ Walk In ผู้ประกันตนมาตรา 33 เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ย้ำต้องลงทะเบียนผ่านระบบ e-service และได้รับแจ้งนัดฉีดวัคซีนจากนายจ้างเท่านั้น
9 มิ.ย. 2564 นางสาวลัดดา แซ่ลี้ ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ตามที่ สปส. ได้เปิดให้บริการศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 45 จุดทั่วกรุงเทพฯ โดยร่วมกับสถานพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตน ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา มีเป้าหมายการฉีดวันละ 50,000 คน
ปรากฏว่ามีผู้สอบถามและติดต่อเข้ามาจำนวนมาก รวมถึงผู้ประกันตนที่ไม่ได้ลงทะเบียน หรือลงทะเบียนไว้แต่ยังไม่ถึงกำหนดนัด ได้ walk in มาที่ศูนย์เพื่อขอรับบริการฉีดวัคซีน
สำนักงานประกันสังคมขอแจ้งให้ทราบว่า ศูนย์ฉีดวัคซีนฯ จะให้บริการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่แจ้งความประสงค์กับนายจ้าง มีการบันทึกเข้าระบบ e-service ของสำนักงานประกันสังคมและมารับการฉีดวัคซีนตามที่ได้รับการนัดหมายแล้วเท่านั้น โดยจะไม่ให้บริการฉีดวัคซีนแก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับการนัดหมาย หรือ walk in มายังศูนย์ฯ
รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงต่อว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้รับจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกทั้งสิ้น 1 ล้านโดส จะใช้ฉีดให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่เป็นลูกจ้างสถานประกอบการในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งสำนักงานประกันสังคมสำรวจความประสงค์ไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้แจ้งความประสงค์มามากเกินกว่าวัคซีนที่ได้รับจัดสรร ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอน ลดความแออัด และให้ผู้ลงทะเบียนได้รับวัคซีนตามลำดับอย่างครบถ้วน สำนักงานประกันสังคมจะทำการแจ้งนัดวันและสถานที่ฉีดให้นายจ้างทราบ และจัดให้ลูกจ้างมาฉีดตามกำหนดนัดหมายเท่านั้น อย่างไรก็ดีหากสำนักงานประกันสังคมได้รับจัดสรรวัคซีนล็อตที่สอง จะแจ้งให้ผู้ประกันตนที่นายจ้างลงทะเบียนไว้ในลำดับถัดไปมารับการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งขอย้ำว่า จะไม่มีการเปิดให้ walk in เข้ารับการฉีดวัคซีน
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ติดต่อสายด่วน 1506 กด 7 เจ้าหน้าที่พร้อมให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ
ร้านนวดวอน ศบค.สั่งเปิด 15 มิ.ย. 2564 นี้
นายพิทักษ์ โยธา นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย เปิดเผยว่า วันนี้ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการร้านนวดและตัวแทนหมอนวดทั่วประเทศของทางสมาคมจารวีฯ จะเข้าประชุมร่วมกับประธานกรรมมาธิการแรงงานที่รัฐสภา ในเวลา 13.30 น. ที่อาคารรัฐสภา เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและการเยียวยาสำหรับคำสั่งปิดร้านนวดตั้งแต่วันที่26 เม.ย.ที่ผ่านจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา กว่า 50 วันแล้ว ไม่เคยได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ ซึ่งผู้ประกอบการยังคงต้องจ่ายค่าเช่าร้าน ทุกเดือนแม้จะปิดบริการตามคำสั่งรัฐ ซึ่งเดือดร้อนหนัก หลายรายจำใจต้องปิดถาวร ล้มหายไปจากวงการนวด และอยากเห็นความชัดเจนว่าในวันที่14 มิ.ย.นี้ ศบค.จะมีคำสั่งอย่างไร ให้เปิดร้านนวดได้หรือไม่ หลังสั่งเบรกคำสั่ง กทม.ไปแล้วเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 ซึ่งที่ผ่านมาเหมือนหลอกให้ผู้ประกอบการดีใจ ว่าจะมีคำสั่งเปิดมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 5 จังหวัดที่ร้านนวดยังโดนคำสั่งปิด คือ กทม. นนทบุรี ชลบุรี สุราษฎรธานี นครศรีธรรมราช
นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย คาดหวังว่า ผลการประชุมวันนี้ ภาครัฐจะเข้าใจ และที่ผ่านมาคำสั่งที่ไม่ชัดเจนทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย และอยากให้ศบค.มีคำสั่งเปิดร้านนวด วันที่ 15 มิ.ย.นี้ จะได้กลับมาลืมตาอ้าปากได้ รวมทั้งอยากได้ความชัดเจนว่า รัฐจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการร้านนวดไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าแล้ว และร้านนวดในเครือข่ายสมาคมจารวี ใน กทม.ที่มีกว่า 5,800 แห่ง ปิดไปกว่า 70% เนื่องจากแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว
ครม.ขยายเวลาแรงงานต่างด้าวตรวจโควิด-ทำประกันให้เสร็จภายใน 13 ก.ย. 2564
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว และกัมพูชา) ดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19, ทำประกันสุขภาพ และขออนุญาตทำงาน ไปจนถึงวันที่ 13 ก.ย. 2564 จากเดิมที่จะต้องสิ้นสุดภายใน 16 มิ.ย. 2564
รวมทั้งเห็นชอบขยายระยะเวลาให้แรงงานต่างด้าวที่ลงทะเบียนไม่มีงานทำ (กลุ่มที่ยังไม่มีนายจ้าง) จำนวน 53,837 คน ไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร 38/1) และไปทำบัตรสีชมพู ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค. 2565 จากเดิมที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 16 มิ.ย. 2564
"ที่ต้องขยายระยะเวลาออกไป เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้กระบวนการต่างๆ ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วตามกำหนด" น.ส.รัชดาระบุ
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 8/6/2564
BBL ร่วมมือสปส.ปล่อยสินเชื่อผู้ประกอบการดอกต่ำ 2.75-4.75% หนุนจ้างงานต่อ
ธนาคารกรุงเทพ (BBL) จับมือสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปล่อยกู้ต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อสถานประกอบการ ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง หวังให้มีการจ้างงานผู้ประกันตนต่อเนื่อง ลดต้นทุนการเงิน คิดดอกเบี้ยต่ำ คงที่ตลอด 3 ปี แค่ 2.75% ต่อปี กรณีมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือ 4.75% ต่อปี กรณีไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือค้ำประกันโดยบุคคล หรือบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงินรวมทั้งโครงการ 3 หมื่นล้านบาท
นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ BBL เปิดเผยว่า โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2563 ? 2564) จะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปส.ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ เพื่อเพิ่มผลผลิตแรงงาน รักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้
โครงการดังกล่าวมีวงเงินสินเชื่อรวมทั้งโครงการ 30,000 ล้านบาท ระยะเวลาสินเชื่อตามโครงการ 3 ปี ผู้ประกอบการที่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ จะต้องเป็นสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม โดยต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และได้รับการรับรองสถานะความเป็นสถานประกอบการจาก สปส. ทั้งนี้ เมื่อได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนในสถานประกอบการให้อยู่ในระดับไม่น้อยกว่า 80% ของจำนวนผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ณ วันที่ธนาคารส่งแบบรายงานผลการอนุมัติสินเชื่อให้ประกันสังคม ไว้ตลอดอายุสินเชื่อ
นายสุวรรณ กล่าวอีกว่า โครงการนี้นับเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ รวมถึงการคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ และคงที่ตลอด 3 ปี เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ โดยมีเงื่อนไขให้ยังคงรักษาระดับการจ้างงานเอาไว้ เพื่อช่วยให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนยังคงมีรายได้ต่อเนื่อง และบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน
"ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ธุรกิจส่วนใหญ่กำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธนาคารกรุงเทพเข้าใจและห่วงใยผู้ประกอบการทุกระดับ และพร้อมที่จะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการส่งมอบความช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเข้าถึงบริการทางการเงินต่าง ๆ รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ผ่านหลากหลายแนวทาง ทั้งมาตรการให้ความช่วยเหลือโดยตรงของธนาคาร และมาตรการที่ธนาคารดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย และสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานกับประกันสังคมในครั้งนี้ ซึ่งในฐานะ "เพื่อนคู่คิด" ธนาคารก็พร้อมให้คำปรึกษาและนำเสนอความช่วยเหลือให้แก่ลูกค้าอย่างเต็มที่ในทุกสถานการณ์" นายสุวรรณ กล่าว
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 8/6/2564
ครม.ไฟเขียว จ้างงาน ป.ตรี บรรจุเป็นพนักงานข้าราชการเฉพาะกิจ สัญญาจ้าง 1 ปี เงินเดือน 18,000 บาท
8 มิ.ย. 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบจัดสรรกรอบอัตรากำลังและกลไกการบริหารจัดการพนักงานราชการเฉพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จำนวน 10,000 อัตรา วงเงิน 2,254.32 ล้านบาท (งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น) โดยให้ได้ค่าตอบแทน 18,000 บาทต่อเดือน ตลอดสัญญาณการจ้างงาน โดยต้องคุณสมบัติของผู้สมัคร จะต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี
การทำสัญญาการจ้างไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ทำสัญญาจ้าง หรือ ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2565 และไม่มีการต่อสัญญาจ้าง และให้สรรหาพนักงานราชการเฉพาะกิจรายใหม่ได้ในกรณีที่ตำแหน่งว่างลงระหว่างปีและยังไม่ครบระยะเวลาสิ้นสุดของกรอบอัตรากำลัง โดยมีระยะเวลาที่เหลือจะต้องไม่น้อยกว่า 1 เดือน เมื่อครบรอบการประเมินผลงานและพฤติกรรมหากไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องอาจเลิกจ้างได้ทันที
ทั้งนี้ การจัดสรรกรอบกำลังให้แก่ส่วนราชการในหน่วยงานส่วนภูมิภาค ระดับจังหวัด รวม 14 หน่วยงาน (28 ส่วนราชการ) ประกาศรับสมัคร สรรหา และบรรจุเข้าเป็นพนักงานข้าราชการเฉพาะกิจตามจำนวนกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการที่ได้รับการจัดสรร โดยกำหนดอายุบัญชีไม่เกิน 1 ปี โดยไม่เกินวันที่ 30 ก.ย. 2565
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 8/6/2564
ตรัง ซีลเข้มแรงงานข้ามชาติ กักกันที่พักตั้ง รพ.สนามในโรงงาน
8 มิ.ย. 2564 ตามที่จังหวัดตรังยังตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อภายในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด จากการตรวจเชิงรุกภายในสถานที่กักกันตัวของบริษัท นาเมืองเพชรพาราวู้ด จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา ในต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา พบอีกจำนวน 106 ราย เป็นแรงงานข้ามชาติ 104 ราย มีเด็กอายุ 1-5 เดือนรวมอยู่ด้วย และคนไทย 2 ราย รวมยอดติดเชื้อจากการตรวจครั้งแรกจำนวน 159 คน จากพนักงานทั้งหมด 315 คน เป็นลบ 156 คน อัตราการติดเชื้อคิดเป็น 50.4% ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนที่อยู่กันหนาแน่น โดยโรงงานนาเมืองเพชร มีแรงงานข้ามชาติเมียนมาจำนวน 207 ราย แรงงานไทยจำนวน 108 ราย แต่คนไทยติดเชื้อน้อย เพราะอยู่ที่บ้านและอยู่ห่างกัน โดยทางผู้บริหารของโรงงานก็เร่งแก้ไขสถานการณ์และให้ความร่วมมือกับทางจังหวัดอย่างเต็มที่ โดยมีตัวแทนจากห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเลื่อยสวนจันทร์ ซึ่งเป็นเพื่อนผู้ประกอบการโรงเลื่อยในจ.ตรังเดินทางมามอบของช่วยเหลือให้กำลังใจด้วย โดยขอให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนอดทน และขอให้มีกำลังใจต่อสู้ก้าวผ่านวิกฤตไปให้ได้โดยเร็ว
ล่าสุด ทางจังหวัดตรัง ร่วมกับผู้บริหารโรงงานได้ใช้มาตรการซีลเข้มแรงงานข้ามชาติทั้งที่กักตัวภายในโรงงานและสถานที่พักต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลา 1 เดือน โดยใช้กลยุทธ์ Bubble and Seal ทั้งการจัดสถานที่กักกันตัวภายในโรงงาน ( Factory Quarantine ) ส่วนแรงงานไทยที่พักอาศัยอยู่กับบ้านให้เดินทางไป -กลับได้เฉพาะโรงงานกับบ้านพักเท่านั้น โดยทั้งหมดจะมีคนส่งข้าวส่งน้ำให้ไม่ให้ออกนอกพื้นที่กักตัว พร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในโรงงาน เพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาดและป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัวและชุมชน พร้อมสั่งเร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกนอกพื้นที่โรงงาน คนในครอบครัวและผู้ใกล้ชิด
ขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าว กำลังใช้อยู่กับโรงงานที่กำลังพบการระบาดอยู่ขณะนี้จำนวน 2 แห่ง ที่พบการแพร่เชื้อภายในโรงงาน คือ โรงงานผลิตถุงมือยางศรีตรังโกลฟส์ และโรงงานแปรรูปไม้ยางพารานาเมืองเพชรพาราวู้ด ส่วนโรงงานอื่นๆที่ยังไม่พบการระบาด ก็ใช้มาตรการซีลเข้มแรงงานข้ามชาติของตนเองให้อยู่เฉพาะในพื้นที่โรงงานแล้วเท่านั้นมีการส่งเข้าส่งน้ำเอง และกำลังเร่งจัดทำแผนหาพื้นที่กักกันตัว และโรงพยาบาลสนามภายในโรงงาน หากพบการระบาดขึ้นภายในโรงงานเช่นเดียวกัน เพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาดและป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัวและชุมชน พร้อมสั่งเร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกนอกพื้นที่โรงงาน คนในครอบครัวและผู้ใกล้ชิด
โดย จ.ตรัง มีโรงขนาดใหญ่ทั้งหมด 2 แห่ง ,ขนาดกลาง 4 แห่ง และขนาดเล็กจำนวน 43 แห่ง
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 8/6/2564
รฟม. วาง 13 กฎเหล็ก คุมเข้มแคมป์คนงานก่อสร้าง 3 รถไฟฟ้า
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปัจจุบัน ที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการแพร่ระบาดในที่พักแรงงานก่อสร้างเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น
นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการเปิดเผยว่า รฟม. ได้กำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้าง จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ได้ตระหนัก ถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม
โดย รฟม. ได้เน้นย้ำให้ที่ปรึกษาโครงการฯ และผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการฯ ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในที่พักแรงงานก่อสร้างและพื้นที่ปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด ดังนี้
1. ตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิก่อนเข้าพื้นที่ปฏิบัติงานทุกครั้ง
2. สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาการปฏิบัติงาน
3. จัดจุดให้บริการเจลแอลกอฮอล์ และอ่างล้างมือ
4. ห้ามแรงงานก่อสร้างเดินทางออกนอกพื้นที่ปฏิบัติงานและที่พัก
5. ห้ามแรงงานก่อสร้างเดินทางออกนอกเส้นทาง ขณะโดยสารรถรับส่งระหว่างที่พักและพื้นที่ปฏิบัติงาน และจัดเว้นระยะห่างของที่นั่งในรถไม่ให้แออัด
6. ห้ามแรงงานก่อสร้าง พาบุคคลภายนอก เข้ามาในพื้นที่ปฏิบัติงานและที่พักโดยเด็ดขาด
7. ห้ามแรงงานก่อสร้างเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงตามที่ภาครัฐกำหนด
8. จัดการเรื่องสุขอนามัยภายในที่พัก ให้สะอาด ปราศจากการแพร่เชื้ออยู่เสมอ เช่น ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณ ที่พัก เปลี่ยนระบบอาบน้ำ จากเดิมที่ใช้อ่างอาบน้ำรวม เป็นระบบฝักบัว แยกเฉพาะคน และจัดให้มีการแยกภาชนะ ในการรับประทานอาหาร เช่น แก้วน้ำ ช้อนส่วนตัว
9. กรณีที่พักแรงงานก่อสร้างอยู่ในพื้นที่เดียวกับสถานที่ปฏิบัติงาน หากพบผู้ติดเชื้อให้ดำเนินการควบคุมพื้นที่ไม่ให้มีการเข้า-ออก ก่อนทำการส่งตัวไปรักษา
10. กรณีที่พักแรงงานก่อสร้างไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกับสถานที่ปฏิบัติงาน หากพบผู้ติดเชื้อให้กักตัวผู้ที่ติดเชื้อในบริเวณที่พักแรงงาน ภายใต้การดูแลของสำนักงานเขตและสำนักอนามัย ก่อนทำการส่งตัวไปรักษา ทั้งนี้ผู้ที่ไม่ติดเชื้อ เมื่อเดินทางไปปฏิบัติงาน รถโดยสารรับส่ง จะไม่จอดหรือหยุดพักระหว่างทาง
11. ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ จะดำเนินการเฝ้าระวังและจัดที่พักแยกเป็นสัดส่วนเพื่อกักตัว
12. จัด Safety Talk พูดคุยก่อนการเริ่มปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
13. ให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น โปสเตอร์ บอร์ดประชาสัมพันธ์ และเสียงตามสาย
นอกจากนี้ ได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในอาคารสำนักงานโครงการฯ ด้วยการตรวจคัดกรองอุณหภูมิ ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง จัดประชุมด้วยระบบ Video Conference แทนการนั่งประชุมรวมกลุ่มในอาคารสำนักงานโครงการฯ และให้ผู้ปฏิบัติงานในอาคารสำนักงานโครงการฯ ทำงานที่บ้าน (Work From Home) ให้มากที่สุด โดยหมุนเวียนสลับกันเข้ามาปฏิบัติงาน
รวมถึงเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดบริเวณจุดที่สัมผัสร่วมกันในอาคารสำนักงานโครงการฯ เช่น บานจับประตู ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได เครื่องลงเวลาเข้าออกงาน และห้องน้ำ
ทั้งนี้ รฟม. และทุกโครงการฯ จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่อง COVID-19 อย่างเต็มที่ ในการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 เชิงรุกของกลุ่มแรงงานในพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า และจะเดินหน้ากำชับมาตรการต่างๆ ให้มีความเข้มข้นและรัดกุม เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน และเป็นการแสดงความรับผิดชอบ ต่อสังคมส่วนรวม จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะกลับสู่ภาวะปกติ
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 8/6/2564
โควิดรอบ 3 ทำเอสเอ็มอีปิดกิจการ 2 หมื่นราย
นายวีระพงศ์ มาลัย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม สสว. เปิดเผยว่า ภาพรวมประมาณเศรษฐกิจเอสเอ็มอี ไตรมาส 1 ปี 2564 คาดว่าจะติดลบร้อยละ 4.8 จากเดิมที่คาดไว้ ติดลบร้อย 2 -2.4 เนื่องจากผลกระทบจากโรคโควิด 19 ระบาดรอบที่ 3 กระทบต่อรายได้ ภาระหนี้ ทำให้ยากต่อการฟื้นตัวของกิจการ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคที่ชะลอตัวลง
โดยตัวเลขยอดปิดกิจการไตรมาสแรกปีนี้มีประมาณ 20,000 ราย สะท้อนจากการตัวเลขลูกจ้างที่ขอชดเชยจากประกันสังคม สูงร้อยละ 200 -300 หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่หากเทียบความรุนแรงยังไม่เท่ากับช่วงที่เกิดการระบาดในรอบ 1 และ 2
ตัวเลขเปิดกิจการใหม่เพิ่มขึ้น 23,000 ราย เมื่อเทียบจากช่วงเดียวปีก่อนที่เปิดกิจการใหม่มีประมาณ 2 หมื่นราย เนื่องจากแรงงานที่ถูกเลิกจ้างงานหากิจการใหม่ เช่น การค้าขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
และบางธุรกิจปรับตัวหันมาขายออนไลน์ทำให้รายได้เติบโตเพิ่มขึ้นเท่าตัว ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกจาก ธุรกิจเอสเอ็มอีส่งออกยังฟื้นตัวได้ เพราะตลาดต่างประเทศที่กลับมาดีขึ้น เช่น สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น
‘เพื่อไทย’ จี้ กทม. เร่งตรวจเชื้อโควิดแรงงานต่างด้าว โดยไม่แยกว่าเข้าเมืองถูกหรือผิด กม.
7 มิ.ย. 2564 นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานโซน 3 กทม.พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ภาครัฐและกรุงเทพมหานครเร่งตรวจเชื้อโควิด-19 ในแรงงานต่างด้าว โดยไม่แบ่งแยกว่าเข้าประเทศโดยถูกกฎหมายหรือไม่ แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มคลัสเตอร์เดียวกันควรดำเนินการตรวจเชื้อไปคราวเดียวกันให้เสร็จสิ้น ทั้งนี้ เนื่องจากว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการระบาดในคลัสเตอร์วงเวียนใหญ่ มีตลาดสดขนาดใหญ่รวมกัน 3 แห่ง และมีแรงงานต่างด้าวมีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง และแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน เพราะนายจ้างยังไม่พาไปขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบแรงงานต่างด้าว
นายวิชาญกล่าวว่า จากการสังเกตการณ์ของทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.พบว่าภาครัฐจัดการตรวจเชื้อกลุ่มแรงงานต่างด้าวไม่พร้อมกัน กล่าวคือ แยกกลุ่มที่มีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมายตรวจหาเชื้อและเข้าสู่ระบบการรักษาก่อนรอบหนึ่ง ส่วนกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบแรงงานต่างด้าว แยกไปตรวจอีกรอบหนึ่งในอีกหลายวันถัดไป เป็นเพราะหน่วยงานภาครัฐต้องไปเคลียร์สิทธิการเบิกจ่ายงบประมาณ สปสช. ซึ่งในระหว่างที่รอตรวจเชื้อนี้ แรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ยังไม่เข้าระบบต่างหวาดกลัว บ้างก็ไม่เข้ามาตรวจเชื้อตามนัดหมาย บ้างก็หลบอยู่ในที่พัก ไม่กล้าออกมาตรวจเชื้อเพราะกลัวโดนจับ จึงทำให้การตรวจเชื้อเป็นไปอย่างล่าช้า รวมถึงเป็นการสุ่มเสี่ยงที่แรงงานต่างด้าวจะเคลื่อนย้ายหนีออกไปจากพื้นที่ และไปแพร่เชื้อระบาดในจุดอื่นเพิ่ม
นายวิชาญกล่าวว่า อยากเรียกร้องภาครัฐว่าในเมื่อรัฐบาลมีตั้งงบประมาณ และ สปสช.เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการเบิกจ่ายแล้ว ก็ควรดูแลแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ให้ได้รับการตรวจหาเชื้อ และเข้าสู่กระบวนการรักษาตามขั้นตอนโดยไม่ต้องแบ่งแยกว่าแรงงานกลุ่มไหนถูกกกหมายหรือไม่ถูกกฎหมาย เพราะเวลานี้สถานการณ์โควิดระบาดหนัก ต้องควบคุมโรคให้ได้ จึงไม่ใช้ประเด็นเรื่องงบประมาณมาเป็นอุปสรรคในการตรวจหาเชื้อและรักษาผู้ป่วย
“ผู้ป่วยไม่ว่าจะสัญชาติใด จะเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ แต่เมื่อเขาทำงานอยู่บ้านเรา เขาก็เป็นมนุษย์ เมื่อเขาป่วยเราก็ต้องรักษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิด การตรวจหาเชื้อในแรงงานต่างด้าวเร็วเท่าไร เท่ากับระงับการระบาดได้เร็วเท่านั้น” นายวิชาญกล่าว
ก.อุตสาหกรรม คุมเข้มโรงงาน 6.4 หมื่นแห่ง ทำแบบประเมินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Thai Stop Covid Plus - Thai Save Thai
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในแรงงานภาคอุตสาหกรรมทำให้ต้องหยุดประกอบกิจการส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบกิจการโรงงาน และเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ซึ่ง ศบค. ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเจ้าภาพในการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน จึงสั่งการเร่งด่วนให้ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด แจ้งขอความร่วมมือสถานประกอบการ ดำเนินการประเมินตนเองตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข
โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาขึ้น ได้แก่ Thai Stop Covid Plus ซึ่งเป็นข้อแนะนำทางด้านสาธารณสุขป้องกันการแพร่ระบาดฯ ประกอบด้วย มาตรการ นวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการ ผู้ปฏิบัติงาน และแนวทางการปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อ ซึ่งผู้ประกอบการต้องประเมินตนเองอย่างน้อยทุก 2 สัปดาห์ ในส่วนของพนักงานทุกคน ต้องประเมินตนเอง โดยใช้แพลตฟอร์ม Thai Save Thai ซึ่งยกระดับ การคัดกรองคนก่อนเข้าโรงงานอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันผู้มีความเสี่ยงไม่ให้เข้ามาปฏิบัติงานและแพร่เชื้อในสถานประกอบการ
รวมทั้งการสนับสนุนให้พนักงาน สมัครใจเข้าร่วมโครงการ “ก้าวท้าใจ” ด้วยการออกกำลังกาย ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรค โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดแจ้งไปยังผู้ประกอบการ และให้หน่วยงานในสังกัดให้ติดตามการดำเนินการของสถานประกอบการ ซึ่งตั้งเป้าหมายสำหรับโรงงานขนาดใหญ่ คนงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป จำนวน 3,304 โรง ต้องทำการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid Plus และ Thai Save Thai ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิ.ย. และโรงงานทั้งหมด 64,000 โรง ภายในวันที่ 30 มิ.ย. ซึ่งขณะนี้มีโรงงานเข้าสู่ระบบทำการประเมินแล้วประมาณ 20 % เท่านั้น หากโรงงานใดไม่ให้ความร่วมมืออาจจะมีการพิจารณาบทลงโทษต่อไป
นายเดชา จาตุธนานันนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤต กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ระบบดังกล่าวจะเป็นเช็กลิสต์ข้อแนะนำออนไลน์เพื่อให้ผู้ประกอบการและพนักงานทุกคนประเมินและจัดการความเสี่ยง โรงงานจะได้เรียนรู้วิธีการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม และมาตรการเสริมอื่น ๆ
รวมทั้งข้อแนะนำหากพบผู้ติดเชื้อต้องทำอย่างไร ตลอดจนคำแนะนำในการกักตัว เพื่อทำให้ทราบว่ามาตรการที่ดำเนินการอยู่ของแต่ละโรงงาน ผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของสาธารณสุข ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับ คือการปรับตัวสู่การทำงานวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อให้โรงงานปลอดโควิด พนักงานปลอดภัย ขณะที่ภาครัฐเองก็มีข้อมูลในการกำกับดูแล (Monitor) ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะแลกเปลี่ยนข้อมูลและใช้ประโยชน์ในข้อมูลร่วมกัน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน
ทั้งนี้โรงงานที่ประเมินผ่านแฟลตฟอร์ม Thai Stop Covid Plus แล้ว มีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจะมีทีมตรวจประเมินของรัฐเข้าไปช่วยเหลือ โดยกระทรวงฯ จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เช่น จังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัด ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม เพื่อสนับสนุนโรงงานให้ผ่านเกณฑ์ฯ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากพบพนักงานติดเชื้อโรงงานจะต้องดำเนินการตรวจหาเชื้อเชิงรุก แยกผู้ติดเชื้อไปรักษาและผู้ใกล้ชิด ต้องกักตัว และหากโรงงานใดพบมีการติดเชื้อมากกว่า 10% จะคงยังใช้หลักการ Bubble & Seal (โรงงานจัดหาที่พักให้อยู่ในสถานที่ที่กำหนด และให้โรงงานจัดหาที่พักให้พนักงานอยู่ภายในโรงงาน เพื่อสามารถควบคุมโรคจนกว่าสถานการณ์ การติดเชื้อกลับสู่ปกติ) และสั่งปิดโรงงานเพื่อควบคุมเชื้อโควิด-19 ไม่ให้ออกสู่สังคมภายนอก เช่นเดียวกับเคสที่ได้ดำเนินการที่ผ่านมา มั่นใจว่ามาตรการที่ ศบค. มอบหมายให้กระทรวงฯ มาช่วยขับเคลื่อนจะสามารถลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรมได้
นายกฯ ลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์บริการฉีดวัคซีนแรงงาน ม.33
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม บริเวณศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง ซึ่งเป็นศูนย์ที่ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เริ่มวันนี้เป็นวันแรก โดยพลเอกประยุทธ์ กล่าวหลังจากตรวจเยี่ยมว่า สำนักงานประกันสังคม ภายใต้กระทรวงแรงงาน ได้รับการจัดสรรวัคซีนในพื้นที่กทม. จำนวน 1 ล้านโดสแล้ว โดยรัฐบาลให้ความสำคัญในภาคแรงงาน ภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ย้ำรัฐบาลจะทำอย่างเต็มที่ ต้องบริหารให้สอดคล้องกับความเสี่ยง อะไรที่ทำให้ประชาชนไม่สบายใจต้องขอโทษ จะทำให้ได้ดีที่สุด
ทั้งนี้กระทรวงแรงงาน จะทำเรื่องขอวัคซีนเพิ่มเติมอีก 4 ล้านโดส เนื่องจากมีจำนวนแรงงาน ม.33 ที่มีถึง 3.7 ล้านคน และลงทะเบียนมาแล้ว 2.3 ล้านคน เพื่อเป็นการกระจายฉีดวัคซีนให้แรงงานในระบบม.33 อย่างทั่วถึง ทั้งในกทม. และ และในพื้นที่ 9 จังหวัดเศรษฐกิจ คือ สมุทรปราการ ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม เชียงใหม่ ระยอง และฉะเชิงเทรา
ในขณะที่มีข้อมูลบางส่วน ภายหลังนายกรัฐมนตรีได้ตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไป ณ สถานีกลางบางซื่อ พร้อมกล่าวว่า วัคซีนยังทยอยเข้ามาเรื่อยๆ โดยเดือนมิถุนายน จะมีวัคซีนเข้ามาอีกและจะจัดให้บริการให้ได้ทุกสัปดาห์ ตามสัดส่วน และความเสี่ยง ของประชากร ทั้งนี้ศักยภาพการฉีดวัคซีนของที่สถานีกลางบางซื่อ จะสามารถให้บริการ 900-1,600 คนต่อชั่วโมง มีรถชัทเทิลบัสบริการฟรี ซึ่งที่ผ่านมาให้บริการฉีดประชาชน แล้ว 150,000 คน แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคม 130,000 คน โดยจะเปิดให้บริการ 7 มิ.ย. – ธ.ค. 64 คาดจะให้บริการได้ 2 ล้านคน
สำหรับพื้นที่สนามไทยญี่ปุ่น-ดินแดงแห่งนี้ จะสามารถรองรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จะเข้ามาฉีดวัคซีนได้ 1,500 คนต่อวัน นอกจากนี้ตั้งเป้าได้ว่าเมื่อรวมทุกศูนย์ 45 จุดทั่วกทม.จะมีศักยภาพในการฉีดได้วันละ 50,000 คนต่อวัน
ลอบขน 11 แรงงานเถื่อนในถังพลาสติกผสมน้ำยาฆ่าเชื้อทางการเกษตรตบตาเจ้าหน้าที่
6 มิ.ย. 2564 นายสาวิตร เจียมจิระพร นายอำเภอไทรโยค พร้อมด้วย พ.ต.อ.ภุชงค์ ณรงค์อินทร์ ผกก.สภ.ไทรโยค และเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กกล.สุรสีห์ ได้ร่วมกันจับกุมนายประสิทธิ์ กล้าหาญ อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 341 หมู่ 4 ต.ศรีมงคล อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี พร้อมแรงงานต่างด้าวชาวพม่า จำนวน 11 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 5 คน รถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า ตอนเดียว สีขาว หมายเลขทะเบียน ผอ 4122 กทม.
โดยนายประสิทธิ์ กล้าหาญ ถูกดำเนินคดีในข้อหา “ช่วยเหลือ ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ ให้บุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย พ้นจากการจับกุม” ส่วนแรงงานชาวพม่าทั้ง 11 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือผู้ว่าราชการจังหวัด และฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
นายสาวิตร เจียมจิระพร นายอำเภอไทรโยค กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากสายข่าวว่า จะมีขบวนการลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าวชาวพม่าจำนวนหนึ่งไปทำงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยใช้รถยนต์กระบะเป็นพาหนะในการซุกซ่อนแรงงานด้วยการให้ซุกซ่อนตัวอยู่ภายในถังพลาสติกที่ใช้สำหรับผสมน้ำยาพ่นฆ่าเชื้อพืชผลทางการเกษตร
หลังจากได้รับแจ้งเจ้าหน้าที่จึงออกหาข่าว จนกระทั่งพบรถยนต์กระบะต้องสงสัยลักษณะตรงกับที่สายแจ้งขับไปตามถนนสายท่ามะเดื่อ-ลำทราย หมู่ 2 ต.ศรีมงคล อ.ไทรโยค เจ้าหน้าที่จึงไล่ติดตามไป พร้อมกับส่งสัญญาณให้คนขับหยุดรถเพื่อขอตรวจค้น แต่คนขับไม่ยอมพร้อมกับเร่งเครื่องหลบหนี ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ติดตามไปอย่างกระชั้นชิด สุดท้ายคนขับจึงยอมจอดรถให้ตรวจค้น
จากการตรวจค้นเจ้าหน้าที่ถึงกับตะลึง เนื่องจากพบแรงงานต่างด้าวชาวพม่าซ่อนตัวอยู่ภายในถังพลาสติกขนาด 1,000 ลิตร ที่อยู่ท้ายกระบะอัดแน่นกันอยู่ จำนวน 5 คน และถังขนาด 200 ลิตร 2 ถัง ถังละ 2 คน โดยมีกระเป๋าสัมภาระปิดทับตัวแรงงานเอาไว้เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว และนอกจากนี้ ยังมีแรงงานนั่งมาหน้ามากับนายประสิทธิ์ คนขับอีก 2 คน
ทั้งนี้ นายประสิทธิ์ ผู้ต้องหาและเป็นผู้นำพาชาวไทยให้การในเบื้องต้นว่า ตนได้รับการว่าจ้างจากนาย ดุษ (นามสมมติ) เป็นเงินจำนวน 1,500 บาท ขับรถไปรับแรงงานชาวพม่าจำนวนดังกล่าวมาจากบ้านทุ่งฉาง เพื่อให้นำไปส่งที่แยกบ้านเก่า ต.หนองบัว อ.เมืองกาญจนบุรี จากนั้นจะมีผู้มารับแรงงานจำนวนดังกล่าวอีกทอดหนึ่งเพื่อไปทำงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร แต่ยังไปไม่ถึงก็มาถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเสียก่อน
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 6/6/2564
สั่งกักตัวพนักงานโรงงานเครื่องมือแพทย์ 5,000 คน - ติดโควิด-19 เพิ่ม 40 คน
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 51 คน ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 952 คน อยู่ระหว่างรักษาตัวตามโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และฮอสพิเทล จำนวน 394 คน และรักษาตัวหายแล้ว 490 คน
จากการสอบสวนโรคผู้ป่วยรายใหม่ 51 คน พบว่ามีผู้ป่วย 40 คน เป็นกลุ่มพนักงานโรงงานที่ติดเชื้อจากเพื่อนร่วมงานที่ทำงานแผนกเดียวกันในโรงงานผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ ส่วนอีก 11 คนเป็นผู้ป่วยติดเชื้อจากคนในครอบครัว
ขณะที่เบื้องต้น คณะกรรมการโรคติดต่อได้สั่งปิดโรงงานผลิตเครื่องมือทางการแพทย์แล้วเป็นเวลา 7 วัน โดยปิดไปจนถึงวันที่ 9 มิถุนายนนี้ พร้อมกักตัวพนักงานจำนวน 5,000 คน สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวน 3,400 คน โดยประสานเจ้าหน้าที่เข้าไปฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในโรงงานแล้วภายใน 3 วันนี้
สมาคมภัตตาคารไทยหวั่นร้านอาหารเจ๊ง 5 หมื่นราย ทำตกงาน 5 แสนคน หลังมาตรการรัฐอุ้มได้ไม่ทั่วถึง
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารขณะนี้ ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้รายได้ลดลงตามยอดขายที่น้อยลง แม้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายออกมา เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน ได้แก่ การเพิ่มวงเงินคนละครึ่ง เฟส 3 จำนวน 2 พันบาท เราชนะ 2 พันบาท ม.33 เรารักกัน 2 พันบาท และการเติมเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) 200 บาท ซึ่งส่วนนี้เป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือเยียวยากลุ่มคนฐานราก รวมถึงโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่ออกมาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มผู้มีศักยภาพในการใช้จ่ายมากขึ้น หรือกลุ่มระดับกลางขึ้นไป โดยมองว่าโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ตอบโจทย์การใช้บริการร้านอาหารขนาดกลางขึ้นไปสูงมาก แต่ถามกลับว่า ในภาวะวิกฤตแบบนี้ จะมีคนต้องการใช้บริการทานอาหารราคาต่อมื้อหลักหมื่น เพื่อรับส่วนลดหลักพันจริงๆ หรือ แม้ช่วงปกติจะมีกลุ่มคนที่มีฐานะ สามารถใช้จ่ายได้ แต่ก็เพราะต้องการรับบริการที่ดี อาทิ ทานอาหารไป ฟังดนตรีสด ดื่มแอลกอฮอล์สังสรรค์กับกลุ่มเพื่อน หากเป็นแบบนี้อาจมีคนสนใจโครงการที่ออกมา แต่สถานการณ์ในตอนนี้ไม่น่าจะเอื้อประโยชน์ได้มากนัก ส่วนโครงการคนละครึ่ง เราชนะ และม.33 เรารักกัน มาตรการกระตุ้นใช้จ่ายเหล่านี้สามารถช่วยเหลือคนตัวเล็กๆ ให้มีความสามารถใช้การใช้จ่ายได้ และผู้ที่ได้อานิสงส์เชิงบวกเป็นร้านอาหารริมถนน ที่ช่วยให้รอดชีวิต สามารถทำมาหากินได้ แต่ผู้ประกอบการรายกลางขึ้นไป ไม่ได้อานิสงส์เชิงบวกเลย จึงมองว่ารัฐบาลต้องหันมาดูร้านอาหารขนาดกลางขึ้นไปมากขึ้น
นางฐนิวรรณ กล่าวว่า รายได้ของร้านอาหารในภาพรวมตอนนี้ เฉลี่ยเหลืออยู่ที่ 30% ซึ่งเป็น 30% ที่นับจากยอดขาย 70% เท่านั้น เพราะภาวะในขณะนี้รายได้ยังไม่กลับมาเต็ม 100% เหมือนปกติ โดยตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการต้องควักต้นทุนออกมาใช้จ่ายในธุรกิจตลอด ทำให้ความเสียหายลุกลามมากขึ้น การขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพิ่มเติม จึงเป็นทางออกสุดท้ายที่เห็นแล้ว เนื่องจากยอดขายที่ลดลงต่อเนื่องเหลือ 30% ทำให้อีก 40% ที่หายไปกลายเป็นต้นทุน เมื่อหักรายได้ก็เท่ากับขาดทุน ซึ่งผู้ประกอบการไม่สามารถรองรับการขาดทุนในทุกเดือนได้จริงๆ โดยในปี 2563 โควิดกระทบทำให้ร้านอาหารต้องปิดธุรกิจไปกว่า 50,000 ราย แม้ผลกระทบในรอบนี้แรงกว่า 2 รอบที่ผ่านมา แต่หากประเมินว่า การระบาดโควิดรอบ 3 ทำให้มีผู้ประกอบการต้องปิดตัวลงอีก 50,000 ราย แต่ละรายมีลูกน้อง 10 คน เท่ากับว่าจะต้องมีแรงงานถูกการเลิกจ้าง 5 แสนคน ซึ่งเชื่อว่าหากรัฐบาลไม่เติมความช่วยเหลือเข้ามาเพิ่ม จะเห็นผู้ประกอบการล้มและคนไร้งานทำอีกไม่น้อยกว่าจำนวนที่คาดไว้แน่นอน
“การที่ร้านอาหารต้องปิดตัวลง ส่งผลกระทบกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ พ่อค้าแม่ค้าตลาดสดที่ขายวัคถุดิบให้กับร้านอาหารเหล่านี้ เกษตรกรที่ส่งสินค้าให้พ่อค้าแม่ค้าตลาดสดขายต่อ จนถึงคนส่งน้ำแข็ง คนจำหน่ายแก๊ส และถ่านหุงต้มด้วย เพราะตอนที่รัฐประกาศห้ามนั่งทานอาหารที่ร้าน เห็นภาพตลาดสดไม่มีลูกค้า ผักสดและเนื้อสัตว์เหลือจำนวนมาก ทั้งที่ปกติจะขายออกเกือบหมดแล้ว จึงมองว่าหากรัฐบาลยังไม่ช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารอีก ผลกระทบจะถูกส่งต่อไปในหลายภาคส่วนมากขึ้น” นางฐนิวรรณ กล่าว
นางฐนิวรรณ กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้นั่งรับประทานอาหารภายในร้าน ซื้อกลับบ้านได้เท่านั้น ต่อมาแม้รัฐบาลจะผ่อนคลายให้นั่งทานที่ร้านได้ถึง 21.00 น. ในสัดส่วน 25% ของจำนวนที่รองรับลูกค้าได้ แต่การผ่อนคลายดังกล่าว มีส่วนช่วยได้เพียงร้านอาหารริมทาง หรือร้านอาหารรายย่อยเท่านั้น เพราะมีจำนวนโต๊ะให้บริการลูกค้าไม่มาก ประกอบกับลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการร้านอาหารในตอนนี้ ก็เป็นการทานอาหารจริงๆ ไม่ได้เป็นการทานอาหารเพื่อใช้เวลาพบปะสังสรรค์กับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงเหมือนปกติ ทาหารรายย่อยเท่านั้นที่ได้อานิสงส์เชิงบวก แต่ร้านอาหารขนาดกลางขึ้นไป ไม่ได้รับประโยชน์จากการผ่อนคลายดังกล่าวด้วย เพราะร้านอาหารขนาดกลางขึ้นไป จุดขายจะอยู่ที่บรรยากาศ การนั่งทานอาหารร่วมกับครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนจำนวนหลัก 10 คนต่อโต๊ะ และกิจกรรมพิเศษ อาทิ ดนตรีสด ซึ่งภาวะในตอนนี้ไม่สามารถให้บริการลูกค้าในรูปแบบเดิมได้ เพราะมีการจำกัดจำนวนนั่งต่อโต๊ะ ไม่อนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ที่ทำให้เกิดการรวมตัวคนจำนวนมากได้
แนะเปลี่ยน "พนักงาน" เป็น "ผู้ถือหุ้น" เพิ่มแรงจูงใจให้เติบโตไปด้วยกัน
3 มิ.ย. 2564 ไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงแนวทางในการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนว่า สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง การเพิ่มสิ่งตอบแทนหรือสวัสดิการเพื่อรักษาพนักงานคุณภาพเอาไว้อาจทำได้ไม่ยาก โดยหนึ่งในสวัสดิการที่ “บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์” นิยมนำมาใช้เพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจให้พนักงานมุ่งมั่นทุ่มเททำงาน คือ ESOP
ESOP หรือ Employee Stock Option Program คือ สวัสดิการในรูปแบบหนึ่งที่กิจการออกและเสนอขายหุ้นของกิจการให้แก่พนักงาน เพื่อให้มีส่วนร่วมและมีสิทธิในฐานะเจ้าของกิจการคนหนึ่งด้วย และเมื่อกิจการมีผลกำไรที่ดี มีการเติบโตมากขึ้น และจ่ายเงินปันผลได้ นอกจากนี้ หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อาจมีราคาปรับสูงขึ้น พนักงานในฐานะผู้ถือหุ้นของกิจการก็จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้พนักงานทำงานด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท และมีความผูกพันกับกิจการ
แต่เดิมธุรกิจ SME หรือ Startup ยังไม่สามารถเลือกใช้ ESOP ได้ จนเมื่อต้นปี 2563 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกหลักเกณฑ์ PP-SME ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทจำกัดสามารถขาย ESOP ให้กรรมการและพนักงาน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจูงใจบุคลากรที่มีศักยภาพให้อยู่ร่วมงานกับกิจการได้
SME ที่เป็นบริษัทจำกัดซึ่งเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดทุน ระหว่าง ก.ล.ต. และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)* สามารถเสนอขาย ESOP ให้กรรมการและพนักงานของกิจการและบริษัทย่อย รวมถึงนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นเพื่อถือหุ้นแทนกิจการสำหรับการจัดสรรหุ้นให้แก่กรรมการและพนักงาน (SPV) โดยไม่จำกัดวงเงิน ไม่จำกัดจำนวนผู้ลงทุน และไม่ต้องยื่นเอกสารคำขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. เพียงแต่ต้องแจ้งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับกิจการให้พนักงาน และรายงานผลการขายให้ ก.ล.ต. ทราบเท่านั้น
ESOP จึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับ SME ที่ต้องการ Option ช่วยเพิ่มความน่าสนใจและจูงใจคนที่มีศักยภาพในการเข้ามาร่วมงาน นอกจากนี้ ในบางครั้งการได้รับเงินเดือนสูงๆ อาจจะไม่สามารถจูงใจพนักงานที่มีศักยภาพได้มากเท่ากับการทำให้เห็นโอกาสประสบความสำเร็จ มีเป้าหมายร่วมกันที่จะเรียนรู้ พัฒนา และเติบโตไปพร้อมกันในฐานะ “ผู้ถือหุ้น”
เพราะ SME เป็นหนี่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เป็น SME อยู่กว่า 3.1 ล้านราย มีการจ้างงานทั่วประเทศมากกว่า 12 ล้านคน และยังเป็นแหล่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งนี้ มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (GDP SME) ในไตรมาส 4 ของปี 2563 สูงถึง 1.42 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 34.3% ของ GDP ประเทศไทย**
ก.ล.ต. จึงมุ่งหวังให้ตลาดทุนเป็นแหล่งเงินระดมทุนสำหรับกิจการทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME ซึ่งเป็นรากฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศให้สามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่ไม่สูงจนเกินไป ควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 3/6/2564
ยืดเวลาแรงงานเพื่อนบ้านทำงานในไทย
3 มิ.ย. 2564 มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 ประเด็น เสนอให้การขยายระยะเวลาการผ่อนผันให้แรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงาน ที่การผ่อนผันให้อยู่และทำงานในประเทศใกล้จะสิ้นสุด ให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้เป็นการชั่วคราวต่อไป
โดยต้องยื่นขอก่อนการอนุญาตทำงานตามสิทธิปัจจุบันของแต่ละกลุ่มจะสิ้นสุดลง ซึ่งกรณีที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสิ้นอายุต้องออกเอกสารฉบับใหม่ภายใน 1 ปี เพื่อให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ย้ายตราประทับการอนุญาตให้อยู่ในประเทศได้ต่อไป
ส่วนกลุ่มที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสิ้นอายุแล้วให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษต่อไปอีก 1 ปี เพื่อทำเอกสารประจำตัวฉบับใหม่ และตรวจลงตราวีซ่ากับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
ประเด็นที่ 2 การแก้ไขข้อขัดข้องกรณีแรงงานต่างด้าวตาม MOU ในกลุ่มที่ลาออกจากนายจ้างเดิมแล้วยังหานายจ้างใหม่ไม่ได้จะผ่อนผันให้อยู่ทำงานต่อไปได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยจะขยายเวลาให้หานายจ้างใหม่ได้ จาก 30 วัน ไปเป็น 60 วัน
และประเด็นสุดท้ายขยายการดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ถึงวันที่ 16 มิถุนายนนี้ และขยายระยะเวลาตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 พร้อมทำประกันสุขภาพและยื่นขออนุญาตทำงานได้ถึงวันที่ 18 ตุลาคมปีนี้ 3 ข้อเสนอนี้ กระทรวงแรงงาน จะนำเข้า ครม. พิจารณาอนุมัติต่อไป เพื่อให้แรงงานจากเพื่อนบ้านกว่า 2,100,000 คน ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ต่อไป
มัคคุเทศก์ ร้อง สธ.จัดฉีดวัคซีน
นายวิโรจน์ สิตประเสริฐนนท์ นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้มีการฉีดวัคซีนให้กับมัคคุเทศก์ในพื้นที่ กทม.จำนวน 1,000 โดส เพื่อเป็นการจุดประกายให้ภาครัฐได้คิดถึงคนทำงานด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออาชีพและรายได้ และเมื่อรัฐบาลมีแนวคิดเปิดประเทศ อีกทั้งเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
พร้อมเผยว่าที่ผ่านมาในกลุ่มมัคคุเทศก์ ได้มีการรวมตัวกันและส่งรายชื่อเพื่อต้องการฉีดวัคซีนรวม 35,000 โดส แล บางส่วนสมัครลงทะเบียนในพื้นที่ของตนเองแล้ว
ประกันสังคม สรุปผลดูแลผู้ประกันตนตรวจโควิด-19 ณ 31 พ.ค. 2564 ช่วยคัดกรองไปแล้วกว่า 2.35 แสนคน
นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายให้ความสำคัญกับการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด -19 ให้กับผู้ประกันตน
จึงสั่งการให้สำนักงานประกันสังคมบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช. ดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ให้กับผู้ประกันตนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ภายใต้โครงการ “แรงงาน…เราสู้ด้วยกัน” เป้าหมายเพื่อดูแลผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 โดยเพิ่มช่องทางบริการตรวจเชื้อให้กับผู้ประกันตนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 10 จุดที่อยู่ในพื้นที่ในกรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ สมุทรสาคร ภูเก็ต ระยอง และพระนครศรีอยุธยา เพื่อลดปัญหาความแออัดการตรวจคัดกรองในโรงพยาบาล และให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดีโครงการดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคเอกชน และโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมดำเนินการตรวจโควิดเชิงรุกเป็นไปอย่างเรียบร้อย สามารถช่วยเหลือและบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายความแออัดจากการเข้ารับบริการตรวจคัดกรอง ลดการกระจายของโรคป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ในสถานประกอบ ได้เป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก
นายทศพล กล่าวว่า สำหรับภาพรวมในการดำเนินการตรวจโควิด-19 เชิงรุกให้กับผู้ประกันตน ณ 31 พ.ค. 2564 ยอดรวมสะสมทั้งสิ้น ของการเปิดให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. – 31 พ.ค. 2564
จุดตรวจอาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชน กรุงเทพมหานคร(ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง มีผู้มาตรวจจำนวน 89,921 คน ที่จังหวัดปทุมธานี
จุดตรวจวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี มีผู้มาตรวจจำนวน 15,862 คน ตรวจเชิงรุก ในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจ จำนวน 25,416 คน รวมทั้งสิ้น 41,278 คน
ที่จังหวัดสมุทรปราการ จุดตรวจสถาบันฝีมือแรงงาน ภาค 1 มีผู้มาตรวจจำนวน 9,453 คน ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการมีผู้มาตรวจจำนวน 23,727 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 32,680 คน
ที่จังหวัดนนทบุรี จุดตรวจเทศบาลเมืองพิมลราช มีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 3,369 คน ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจจำนวน 12,494 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 15,863 คน
ที่จังหวัดชลบุรี ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 23,000 คน ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจทั้งสิ้น จำนวน 10,777 คน
ที่จังหวัดสมุทรสาคร ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 11,413 คน
ที่จังหวัดภูเก็ตมีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 690 คน
ที่จังหวัดระยอง ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 6,675 คน
และที่จังหวัดอยุธยา ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 3,211 คน
โดยภาพรวมทั้ง 10 จุด ในการตรวจโควิด-19 เชิงรุกให้กับผู้ประกันตน มีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 235,508 คน
ตรวจ พนง. CPF สระบุรี 5,695 คน ติดเชื้อโควิด 462 รอผลตรวจ 1,894 ราย
สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ดําเนินการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกพนักงานโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ CPF อ.แก่งคอยแล้ว จํานวน 5,695 คน ทราบผลการตรวจแล้ว จํานวน 3,799 คน พบผู้ติดเชื้อจํานวน 462 ราย เป็นชาวกัมพูขา จํานวน 293 คน ชาวไทย จํานวน 169 คน รอผลการ ตรวจ 1,894 คน
ผู้ที่ตรวจพบเชื้อฯ ดังกล่าว ได้นําตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ได้แก่ 1. โรงพยาบาลสนามเจ็ดคต 2.โรงพยาบาลของรัฐและเอกชนในจังหวัดสระบุรี 3.โรงพยาบาลสนามตะกุด
มาตรการที่ดําเนินการแล้ว ได้ตรวจหาเชื้อในพนักงานทั้งหมดทั้งในโรงงาน และโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่ผู้ป่วยพํานักอยู่และบริเวณโดยรอบ แจ้งข้อมูลกลุ่มเสี่ยงระหว่างจังหวัด เพื่อติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงใกล้ชิดในการเฝ้าระวังอาการ ตรวจหาเชื้อ และกักกันตัวที่บ้าน รวมทั้งให้ สาธารณสุขอําเภอ ติตตาม ดูแล พนักงานอาศัยอยู่ในพื้นที่ อย่างใกล้ชิด
การดําเนินการของโรงงานฯ ได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามตะกุด ในพื้นที่ของบริษัทฯ โดยคาดว่าจะสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ 500 เตียง
และขณะนี้ได้หยุดการผลิตเพื่อทําความสะอาด และปิดสถานที่ค้าขายโดยรอบ มาตรการที่ต้องด้าเนินการต่อ ได้ขอให้พนักงานที่มีความเสี่ยงที่ยังไม่ได้ตรวจหาเชื่อ ให้ไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
รวมถึงครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ให้แยกกักตัวเอง สังเกตอาการ หากมีอาการไข้ ไอ มีน้ํามูก เจ็บคอ คอแห้ง จมูกไม่ได้กลิ่น สิ้นไม่รับรส ตาแดง ตื่นขึ้น ถ่ายเหลว ขอให้ไปตรวจหาเชื้อโดยด่วนที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ให้รักษา มาตรการการป้องกันโรค สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง งดเดินทางไปในสถานที่แออัดและการรวมกลุ่มหนาแน่น ทั้งนี้คณะกรรมการควบคุม โรคจังหวัดสระบุรี ได้พิจารณาและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 2/6/2564
‘กลุ่มแท็กซี่’ ร้องผ่าน ‘สภา-กมธ.แรงงาน’ ค้านร่างกฎกระทรวงฯ ให้รถยนต์ป้ายดำส่งผู้โดยสารได้อย่างป้ายเหลือง
2 มิ.ย. 2564 ที่รัฐสภา นายวรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ พร้อมด้วยผู้ขับขี่แท็กซี่กว่า 30 คน เดินทางมายังหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายแทนคุน จิตต์อิสระ คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้านการยกร่างกฎกระทรวงฯ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) มาใช้ในการรับจ้างขนส่งผู้โดยสารผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเสนอกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ เวลา 11.30 น. ตัวแทนกลุ่มวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย ยังได้ยื่นร้องเรียนต่อนายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
นายวรพลกล่าวว่า การอนุญาตให้รถยนต์ส่วนบุคคลป้ายทะเบียนดำมาจดทะเบียนเป็นรถยนต์รับจ้างขนส่งผู้โดยสารแบบทางเลือก โดยไม่ต้องเปลี่ยนเป็นป้ายเหลืองได้นั้น ขัดแย้งต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รถยนต์ พ.ศ.2522 และยังเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เนื่องจากความหมายของรถยนต์รับจ้างต้องเป็นรถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจร และรถยนต์บริการให้เช่า ที่จัดไว้ให้เช่าเพื่อนำไปรับจ้างบรรทุกคนหรือสิ่งของเท่านั้น
นายวรพลกล่าวว่า นอกจากนี้ รถแท็กซี่ป้ายเหลืองยังต้องแบกรับภาระเสียภาษีร้อยละ 6.5 ต่อปี ทำให้รถรับจ้างมีราคาแพงกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล ดังนั้น หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีจะกระทบความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบอาชีพแท็กซี่อย่างมาก จึงเห็นว่าทางกรมการขนส่งทางบกภายใต้กำกับกระทรวงคมนาคม ควรต้องสร้างความเป็นธรรม และหาวิธีจัดการแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์จ้างสาธารณะอย่างยั่งยืน
ด้านนายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้เร่งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อนเปิดภาคเรียนการศึกษา ให้แก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่มีอยู่ในระบบถึง 90% ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์โควิดในพื้นที่กรุงเทพมหานครยังแพร่ระบาดหนัก และใกล้กับช่วงเปิดภาคเรียนแล้ว ซึ่งกังวลว่าจะกลายเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส รวมถึงความไม่มั่นใจของผู้มาใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้าง
ขณะที่นายสุเทพกล่าวว่า ตนในฐานะประธาน กมธ.แรงงาน จะบรรจุเรื่องนี้เข้าสู่ กมธ.อย่างเร่งด่วน และจะทำทุกช่องทางเพื่อช่วยเหลือพี่น้องแรงงาน ให้ประชาชนทุกคนได้รับการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม
‘Sodexo’ สถานที่ทำงานที่ดีที่สุดของกลุ่ม LGBTQ+ เดินหน้าสนับสนุนความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม
โซเด็กซ์โซ่ (Sodexo) บริษัทผู้นำระดับโลกด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการบริหารจัดการแบบครบวงจรจากประเทศฝรั่งเศส ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสถานที่ทำงานที่ดีที่สุดของกลุ่ม LGBTQ+ ติดต่อกัน 14 ปีซ้อน พร้อมเดินหน้าสนับสนุนความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม เพื่อตอกย้ำการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับพนักงานทุกคนในสถานที่ทำงาน
มร.อาร์โนด์ เบียเลคกิ ประธานบริหาร โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย กล่าวว่าโซเด็กซ์โซ่ เริ่มมีนโยบายการปฏิบัติต่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) มาเป็นเวลานาน เพื่อตอกย้ำการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและปลอดภัยในสถานที่ทำงานและมุ่งมั่นที่จะขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ พร้อมทั้งสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+เพื่อให้พวกเขารู้สึกได้ถึงเสรีภาพและมีโอกาสที่จะเติบโตในหน้าที่ได้อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งแคมเปญ Sodexo Speak Up EthicsLine เพื่อช่วยให้พนักงานและพันธมิตรทางธุรกิจของเรามีช่องทางในการสื่อสารรายงานพฤติกรรม การเลือกปฏิบัติ หรือกิจกรรมที่ขัดต่อจรรยาบรรณของบริษัท โดยพนักงานกลุ่ม LGBTQ+ของโซเด็กซ์โซ่ทุกประเทศที่ประสบปัญหาสามารถใช้ Sodexo Supports Me สายด่วนสำหรับข้อมูลและการให้คำปรึกษาได้ทุกคน ที่สำคัญผู้ร้องเรียนมั่นใจได้ว่าข้อมูลและรายละเอียดทุกอย่างจะถูกเก็บเป็นความลับ
นอกจากนี้ โซเด็กซ์โซ่ ยังได้จัดโครงการ “Sodexo Global Pride Network” เพื่อสนับสนุนการรวมเป็นสมาชิกของกลุ่ม LGBTQ+ โดยมีแนวคิดหลัก 3 ประการ ได้แก่ ตั้งกลุ่ม18+ LGBTQ+ และเครือข่ายพันธมิตรเพื่อการยอมรับในความหลากหลายและความเท่าเทียมความเป็นตัวตนของพนักงาน, ตั้งแคมเปญเพื่อสร้างความตระหนัก : โดยวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี โซเด็กซ์โซ่ จัดเฉลิมฉลอง “วันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ” (International Day AgainstHomophobia and Transphobia) โดยให้พนักงานทุกคนได้พูดคุยเกี่ยวกับความกังวลและแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ในการใช้ชีวิตในมุมมองของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ และโซเด็กซ์โซ่ทั่วโลกได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน UN LGBTI ซึ่งก็คือการแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ
สำหรับภาพรวมในระดับโลกนั้น มร.อาร์โนด์ กล่าวว่า โซเด็กซ์โซ่ได้รับการยอมรับจากองค์กรชั้นนำต่างๆ ในเรื่องของการปฏิบัติต่อพนักงานทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม โดยเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 โซเด็กซ์โซ่ติดอันดับหนึ่งในกลุ่มองค์กรที่ได้คะแนนสูงสุดจาก Workplace Pride GlobalBenchmark โดยได้รับคะแนนถึง 93.5% และเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2562ได้ 82.1% ซึ่งเป็นปีที่โซเด็กซ์โซ่ได้รับการยอมรับให้เป็น Workplace Pride2020 Advocate เป็นคะแนนขององค์กรที่ดีที่สุดที่เข้าร่วมในเกณฑ์มาตรฐาน เป็นผลจากการขับเคลื่อนและการสนับสนุนจากเครือข่ายพนักงานกลุ่ม 18+LGBTQ + และเครือข่ายพันธมิตร พร้อมด้วยพนักงานประมาณ2,000 คนทั่วโลกที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตร
และเดือนมกราคม พ.ศ.2564โซเด็กซ์โซ่ได้รับคะแนน 100% จากมูลนิธิรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (The HumanRights Campaign Foundation) ที่พิจารณาจากดัชนีความเท่าเทียมด้วยการวัดนโยบายขององค์กรและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมในสถานที่ (Diversity, Equity and Inclusion:DEI) โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “สถานที่ทำงานที่ดีที่สุดเพื่อความเท่าเทียมกันของ พนักงานกลุ่ม LGBTQ+” ติดกัน 14 ปีซ้อน
“ในช่วงวิกฤติที่ต้องเผชิญกับภาวะทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เราพบว่าพนักงานกลุ่มLGBTQ+ บางคนได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของบริษัท จนได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี และถึงแม้ว่าเรายังอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาด แต่เรายังคงปฏิบัติตามค่านิยมและนโยบายของเราเพื่อให้โซเด็กซ์โซ่เป็นสถานที่ทำงานและชุมชนที่เป็นธรรมและเท่าเทียมอย่างสม่ำเสมอรวมทั้ง เรายังมีการฝึกอบรมให้กับพนักงานกว่า 270 คน เกี่ยวกับ “Spiritsof Inclusion” ตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน” มร.อาร์โนด์ กล่าว
ด้าน ศุกลภัทร ราพรหม หรือ “ซาแมนธ่า” พนักงานกลุ่ม LGBTQ+ เล่าว่า ก่อนร่วมงานกับโซเด็กซ์โซ่ ได้ทำงานให้กับบริษัทต่างๆ ต้องทำงานร่วมกับลูกค้าที่หลากหลาย และมีช่วงหนึ่งได้ไปประจำที่สำนักงานส่วนกลางของบริษัทลูกค้ารายหนึ่ง เพราะต้องติดต่อประสานงานกับลูกค้าตลอดเวลา โดยทุกๆ ครั้งที่ได้ร่วมงานกับพวกเขาก็มักจะมีปัญหากลับมาตลอด ซึ่งเป็นเฉพาะกับเราเท่านั้น จึงคิดว่าน่าจะเกิดจากสาเหตุที่พวกเขาไม่ชอบเรา เพราะว่าเรามีเพศสภาวะที่แตกต่าง จึงเป็นสาเหตุให้ลาออกมาจากที่นั่น จากนั้นจึงได้มาร่วมทำงานกับ โซเด็กซ์โซ่ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทที่ใส่ใจในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ ทำให้เรามีอิสระทางความคิดและการแสดงออกรวมทั้งยังสามารถตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ ที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงโดยไม่กระทบกับการปฏิบัติงาน
“หลังจากได้รับมอบหมายให้ดูแลงานลูกค้าที่ไซต์งาน รู้สึกมีความสุขที่ได้ร่วมงานกับลูกค้าที่มองเพศทางเลือกอย่างเราเป็นคนปกติคนหนึ่ง เพราะด้วยสภาวะทางเพศที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ว่าเป็นหญิงหรือชายอย่างเราทำให้สังคมตราหน้าว่าเราเป็นกะเทยและที่ผ่านมาการทำงานร่วมกันกับบริษัทและลูกค้าก็ราบรื่นมาโดยตลอด ถึงจะมีปัญหาบ้างแต่ก็เล็กน้อย เพราะปัญหาที่เกิดส่วนใหญ่เป็นเรื่องงานไม่ใช่เรื่องเพศ
สำหรับคนที่อยู่ในสภาวะเพศทางเลือก ขอให้รักตัวเองและครอบครัวให้มากๆ เพราะคิดว่าเพศอย่างเราจะต้องอดทนให้มากกว่าเพศปกติ เพราะในทุกๆ วันเราต้องพบปะพูดคุยและได้รับการปฏิบัติจากผู้คนที่หลากหลาย แต่เราต้องไม่ทำให้ตัวเองดูไร้ค่าและให้เขามาดูถูกเราได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการวางตัว และความคิดบวกต่อสังคมภายนอก”
มาเลเซีย ล็อกดาวน์วันแรก 1 มิ.ย. ตม.สตูล เข้ม หวั่นแรงงานลักลอบเดินทางเข้าประเทศผิดกฎหมาย
พ.ต.อ.ธนิสร แสงท่านั่ง ผกก.ตม. จว. สตูล พ.ต.ท.ยศพร มาศรีนวล รอง ผกก.ตม.จว.สตูล พ.ต.ต.หญิง ธนันยา สุตมาศ สว.ตม.จว.สตูล พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสตูล นำเรือตรวจการณ์ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสตูล ล่องออกสู่กลางทะเลอันดามัน บริเวณท่าเทียบเรือตำมะลัง ตำบลตำมะลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ไปยังพื้นที่จุดแนวเขตน่านน้ำ ทางทะเลรอยต่อระหว่างจังหวัดสตูล กับรัฐเปอร์ลิส ประเทศ มาเลเซีย ทันที
หลังทราบว่าทางประเทศมาเลเซีย พบตัวตัวเลขที่น่าเป็นห่วง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ทำสถิติ สูง รวมทั้งนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศ โดยให้มีผลตั้งแต่วันนี้ วันอังคารที่ 1 มิถุนายน
แถลงการณ์ที่ออกมาระบุว่า มาตรการล็อกดาวน์ดังกล่าว จะเป็นการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบในทุกภาคส่วน ทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจ เบื้องต้นจะมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 14 มิถุนายน แต่สิ่งหนึ่งที่น่ากลัวคือคนไทยที่ตกค้างอยู่ในประเทศมาเลเซีย จะต้องดิ้นรนหนีกลับเข้าประเทศอย่างแน่นอน
และที่เสี่ยงที่สุด คอยจับตาดูในช่วงภาคกลางคืนนี้ ที่อาจจะมีลักลอบเข้ามาได้ง่าย แบบกองทัพมดคน รวมทั้งคนไทยในต่างแดน หรือแรงงานเถื่อน ต้องหนีออก และแอบเข้ามาอย่างช่องทางธรรมชาติที่ง่ายที่สุด
พ.ต.อ.ธนิสร พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสตูล จึงกางแผนที่ภูมิประเทศชี้จุดวางกำลังเรือที่มีความพร้อมไว้สแตนบาย 2 ลำ มีความเร็วออกจตรวจตรา น้ำมันเต็มถังทันทีเพื่อออกสกัดกั้น จับกุม ผู้ ลักลอบเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย ทั้งนี้ยังได้ขึ้นไปยังบนเกาะปูยู ตำบลเกาะปูยู อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ถือเป็นเกาะที่ใกล้กับฝั่งประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุด ออกวางกำลัง สร้างตาสัปปะรดแหล่งข่าวที่ไว้ใจได้ สอดส่องดูแลแจ้งข่าวทันทีเมื่อพบผู้ต้องสงสัย คนแปลกหน้าหนีขึ้นเกาะ
นอกจากนี้ ยังสุ่มตรวจเรือขนส่งสินค้าข้ามประเทศ เพราะเป็นภารกิจที่สำคัญในการตรวจค้น เสี่ยงที่เรือเหล่านี้จำลำเลียง แรงงาน คนไทย มาแบบผิดกฎหมาย เข้ามาแฝงซ่อนในคลังสินค้าเรือ โดยออกค้นเรือทันที
ทางด้าน นายพิชญพัทธ์ เรืองชาตรี นายอำเภอทุ่งหว้า ได้สั่งการให้ นายเชิดศักดิ์ หมีนหา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลนาทอน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วย นายสมยศ ฤทธิ์ธรรมนาถ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาทอน พนักงานท้องถิ่น อบต.นาทอน เจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจ สภ.ทุ่งหว้า เจ้าหน้าที่ รพ.สต.วังตง และอสม. ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ ณ ด่านตรวจคัดกรองโควิด อบต.นาทอน
เพื่อคัดกรองและค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก ในพื้นที่อย่างเข้มงวด ตามมาตรการยกระดับของจังหวัดสตูล ในการป้องกันการเเพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผลการปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา ได้ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการดังกล่างอย่างเคร่งครัด
ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 1/6/2564
กลุ่มผู้ประกอบการ นวดแผนไทย ร้องกมธ.แรงงาน เยียวยาหลังศบค.สั่งปิดกิจการ
1 มิ.ย. 2564 ที่รัฐสภา นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้ประกอบการนวดแผนไทย หลังศบค.ประกาศสั่งปิด 5 กิจการ
โดยนายพิทักษ์ โยธา นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย กล่าวว่า ตนมายื่นหนังสือให้กมธ.แรงงาน เพื่อขอคัดค้านคำสั่งศบค.ที่มีคำสั่งออกมาปิดกิจการต่อ 14 วัน ซึ่งในช่วงเช้าทางกทม. ได้แถลงข่าวให้เปิด 5 กิจการได้ ซึ่งผู้ประกอบการได้เตรียมซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มาแล้ว แต่ในช่วงค่ำกลับมีประกาศศบค.ออกมาเช่นนั้น ตอนนี้ทุกคนแทบล้มทั้งยืน ตนคิดว่าคำสั่งนี้ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก เช่น ร้านนวด ร้านสปา ซึ่งที่ผ่านมาโดนสั่งปิดมาโดยตลอด แรงงานหมอนวดเป็นแรงงานนอกระบบจึงไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา จึงอยากให้ประธาน กมธ. ช่วยเหลือแรงงานและผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กด้วย
ด้านตัวแทนผู้ประกอบการร้านนวดเพื่อสุขภาพใน กทม. และ จ.นนทบุรี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา นโยบายต่างๆ ที่ออกโดยศบค. ทำให้กิจการได้รับผลกระทบจำนวนมาก ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากและมีอยู่ทุกภาคส่วน เช่น งานราชการ ธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ แต่ทุกๆ หน่วยงานได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม ไม่มีหน่วยงานใดถูกสั่งปิดทั่วพื้นที่เหมือนร้านสปา ร้านสักคิ้ว หรือฟิตเนส ดังนั้น จึงขอให้ ศบค. กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลพวกเราอย่างเท่าเทียม โดยเราต้องการพื้นที่ในการทำงานในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 นอกจากนี้ ในส่วนของร้านนวดในพื้นที่ จ.นนทบุรี ค่อนข้างยึดหลักการตาม กทม. เป็นหลัก แต่หากพิจารณาจากตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพบว่าตัวเลขต่างกันมาก ซึ่งร้านนวด จ.นนทบุรี มีคำสั่งปิดอย่างไม่มีกำหนด ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการมีมาตรการตามสาธารณสุขกำหนด อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐก็ไม่ถึงผู้ประกอบการโดยตรงและไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง หากมาตรการเหล่านี้ไม่ชัดเจนช่วยผ่อนปรนให้พวกเราได้ช่วยเหลือตัวเองน่าจะดีกว่า
ขณะที่ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนในฐานะประธาน กมธ. รู้สึกเศร้าใจกับการบริหารจัดการที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนกับแรงงานและผู้ประกอบการที่เกิดจากความไม่ชัดเจนด้านนโยบายของศบค.และรัฐบาล ซึ่งเป็นการผลักภาระ รัฐบาลเหมือนคนกลับกลอกทำให้แรงงานและผู้ประกอบการวางแผนชีวิตและธุรกิจไม่ได้ โดยตนจะรับเรื่องและเร่งดำเนินการ โดยจะมีการประชุมของ กมธ. และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กทม. ผู้ว่าฯ จ.นนทบุรี ศบค. เข้ามาประชุมเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาประชาชนแบบถ้วนหน้า มีมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจโดยแลกกับการจ้างงาน อาจให้มีการกู้เงินแบบไม่มีดอกเบี้ยหรือให้เงินเปล่าธุรกิจที่ถูกปิดจากคำสั่งของรัฐ รวมถึงการจัดหาวัคซีนต้องทำอย่างรวดเร็ว ไม่แทงมาตัวเดียวเหมือนทุกวันนี้ และเร่งกระจายการฉีดให้ทั่วถึง