Monday, April 5, 2021

สถานการณ์แรงงาน ประจำเดือน มี.ค. 2564

 


ธปท.ระบุเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่ทั่วถึง เกาะติดตลาดแรงงานมีผู้ว่างงาน 8.9 หมื่นราย

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ.ทยอยปรับดีขึ้น หลังจากการระบาดโควิด-19 คลี่คลาย เนื่องจากการบริโภคเอกชนทยอยฟื้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น และได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวแต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง โดย ธปท.จะติดตามตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง จากจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น โดยในเดือน ก.พ.มีผู้ขอรับสิทธิว่างงาน 89,380 ราย จากเดือน ม.ค. 71,592 ราย

“สัญญาณขยายตัวไม่ทั่วถึงมาจากตลาดแรงงาน เนื่องจากผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และต้องติดตามใกล้ชิด และการฟื้นตัวภาคธุรกิจที่ไม่ทั่วถึง ซึ่งหลังจากได้คุยกับภาคธุรกิจ ภาคการค้าและบริการที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ แม้ว่าปรับดีขึ้นและจากมาตรการภาครัฐปรับดีขึ้น แต่ต้องติดตามดูต่อไป เห็นจากในเดือน มี.ค.กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา แต่อาจติดตามเรื่องการระบาดของคลัสเตอร์ต่างๆ ว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้หรือไม่”

นอกจากนี้ในเดือน ก.พ. การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นตามการนำเข้าสินค้าทุกที่ปรับดีขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำยังขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า โดยการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำในปีก่อน ซึ่งภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกฟื้นตัว ถ้าเทียบกันกับจีดีพีไตรมาสแรกอาจไม่ได้ดีเท่าปีก่อนที่ยังไม่ได้ปิดเมือง ส่วนความเสี่ยงตลาดแรงงานที่ต้องติดตาม รายได้ต้องกลับมา และการเปิดประเทศเป็นประเด็นสำคัญในการแก้ไขปัญหาการฟื้นตัวไม่เท่าเทียม และช่วยเหลือตลาดแรงงานในช่วงที่บางกลุ่มยังไม่กลับมา

“มาตรการรัฐ คนละครึ่ง เราชนะ ม33เรารักกัน ช่วงที่ผ่านมาภาครัฐมีบทบาทเยอะ กระตุ้นบริโภคโดยตรง เห็นจากยอดขายผู้ประกอบการดี ทำให้ไตรมาส 1-2 มีต่อเนื่อง ส่วนครึ่งปีหลังไตรมาส 3-4 การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ส่งผลดีต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ ถ้าไม่มี เปิดไม่ได้ ภาครัฐก็ต้องเข้ามาช่วยส่วนนี้ คาดว่าไตรมาส 4 นักท่องเที่ยวจะเข้ามาเยอะ”

อย่างไรก็ตามเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น ตามอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงในทุกหมวดหลัก โดยเป็นผลจากมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชนเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง สะท้อนจากสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมต่อผู้ประกันตนทั้งหมดที่ยังเพิ่มขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นกว่าเดือนก่อน

ที่มา: เดลีนิวส์, 31/3/2564

พก. ร่วม 6 หน่วยงาน MOU พัฒนาคนพิการด้านการศึกษาและการมีงานทำ

นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ “พัฒนาคนพิการด้านการศึกษาและการมีงานทำ” โดยมี นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นางสาวระรินทิพย์ เพ็ชรเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน จ.เชียงใหม่ ประธานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธี

นางสาวสราญภัทร กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน จังหวัดเชียงใหม่ มีหน้าที่ตามยุทธศาสตร์กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) โดยบริการสวัสดิการสังคมเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพคนพิการในการประกอบอาชีพและการมีส่วนร่วมทางสังคม ในเขตความรับผิดชอบ 13 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนพิการและครอบครัวมีอาชีพรายได้ และปรับตัวในสังคมอย่างเป็นสุขและเท่าเทียม แต่ปัจจุบันหลักสูตรของศูนย์ฯ มีความล้าสมัยไม่ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งไม่ตรงกับความต้องการของผู้รับการฝึกอาชีพและสถานประกอบการ จึงจำเป็นต้องปรับบริการให้เหมาะสม ทั้งด้านการจัดระบบข้อมูล การบริการ การพัฒนาองค์ความรู้บุคลากร รวมถึงการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองสมรรถนะของคนพิการเป็นรายบุคคลเพื่อให้มีความรู้สามารถเพิ่มมากขึ้น (Up Skill) และยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้เทียบเท่ากับบุคคลทั่วไป โดยสามารถใช้ในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงเข้าทำงานในสถานประกอบการ รวมถึงเพิ่มโอกาสให้คนพิการสามารถประกอบอาชีพช่วยเหลือตนเอง อยู่ร่วมกับครอบครัว เป็นที่ยอมรับในสังคมอย่างมีคุณค่า

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ “พัฒนาคนพิการด้านการศึกษาและการมีงานทำ” ในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาวิชาชีพของคนพิการในจังหวัด ตามหลักสูตรมาตรฐานการศึกษาและอาชีพ รวมถึงมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้เทียบเท่ากับบุคคลทั่วไป รวมถึงส่งเสริมระบบการพัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานด้านการศึกษา อาชีพ และสังคม เพื่อให้คนพิการสามารถประกอบอาชีพช่วยเหลือตนเอง อยู่ร่วมกับครอบครัว เป็นที่ยอมรับในสังคมอย่างมีคุณค่า โดยความร่วมมือของหน่วยงานด้านการศึกษา อาชีพ และสังคม 6 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน จ.เชียงใหม่ วิทยาลัยเทคนิคสันกำแพง จ.เชียงใหม่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ และโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้ ได้กำหนดเปิด 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาช่างยนต์ โดยในปีการศึกษา 2564 นำร่องเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ณ ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน จังหวัดเชียงใหม่ ต่อไป

ที่มา: บ้านเมือง, 31/3/2564

รมว.คมนาคม สั่งจัดระเบียบรถมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ หลังพบขับขี่เร็ว-อุปกรณ์ติดตั้งขนอาหารขนาดใหญ่

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมว่า ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ไปดำเนินการจัดระเบียบ รถขนส่งอาหารเดลิเวอรี่ ที่วิ่งให้บริการส่งอาหารโดยการใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะบนท้องถนน เนื่องจากปัจจุบันพบว่ารถจักรยานยนต์ ที่ผู้ให้บริการขนส่งอาหารนั้นมีการขับขี่ใช้ความเร็ว รวมทั้งมีการติดตั้งกล่องพัสดุหลังรถที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตราย ไปเฉี่ยวชนกับรถผู้ใช้ถนนคันอื่นๆได้ ดังนั้นจึงให้กรมการขนส่งทางบกไปกำหนดหลักเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับ ของการใช้รถรวมถึงระเบียบข้อบังคับว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร เพื่อนำมาปฎิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากกรมการขนส่งทางบก มีหน้าที่ในการออกกฎระเบียบ ข้อบังคับ ของรถทุกประเภท

“ในวันนี้เห็นว่า ถึงเวลาจำเป็นต้องวางกรอบ กฎระเบียบตามกฏหมายเพื่อควบคุม เพื่อให้เกิดมาตรฐานในการนำรถมาใช้บริการไม่ปล่อยให้กลายเป็นปัญหาลุกลามในอนาคต” นายศักดิ์สยามกล่าว

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่าในส่วนของกรมการขนส่งทางบกจะมีการเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในวันศุกร์ที่ 2 เมษายนนี้ ที่กรมการขนส่งทางบก เพื่อนำปัญหาดังกล่าวมาพิจารณาในทุกมิติโดยเฉพาะในเรื่องของข้อกฎหมายทั้งในส่วนของ พ.ร.บ.จราจรฯ และกฎหมายอื่นๆ เพื่อให้ทราบอำนาจตามกฏหมาย ที่จะเข้าไปจัดระเบียบของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยจะพิจารณาลงรายละเอียดว่า การควบคุมจำเป็นต้องมีการออกกฎหมาย ในลักษณะประกาศกฎกระทรวงฯ ได้ในประเด็นใดบ้าง รวมถึงลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสม การติดตั้งอุปกรณ์ของรถเหล่านี้ ที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยบนท้องถนน

หลังจากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจากการประชุมเวิร์กชอปแล้ว กรมการขนส่งทางบกจะเร่งดำเนินการไปสู่แนวทางปฏิบัติให้เร็วที่สุด

อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมาการใช้จักรยานยนต์รับจ้างในประเทศ จะมีลักษณะการรับจ้างบรรทุกคน หรือผู้โดยสารเป็นหลัก แต่ในช่วงสถานการณ์ระบาดโควิดที่ผ่านมา ทำให้บริการจักรยานยนต์รับจ้างเพื่อการส่งอาหารจานด่วน หรือส่งสินค้าต่าง ๆ เติบโตอย่างรวดเร็ว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 31/3/2564

ครม. เห็นชอบตั้งกองทุน กบช. เป็นกองทุนภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เนื่องจากไทยเริ่มเข้าสู่การเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging Society) คาดว่าตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีคนไทยอายุถึง 60 ปี เพิ่มขึ้นปีละ1 ล้านคน แต่ประชาชน วางแผนการออม สะสมเงินเอาไว้ใช้หลังเกษียณ เพื่อให้ประชาชนเมื่อเข้าถึงวัยสูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ และเป็นการสร้างวินัยการออมของประชาชนวัยทำงาน

ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. ด้วยการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบทั้งลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องค์การมหาชน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบการจ่ายบำเหน็จบำนาญ และเป็นศูนย์กลางบูรณาการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบบำเหน็จบำนาญ โดยรายได้ของ กบช. ไม่ต้องนำส่งคลัง

กำหนดให้ลูกจ้างอายุตั้งแต่ 15- 60 ปี ซึ่งไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องมาเป็นสมาชิกของ กบช. กำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินสมทบแต่ละฝ่าย แบ่งเป็น ปีที่ 1-3 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของค่าจ้าง ปีที่ 4-6 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของค่าจ้าง ปีที่ 7-9 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 ของค่าจ้าง ปีที่ 10 เป็นต้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7-10 ของค่าจ้าง โดยกำหนดเพดานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน กรณีลูกจ้างเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ให้นายจ้างส่งเงินฝ่ายเดียว หากลูกจ้างและนายจ้างต้องการส่งเพิ่ม สามารถส่งเพิ่มได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของค่าจ้าง โดยไม่จำกัดเพดานค่าจ้าง

สำหรับการรับเงินคืนจาก กบช. เมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปี สามารถเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญรายเดือนเป็นระยะเวลา 20 ปี กรณีเลือกบำเหน็จ ได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสะสมที่ลูกจ้างส่ง เงินสมทบจากนายจ้าง รวมผลตอบแทน หากกรณีเลือกบำนาญ แล้วต้องการเปลี่ยนเป็นบำเหน็จสามารถทำได้ เช่น รับบำนาญแล้ว 5 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นบำเหน็จ จะได้รับเงินเท่ากับเงินบำนาญ 15 ปีที่เหลือ กรณีที่ทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยจนใกล้ถึงแก่ชีวิตก่อนครบอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อออกจากงานแล้ว จะขอรับเงินสะสม เงินสมทบ บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (คนบ.) มีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบาย แผนแม่บท และแนวทางการพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันระบบบำเหน็จบำนาญทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ในการกำกับดูแลของหลายหน่วยงาน จนเกิดความซ้ำซ้อนทั้งการดำเนินงาน งบประมาณ และบุคลากร สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย 13 คน โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า แม้ว่าการจัดตั้ง กบช. จะทำให้รายได้รายเดือนของลูกจ้างลดลงและเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้นายจ้าง แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ลูกจ้างทำให้มีหลักประกันรายได้หลังเกษียณ ทำให้นายจ้างมีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ลูกจ้าง และการออมภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ อีกทั้งช่วยบรรเทาภาระงบประมาณการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุในอนาคต

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 30/3/2564

ตลาดแรงงานพบช่วง COVID-19 มีอัตราส่วนการแข่งขันอยู่ที่ 1 ต่อ 100 ใบสมัคร

น.ส.พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินแนวโน้มทิศทางตลาดแรงงานหลังวิกฤต พบว่า ล่าสุดในเดือน ก.พ.2564 จำนวนความต้องการแรงงานในไทยทั้งบนแพลตฟอร์มหางาน และช่องทางสื่อกลางออนไลน์อื่น ๆ ฟื้นขึ้นจากจุดต่ำสุดถึง 24.65% สะท้อนให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานไทยผ่านจำนวนความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดจากช่วงเดือน เม.ย.2563 และเดือน ธ.ค.2563 จากการระบาดระลอกที่ 2 และคาดการณ์ว่าจำนวนประกาศงานทั้งประเทศจะกลับมาเป็นบวก 5% ในกลางปี 2564 เมื่อเทียบกับกลางปี 2563 และจะฟื้นตัวเท่ากับก่อนวิกฤต COVID–19 ในต้นปี 2565 หากไม่มีการระบาดระลอกใหม่

ในส่วนของความต้องการเมื่อแบ่งตามสายงาน จากจำนวนประกาศงานบน จ๊อบส์ ดีบี ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 พบว่า กลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1) สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 16.0% 2) สายงานไอที คิดเป็น 14.7% 3) สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 9.8%

ในส่วนของการฟื้นตัวของแต่ละกลุ่มสายงาน พบว่า กลุ่มสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่ 1) สายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ คิดเป็น 29.7% 2) สายงานขนส่ง คิดเป็น 24.7% 3) สายงานการผลิต คิดเป็น 20.8% นอกจากนี้ ยังพบว่า มีสายงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตการณ์ COVID-19 อาทิ นักพัฒนาเอไอ ที่ปรึกษาด้านบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญ Business Transformation รวมถึง Growth Officer

ด้านมุมมองกลุ่มธุรกิจ พบว่า ธุรกิจที่มีสัดส่วนจำนวนประกาศงานสูงสุด ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจไอที คิดเป็น 12.9% 2) กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็น 8.1% 3) กลุ่มธุรกิจการค้าปลีก-ส่ง คิดเป็น 6.6% และในส่วนของธุรกิจที่มีอัตราการฟื้นตัวสูงสุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจประกันภัย คิดเป็น 42.9% 2) กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็น 41.9% 3) กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็น 37.7%

“อัตราการแข่งขันในการหางานของคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นถึง 20% ในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 และมีอัตราส่วนการแข่งขันอยู่ที่ 1 ต่อ 100 ใบสมัคร โดยการแข่งขันมีการกระจุกตัวอยู่เพียงในกลุ่มคนทำงานที่เงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท”

ขณะที่สถานการณ์การจ้างงานของกลุ่มประเทศในอาเซียน พบว่า ประเทศที่มีจำนวนประกาศงานออนไลน์ลดลงมากที่สุดจากช่วงก่อนหน้าสถานการณ์ COVID-19 ได้แก่ 1) อินโดนีเซีย ลดลง 55.7% 2) ฟิลิปปินส์ ลดลง 46.6% 3) มาเลเซีย ลดลง 39.0% 4) ไทย ลดลง 35.6% ในขณะเดียวกัน จากจำนวนประกาศงานออนไลน์ล่าสุดในเดือน ก.พ.2564 พบว่า ประเทศที่เริ่มกลับมามีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1) มาเลเซีย เพิ่มขึ้น 14.8% 2) อินโดนีเซีย ติดลบดีขึ้นเหลือ -16.4% 3) ไทย ติดลบดีขึ้นเหลือ -20.5% 4) ฟิลิปปินส์ ติดลบดีขึ้นเหลือ -37.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2563

3 ประเทศคนไทยอยากไปทำงาน

จ๊อบส์ ดีบี ได้ร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) และ เดอะ เน็ตเวิร์ก (The Network) ในการจัดทำแบบสำรวจระดับ (Global Talent Survey) ฉบับที่ 1 จากผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 200,000 คน ใน 190 ประเทศ ภายใต้หัวข้อ “Where – ประเทศที่คนอยากทำงาน และการทำงานแบบเวอร์ชวล” เพื่อศึกษาความต้องการที่เปลี่ยนไปในแต่ละปีของแรงงานทั่วโลก โดยเฉพาะปีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ COVID-19

ทั้งนี้ จากผลสำรวจ พบว่า เกิดสองปรากฏการณ์สำคัญในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 ซึ่งปรากกฏการณ์แรกคือ คนทำงานหันมาให้ความสนใจการทำงานแบบเวอร์ชวล โดยกว่า 57% ของคนทำงานทั่วโลกยินดีที่จะทำงานให้กับบริษัทที่อยู่ต่างพื้นที่ และ 50% ของคนไทยยินดีที่จะทำงานให้กับบริษัทที่อยู่ต่างพื้นที่ ซึ่ง 3 อันดับประเทศที่คนไทยอยากไปทำงานด้วยมากที่สุด ได้แก่ 1) ออสเตรเลีย 2) ญี่ปุ่น 3) สิงคโปร์ และ 5 อันดับแรงงานต่างชาติที่สนใจอยากมาทำงานให้กับบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ได้แก่ 1) สิงคโปร์ 2) มาเลเซีย 3) จีน 4) อินโดนีเซีย 5) รัสเซีย ซึ่งในปี 2020 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 35 จากประเทศทั่วโลกที่คนทำงานต่างชาติสนใจอยากเข้ามาทำงาน ขยับขึ้นมาจากอันดับ 43 และ 39 ในปี 2014 และ 2018 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ที่สองจากผลสำรวจพบคนทำงานในประเทศไทยหลังวิกฤตการณ์ COVID-19 มีพฤติกรรมหันมาทำงานแบบเวอร์ชวลมากขึ้นในทุกสายงาน โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี ดิจิทัล วิทยาศาสตร์ ซึ่งทั้งสองปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของกลุ่มคนทำงานแบบเวอร์ชวล (Virtual Talent Pool) ที่จะมาเป็นกุญแจสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับภาครัฐ นายจ้าง รวมถึงคนทำงานในยุคหลังวิกฤตการณ์ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการหางานในต่างประเทศโดยไม่ต้องโยกย้ายถิ่นฐาน หรือโอกาสในการหาคนทำงานที่ตรงตามความต้องการจากต่างประเทศ

ที่มา: Thai PBS, 30/3/2564

รมว.แรงงาน เผยปี 2564 ปล่อยกู้ดอกเบี้ย 0% แรงงานนอกระบบ วงเงิน 3.7 ล้าน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สภาพคล่องในการใช้จ่ายรวมทั้งการดำเนินการของผู้รับงานไปทำที่บ้าน กระทรวงแรงงานจึงพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินของกองทุน เพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน อยู่ในอัตราร้อยละ 0 ต่อปี ในงวดที่ 1-12 ภายใต้กรอบวงเงิน 7,000,000 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของแรงงานนอกระบบผู้กู้ยืมเงินกองทุนฯ

สำหรับผลการดำเนินงานกองทุน เพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 – 29 มี.ค. 2564) ปล่อยกู้แล้วทั้งสิ้น 20 กลุ่ม เป็นเงิน 3,210,000 บาท โดยยังมีวงเงินคงเหลือสำหรับผู้รับงานไปทำที่บ้านที่ต้องการกู้ยืมเงินกองทุนฯ อีก 3,790,000 บาท ซึ่งผู้รับงานไปทำที่บ้านที่ต้องการเงินทุน และเข้าเกณฑ์เงื่อนไขของกรมการจัดหางาน สามารถยื่นคำขอกู้เงินได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัด ในท้องที่ที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า สำหรับการกู้ยืมเงินกองทุนฯ เริ่มให้ยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นมา จนถึง 31 ส.ค. 2564 โดยต้องทำสัญญากู้ยืมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. 2564 คุณสมบัติผู้กู้จะต้องเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน มีผลการดำเนินการและมีรายได้จากการรับงานไปทำที่บ้าน หรือมีหลักฐานการรับงานไปทำที่บ้านจากผู้จ้างงาน ซึ่งมีทั้งประเภทบุคคลและกลุ่มบุคคล โดยประเภทบุคคลต้องมีทรัพย์สินหรือเงินทุนไม่น้อยกว่า 5,000 บาท

ส่วนประเภทกลุ่มบุคคลจะต้องมีผู้นำกลุ่มและสมาชิกกลุ่มกู้ร่วมกันไม่น้อยกว่า 5 คน มีทรัพย์สินหรือเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มรวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 บาท รายบุคคลกู้ได้ไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 2 ปี และรายกลุ่มบุคคลไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 5 ปี โดยตั้งแต่ปี 2548 – ปัจจุบัน มีผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนกับกรมการจัดหางาน จำนวน 1,034 ราย/กลุ่ม สมาชิกจำนวน 5,993 คน และมีผู้กู้เงินจากกองทุนฯแล้ว จำนวน 509 ราย/กลุ่ม (29 ราย/480 กลุ่ม) เป็นเงิน 52,016,000 บาท

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัด ในท้องที่ที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: เดลีนิวส์, 30/3/2564

สวนดุสิตโพลห่วงแรงงานข้ามชาติอพยพเข้าไทยทำ COVID-19 พุ่ง ขอเข้มชายแดน

“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน จำนวน 1,167 คน เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อกรณี แรงงานข้ามชาติ ระหว่างวันที่ 22-25 มีนาคม 2564 เมื่อถามประชาชนคิดอย่างไรกับ “สถานการณ์แรงงานข้ามชาติอพยพเข้าประเทศไทย” พบว่า ร้อยละ 67.67 ระบุ อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ มากขึ้น รองลงมาร้อยละ 62.01 ระบุ เกิดการแย่งอาชีพของคนงานในประเทศ ร้อยละ 59.09 ระบุ แรงงานข้ามชาติต้องการแสวงหาการดำเนินชีวิตที่ดีกว่า

เมื่อถามประชาชนคิดว่า “แรงงานข้ามชาติอพยพเข้าประเทศไทย” เป็นเพราะสาเหตุใด พบว่า ร้อยละ 69.01 ระบุ ได้ค่าแรงมากกว่า รองลงมาร้อยละ 67.12 ระบุ ทำมาหากินได้ง่ายกว่า ร้อยละ 63.78 ระบุ ชีวิตความเป็นอยู่ลำบาก ฝืดเคือง

ทั้งนี้ เมื่อถามว่าจากกรณี “แรงงานข้ามชาติอพยพเข้าประเทศไทย” ประชาชนคิดว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในเรื่องใดบ้าง พบว่า ร้อยละ 81.41 ระบุ การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เช่น โควิด-19 รองลงมาร้อยละ 74.38 ระบุ ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.81 ระบุ เจ้าหน้าที่กระทำผิดกฎหมาย เปิดให้มีการลักลอบเข้าเมือง

พร้อมกันนี้ เมื่อถามว่ารัฐบาลควรดำเนินการอย่างไรต่อกรณี “แรงงานข้ามชาติอพยพเข้าประเทศไทย” พบว่า ร้อยละ 75.16 ระบุ ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด ไม่ทุจริต รองลงมาร้อยละ 72.13 ระบุ ควรมีมาตรการป้องกัน/เตรียมรับมือในระยะยาวร้อยละ 65.01 ระบุ เฝ้าระวังตามแนวชายแดนอย่างเคร่งครัด

ท้ายที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกรณี “สถานการณ์แรงงานข้ามชาติอพยพเข้าประเทศไทย” ประชาชนคิดว่ามีผลดีและผลเสีย พบว่า ร้อยละ 64.44 ระบุ มีผลเสียมากกว่า รองลงมาร้อยละ 29.56 ระบุ มีผลดีและผลเสียพอๆกัน ขณะ ร้อยละ 6.00 ระบุ มีผลดีมากกว่า

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 28/3/2564

ค้าปลีกจ่อจ้างแรงงานเพิ่มกว่า 10,000 คน

ผู้ค้ายักษ์ใหญ่ธุรกิจค้าปลีก เผยแผนธุรกิจทุ่มงบประมาณกว่า 13,900 ล้านบาทขยายตลาดค้าปลีกพุ่งเป้าไป 3 เมืองศักยภาพ ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, จังหวัดชลบุรี และจันทบุรี คาดว่าจะช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานได้กว่า 10,000 คน กระตุ้นการใช้จ่ายของคนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว รวมถึงประชากรแฝงที่มีกำลังซื้อ คาดการณ์ปริมาณคนเดินห้างสรรพสินค้าแต่ละแห่งจะเพิ่มขึ้น กลับมาอยู่ที่ 75% และน่าจะเพิ่มเป็น 95 %ได้ภายในปีนี้ สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า ปีที่แล้ว ราว 32,000 ล้านบาท โดยพบว่าแม้ปริมาณคนเดินห้างสรรพสินค้าจะลดลงแต่กำลังซื้อกลับสูงขึ้น คาดว่าส่วนหนึ่งมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน, โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราชนะ จะทำให้เกิดการเดินทางและเข้าไปจับจ่ายซื้อสินค้าในห้างค้าปลีกตามเมืองท่องเที่ยวมากขึ้น

ที่มา: ช่อง 7, 27/3/2564

เรียกร้องผู้ว่าฯ กทม.จ่ายเงินลูกจ้างนับพัน หลังค้างจ่ายนานกว่า 3 เดือน

26 มี.ค. 2564 นายเอกชัย ผ่องจิตร์ เลขานุการกลุ่ม กทม.พรรคกล้า เรียกร้องให้ผู้ว่าฯ กทม.จ่ายค่าตอบแทนลูกจ้างโครงการของ กทม. เนื่องจากไม่ได้ค่าตอบแทนการทำงานเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค.2564-ปัจจุบัน ได้รับผลกระทบสถานการณ์โควิดระบาด และยังต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ เนื่องลูกจ้างกลุ่มนี้มีการแต่งตั้งภายใต้คำสั่ง การแต่งตั้งบุคคลภายนอกที่ช่วยปฏิบัติราชการเกี่ยวกับกิจกรรมส่งเสริมกีฬา ศูนย์เยาวชน ดนตรี ห้องสมุดประชาชน สภาเยาวชนเขตต่างๆ รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจการพัฒนาเด็ก เยาวชน และประชาชนตามโครงการหรือกิจกรรมที่ช่วยปฏิบัติราชการ อื่น ๆ ตามคำสั่ง โดยยึดระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยอัตราค่าตอบแทนค่ารางวัล ค่าเบี้ยเลี้ยงฯลฯ พ.ศ.2539 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2557 อัตราค่าจ้างคิดเป็น 360 บาทต่อวัน ระยะเวลาการจ้างงานสัญญาปีต่อปี ทำงานทุกวันคือ 7 วันต่อสัปดาห์ ไม่เว้นวันหยุด พร้อมถูกหักเงินเข้าประกันสังคมด้วย

โดยจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนมาตลอด จนกระทั้งมีการร่างระเบียบขึ้นใหม่เพื่อปรับอัตราค่าจ้างขึ้นเป็น 480 บาท แต่สำนักงานเขตหลายแห่งไม่สามารถทำเรื่องเบิกค่าตอบแทนดังกล่าวได้ เพราะระเบียบไม่ได้ระบุค่าตอบแทนให้ทางสำนักงานเขตเป็นผู้จ่าย แต่ระบุให้สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เป็นผู้จัดการเท่านั้น ให้ทำเรื่องเบิกจ่ายทำได้แต่เพียงหน่วยงานเดียว แต่ต่อมา สำนักวัฒนธรรมฯ ได้ยกเลิกระเบียบเดิม โดยไม่ทราบสาเหตุ จึงทำให้สำนักงานเขตหลายแห่ง ไม่สามารถอ้างถึงระเบียบการจ่ายใดๆ ได้เลย ทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับอัตราค่าตอบแทนตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่เช่นเดิม ได้เงินเยียวยาตามโครงการของรัฐบาลที่ออกมาช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด19 เพียงเท่านั้น

"ฝากถึงผู้ว่าฯ กทม.ขอให้แก้ไขปัญหาให้กับลูกจ้างโครงการฯ ที่ได้รับความเดือดร้อนหลายพันคนได้รับเงินเดือนตามอัตราที่จ้างไม่ว่าจะเป็นระเบียบเดิมหรือระเบียบใหม่โดยเร็วที่สุด หรือจะเป็นการเบิกเงินสำรองจ่าย หรือเงินอื่นๆ ที่พึงกระทำได้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ทีมงานในระดับผู้ปฏิบัติงาน ได้มีพลังในการทำหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายเพื่อชาวกรุงเทพฯด้วย" นายเอกชัย กล่าว

ที่มา: สยามรัฐ, 26/3/2564

รมว.แรงงาน สั่งบอร์ดอุทธรณ์หาแนวทางรักษาสถานะภาพผู้ประกันตน ม.39 กรณีสิ้นสภาพ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรุงเทพมหานคร/จังหวัด/สาขา หลายแห่งทั่วประเทศ ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการอุทธรณ์ให้พิจารณากรณีที่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 39 ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนแล้ว และต่อมาบางรายประสบปัญหาสิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตนเนื่องจากขาดส่งเงินสมทบ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ระบุว่า ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน จะถือว่าได้สิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่เดือนแรกที่ขาดส่ง หรือกรณีที่ผู้ประกันตนให้หักเงินสมทบผ่านบัญชีธนาคาร แต่ยอดเงินในบัญชีมีไม่เพียงพอ ทำให้สิ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตนได้เช่นเดียวกัน ซึ่งกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และ สปส.แต่ละแห่ง ไม่สามารถวินิจฉัยเองได้ จึงได้ส่งเรื่องมายังคณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาหาข้อยุติ

นายสุชาติ กล่าวว่า ตนได้มีนโยบายชัดเจนที่จะช่วยเหลือผู้ประกันตนในกรณีดังกล่าว เพื่อมิให้ต้องสิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตน จึงได้กำชับให้ คณะกรรมการอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งมี นายอาทิตย์ อิสโม เป็นประธาน เร่งพิจารณาถึงเรื่องนี้ เพื่อเสนอแนะไปยัง สปส.ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระเบียบของ พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์ที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง ประกอบด้วย ประธานกรรมการ กรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย ผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางระบบงานประกันสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิทางการแรงงาน ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง จะให้ความเห็นต่อ สปส.

“สำหรับขั้นตอนการยื่นคำร้อง เพื่อขอขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาโดยแสดงเหตุแห่งความจำเป็นนั้น ซึ่งจะขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาออกไปก็ได้ ทั้งนี้ ต้องยื่นคำร้องภายใน 15 วัน นับแต่เหตุจำเป็นนั้นสิ้นสุดลง เพื่อไม่ให้ผู้ประกันตนต้องพ้นสภาพจากสถานะความเป็นผู้ประกันตน โดยนายจ้าง ผู้ประกันตน หรือบุคคลอื่นใด ที่ไม่พอใจในคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว จากนั้นคณะกรรมการอุทธรณ์จะพิจารณาวินิจฉัย แล้วแจ้งคำวินิจฉัยเป็นหนังสือให้ผู้อุทธรณ์ทราบ แต่หากผู้อุทธรณ์ไม่พอใจให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย แต่ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในระยะเวลาดังกล่าวให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นที่สุด” นายสุชาติ กล่าว

ด้านนายอาทิตย์ กล่าวว่า ในเบื้องต้น คณะกรรมการอุทธรณ์ได้ให้อนุกรรมการวิชาการไปพิจารณาศึกษารายละเอียดถึงแนวทาง เพื่อไม่ให้ผู้ประกันตนต้องสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนกรณีขาดส่งเงินสมทบ ซึ่งความเห็นของคณะกรรมการอุทธรณ์ในครั้งนี้ จะเป็นที่มาและข้อเสนอแนะยัง สปส.ในการกำหนดแนวปฏิบัติที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์แก่ผู้ประกันตนต่อไป

ที่มา: มติชน, 26/3/2564

ก.แรงงาน จับมือ กมธ.แรงงาน จัดรับฟังความเห็น แก้ร่าง ก.ม. เพื่อแรงงานนอกระบบ ก่อนชงเข้าครม.-สภา

25 มี.ค. 2564 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ร่วมรู้ ร่วมส่งเสริม “ร่างกฎหมายเพื่อแรงงานนอกระบบ” เพื่อสร้างการรับรู้ รับฟังข้อเสนอแนะและร่วมกันพิจารณาผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ...รองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบให้ดียิ่งขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 300 คน ทั้งภาพรัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่เกี่ยวข้องด้านแรงงานนอกระบบ และแรงงานนอกระบบ

นายสุชาติ กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญกับแรงงานทุกกลุ่มรวมถึงแรงงานนอกระบบ โดยพร้อมให้การดูแลเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้เร่งจัดทำร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ เพื่อให้เหมาะสมและทันต่อการสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากการระบาดของโรคโควิด-19 การเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่ส่งผลต่อการจ้างงานผ่านออนไลน์ ซึ่งสภาพการจ้างงานยังไม่มีความชัดเจน เป็นการจ้างงานรูปแบบใหม่ที่เราต้องศึกษา ควบคุม และดูแลต่อไป จากนี้จะมีการรวบรวมความเห็น ข้อเสนอแนะจากการสัมมนาวันนี้ ไปขับเคลื่อนกฎหมายก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา และรัฐสภา เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ต่อไป

น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเชิงนโยบายและกฎหมายแรงงานและโฆษกคณะกรรมาธิการการแรงงาน กล่าวว่า โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ร่วมรู้ ร่วมส่งเสริม “ร่างกฎหมายเพื่อแรงงานนอกระบบ” ในวันนี้ จัดขึ้นโดย คณะกรรมการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับกระทรวงแรงงาน เพื่อส่งเสริมการสร้างการรับรู้ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ... และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวร่วมกัน

ที่มา: เดลินิวส์, 25/3/2564

'ม.33 เรารักกัน' วันแรก เงินสะพัด 11,441 ล้านบาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงโครงการ ม.33 เรารักกัน หลังโอนเงินงวดแรก 1,000 บาท ว่ามีผู้กดเข้าร่วมโครงการ จำนวน 5,720,967 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของผู้ได้รับสิทธิ มีเงินเข้าสู่ระบบและเกิดประโยชน์แก่แรงงาน 5,720,967,000 บาท มีการซื้อขายสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจระยะสั้นคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 11,441 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นวันแรกในการโอนเงิน จึงได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมติดตามสถานการณ์และรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบ ภาพรวมยังไม่พบปัญหาใดๆ ส่วนงวดถัดไปจะโอนตามลำดับ คือ งวดที่ 2 วันที่ 29 มี.ค. งวดที่ 3 วันที่ 5 เม.ย. และงวดที่ 4 วันที่ 12 เม.ย. จนครบ 4,000 บาท ซึ่งผู้มีสิทธิสามารถใช้เงินซื้อสินค้าและบริการจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับการตรวจสอบสถานะผู้ได้รับสิทธิผ่านทาง www.ม33เรารักกัน.com และกดยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" จนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564 หากตรวจสอบแล้วไม่มีสิทธิ จะต้องรีบทบทวนสิทธิ ตั้งแต่วันที่ 15-28 มี.ค. 2564 กลุ่มแรก ผู้ยังไม่ได้ลงทะเบียนมาก่อน กับชื่อ นามสกุลผิด ให้ทบทวนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com กลุ่มที่ 2 ผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน ลงทะเบียนแล้วแต่ระบบแจ้งว่าไม่ได้อยู่ในมาตรา 33 ต้องไปทบทวนสิทธิที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น.ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยให้นำบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดมาด้วย

นายสุชาติ กล่าวว่าโครงการ ม.33 เรารักกัน วงเงิน 4,000 บาท ดูเหมือนไม่มาก แต่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานได้ในการใช้จ่ายสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันผ่านร้านค้าที่ร่วมรายการ รวมถึงช่วยพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย หาบเร่ แผงลอยได้ด้วย ก็จะเกิดเงินหมุนเวียนในหลายรอบและส่งผลทำให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวตามมา

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 22/3/2564

สวนดุสิตโพลเผยปัญหา 'ตกงาน' เป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยในวันนี้

21 มี.ค. 2564 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ตกงาน” ปัญหาใหญ่ของคนไทย ณ วันนี้ กลุ่มตัวอย่าง 1,155 คน สำรวจวันที่ 15-18 มีนาคม 2564 พบว่า ตั้งแต่มีโควิด-19 ประชาชนใช้จ่ายเรื่องสุขภาพเพิ่มขึ้น ร้อยละ 38.65 แต่เงินออมลดลง ร้อยละ 47.10 เมื่อต้องใช้เงินฉุกเฉินจะนำเงินเก็บส่วนตัวออกมาใช้ ร้อยละ 55.23 โดยมองว่าสถานการณ์ “ตกงาน” ณ วันนี้ ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ร้อยละ 65.94 จึงอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาโดยให้มีการฝึกอาชีพ สร้างอาชีพเสริมให้กับประชาชน ร้อยละ 56.66

ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังมีโควิด-19 ตัวเลขการตกงานของคนไทยก็ไม่ได้อยู่ในสภาวะที่สบายใจได้เท่าใดนัก เมื่อ โควิด-19 เข้ามาจึงเป็นเหมือนตัวเร่งให้ยอดคนตกงานพุ่งสูงขึ้น แรงงานอีกหลายส่วนก็ยังอยู่ในสถานะที่ไม่รู้ว่าจะยื้อไปได้อีกนานแค่ไหน ปัญหาตกงานจึงเป็นปัญหาใหญ่ของคนไทย ณ วันนี้ และควรจะต้องเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลด้วยเช่นกัน เพราะหากมุ่งแก้เฉพาะปัญหาการเมือง สุดท้ายแล้วเศรษฐกิจไทยจะหลับลึกและไม่ตื่นก็เป็นได้

นายประศาสน์ นิยม อาจารย์ประจำหลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ในปี 2563 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยลดลงถึงร้อยละ 6.6 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบร้อยละ 0.9 เป็นผลมาจากการที่ประชาชนมีรายได้ ชั่วโมงการทำงาน และค่าล่วงเวลาลดลง จำเป็นต้องใช้เงินออมเพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกันโรคระบาด มีการก่อหนี้บัตรเครดิตมากขึ้น จากข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐแสดงให้เห็นว่า คนไทยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14 ล้านคน มีรายได้ไม่เกิน 2,500 บาทต่อเดือน รวมทั้งคนไทยที่มียอดเงินฝาก ไม่เกิน 50,000 บาท สูงถึงร้อยละ 86.6 ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมด สิ่งเหล่านี้ล้วนบ่งชี้ให้เห็นถึงระดับรายได้และเงินออมของคนไทยส่วนใหญ่ต่ำมาก ปัจจุบันมีผู้ว่างงานจำนวน 650,000 คน คิดเป็นร้อยละ 1.69 ของกำลังแรงงานมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปีก่อน

ดังนั้น ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาชนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างงานและพัฒนาทักษะใหม่ เช่น การพัฒนาระบบ อี-คอมเมิร์ซ และระบบโลจิสติกส์ที่เป็นของคนไทย การส่งเสริมการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มอเตอร์ และแบตเตอรี่ การเกษตรปลอดภัยและอาหารสุขภาพ โดรนทางการเกษตร การติดตั้งโซล่าเซลล์ทั้งภาคในเมืองและภาคการเกษตร เป็นต้น

ที่มา: ไทยโพสต์, 21/3/2564

ก.แรงงาน แจ้งคนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ หลังสวีเดนเก็บภาษีทำงานระยะสั้นแรงงานต่างชาติ เพิ่ม 25%

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่ากระทรวงแรงงานได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศ ว่า รัฐสภาสวีเดนมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563 เรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการเก็บภาษีแรงงานต่างชาติ Special income tax (SINK tax) ส่งผลให้คนงานที่จะเดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน ฤดูกาลปี 2021 โดยผ่านการจ้างงานจากบริษัทนายจ้าง ต้องชำระภาษีประมาณร้อยละ 25 ของรายได้ตามกฎหมาย หากมีระยะเวลาทำงานไม่เกิน 183 วันต่อปี ซึ่งจากประมาณการรายได้ขั้นต่ำคงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายและหักภาษี สรุปได้ว่าคนงานจะมีรายได้คงเหลือประมาณ 13,237.50 – 31,156.50 บาท

"นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาล และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าตามฤดูกาลเป็นอย่างมาก และได้กำชับให้กระทรวงแรงงานเตรียมการรองรับต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการเก็บภาษีแรงงานต่างชาติของสวีเดน เนื่องจากที่ผ่านมาแรงงานกลุ่มดังกล่าว ถือว่าเป็นผู้ที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทย โดยปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าสวีเดน จำนวน 3,040 คน สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ถึง 475,760,000 บาท" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน ขานรับข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น เร่งเตรียมการรองรับต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการเก็บภาษีแรงงานต่างชาติของสวีเดน เบื้องต้นได้สั่งการเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานทั้งในกรุงเทพมหานครและทุกจังหวัดทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการเก็บภาษีแรงงานต่างชาติของสวีเดน พร้อมมีหนังสือถึงบริษัทนายจ้างที่จะพาลูกจ้างไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในสวีเดนเพื่อแจ้งข้อมูลการเปลี่ยนแปลง และกำหนดให้บริษัทนายจ้างแจ้งข้อมูลดังกล่าว แก่ลูกจ้างอย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายของคนงานจะลดน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา โดยกรมการจัดหางานได้คำนวณรายได้ขั้นต่ำสำหรับฤดูกาลปี 2021 ว่าแรงงานไทยจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 23,500 โครนาสวีเดน ต่อเดือน คิดเป็นเงินไทยจำนวน 85,070 บาท หักค่าใช้จ่ายในสวีเดน ได้แก่ ค่าที่พัก ค่าอาหารวันละ 3 มื้อ และค่าเช่ารถ ประมาณ 195 – 250 โครนาสวีเดนต่อวัน รวมทั้งค่าน้ำมันรถ เฉลี่ย 500 โครนาสวีเดนต่อสัปดาห์ต่อคน ซึ่งหลังหักค่าใช้จ่ายและหักภาษีร้อยละ 25 แล้ว หากมีระยะเวลาทำงาน 3 เดือน สรุปได้ว่าคนงานจะมีรายได้คงเหลือประมาณ 13,237.50 – 31,156.50 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 8 มี.ค. 2564: 1 โครนาสวีเดน เท่ากับ 3.62 บาท)

“อย่างไรก็ดี นอกจากประเทศสวีเดนแล้ว กรมการจัดหางานยังมีการจัดส่งแรงงานไทยเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ด้วย หลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมผลไม้ป่าของฟินแลนด์ได้พึ่งพาแรงงานต่างชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะแรงงานไทย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 90 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมด สำหรับปี 2564 บริษัทรับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ยังคงต้องการคนงานไทยเป็นจำนวนมาก” โดยลงทะเบียนแสดงความต้องการแรงงานไทยกับกระทรวงการจ้างงานฟินแลนด์ แล้วจำนวน 8,703 คน และขณะนี้สำนักงานภาษีฟินแลนด์ (Finnish Tax Authority) ให้ข้อมูลว่า ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบหรือกฎหมายการจัดเก็บภาษีต่อคนงานเก็บผลไม้ป่าหรือคนงานที่เป็นฝ่ายสนับสนุนในแคมป์ผลไม้ป่าในฤดูกาลปี 2564

แต่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยสถานะทางกฎหมายของชาวต่างชาติที่มาเก็บเกี่ยวผลผลิตทางธรรมชาติภายใต้หลัก Freedom to Roam ซึ่งหากมีพัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะแจ้งให้ทราบต่อไป ทั้งนี้กรมการจัดหางานจะพิจารณาโควตาในปี 2564 อย่างเหมาะสม เพื่อมิให้เกิดปัญหาการแย่งงานเก็บผลไม้ป่า คนหางานไทยมีโอกาสในการมีงานทำ และมีรายได้จากการเก็บผลไม้ป่าในอัตราที่พึงพอใจ รวมทั้งการดูแลแรงงานไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นไปอย่างปลอดภัยที่สุด” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวทั้งนี้หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทรศัพท์ 0 2245 6708 ในวันและเวลาราชการ หรือติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 20/3/2564

ก.แรงงาน-พม. ไม่เห็นด้วยปรับสูตรคำนวณค่าแรงจ้างคนพิการเข้าทำงาน ตามที่ ส.อ.ท.ยื่นเสนอ หวั่นลิดรอนสิทธิ

ในการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้านแรงงานครั้งที่ 1/2564 ที่ผ่านมานั้น ได้มีการหารือตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เสนอให้ใช้จำนวนวันทำงานจริงที่ 313 วัน แทนที่จะใช้การคำนวณจากจำนวนวัน 365 วัน และในการคำนวณการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งปรากฏว่าได้กลายเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภาระค่าใช้จ่ายและความรับผิดชอบที่แท้จริงของผู้ประกอบการต่อการจ้างแรงงานคนพิการตามพระราชบัญญัตินี้

แต่ในการประชุมครั้งล่าสุดนั้นแม้จะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่มีตัวแทนจากหลายหน่วยงานที่แสดงความเห็น “ไม่เห็นด้วย” กับข้อเสนอของ ส.อ.ท. เนื่องจากมองว่าตามข้อเสนอนั้นถือเป็นการ “ลิดรอนสิทธิ” ของผู้พิการ และยังส่งผลต่อรายได้ที่หายไป โดยเงินที่มีการนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ไม่ได้นำเงินจ่ายให้กับผู้พิการโดยตรง แต่กองทุนนำเงินไปพัฒนาเรื่องชีวิตคนพิการ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้จะต้องดำเนินการเพื่อศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้มีหนังสือไปยัง ส.อ.ท. โดยพิจารณาว่า ข้อเสนอของ ส.อ.ท.เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการ ต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ออกกฎ ที่สำคัญ ได้ส่งเรื่องนี้ให้กับกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว

“กฎกระทรวงได้กำหนดไว้ว่า หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมิได้รับคนพิการเข้าทำงาน ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยคำนวณจากอัตราต่ำสุดของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ 313 บาท คูณด้วย 365 วัน และคูณจำนวนคนพิการที่ไม่ได้รับเข้าทำงาน จะอยู่ที่ประมาณ 114,245 บาทต่อคนต่อปี แต่ปัญหาคือ ปัจจุบันภาพรวมการจ้างคนพิการเข้ามาทำงานยังค่อนข้างน้อย รวมกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทำให้จำนวนจ้างงานคนพิการยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในที่ประชุมยังได้รายงานการจ้างงานคนพิการในปี 2563 ที่ผ่านมา นายจ้างที่ต้องจ้างคนพิการมีสถานประกอบการอยู่ที่ 14,911 แห่ง ต้องจ้างงานคนพิการอีกรวม 86,733 คน แบ่งเป็นการจ้างงานในมาตรา 33 อยู่ที่ 40,579 คน การส่งเงินเข้ากองทุนในมาตรา 34 รวม 13,368 คน และมาตรา 35 รวม 14,028 คน หรือรวมทั้งสิ้น 67,975 คน

ตามข้อมูลการจ้างงานคนพิการแล้วเรียบร้อยที่ 78.37% และต้องมีสถานประกอบการที่ต้องจ้างเพิ่มอีก 21.63%เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมามีการจ้างงานคนพิการในภาคเอกชน คิดเป็น 78% ในขณะที่ก่อนหน้านี้ เช่น ในปี 2562 มีการจ้างงานคนพิการที่ 98% และในปี 2561 มีการจ้างงานคนพิการสูงถึง 101%

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 19/3/2564

เตือนแรงงานข้ามชาติเร่งตรวจโควิด-เก็บอัตลักษณ์ ก่อน 16 เม.ย. หลังคืบแค่ 3.9%

18 มีนาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาล ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างยิ่ง ได้กำชับให้กระทรวงแรงงานซึ่งมีหน้าที่ กำกับ ดูแล การจ้างแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตรวจสอบและรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

“สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน รายงานผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 29 ธันวาคม 2563 โดยข้อมูล ณ วันที่ 12 มีนาคม 2564 มีแรงงานต่างด้าวลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ (15 ม.ค. – 13 ก.พ. 64) จำนวน 654,864 คน แยกเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา 203,679 คน ลาว 67,108 คน และเมียนมา 384,077 คน คนต่างด้าวได้รับอนุมัติบัญชีรายชื่อ จำนวน 599,201 คน หรือร้อยละ 91.5 จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) จำนวน 209,985 คน หรือร้อยละ 32.07 ผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำนวน 25,546 คน หรือร้อยละ 3.9 และได้รับอนุญาตทำงาน (อนุมัติ บต.48) จำนวน 25,536 คน หรือร้อยละ 3.9 โดยขณะนี้ระยะเวลาที่กำหนดให้นายจ้าง/สถานประกอบการ พาแรงงานต่างด้าวไปจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) และตรวจหาเชื้อโควิด-19 เหลืออีกเพียง 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งหากไม่ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 16 เมษายน 2564 และดำเนินการต่อในขั้นตอนถัดไปตามระยะเวลาที่กำหนด จะทำให้มีสถานะเป็นแรงงานผิดกฎหมาย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา และผู้ติดตาม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563 สามารถเข้ารับการตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กับสถานพยาบาลหรือหน่วยงานอื่นตามรายชื่อห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจ SAR-CoV-2 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประกาศ ซึ่งสถานพยาบาลหรือหน่วยงานอื่นดังกล่าวได้ทำข้อตกลงกับสถานพยาบาลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพแล้ว และในส่วนการดำเนินการอื่นเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

“กรมการจัดหางาน ขอย้ำเตือน คนต่างด้าวทั้งที่มีนายจ้าง และยังไม่มีนายจ้าง เร่งนัดหมายเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และซื้อประกันสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ (เป็นระยะเวลา 2 ปี) พร้อมทั้งดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 โดยอย่ารอดำเนินการช่วงใกล้สิ้นสุดระยะเวลา เนื่องจากเดือนเมษายนมีวันหยุดตามเทศกาลสงกรานต์ติดต่อกันหลายวัน ซึ่งอาจทำให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวเองติดขัดหรือเกิดความไม่สะดวกในการดำเนินการ ทั้งนี้ ในส่วนการตรวจโรคต้องห้ามหากมีเหตุให้ดำเนินการไม่ทัน ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ให้ไปดำเนินการให้แล้วเสร็จ ไม่เกินวันที่ 18 ตุลาคม 2564” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

สามารถสอบถามขั้นตอนขอรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ

ที่มา: มติชนออนไลน์, 18/3/2564

ส.อ.ท.ยื่นขอวัคซีนโควิด-19 นำร่องแสนโดส ควักจ่ายเองเร่งฉีดให้แรงงาน มิ.ย.ดัน ศก.

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.ได้หารือกับองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ที่จะเปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ที่ขึ้นทะเบียนต่อองค์การอาหารและยา (อย.) แล้วให้นำมาฉีดแก่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเห็นว่าหลังจากฉีดให้แก่ผู้ที่จำเป็นและผู้ที่เสี่ยงสูงแล้ว ภาคแรงงานในอุตสาหกรรมและส่งออกมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่ง ส.อ.ท.ได้มีการสอบถามสมาชิกถึงความต้องการไปเบื้องต้นได้เสนอความต้องการมากกว่า 51,000 ราย จาก 109 บริษัท ใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ คาดว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนในสถานที่ที่ภาครัฐจัดเตรียมให้เสร็จในระยะแรกภายในเดือน มิ.ย.นี้

“เรากังวลถ้าการระบาดยังขยายตัวอยู่เรื่อยๆ ซึ่งภาคผลิตและส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อน ยิ่งฉีดเร็วเท่าใดก็ยิ่งส่งผลดีและเห็นว่าโควิด-19 ยังยืดเยื้อถึงสิ้นปี เราจึงต้องการเข้ามาช่วยให้การฉีดเร็วขึ้น และเอกชนจำนวนมากมีความพร้อมที่จะดำเนินการ เราก็นำเสนอว่าอยากให้รัฐเปิดโอกาสให้เอกชนสั่งซื้อวัคซีนที่นำเข้ามาโดยรัฐกำกับดูแล โดย ส.อ.ท.ได้มีการหารือกับองค์การเภสัชฯ เบื้องต้น และเรารวบรวมได้ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นรายยินดีที่จะจ่ายเงินเอง หรือราว 1 แสนโดส ลดงบประมาณให้รัฐ” นายสุพันธุ์กล่าว

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้สอบถามความต้องการออกไปเพียง 1 สัปดาห์ พบว่ามีสมาชิกแสดงความจำนงขอรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มากกว่า 51,000 ราย จาก 109 บริษัทใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าโรงงานต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยมีความพร้อมในการจัดซื้อวัคซีนเองซึ่งเบื้องต้นคิดเป็นเงินโดสละราว 1,000 บาท (ต้องฉีดคนละ 2 โดส) และคาดว่าความต้องการยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น ส.อ.ท.ยังคงเดินหน้าเปิดรับความต้องการฉีดวัคซีน COVID-19 เฟส 2 ต่อไป โดยจะปิดรับในวันที่ 31 มีนาคม 2564 นี้

“ความต้องการวัคซีนของเอกชนครั้งนี้จะไม่ไปยุ่งกับส่วนที่รัฐจะจัดหามาฉีดให้แก่ประชาชน เราขอเพิ่มพิเศษเข้าไปเพื่อแบ่งเบาภาระภาครัฐ และช่วยให้การฉีดวัคซีนเร็วขึ้น แต่อยากเสนอรัฐบาลขอนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่าหากเป็นไปได้” นายสุพันธุ์กล่าว

นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.จะเป็นผู้แทนภาคอุตสาหกรรมไทยสั่งซื้อวัคซีน COVID-19 ผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้รับการฉีดวัคซีนภายในเดือนมิถุนายน 2564 นี้ โดยความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งวัคซีนที่จะฉีดตอนนี้คือวัคซีนจาก “ซิโนแวค” ถือเป็น 1 ใน 2 ของวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.แล้ว โดยผู้ที่ผ่านการฉีดวัคซีนแล้วจะได้รับใบรับรองการฉีดวัคซีน (Vaccine Certificate) และสามารถตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีนย้อนหลังได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ส.อ.ท.จะเดินหน้าหารือกับกระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขจังหวัด เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกเข้าไปฉีดวัคซีน COVID-19 ให้กับสถานประกอบการที่มีพนักงานจำนวนมาก เพื่อลดการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมากที่จะไปรอรับการฉีดวัคซีน สำหรับสถานประกอบการที่มีพนักงานจำนวนไม่มาก ให้ไปรับการฉีดวัคซีนในสถานที่ที่ภาครัฐจัดเตรียมให้ โดยอาจมีการปรับโรงพยาบาลสนามเป็นสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 18/3/2564

ครม.ไฟเขียวจ่ายค่าตรวจ COVID-19 ให้พนักงานรัฐวิสาหกิจ คู่สมรส บุตร

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ประจำวันที่ 16 มี.ค. 2564 ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาล "โควิด" กรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน โรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัศโคโรนา 2019 โดยมีสาระสำคัญและรายละเอียด ดังนี้

1. ช่วยจ่ายกรณีตรวจ "โควิด" และค่ารักษาต่อเนื่อง

กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับค่าใช้จ่าย จากการตรวจหาเชื้อโควิดทางห้องปฏิบัติการ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ สำหรับตนเอง คู่สมรส หรือบุตร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

และในกรณีที่มีผลการตรวจยืนยันว่าไม่ติดเชื้อโควิด แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ก็ให้ใช้ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย อันเนื่องด้วยไม่ใช่จากการทำงานมาบังคับใช้

2. ช่วยจ่าย กรณีเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินจากโรค "โควิด"

นอกจากนี้ มีการกำหนดสิทธิให้ได้รับค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลสำหรับตนเอง คู่สมรส หรือบุตร กรณีได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินจากโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ

3. ถ้าปฏิเสธการรักษา/ย้ายไป รพ.อื่น ต้องจ่ายเอง!

กำหนดให้กรณีลูกจ้าง คู่สมรส หรือบุตร หรือญาติ ปฏิเสธการส่งตัวผู้ป่วย "โควิด" ไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่น อันนี้ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นเอง

4. ร่างประกาศฉบับนี้ ช่วยให้ความคุ้มครองที่มากขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานก็ได้จัดทำงบประมาณในการสูญเสียรายได้ของภาครัฐ พบว่าตามที่ได้ประมาณการรายจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีโควิด-19 ของแต่ละรัฐวิสาหกิจ ในปี 2564 จำนวน 6,230 ล้านบาทนั้น คาดว่าจะไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม และร่างประกาศฉบับนี้ก็จะส่งผลให้พนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีจำนวนกว่า 285,000 คน ได้รับความคุ้มครอง และทำให้สถานพยาบาลได้รับค่าใช้จ่ายจากรัฐวิสาหกิจโดยตรงและรวดเร็วขึ้น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 16/3/2564

ก.แรงงาน เผยยอดผ่านเกณฑ์ ม33เรารักกัน 7.4 ล้านคน ยืนยันสิทธิแล้ว 3.9 ล้านคน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ "ม33เรารักกัน" ว่าจากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 8,208,286 คน พบว่าไม่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลกับกรมการปกครอง จำนวน 622,172 คน ไม่ผ่านเงื่อนไขเงินฝากเกิน 500,000 บาท จำนวน 168,679 คน ซึ่งมีผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับสิทธิแล้ว จำนวน 7,417,435 คน และกดเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 3,991,206 คน คิดเป็น 54%

ส่วนผลการให้บริการ ศูนย์ประสานงานทบทวนสิทธิโครงการ ม33เรารักกัน ทั้ง 2 กลุ่ม (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มี.ค. 2564 เวลา 08.00 น.) กลุ่มทบทวนสิทธิยอดผู้ลงทะเบียนสำเร็จสะสม จำนวน 494,380 คน และกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนผู้ลงทะเบียนสำเร็จสะสม จำนวน 3,838 คน

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า โครงการ ม33เรารักกัน ได้ช่วยเหลือเยียวยาแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ได้รับสิทธิคนละ 4,000 บาท และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบสิทธิผู้มีสิทธิได้รับเงินทางเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com และยืนยันตัวตนในแอพพลิเคชั่น "เป๋าตัง" ตั้งแต่วันที่ 15-21 มี.ค. 2564 หากตรวจสอบแล้วไม่มีสิทธิ จะต้องรีบทบทวนสิทธิตั้งแต่วันที่ 15 -28 มี.ค. 2564

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 16/3/2564

รัฐบาลปั้นวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อคนพิการ จับมือ 17 หน่วยงานดูแลครบวงจร ก.แรงงาน ตั้งเป้า 4.4 หมื่นคนมีงานทำ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลด้านการส่งเสริมอาชีพคนพิการว่า ในปี 2564 กระทรวงแรงงานได้กำหนดแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่ตั้งเป้าให้คนพิการจำนวน 4.4 หมื่นรายเข้าถึงการจ้างงาน และในส่วนของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้ผลักดันนโยบายดังกล่าวควบคู่ไปกับการทำงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) ที่แม้สำนักงานฯเพิ่งเริ่มจัดตั้งเมื่อปีที่แล้ว แต่มีวิสาหกิจเพื่อสังคมมาจดทะเบียน 148 แห่ง ที่สำคัญมีองค์กร สมาคมของคนพิการ มาจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อคนพิการ 5 แห่ง อาทิ บริษัทออทิสติกไทย ประกอบกิจการขายสินค้า ให้บริการ และส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่น โดยนําผลกําไรไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ไปลงทุนในกิจการหรือเพื่อใช้ประโยชน์ของสังคม บริษัทเด็กพิเศษ มีการจ้างงานกลุ่มผู้ด้อยโอกาส หรือคนพิการไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจํานวนพนักงานประจํา มีการถือครองหุ้นโดยกลุ่มคนด้อยโอกาสและหรือคนพิการไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมด และยังมีบริษัทที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ทีมีวัตถุประสงค์จ้างงานคนพิการ จํานวน 4 แห่ง

ทั้งนี้ เมื่อวิสาหกิจ นำกำไรที่ได้ไปทำประโยชน์เพื่อสังคม จะได้รับการยกเว้นเรื่องภาษีตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด มากไปกว่านั้น ยังจะได้รับการสนับสนุนในเรื่องการเข้าถึงเงินทุน การพัฒนาสินค้าและการจัดการ และการส่งเสริมการตลาด จากองค์กรพันธมิตรของ สวส. ที่ขณะนี้มี 17 แห่ง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารออมสิน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เป็นต้น ที่มีเป้าหมายร่วมกัน คือ ขับเคลื่อนการดำเนินการของวิสาหกิจเพื่อสังคมให้เกิดความยั่งยืน

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบหมายให้นายจุรินทร์ฯ ผลักดันการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างเต็มที่ และเน้นย้ำในเรื่องการส่งเสริมให้ผู้พิการเข้าถึงโอกาสการจ้างงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิการได้ใช้ศักยภาพตนเอง และมีรายได้อย่างยั่งยืน เพราะรัฐบาลนี้ “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ให้ความสนใจการทำธุรกิจเพื่อสังคมเพิ่มขึ้นมาก ถือเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญของประเทศ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจได้เข้ามามีส่วนในการรับใช้สังคมอย่างจริงจัง และองค์กรภาคประชาสังคมได้มีโอกาสสร้างรายได้ในรูปแบบธุรกิจที่ไม่แสวงหากำไร นำไปสู่การจ้างงานผู้สมควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ การแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชนสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเกี่ยวกับการจัดตั้งหรือการลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคม หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์สำนักงาน สวส. www.osep.or.th หรือโทร 02-659-6473

ทั้งนี้ ภาพรวมของการดำเนินการด้านคนพิการของประเทศไทย เป็นไปอย่างสอดคล้องกับแนวทางของสหประชาชาติ ที่มุ่งเป้าคนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำรงชีวิตในสังคมชุมชนได้อย่างอิสระเท่าเทียม ซึ่งกรมส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ทำงานร่วมกับหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 7 ประเด็นเร่งด่วน คือ 1. การส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาอาชีพคนพิการ 2. การส่งเสริมเข้าถึงสิทธิคนพิการ 3. การส่งเสริมการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ 4. การคุ้มครองสวัสดิภาพคนพิการ 5. การเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมขององค์กรด้านคนพิการและเครือข่าย 6. การพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายและแผนด้านคนพิการ และ 7. ระบบการบริหารจัดการด้านคนพิการให้มีผลสัมฤทธิ์สูง

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 14/3/2564

ก.แรงงาน ย้ำต่างด้าวตามมติ ครม. 29 ธ.ค. 2563 ทำงานได้ทุกงานยกเว้น 40 งานห้าม

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เป็นอย่างยิ่ง ด้วยเป็นแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนด้านการผลิต การเกษตร และการบริการในหลายภาคส่วน ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาขาดแคลนแรงงาน พร้อมจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของศบค. โดยไม่ทิ้งหลักสิทธิมนุษยชน กระทรวงแรงงานจึงมีบทบาทสำคัญ ในการตรวจสอบ ควบคุม และบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ให้ปฏิบัติตามกฎหมายได้ถูกต้อง

“ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 กำหนดไว้ชัดเจนว่าให้คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานตามประกาศฉบับนี้มีสิทธิทำงานกับนายจ้างได้ทุกประเภทงานที่ไม่ได้เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ เช่นเดียวกับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความตกลง หรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU) และในกรณีที่ทำงานกรรมกรหรืองานขายของหน้าร้านก็ให้เป็นไปตามประกาศกรมการจัดหางาน เรื่อง เงื่อนไขการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานกรรมกรและงานขายของหน้าร้านกับนายจ้าง และหากคนต่างด้าวออกจากงานจะต้องทำงานกับนายจ้างใหม่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่เลิกทำงานกับนายจ้างเดิม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีจำนวนรวม 40 งาน เป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาด 27 งาน และงานที่ให้คนต่างด้าวทำได้โดยมีเงื่อนไข 13 งาน โดยแบ่งงานออกเป็น 4 บัญชี บัญชีที่ 1 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด จำนวน 27 งาน ได้แก่ 1.งานแกะสลักไม้ 2.งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (Forklift) 3.งานขายทอดตลาด 4.งานเจียระไนเพชร/พลอย 5.งานตัดผม/เสริมสวย 6.งานทอผ้าด้วยมือ 7.งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ 8.งานทำกระดาษสาด้วยมือ 9.งานทำเครื่องเขิน 10.งานทำเครื่องดนตรีไทย 11.งานทำเครื่องถม 12.งานทำเครื่องทอง/เงิน/นาก 13.งานทำเครื่องลงหิน 14.งานทำตุ๊กตาไทย 15.งานทำบาตร 16.งานทำผ้าไหมด้วยมือ 17.งานทำพระพุทธรูป 18.ทำร่มกระดาษ/ผ้า 19.งานนายหน้า/ตัวแทน 20.งานนวดไทย 21.งานมวนบุหรี่ 22.งานมัคคุเทศก์ 23.งานเร่ขายสินค้า 24.งานเรียงอักษร 25.งานสาวบิดเกลียวไหม 26.งานเลขานุการ และ 27.งานบริการทางกฎหมาย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 13/3/2564

โรงงานชุดชั้นในนิคมฯบางพลี ประกาศปิดกิจการ พนักงานตกงานทันที 1,300 คน

วันที่ 11 มี.ค. 2564 เมื่อเวลา 08.00 น. มีคนงานกว่า 1,000 คน รวมตัวกันด้านหน้าโรงงาน ภายใน ซอย 7 นิคมอุสาหกรรมบางพลี ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ เนื่องจากโรงงานปิดกิจการ ไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ พบว่าเป็น บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด มีพนักงานรวมตัวกันด้านหน้าโรงงานไม่สามารถเข้าไปทำงานได้โดยด้านหน้าของโรงงานได้ล็อกปิดประตูรั้ว และมีการปิดประกาศ ข้อความ ระบุว่า บริษัทจะปิดโรงงาน ตั้งแต่ วันที่ 11 มี.ค. 2564 เป็นต้นไป อ้างว่าภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่ปี 2562 รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบกับบริษัท คู่ค้าสั่งระงับการผลิต เนื่องจากไม่สามารถส่งออกต่างประเทศได้ ทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องทางธุรกิจ

นายจิตรณวัชรี พะนัด ประธานสหภาพแรงงานไทยอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กล่าวว่าบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ประกอบกิจการผลิตชุดชั้นใน ส่งออกไปยังประเทศแถบยุโรป มีพนักงานจำนวน 1,300 คน เมื่อช่วงกลางเดือน ก.พ. 2564 มีการขนย้ายเครื่องจักรออกจากบริษัท โดยทางบริษัทแจ้งว่า ย้ายเครื่องจักรไปอินโดนีเซียและเวียดนาม แต่ในไทยก็ยังดำเนินกิจการอยู่ตามปกติ พนักงานยังคงมีการทำงานล่วงเวลากันด้วยซ้ำ บริษัทไม่มีการแจ้งเลิกจ้างล่วงหน้า พนักงานทราบเรื่อง ก็หลังมีการนำประกาศมาติด ช่วงเย็นวันที่ 10 มี.ค. 2564 ต่อมาเวลา 08.30 น. แรงงานทั้งหมด ได้เคลื่อนย้ายจากด้านหน้าโรงงานไปสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ

นายนายพงศ์เทพ เพชรโสม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ในวันนี้ตนเองได้ขอให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดมารวมตัวกัน ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ ซึ่งห่างจากบริษัทประมาณ 2 กม. เนื่องจากด้านหน้าบริษัทนั้น กีดขวางการจราจรทำให้ผู้ที่สัญจรไปมาได้รับผลกระทบ ซึ่งที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการนั้น ตนเองได้จัดให้ลูกจ้างทั้งหมดเขียนคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ตาม พรบ.แรงงาน พ.ศ. 2541

และขอให้ลูกจ้างตั้งตัวแทนจำนวน 15 คน เพื่อที่จะสื่อสารกับพนักงานและเข้าประชุมกับทางเจ้าหน้าที่ หลังจากนี้จะเร่งติดต่อ นายจ้างมาสอบถามชี้แจงและจะเร่งรัดออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ในวันนี้ยังมีหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน มาอำนวยความสะดวกให้กับลูกจ้าง ในการประกันการว่างงาน ตำแห่งงานที่ว่างสำหรับคนที่ต้องการหางาน และการฝึกอาชีพเพิ่มเติม

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 11/3/2564

โรงงานชุดชั้นในนิคมฯ บางพลี ประกาศปิดกิจการ พนักงานตกงานทันที 1,300 คน

วันที่ 11 มี.ค. 2564 เมื่อเวลา 08.00 น. มีคนงานกว่า 1,000 คน รวมตัวกันด้านหน้าโรงงาน ภายใน ซอย 7 นิคมอุสาหกรรมบางพลี ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ เนื่องจากโรงงานปิดกิจการ ไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ พบว่าเป็น บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด มีพนักงานรวมตัวกันด้านหน้าโรงงานไม่สามารถเข้าไปทำงานได้โดยด้านหน้าของโรงงานได้ล็อกปิดประตูรั้ว และมีการปิดประกาศ ข้อความ ระบุว่า บริษัทจะปิดโรงงาน ตั้งแต่ วันที่ 11 มี.ค. 2564 เป็นต้นไป อ้างว่าภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่ปี 2562 รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบกับบริษัท คู่ค้าสั่งระงับการผลิต เนื่องจากไม่สามารถส่งออกต่างประเทศได้ ทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องทางธุรกิจ

นายจิตรณวัชรี พะนัด ประธานสหภาพแรงงานไทยอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กล่าวว่าบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ประกอบกิจการผลิตชุดชั้นใน ส่งออกไปยังประเทศแถบยุโรป มีพนักงานจำนวน 1,300 คน เมื่อช่วงกลางเดือน ก.พ. 2564 มีการขนย้ายเครื่องจักรออกจากบริษัท โดยทางบริษัทแจ้งว่า ย้ายเครื่องจักรไปอินโดนีเซียและเวียดนาม แต่ในไทยก็ยังดำเนินกิจการอยู่ตามปกติ พนักงานยังคงมีการทำงานล่วงเวลากันด้วยซ้ำ บริษัทไม่มีการแจ้งเลิกจ้างล่วงหน้า พนักงานทราบเรื่อง ก็หลังมีการนำประกาศมาติด ช่วงเย็นวันที่ 10 มี.ค. 2564 ต่อมาเวลา 08.30 น. แรงงานทั้งหมด ได้เคลื่อนย้ายจากด้านหน้าโรงงานไปสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ

นายนายพงศ์เทพ เพชรโสม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ในวันนี้ตนเองได้ขอให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดมารวมตัวกัน ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ ซึ่งห่างจากบริษัทประมาณ 2 กม. เนื่องจากด้านหน้าบริษัทนั้น กีดขวางการจราจรทำให้ผู้ที่สัญจรไปมาได้รับผลกระทบ ซึ่งที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการนั้น ตนเองได้จัดให้ลูกจ้างทั้งหมดเขียนคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ตาม พรบ.แรงงาน พ.ศ. 2541

และขอให้ลูกจ้างตั้งตัวแทนจำนวน 15 คน เพื่อที่จะสื่อสารกับพนักงานและเข้าประชุมกับทางเจ้าหน้าที่ หลังจากนี้จะเร่งติดต่อ นายจ้างมาสอบถามชี้แจงและจะเร่งรัดออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ในวันนี้ยังมีหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน มาอำนวยความสะดวกให้กับลูกจ้าง ในการประกันการว่างงาน ตำแห่งงานที่ว่างสำหรับคนที่ต้องการหางาน และการฝึกอาชีพเพิ่มเติม

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 11/3/2564

รมว.แรงงาน สรุปยอดลงทะเบียนออนไลน์ ม33เรารักกัน แตะ 8,208,286 คน ขณะ 15 – 28 มี.ค. เปิดทบทวนสิทธิผู้ไม่ผ่านที่ www.ม33เรารักกัน.com

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการลงทะเบียนออนไลน์โครงการ ม33เรารักกัน ผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ซึ่งได้เปิดให้ลงทะเบียนมาตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.- 7 มี.ค. 2564 จากเป้าหมายดำเนินการ 9.27 ล้านคน ปรากฏว่ามีผู้ประกันตนมาตรา 33 ลงทะเบียนทั้งสิ้น 8,208,286 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 7 มี.ค. 2564 เวลา 23.00 น.) คงเหลืออีกประมาณ 1 ล้านกว่าคนในจำนวนนี้ ประกอบไปด้วย ผู้ที่รับเงินในโครงการเราชนะไปแล้ว ผู้ที่มีเงินฝากในบัญชีเกิน 500,000 บาท และผู้ที่มีปัญหาอื่น ๆ ทางเทคนิค เช่น ชื่อ – นามสกุล ไม่ตรงกับฐานข้อมูลสำนักทะเบียนราษฎร หรือไม่ตรงกับฐานข้อมูลผู้ประกันตน ลงทะเบียนช้า ไม่มีสมาร์ทโฟน

ส่วนขั้นตอนการดำเนินการสำหรับผู้ประกันตนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนและยังไม่เคยลงทะเบียนเลย ขอให้เข้ามาติดต่อเพื่อลงทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่งทั่วประเทศที่ผู้ประกันตนสะดวกในวันที่ 15-28 มี.ค. 2564 ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกันตนนำบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดมาเพื่อลงทะเบียนขอรับสิทธิด้วย โดยสำนักงานประกันสังคมจะจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก พร้อมให้คำแนะนำปรึกษาเรื่องการลงทะเบียน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 18.30 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนแล้วแต่ไม่ผ่านสามารถขอทบทวนสิทธิผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ได้ในวันที่ 15 – 28 มี.ค. 2564 ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 1 สำนักงานประกันสังคม

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 8/3/2564

วันสตรีสากล ‘แรงงาน-ผู้หญิง-พีมูฟ’ ล้อมทำเนียบ จี้ ‘บิ๊กตู่’ สัญญาอะไร ทำไม่ได้ก็ลาออกไป

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 มี.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มพีมูฟ หรือขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และ ภาคีเซฟบางกลอย ได้เดินขบวนไปทำกิจกรรมที่หน้าประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล ภายใต้หัวข้อ ‘สู่สิทธิมนุษยชนคนจนและชนเผ่าไทย’ โดยได้มีการปราศรัยผ่านเครื่องกระจายเสียงระบุถึงการบริหารราชการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ถือว่ามีความล้มเหลว ไม่ว่าจะออกโครงการอะไรมาเยียวยาชาวบ้านแต่ในข้อเท็จจริงแล้ว

ทั้งราคาสินค้า ค่าครองชีพ ค่ารถเมล์ รถไฟฟ้า ของกินของใช้ต่างแพงขึ้น อีกทั้งประชาชนยังเป็นหนี้จากเงินกู้ที่รัฐบาลไปกู้จากต่างประเทศมา ประเด็นสำคัญอีกประเด็นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลรับปากกับประชาชนก็ไม่มีความคืบหน้าโดยเฉพาะกรณีปัญหาชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี การแก้ปัญหาไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่รัฐบาลรับปากจะแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง และยังมีปัญหาที่ดินที่ทำกินที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาหลายปีแต่การแก้ไขไม่มีความคืบหน้า ปัญหาทั้งหมดนี้ ถ้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ บริหารไม่ได้ก็ลาออกไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกันได้มีสหพันธ์แรงงาน อุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และองค์กรเครือข่ายต่างๆ ก็ได้มายื่นหนังสือ เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม เพื่อทวงถามความคืบหน้าข้อเรียกร้องที่เคยยื่นรัฐบาลไปแล้ว 7 ข้อ อาทิ ขอให้รัฐบาลจัดงบประมาณรัฐสวัสดิการดูแลประชาชนอย่างมีคุณภาพ, แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง, รัฐบาลต้องเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400-425 บาท, ผลักดันกฎหมายให้สตรีมีสิทธิ์ทำแท้งได้อย่างปลอกภัย หากไม่พร้อมมีบุตร และต้องผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลประตู 5 ถนนราชดำเนิน กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ทำกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากล โดยตั้งขบวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ก่อนที่จะเดินขบวนมายังหน้าทำเนียบรัฐบาล ตั้งเวทีปราศรัยและอ่านแถลงการณ์เนื่องในวันสตรีสากล และข้อเรียกร้องที่มีต่อนายกรัฐมนตรี จำนวน 8 ข้อ อาทิ ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ที่ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน รวมถึงการให้ความคุ้มครองแรงงานหญิงที่เป็นธรรม ขจัดการละเมิดสิทธิแรงงานทุกรูปแบบ มีมาตรการปกป้องคุ้มครองและเยียวยาสร้างความมั่นคงในการทำงาน เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม รัฐบาลต้องกำหนดสัดส่วนของผู้หญิงและเพศสภาพในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ ทุกระดับ อย่างน้อย 1 ใน 3 และกำหนดวันที่ 8 มีนาคม เป็นวันหยุดตามประเพณีของทุกปี เพื่อเรียกร้องสิทธิและบทบาทของสตรี และขอให้รัฐบาลแสดงออกถึงความจริงใจในการยกระดับสิทธิและสวัสดีภาพของผู้หญิงในการทำงาน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 8/3/2564

แนะแรงงานไทยในซาอุดิอาระเบียใช้ "นาญิซ (Najiz)" บริการรับเรื่องร้องเรียนด้านแรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากสำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย (กรุงริยาด) ขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์ บริการรับเรื่องร้องเรียนด้านแรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ หรือ “นาญิซ (Najiz)” ซึ่งเป็นบริการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อความคล่องตัวและลดขั้นตอนในการดำเนินเรื่อง โดยรับเรื่องร้องเรียน 3 ประเภท ได้แก่ 1) ข้อร้องเรียนที่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานซาอุดีอาระเบีย2) ข้อร้องเรียนของแรงงานที่ทำงานอยู่ในบ้าน เช่น แม่บ้าน คนขับรถส่วนตัว 3) ข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับประกันสังคม(GOSI) เช่น การลงทะเบียน เงินชดเชยต่างๆ ทั้งฝั่งนายจ้างและแรงงาน

สำหรับการใช้บริการแจ้งเรื่องร้องเรียน ทั้ง 3 ประเภทมีแนวปฏิบัติ ดังนี้

1.กรณีร้องเรียนภายใต้กฎหมายแรงงานนั้น แรงงานหรือนายจ้างจะต้องยื่นคำร้องต่อสำนักงานแรงงานในเขตมณฑลที่ตั้งเพื่อดำเนินการเพื่อไกล่เกลี่ยในชั้นต้นก่อน หากไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ภายในระยะเวลา 21 วัน จึงสามารถจะร้องเรียนโดยตรงผ่านเว็บไซต์นาญิซ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้

2.กรณีร้องเรียนของแรงงานที่ทำงานอยู่ในบ้าน เช่น แม่บ้าน คนขับรถส่วนตัวและอื่นๆ นั้นให้แรงงานหรือนายจ้างยื่นข้อร้องเรียนไปยังคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำหรับแรงงานภายในบ้าน ซึ่งการไกล่เกลี่ยเบื้องต้นมีระยะเวลา 5 วัน หากไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้คณะกรรมการฯ มีเวลา 10 วันในการออกคำตัดสิน หากคำตัดสินเป็นที่ไม่พอใจของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ฝ่ายนั้นๆ มีสิทธิอุทธรณ์คำตัดสินโดยยื่นร้องเรียนโดยตรงผ่านเว็บไซต์นาญิซ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้

3.สำหรับข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับประกันสังคม (GOSI) นั้นมีขั้นตอนโดยสรุปดังนี้ 1) แรงงานหรือนายจ้างยื่นคำร้องไปยังองค์การประกันสังคม 2) หากผลการตัดสินไม่เป็นที่พอใจให้อุทธรณ์ไปยังหน่วยรับเรื่องอุทธรณ์เฉพาะขององค์การประกันสังคม 3) หากผลการอุทธรณ์ยังคงเป็นที่ไม่น่าพอใจจึงยื่นร้องเรียนโดยตรงผ่านเว็บไซต์นาญิซ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ให้ความสำคัญกับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน ในต่างประเทศ อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นอกจากได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ได้ค่าจ้างที่เหมาะสมแล้ว ยังได้รับการดูแลที่ดีตามสิทธิที่พึงมีด้วย ซึ่งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถเดินทางได้ 5 วิธี คือ 1.กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 2.บริษัทจัดหางานจัดส่ง3.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานในต่างประเทศ 4.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานในต่างประเทศ 5.คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง โดยแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ทุกประเทศและทุกวิธีการเดินทางในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ต้องลงนามในหนังสือรับทราบและยินยอมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และจัดทำประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

“สำหรับผู้สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดหรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 “อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 8/3/2564

กยศ. ชี้แจงกรณีการหักเงินเดือน เพื่อชำระเงินคืนผ่านองค์กรนายจ้าง

5 มี.ค. 2564 นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ชี้แจงว่า จากการที่กองทุนได้มีหนังสือถึงหน่วยงานองค์กรนายจ้างภาคเอกชนในการหักเงินเดือน เพื่อชำระเงินคืนกองทุนตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 นั้น การดำเนินการแจ้งหักเงินเดือนได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2561 เริ่มจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กตามลำดับ

ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่กองทุนต้องแจ้งหักเงินเดือนทั้งหมดประมาณ 107,000 แห่ง และมีผู้กู้ยืมที่เป็นพนักงานของหน่วยงานเหล่านี้ที่อยู่ในเกณฑ์หักเงินเดือนทั้งหมด 1,735,000 ราย ในช่วงที่ผ่านมา กองทุนได้แจ้งหักเงินเดือนไปยังนายจ้างแล้ว 14,813 แห่ง เป็นจำนวนผู้กู้ยืมทั้งสิ้น 1,268,000 ราย และอยู่ในระหว่างการแจ้งหักเงินเดือนในเดือน มี.ค. อีก 92,935 แห่ง ซึ่งมีผู้กู้ยืมจะอยู่ในเกณฑ์หักเงินเดือนจำนวน 466,000 ราย ทั้งนี้กองทุนได้จัดประชุมชี้แจงให้นายจ้างได้รับทราบและเข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นายจ้างทุกภาคส่วนได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

สำหรับขั้นตอนการหักเงินเดือนของพนักงานหรือลูกจ้างที่เป็นผู้ยืมเงิน กยศ. ผ่านองค์กรนายจ้างนั้น กองทุนจะจัดส่งหนังสือแจ้งหักเงินเดือนไปตามที่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ของผู้กู้ยืมเงินได้รับทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน จากนั้นกองทุนจะจัดส่งหนังสือแจ้งให้นายจ้างทราบถึงข้อมูลของผู้กู้ยืมเงินรวมทั้งจำนวนเงินที่ต้องหักนำส่งล่วงหน้าประมาณ 30 วัน นายจ้างสามารถตรวจสอบข้อมูลที่ต้องหักและนำส่งผ่านระบบรับชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาผ่านกรมสรรพากร (e-PaySLF) โดยเข้าใช้งานได้ที่เว็บไซต์ กยศ. www.studentloan.or.th ซึ่งกองทุนจะมีการปรับข้อมูลผู้กู้ยืมให้เป็นปัจจุบันและจะแจ้งข้อมูลที่ต้องหักและนำส่งให้นายจ้างได้ทราบผ่านระบบดังกล่าวในทุกวันที่ 5 ของเดือน ทั้งนี้ กองทุนขอชี้แจงรายละเอียดการหักเงินเดือนเพื่อความชัดเจน ดังนี้

1. เมื่อพนักงานได้รับเงินเดือน ลำดับการหักเงินเดือนกองทุนอยู่ในลำดับ 3 โดยลำดับแรกเป็นการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลำดับที่ 2 หักกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และประกันสังคม และลำดับที่ 3 หักเงินกองทุน กยศ.

2. หากนายจ้างไม่ดำเนินการหัก ฯลฯ ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ได้ระบุให้ นายจ้างจะต้องชดใช้เงินที่ต้องนำส่งในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบและต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสองต่อเดือนของจำนวนเงินที่นายจ้างยังไม่ได้นำส่งหรือตามจำนวนที่ยังขาดไปแล้วแต่กรณี แต่ที่ผ่านมาหากหน่วยงานแจ้งเหตุผลข้อขัดข้องหรือความจำเป็นที่ไม่สามารถดำเนินการหักเงินเดือนผู้กู้ยืมได้ผ่านขั้นตอนในระบบให้กองทุนรับทราบก็ไม่ต้องชดใช้เงินให้กับกองทุน และหากไม่สามารถดำเนินการหักเงินเดือนได้ กองทุนยินดีที่จะอนุโลมและผ่อนผันให้ ซึ่งในปัจจุบันกองทุนยังไม่เคยเรียกให้นายจ้างชดใช้เงินหรือเรียกเงินเพิ่มจากนายจ้างแต่อย่างใด

3. การคำนวณยอดหักเงินเดือน กองทุนจะใช้ยอดหนี้ตามตารางชำระรายปี หารด้วย 12 เดือน หรือจำนวนเดือนที่เหลือก่อนถึงวันครบกำหนดชำระหนี้ (5 ก.ค.ของทุกปี) และในงวดปีถัดไปจะเริ่มหักเงินเดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมของทุกปีจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น โดยผู้กู้ยืมเงินที่ไม่สามารถชำระตามอัตราที่แจ้ง สามารถขอปรับลดจำนวนเงินได้โดยแจ้งความประสงค์ขอลดจำนวนการหักเงินเดือนได้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน "กยศ. Connect" โดยกองทุนอนุโลมให้ชำระขั้นต่ำเพียง 100 บาท แต่ผู้กู้ยืมเงินยังมีหน้าที่ต้องไปชำระเงินในส่วนที่ขาดไปของงวดนั้นให้ครบตามจำนวนที่ต้องชำระก่อนวันครบกำหนดชำระหนี้รายปี

เนื่องจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตั้งต้นมาจากงบประมาณแผ่นดินที่มาจากเงินภาษีของประชาชน และใช้เงินชำระหนี้ของผู้กู้ยืมรุ่นพี่หมุนเวียนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้อง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน กองทุนขอเรียนว่า ปัจจุบัน กองทุนไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปี 2561 และในปีการศึกษา 2563 มีผู้ขอกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นจาก 28,000 ล้านบาท เป็น 33,000 ล้านบาท

สำหรับปีการศึกษา 2564 นี้กองทุนได้เตรียมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา จำนวน 38,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมจำนวน 624,000 รายไว้เรียบร้อยแล้ว กองทุนขอยืนยันว่า กองทุนจะเป็นหลักประกันของทุกครอบครัว เพื่อให้บุตรหลานและนักเรียน นักศึกษารุ่นหลังมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้ทุกคนอย่างแน่นอน โดยไม่มีการจำกัดโควตาการให้กู้ยืมแต่อย่างใด

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 5/3/2564

เปิด 10 อันดับงานว่าง กระทรวงแรงงาน เตรียมตำแหน่ง 5 หมื่นอัตรา รอสมัคร

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญและติดตามสถานการณ์การจ้างงานปัจจุบันมาโดยตลอด ทั้งมอบหมายกรมการจัดหางานทำงานเชิงรุก ติดตามตำแหน่งงานว่าง เพื่อรองรับปัญหาการว่างงาน ซึ่งขณะนี้กรมการจัดหางานได้รวบรวมตำแหน่งงานว่างทั้งงานประจำและงานพาร์ทไทม์ จากนายจ้าง/สถานประกอบการที่ยังมีความต้องการจ้างงาน แบ่งเป็นตำแหน่งงานว่างแบบเต็มเวลาจำนวน 56,138 อัตรา

โดยตำแหน่งงานว่าง 10 อันดับแรกที่นายจ้าง/สถานประกอบการต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1.แรงงานในด้านการผลิตต่าง ๆ , แรงงานทั่วไป 2.แรงงานด้านการประกอบอื่น ๆ 3.แรงงานด้านการผลิต 4.พนักงานจัดส่งสินค้าอื่นๆ 5.ตัวแทนนายหน้าขายบริการธุรกิจอื่นๆ 6. ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ 7.พนักงานบริการลูกค้า 8.พนักงานขายสินค้า (ประจำร้าน) , พนักงานขายของหน้าร้าน 9.พนักงานขาย และผู้นำเสนอสินค้าอื่น ๆ 10.เจ้าหน้าที่คลังสินค้าอื่นๆ

และเป็นตำแหน่งงานว่าง Part time จำนวน 1,255 อัตรา โดยตำแหน่งงานว่าง Part time ทั่วประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ผู้ขนส่งสินค้าอื่นๆ 2.ผู้ช่วยพ่อครัว 3.พนักงานจัดส่งสินค้าอื่นๆ 4.พนักงานบริการลูกค้า 5.พนักงานขายสินค้า (ประจำร้าน) , พนักงานขายของหน้าร้าน ซึ่งมีตำแหน่งงานว่างรองรับทุกระดับการศึกษา และอัตราค่าจ้างเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ล่าสุดได้สั่งการเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด ลงพื้นที่พบปะนายจ้าง/สถานประกอบการที่ยังมีกำลังการจ้างงาน เพื่อขอข้อมูลตำแหน่งงานว่าง เตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้ที่ว่างงานและประสงค์หางานทำ

ซี่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ออกจากงานมายื่นขอรับสิทธิกรณีว่างงานออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ empui.doe.go.th ของกรมการจัดหางาน จำนวน 114,101 คน รายงานตัวผ่านระบบ 487,143 คน ลดลงจากเดือนมกราคม ที่มีผู้ยื่นขอรับสิทธิกรณีว่างงาน 128,079 คน รายงานตัวผ่านระบบ 511,726 คน ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ว่างงานที่ประสงค์จะหางานทำ สามารถเลือกสมัครงานผ่านช่องทางการให้บริการจัดหางานรูปแบบออนไลน์ด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ smartjob.doe.go.th หรือ ไทยมีhttp://xn--72c6af3hc5n.com/ เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางไปติดต่อที่สำนักงาน ลดการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก และป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19

แต่ในกรณีที่ไม่สามารถใช้บริการแบบออนไลน์ได้ สามารถติดต่อขอรับบริการ ณ ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาที่ใช้บริการ รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการที่เจ้าหน้าที่แนะนำอย่างเคร่งครัด หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ที่มา: มติชนออนไลน์, 5/3/2564

ผลกระทบ COVID-19 ดันอัตราว่างงานพุ่ง 6.51 แสนราย ชั่วโมงการทำงานยังต่ำกว่าปกติ ขณะที่หนี้ครัวเรือนพุ่ง 13.77 ล้านล้านบาท

5 มี.ค. 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ระบุ วิกฤตโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อัตราการว่างงานในปี 2563 เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อยู่ในระดับสูงที่ 1.69% เพิ่มจากปี 2562 ที่ 0.98% หรือมีผู้ว่างงานเฉลี่ย 6.51 แสนคน และชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยลดลง โดยชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 45.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือลดลง 5.7% ขณะที่แรงงานที่ทำงานล่วงเวลา (ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีจำนวนลดลง 17.1% ซึ่งส่วนหนึ่งทำให้แรงงานมีรายได้ลดลงและอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

สำหรับสถานการณ์แรงงานไตรมาส 4 ปี 2563 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง และชั่วโมงการทำงานยังต่ำกว่าภาวะปกติ ขณะที่ตลอดปี 2563 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่ม และชั่วโมงการทำงานลดลง โดยกำลังแรงงานในปี 2563 มีจำนวน 38.5 ล้านคน หรือขยายตัว 1.0% การจ้างงาน ขยายตัว 0.2% จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 0.3% ส่วนการจ้างงานภาคเกษตรกรรม ลดลง 0.1%

ส่วนหนี้สินครัวเรือนในช่วงไตรมาส 3 ปีก่อน มีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 3.9% ใกล้เคียงกับ 3.8% ในไตรมาสก่อน ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินในวงกว้างและเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่จะส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น และเป็นความท้าทายสำคัญในการหาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาสภาพคล่องซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจ

ส่วนแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในระยะถัดไป คาดว่าหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ตามมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ รวมถึงกิจกรรมเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่จะทำให้ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 5/3/2564

สมาคมมัคคุเทศก์ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม หลังไกด์ตกงานเกือบ 10,000 คน เข้าไม่ถึงการอบรมเปลี่ยนไปถือบัตรรูปแบบใหม่

นายทิพากร จันทร์แถม นายกสมาคมมัคคุเทศก์ไทย นำตัวแทนมัคคุเทศก์ เข้ายื่นหนังสือร้องความเป็นธรรม ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 กรณีถูกรอนสิทธิของผู้ถือบัตรอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ โดยกรมการท่องเที่ยวกำหนดให้ยกเลิกบัตรอนุญาตมัคคุเทศก์สีทอง ซึ่งเป็นบัตรอนุญาตสำหรับปฏิบัติหน้าที่กับนักท่องเที่ยวคนไทยภายในประเทศ แล้วให้โอนไปอยู่รวมกับบัตรอนุญาตสีบรอนซ์ ซึ่งเป็นบัตรอนุญาตสำหรับมัคคุเทศก์ที่ปฏิบัติหน้าที่กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ปี2559 แต่กรมการท่องเที่ยวไม่ประกาศแจ้งการเปลี่ยนการถือประเภทบัตรมัคคุเทศก์ให้เจ้าตัวรับทราบ และไม่จัดอบรมเพิ่มเติมให้อย่างทั่วถึงเพื่อเปลี่ยนผ่าน ทำให้ผู้ที่ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ บัตรสีทอง ประเภท (นักท่องเที่ยวคนไทย) และบัตรสีชมพู ประเภททัวร์เฉพาะท้องที่ ไม่สามารถต่อบัตรอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ได้ ทำให้หมดสภาพการเป็นมัคคุเทศก์ทันที และหากต้องได้บัตร ต้องทำการอบรมใหม่ เสียค่าอบรมเป็นมัคคุเทศก์ราคากว่า 40,000 บาทต่อคน ทั้งที่ 1 ปีที่ผ่านมาก็ได้รับความลำบากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่แล้ว สร้างความเดือดร้อนซ้ำเติมอีก ซึ่งตอนนี้ต้องเปลี่ยนอาชีพไปทำไร่ และขายของเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ น.ส.นันท์นภัส น้อยวิเศษ ตัวแทนกลุ่มมัคคุเทศก์ กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านจากใบอนุญาตมัคคุเทศก์สำหรับนักท่องเที่ยวคนไทย ให้ไปถือบัตร สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และต้องผ่านเกณฑ์ด้านภาษา ถือว่า ไม่เป็นธรรม เพราะ มัคคุเทศก์ถือบัตรสีทอง รับนักท่องเที่ยวไทยอยู่แล้ว เป็นการตัดโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมถึง การจัดอบรมเพื่อเปลี่ยนผ่านไปยังบัตรรูปแบบใหม่ ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเพียงแค่5 วัน เป็นเวลาที่รวดเร็วเกินไป ไม่มีการส่งใบแจ้ง วันหรือเวลาไปให้มัคคุเทศก์ แต่ให้ติดตามเองทางเว็ปไซต์ของกรมการท่องเที่ยว ทำให้มีมัคคุเทศก์เข้าไม่ถึง กว่า 10,000 คน จากจำนวนมัคคุเทศก์ที่ถือบัตรสีทองและชมพู 18,000 คน จึงอยากเรียกร้องให้ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ช่วยเป็นตัวกลางเพื่อคุยกับกรมการท่องเที่ยวในการช่วยเหลือให้มัคคุเทศก์เข้าถึงการอบรมได้ทัน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 5/3/2564

สภานายจ้างฯ เตือนรัฐอย่าลืมเดือน มี.ค.-เม.ย. จะเป็นช่วงนักศึกษาจบใหม่ เข้ามาในตลาดแรงงานอีก 5 แสนคน กังวลมีโอกาสตกงานสูง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่าการจ้างงานใหม่ในปี 2564 ภาพรวมยังฟืนตัวได้ไม่ดี เนื่องจากโควิด-19 ทำให้ภาคท่องเที่ยว บริการ และอุตสาหกรรม ต่างได้รับผลกระทบ โดยจากการประเมินตัวเลขล่าสุดพบว่าแรงงานที่ตกงานสะสมยังอยู่ในระดับ 1.5-1.7 ล้านคน

ขณะเดียวกันนักศึกษาจบใหม่ช่วง มี.ค.-เม.ย. 2564 จะเข้ามาอีกราว 5 แสนคน รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องตลอดปีนี้ เพื่อประคองและฟื้นฟูธุรกิจรองรับเศรษฐกิจที่คาดว่าทั้งไทยและโลกจะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวหลังมีความชัดเจนในการฉีดวัคซีนโควิด-19 มากขึ้น

นิยามการมีงานทำของไทยไม่สะท้อนข้อเท็จจริง แต่เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วปีนี้น่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัว ซึ่งการตกงานจะลดน้อยลงกว่าเดิม แต่การจ้างงานใหม่ยังไม่ได้ฟื้นตัวมากนักเพราะแรงงานภาคท่องเที่ยว ยังคงกลับมาได้น้อย จนกว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ซึ่งดีสุดก็ปลายปีนี้

ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้นหากดูทิศทางการส่งออก ม.ค. 2564 ที่โต 0.35% มีทิศทางที่ดีขึ้นแต่ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ทำให้การใช้อัตรากำลังผลิตลดลงและค่อยๆฟื้นตัวแต่ก็ยังไม่เต็มที่ทำให้โอกาสที่จะรับคนเพิ่มจึงน้อยเว้นแต่อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงเช่น วัสดุทางการแพทย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ การส่งออกปี 2563 พบว่าใน 30 คลัสเตอร์หลักของภาคอุตสาหกรรมนั้นใน 18 คลัสเตอร์ที่คิดเป็นสัดส่วน 60% ของการส่งออกยังคงติดลบอาทิ เหล็ก อัญมณี ยางพารา เครื่องสำอาง ยานยนต์ เคมี ฯลฯ ดังนั้นทำให้ธุรกิจบางส่วนยังคงต้องประคองตัวและบางธุรกิจเช่นยางพารา บางรายเข้าสู่แผนฟื้นฟูแล้ว ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อฟื้นฟูธุรกิจให้ต่อเนื่อง

ที่มา: TNN, 4/3/2564

ลาออก-เกษียณพุ่ง “กสร.” ปั้นเมนเทอร์มืออาชีพ สอนงานเด็กใหม่ เพิ่มศักยภาพองค์กร

อัตราลาออก-เกษียณอายุข้าราชการในแต่ละปีมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น กสร.พัฒนาศักยภาพบุคลากร ฝึกฝนให้เป็นพี่เลี้ยงมืออาชีพ หวังให้สอนงานบุคลากรที่มีประสบการณ์น้อยกว่า หรือบุคลากรใหม่ ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพ บนพื้นฐานของระบบการพัฒนาบุคลากรอย่างสร้างสรรค์ที่มั่นคง และยั่งยืน

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)เปิดเผยว่า ปัจจุบันอัตราการลาออกและการเกษียณอายุของข้าราชการ ในแต่ละปีมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ทำให้องค์ความรู้ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ในการทำงานของบุคลากรเหล่านี้ อาจจะสูญหายไปพร้อมกับตัวบุคคลจนน่าเสียดาย ดังนั้นเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้โดยนำมาพัฒนาให้เกิดเป็นการสอนงานในระบบพี่เลี้ยง (Mentoring) ที่มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นหลักการที่ช่วยส่งเสริม และพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ ก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริต โดยเป็นไปตามกฎระเบียบ ส่งผลให้การดำเนินการขององค์กรเป็นไปอย่างราบรื่น

ทั้งนี้สอดรับกับนโยบายของนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง มีความต้องการให้บุคลากรในสังกัดกระทรวงแรงงานได้มีความเป็นพี่ เป็นน้องกัน มีน้ำใจช่วยเหลือกันทั้งในเรื่องงาน และความสัมพันธ์ส่วนตัว กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงได้จัดทำหลักสูตร การสร้างและพัฒนาการสอนงานและการเป็นพี่เลี้ยงของกรมขึ้น จำนวน 2 รุ่น เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพบุคลากรกรมในด้านการสอนงาน แนะนำ และการเป็นพี่เลี้ยงที่มีคุณภาพ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ในแต่ละภารกิจของกรมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อช่วยให้บุคลากรใหม่สามารถเรียนรู้และปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว ลดความผิดพลาดในการทำงาน รวมทั้งมีความรู้ ความเข้าใจในวัฒนธรรมองค์กร ลักษณะ การทำงานร่วมกัน และนำไปสู่การมีทัศนคติที่ดีต่อกรม

โดยผู้เข้าอบรมเป็นข้าราชการของกรมประเภทวิชาการตั้งแต่ระดับปฏิบัติการจนถึงชำนาญการพิเศษ ในสังกัดทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมจำนวนทั้งสิ้น 86 คน ใช้เวลาอบรมรุ่นละ 5 วัน อย่างเข้มข้นด้วยรูปแบบการบรรยายและฝึกปฏิบัติ ฝึกฝนให้เป็นพี่เลี้ยงแบบมืออาชีพ และออกไปทำหน้าที่สอนงาน เป็นที่ปรึกษาให้กับน้องใหม่ หรือผู้ที่มีประสบการณ์น้อยกว่าด้วยความมั่นใจ จนทำให้ผู้ที่ได้รับการสอนงานเกิดทักษะการทำงานที่ดีขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดความรัก ความผูกพันในองค์กร เนื่องจากได้รับความช่วยเหลือ การสอนงาน การสนับสนุน ทั้งการมีความรู้สึกไว้ใจ และเป็นมิตรกับผู้ฝึกสอน หรือผู้บังคับบัญชา ตลอดจนหากมีข้อผิดพลาด ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดร่วมกันช่วยแก้ไขปัญหา และในที่สุดจะเกิดการพัฒนาในระบบราชการไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป

ที่มา: สยามรัฐ, 4/3/2564

การบินไทยออกเกณฑ์การประเมินพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่จะปฏิบัติการบินตามโครงสร้างใหม่ของบริษัท หลังจากเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ

มีรายงานข่าวว่า การบินไทย มีประกาศสายปฏิการ เรื่อง เกณฑ์การประเมินและพิจารณาพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่จะปฏิบัติการบินตามโครงสร้างใหม่ของบริษัท หลังจาก เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ ลดจำนวนผู้บริหารลงจาก 740 อัตรา เหลือประมาณ 500 อัตรา เออร์ลี่รอบ 2 ตั้งเป้าลดคน 4-6 พันคน

โดยประกาศฉบับดังกล่าว ลงชื่อโดย นายอนิรุต แสงฤทธิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 1 มี.ค. 2564 ซึ่งระบุว่า บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องปรับลดจำนวนพนักงานลงบางส่วน รวมถึงจำนวนพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณงานที่มีตามแผนฟื้นฟูกิจการ

ดังนั้น เพื่อให้การประเมินและการพิจารณาพนักงานต้อนรับฯ เป็นไปด้วยความธรรม ฝ่ายบริการบนเครื่องบิน ได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินและพิจารณาพนักงานต้อนรับฯ ที่จะปฏิบัติหน้าที่การบินตามโครงสร้างใหม่ของบริษัทฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เกณฑ์การประเมินและพิจารณาพนัก งานต้อนรับฯ ได้ผ่านการพิจารณาและอนุมัติจากที่ประชุมคณะทำแผนฟื้นฟูกิจการครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2564 แล้ว โดยเกณฑ์การประเมินและพิจารณาพนัก งานต้อนรับ มีรายละเอียดตามประกาศแนบ นอกจากเกณฑ์การประเมินดังกล่าวข้างต้น ยังมีเกณฑ์ที่ใช้พิจารณา เพิ่มเติมคือ พนักงานต้อนรับฯต้องมีอายุไม่เกิน 55 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 พ.ค. 2564 (ยกเว้นผู้จัดการเที่ยวบิน) ค่าดัชนีมวลกาย BMI ต้องอยู่ในมาตรฐานที่บริษัทฯ กำหนด คือ ชายไม่เกิน 27.5 หญิงไม่เกิน 25

ที่มา: ข่าวสด, 3/3/2564

ก.แรงงาน เตือนช่างอย่าลืมต่อหนังสือรับรองก่อนหมดอายุ 30 วัน คาดเข้าข่าย 1.2 หมื่นคน

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ช่างเชื่อมแม็ก และช่างเชื่อมทิก ต้องผ่านการประเมินและได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ลดอุบัติเหตุต่างๆต่อสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันมีช่างที่ผ่านการประเมินจำนวน 148,078 คน โดยได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถเป็นระยะเวลา 5 ปี

สำหรับ พ.ร.บ.ดังกล่าว มีผลบังคับให้ช่างฝีมือเข้ารับการประเมินตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2559 ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไปจะมีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถของช่างประมาณ 12,000 คนหมดอายุลง ในเรื่องนี้กระทรวงแรงงานโดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ให้ความสำคัญและมีความห่วงใย

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ กพร.ประชาสัมพันธ์เชิงรุก ให้ช่างฝีมือเข้ารับการประเมินใหม่ก่อนหนังสือรับรองหมดอายุ ซึ่งที่ผ่านมาช่างต้องเข้ารับการประเมินก่อนหนังสือรับรองหมดอายุ 60 วัน แต่ในปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้ปรับเปลี่ยนลดเหลือเพียง 30 วัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ช่างฝีมือ โดยดำเนินการได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน(สพร.) สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถของภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองจาก กพร. ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินเดิมคือ ต้องได้อย่างน้อย 85 คะแนน จาก 100 คะแนน โดยพิจารณาจากผลผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประสบการณ์ด้านการประกอบอาชีพหรือการฝึกอบรม คุณลักษณะส่วนบุคคลที่แสดงถึงศักยภาพในการประกอบอาชีพหรือการทำงาน

โดยเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้เข้ารับการประเมินใหม่ประกอบด้วย แบบคำขอ (แบบ คร.10) ดาวน์โหลดได้ที่ www.dsd.go.th/oloc บัตรประชาชน หนังสือรับรองความรู้ความสามารถ (ฉบับเดิม) บัตรประจำตัวผู้ได้รับหนังสือความรู้ความสามารถ (ฉบับเดิม) รูปถ่ายขนาด 1x1.5 นิ้ว จำนวน 2 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานรับรองความรู้ความสามารถ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 0 2245 1703 และ www.dsd.go.th/oloc หรือ

www.facebook.com/oloc.dsd1

ส่วนช่างที่ยังไม่เคยเข้ารับการประเมินขอให้รีบติดต่อเข้ารับการประเมินโดยด่วน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในปีนี้ กพร.ตั้งเป้ามีช่างหน้าใหม่เข้ารับการประเมินประมาณ 14,000 คน

ที่มา: สยามรัฐ, 3/3/2564

‘ครม.’ มีมติ ‘ชะลอ’ ขยายเกษียณอายุราชการ เหตุงบมีจำกัด ชี้ค่อยว่ากันหลังโควิด

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าเนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 มีสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ.2573 ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องมีแผนรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งในส่วนของข้าราชการพลเรือน ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารบุคลากรภาครัฐ ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการขยายอายุเกษียณราชการ ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม มาระยะหนึ่งแล้ว โดยกำหนดสาระสำคัญให้การขยายอายุเกษียณราชการเป็นมาตรการเพื่อรองรับสังคมสูงวัย และสนับสนุนให้บุคลากรภาครัฐมีงานทำหลังเกษียณ รวมถึงการบริหารกำลังคนภาครัฐในช่วงวัยต่างๆ อย่างเหมาะสม ซึ่งแนวทางหนึ่งคือ การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี โดยไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่ต้องใช้ศักยภาพทางร่างกาย

น.ส.รัชดา กล่าวว่าสำนักงาน ก.พ. ได้รับรายงานและข้อเสนอแนะ เรื่อง การจ้างข้าราชการภายหลังเกษียณอายุ 60 ปี เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา โดยทาง สำนักงาน ก.พ. ได้จัดให้มีการประชุมพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีข้อสรุปดังนี้

1.เห็นด้วยกับการชะลอการขยายเกษียณอายุราชการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม (จากเกษียณอายุ 60ปี เป็น 63 ปี) เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมรวมถึงระบบการคลังและงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งควรใช้จ่ายงบประมาณที่มีจำกัดเพื่อให้เกิดการจ้างงานกลุ่มเปราะบางก่อนเป็นอันดับแรก และเมื่อสามารถจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้แล้ว จึงนำกลับมาพิจารณาใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป

2.เห็นด้วยกับการจ้างงานเพื่อใช้ศักยภาพข้าราชการเกษียณ ที่เสนอให้มีการกำหนดทางเลือกที่หลากหลายในการจ้างงานข้าราชการที่เกษียณอายุราชกา รควบคู่ไปกับมาตรการขยายอายุเกษียณ ทั้งนี้ ให้พิจารณาตามความจำเป็นและความต้องการบุคลากรในแต่ละตำแหน่งสาขา เช่น ตำแหน่งที่ขาดแคลนกำลังคน ตำแหน่งที่ต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และให้พิจารณาจ้างข้าราชการเกษียณอายุในรูปแบบอื่นๆ เช่น การจ้างเหมาบริการ การรับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น

3.เห็นด้วยกับการศึกษาเพื่อปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญของข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ได้มีการเตรียมความพร้อมและวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง และจะได้มีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลและแนวทางการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกันต่อไป

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกฯ ได้เน้นย้ำความสำคัญของการบริหารบุคลากรภาครัฐในภาพรวม ซึ่งต้องพิจารณาดำเนินการในหลายมิติควบคู่กันไปทั้งการลดกำลังคน การส่งเสริมบุคลากรคนรุ่นใหม่ การจ้างงานข้าราชการเกษียณที่มีศักยภาพในตำแหน่งขาดแคลน และการเตรียมรับสังคมสูงวัย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 2/3/2564

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือเสนอรัฐเร่งแก้ไขปัญหาแรงงานต่างชาติ หลังหลายอุตสาหกรรมยังขาดแคลนแรงงาน เร่งประกาศรับสมัครแรงงานจำนวนมาก

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. ยังคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตระหว่าง 3% ถึง 4% โดยการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากปัจจัยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้า รวมไปถึงการมีวัคซีนส่งผลให้การส่งออกไทยแนวโน้มดีขึ้น ดังนั้น ปัญหาของผู้ส่งออกที่กังวลในตอนนี้คือปัญหาการขาดแรงงานที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวจข้องเข้ามาดูแล แก้ไขในเรื่องนี้

“หลายโรงงานได้ประกาศรับสมัครงานเนื่องจากขาดแรงงานต่างด้าว จากที่มีการย้ายกลับประเทศซึ่งปัจจุบันหลายโรงงานก็ยังไม่กล้ารับกลับเข้ามา จากปัญหาโควิด-19 และปัญหาการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านกระทบให้แรงงานยังไม่กลับเข้ามา ทำให้ขาดแรงงานในหลายอุตสาหกรรม จำนวนแรงงานที่ขึ้นทะเบียนเดิมอยู่ที่ 2 แสนรายปัจจุบันอยู่ที่ 7 แสนราย หากจะดูว่าขาดแรงงานเท่าไรยังประเมินลำบาก แต่กลุ่มที่ต้องการแรงงานมากสุด เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เกษตรและอาหาร ส่วนแรงงานฝีมือ เช่น อิเล็กทรอนิกส์”

อย่างไรก็ดี ปัญหาแรงงานจึงเป็นสิ่งที่กังวลเนื่องจากมีผลต่อการผลิต การส่งออกสินค้าไปในอนาคต ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น ปัญหาโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ต่อไปอย่างน้อยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 จากปริมาณตู้สินค้าตกค้างที่ท่าเรือปลายทางทั้ง ยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย สวนทางกับความต้องการนำเข้าสินค้าที่มากขึ้น เช่น การบริโภคของสหรัฐประจำเดือนมกราคมในส่วนการค้าปลีกเติบโตขึ้นถึง 5.3% อัตราค่าระวางเรือปรับเพิ่มสูงขึ้น ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง แนวโน้มการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวของภาคอุตสาหกรรม ที่จะส่งกระทบต่อมูลค่าการส่งออกได้ในอนาคต

สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อการส่งออก เช่น เศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรป ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับมาสู่ขาขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อการส่งออกกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป และ ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในหลายประเทศ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือนมกราคม 2564 มีมูลค่า 19,706 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 0.35% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้าในเดือนมกราคม 2564 มีมูลค่า 19,908 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -5.24% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ เดือนมกราคม 2564 ประเทศไทยขาดดุลการค้า -202.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับการส่งออกในกลุ่มสินค้า เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวที่ 3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย สินค้าที่ขยายตัวได้ดีอยู่ คือ น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ยางพารา แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัวคือ น้ำตาลทราย ข้าว ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป

ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวที่ 0.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย กลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ ถุงมือยาง รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ยางรถยนต์

ขณะที่สินค้ากลุ่มที่หดตัว อาทิ ทองคำ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน

อย่างไรก็ดี สรท.ยังมีข้อเสนอแนะที่สำคัญให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลและแก้ไขเพื่อดันการส่งออกของไทยให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย คือ

1) ขอให้ผ่อนปรนมาตรการต่ออายุการแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย ให้สามารถทำงานต่อเนื่องในปี 2564 เพื่อให้มีแรงงานเพียงพอต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง

2) เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน โดยภาครัฐต้องให้การสนับสนุนให้ผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรให้มีความสามารถในการชำระค่าระวางเรือในอัตราที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจาก Demand ตู้สินค้ามากกว่า Supply ทำให้ราคาค่าระวางในแต่ละเส้นทางเดินเรือปรับตัวสูงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการและสามารถจ่ายค่าระวางได้มากขึ้น ขอให้ภาครัฐเช่าเรือและสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เปล่าที่ตกค้างในต่างประเทศกลับมาให้ผู้ส่งออกไทย และภาครัฐต้องให้การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมบริการซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศ จะช่วยเพิ่มปริมาณตู้หมุนเวียนเข้ามาในประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น

3) ทิศทางค่าเงินบาทแข็งมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มส่งสัญญาณอ่อนค่า ธปท. ต้องเร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและใช้มาตรการทางการเงินเพื่อลดความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมการส่งออก

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 2/3/2564

กทม.เริ่มฉีดวัคซีน COVID-19 วันแรกให้บุคคลากรทางการแพทย์

1 มี.ค.2564 ที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ซึ่งเป็นวันแรกของพื้นที่ืี่กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยแก่ประชาชน หลังรัฐบาลได้จัดสรรวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของบริษัท Sinovac ให้กรุงเทพฯ เบื้องต้นจำนวน 66,000 โดส

สำหรับผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่เข้ารับการฉีดวัคซีนในวันนี้ ประกอบด้วย 1.พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร 2. นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสานักการแพทย์ 3. นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ และ 4. นพ.ศุภรัช สุวัฒนพิมพ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 โรงพยาบาลที่จะฉีดวัคซีนพร้อมกัน คือ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตบางแค และ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ เขตหนองแขม รวมทั้งหมด 130 คน โดยสัปดาห์แรกจะฉีดเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กทม.ได้รับจัดสรรวัคซีน COVID-19 ของ Sinovac ในล็อตแรก 66,000 โดส โดยจะฉีดให้กับบุคลากรสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ด่านหน้า 12,400 โดส เจ้าหน้าที่สัมผัสผู้ป่วย 1,600 โดส ผู้มีโรคประจำตัว 47,000 โดส และประชาชนทั่วไป/แรงงานต่างด้าว 5,000 โดส โดยจะแบ่งรอบการฉีดวัคซีน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย

จากการสอบถามถึงความสมัครใจของ บุคคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ในการควบคุม COVID-19 ของกรุงเทพฯ ที่ยินยอมเข้ารับวัคซีน COVID-19 ครั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า เกือบทั้งหมดต้องการฉีดวัคซีน เบื้องต้นมี 6,200 คน ส่วนระยะต่อไปจะขยายการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร และ รพ.เอกชน 16 แห่ง

ที่มา: Thai PBS, 1/3/2564

สหภาพการบินไทยฯ ร้องข้อบังคับใหม่ วันลา-วันหยุดลดลง ไม่เป็นไปตาม กม. ไม่เป็นคุณกับพนักงาน

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 นายนเรศ ผึ้งแย้ม ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) เปิดเผยว่าเป้าหมายการยื่นหนังสือต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานคือ ทางบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ และจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานใหม่ ทางบริษัทก็มีหลักเกณฑ์ในการสมัครใจว่าใครจะอยู่ในภายใต้ข้อบังคับฯใหม่ โดยให้พนักงานเซ็นยินยอมเพื่อที่จะสละสิทธิสัญญาการจ้างงานเดิม

นายนเรศกล่าวว่า แต่ที่มาร้องเรียนคือข้อบังคับฯใหม่มีการลดจำนวนวันหยุดประเพณี วันลาพักร้อน ที่บริษัทมายื่นจดกับกรม เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2563 โดยพนักงานที่ทำงานมา 20-30 ปี จำนวนวันลา ทั้งวันหยุดทางประเพณี แต่เดิมจาก 17 วัน เหลือ 13 วัน วันลาพักร้อน แต่เดิมจาก 24 วัน เหลือ 6 วัน อ้างว่า พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 หมดสภาพบังคับใช้ไปเมื่อ 22 พ.ค.2563

นายนเรศกล่าวอีกว่า ข้อบังคับฯใหม่รายละเอียดไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ซึ่งตามขั้นตอนตามกฎหมายต้องมีการพูดคุยเจรจากับพนักงานด้วย สำหรับข้อบังคับที่นายจ้างสามารถประกาศได้เลยคือตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 โดยต้องเป็นคุณกับพนักงานยิ่งกว่า แต่ข้อบังคับฯใหม่ไม่เป็นคุณกับพนักงาน

นายนเรศกล่าวว่า ต่อมาบริษัทมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ และให้พนักงานเลือกสภาพการจ้างงานใหม่ จึงอยากให้ทางกรมเข้าไปตรวจสอบว่าไม่มีการบังคับขู่เข็ญต่อพนักงาน โดยทางบริษัทได้มีการบอกว่า ถ้าไม่เลือกสภาพการจ้างงานใหม่ จะถูกย้ายไปยังคอร์สเซ็นเตอร์ ซึ่งมีความหมายว่า อาจจะถูกแขวนตำแหน่งไว้ และอาจนำไปสู่การถูกเลิกจ้างงานได้

“ดั้งนั้น จึงอยากให้มีการสมัครใจย้ายสภาพการจ้างใหม่อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ทางกรมจะเชิญทางฝ่ายบริหารของบริษัท และสหภาพแรงงานฯ เข้ามาพูดคุยเจรจา เพื่อหาทางออก ก่อนวันที่ 11 มี.ค.2564”

ที่มา: มติชนออนไลน์, 1/3/2564

เรื่องที่ได้รับความนิยม