Wednesday, April 28, 2021

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยแรงงานเปราะบางปี 2564 มีโอกาสเพิ่มสูงกว่า 2.7 ล้านคน

 

ช่วงปลายเดือน เม.ย. 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่ากว่า 1 ปีของการระบาดโควิด-19 ที่จนถึงปัจจุบันวิกฤตนี้ก็ยังไม่ยุติลง และมีแนวโน้มจะสร้างผลกระทบที่ยืดเยื้อยาวนานสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยที่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยการฉีดวัคซีนให้กับประชากร 70% ขึ้นไปของประชากรทั้งประเทศอาจมีความเสี่ยงว่าจะเกิดขึ้นไม่ทันภายในช่วงปี 2564 นี้ ถึงแม้ภาครัฐมีแผนจะจัดหาวัคซีนไว้แล้วมากกว่า 63 ล้านโดสก็ตาม เพราะแม้ว่าเราอาจจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิดในรอบเดือนเมษายนนี้ให้คลี่คลายได้ก่อนเข้าสู่จังหวะการเปิดประเทศในจังหวัดท่องเที่ยวเป้าหมายตามแผนที่วางไว้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 (ทั้งการไม่กักตัว/ลดวันกักตัวลง) แต่ก็มีความเป็นไปได้ในกรณีเลวร้ายที่อาจมีเหตุการณ์ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการระบาดรอบถัดไปหรือคลัสเตอร์ใหม่ๆ ได้อีก

ภาพดังกล่าวย่อมกดดันเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจและครัวเรือน ให้มีความเปราะบางมากขึ้นผ่านจังหวะการฟื้นตัวที่สะดุดลงและเลื่อนเวลาออกไปจากที่เคยหวังกันไว้ก่อนเกิดระลอกปลายเดือนธันวาคม 2563 และเมษายน 2564 ซึ่งถ้าย้อนไปดูผลกระทบต่อแรงงานจากสถิติล่าสุด พบว่า โควิดรอบแรก ทำให้มีผู้ว่างงาน เร่งจำนวนขึ้นมาอยู่ที่ 5.9 แสนคน ณ ธันวาคม 2563 คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.5% ต่อกำลังแรงงานทั้งหมด (เทียบกับ 0.96% ณ ธันวาคม 2562) ขณะที่ หากนับรวมผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่มีจำนวนชั่วโมงการทำงานน้อยอีกราว 2.1 ล้านคน หรือ 5.4% ต่อกำลังแรงงาน โดยแบ่งเป็น ภาคเกษตรราว 1.3 ล้านคน และภาคนอกเกษตร 0.8 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นการผลิต ขายส่งขายปลีก ที่พักแรม เป็นต้น กล่าวได้ว่า แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรอบแรกและมีความเปราะบางด้านรายได้ อาจมีมากถึง 2.7 ล้านคน หรือ 6.9% 



นอกจากนี้ ก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดโควิดรอบเดือนเมษายน 2564 แรงงานนอกระบบนอกภาคเกษตรในสาขาการค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่มีจำนวน 6.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 17.5% ต่อกำลังแรงงาน ซึ่งครอบคลุมถึงตลาดนัด ร้านนวดและสปา แท็กซี่และจักรยานยนต์รับจ้าง รวมถึงหาบเร่แผงลอย ก็มีรายได้ที่ลดลงมาเหลือเพียง 10-50% ของรายได้ก่อนโควิดแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาถึงความคืบหน้าของโครงการ “เราชนะ” ของภาครัฐ ที่มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์มากถึง 32.8 ล้านคน ก็สะท้อนได้เช่นกันว่า ผู้ที่มีความเปราะบางจากผลกระทบของโควิดมีอยู่เป็นจำนวนมากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ

ดังนั้น สำหรับในปี 2564 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จำนวนแรงงานเปราะบางที่วัดจากผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงานจะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ในกรณีเลวร้ายหากไม่สามารถเปิดการท่องเที่ยวได้ สถานการณ์การจ้างงานจะแย่ลง

ขณะที่การจ้างงานในภาคการค้าส่งค้าปลีกโดยรวมก็ยังไม่น่าจะดีขึ้น เพราะแม้จะไม่ถูกกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์มากเหมือนปีก่อน รวมถึงน่าจะได้อานิสงส์จากการที่รัฐบาลจะต่ออายุมาตรการคนละครึ่ง แต่การแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นมากกว่าในรอบแรก จะเป็นตัวฉุดการใช้จ่ายและกระทบการดำเนินชีวิตของผู้บริโภค ซึ่งรวมถึงการจ้างงาน โดยรวมแล้ว จึงอาจมีเพียงอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าที่น่าจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างจีนและสหรัฐฯ

การเร่งพัฒนาทักษะและผลิตภาพแรงงาน ยังไร้แผนที่ชัดเจน

นอกเหนือจากมาตรการบรรเทาค่าครองชีพให้กับผู้เปราะบางในการรับมือกับโจทย์เฉพาะหน้าเรื่องโควิดแล้ว ภาครัฐและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงต้องวางแนวทางความช่วยเหลือในการพัฒนาทักษะและผลิตภาพแรงงานแบบคู่ขนานกันไปเพื่อรองรับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงวิถีการประกอบธุรกิจในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลที่รวดเร็วและซับซ้อนขึ้น โดยจำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ซึ่งครอบคลุมไปถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย เพื่อออกแบบมาตรการที่อุดช่องว่างหรือเติมเต็มให้แรงงานสามารถพัฒนาทักษะตนเองและยกระดับประสิทธิภาพการทำงานให้ได้มากที่สุด

ขณะเดียวกันก็ต้องสอดรับไปกับการวางเป้าหมายในอนาคตของประเทศในการเป็นฮับในด้านต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าหนีไม่พ้นที่จะต้องทำให้ผลิตภาพแรงงานไทยแข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้านด้วย นับว่าเป็นความท้าทายพอสมควร เพราะก่อนโควิดผลิตภาพแรงงานของไทยก็เริ่มลดลงแล้ว แม้จะยังสูงกว่ากลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง–สูงก็ตาม 


สำหรับแรงงานนั้น จำเป็นอย่างยิ่งเช่นกันที่จะต้องเร่งปรับตัว ทั้งการรู้ลึกรู้จริงในสาขาที่เชี่ยวชาญ และรู้รอบรู้กว้างในสาขาอื่นๆ อีกทั้งยังต้อง Upskill / Reskill ให้มีทักษะที่จำเป็นที่เป็นที่ต้องการสำหรับภาคธุรกิจแห่งอนาคต ที่สำคัญก็คือ ทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ ทักษะด้านภาษา ความยืดหยุ่นในการปรับตัว เป็นต้น ตลอดจนคงต้องสร้างอุปนิสัยรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ซึ่งจะทำให้แรงงานมีความสามารถในการรับมือกับวิกฤตต่างๆ ที่จะเข้ามาอีกในอนาคตได้อย่างยั่งยืน 



ที่มาภาพประกอบ: ILO Asia-Pacific

เรื่องที่ได้รับความนิยม