Monday, March 1, 2021

สถานการณ์แรงงาน ประจำเดือน ก.พ. 2564

 

มติ 'ก.จ.-ก.ท.-ก.อบต.' ไฟเขียว 'เลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ' ให้แก่บุคลากรของ อปท.ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ได้ย้อนหลัง ณ 1 เม.ย. 2563 และ 1 ต.ค. 2563

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2564 พ.จ.อ.ชนินทร์ ราชมณี ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า มติคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.) คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.) และ คณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 64 เห็นชอบแนวทางการเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษให้แก่บุคลากรของ อปท. ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สรุปได้ ดังนี้

1. เป็นบุคลากรของ อปท. (พนักงานส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง) ที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขโดยผู้มีอำนาจมีคำสั่งแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ดังกล่าว และได้ปฏิบัติงานจริง 

2. การเลื่อนขั้นกรณีพิเศษดังกล่าวให้เลื่อน ณ วันที่ 1 เม.ย. 2563 และ 1 ต.ค. 2563

3. การเลื่อนขั้นกรณีพิเศษดังกล่าวไม่ต้องคำนึงถึงโควต้า (2 ขั้นไม่เกิน 15%) และไม่ต้องคำนึงถึงวงเงินที่ใช้ในการเลื่อน (วงเงิน 6%)

4. การเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษดังกล่าว เมื่อนำไปรวมกับการเลื่อนขั้นปกติที่ได้เลื่อนไปแล้ว แต่ละคนจะต้องไม่เกิน 2 ขั้น

5. การเลื่อนขั้นกรณีพิเศษดังกล่าว เมื่อนำไปรวมกับภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคคลจะต้องไม่เกิน 40% ตามมาตรา 35 ของ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542  

สำหรับรายละเอียดการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว สำนักงาน ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. จะได้มีการแจ้งให้ทราบและถือปฏิบัติต่อไป 

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 27/2/2564

การบินไทยเปิดแผนลดสิทธิพนักงาน ลดวันลาพักร้อน-โอที 50% บังคับใช้ 1 พ.ค. 2564 นี้

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการบินไทยได้ทำการปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท โดยออกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานใหม่ เพื่อบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2564  ขณะเดียวกันการบินไทย ได้มีการปรับเกณฑ์การกำหนดจำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับพนักงานที่มีอายุงานครบ 1 ปี ขึ้นไป โดยใช้เกณฑ์อายุงานในการพิจารณาสิทธิการหยุดพักผ่อนประจำปีกับพนักงานทุกระดับ จากเดิม ที่มีการยกเว้นให้สิทธิพิเศษสำหรับผู้บริหารระดับ VP, MD สามารถลาหยุดพักผ่อนได้มากที่สุดคือ จำนวน 28 วันทำการ โดยไม่ต้องพิจารณาจากอายุงาน ขณะที่เกณฑ์ให้พนักงานทุกระดับต้องมีจำนวนวันลาหยุดตามอายุงานเหมือนกันทั้งหมด

สำหรับจำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามระเบียบใหม่นั้น ได้มีการปรับลดจำนวนวันหยุด ตามอายุการทำงาน  ดังนี้ 1. อายุงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ปรับลดจาก 24 วัน เหลือ 15 วัน 2.อายุงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 20 ปี ปรับลดจาก 21 วัน เหลือ 10 วัน  3.อายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี  ปรับลดจาก 18 วันเหลือ 8 วัน และ 4. อายุงานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5 ปี ปรับลดจาก 12 วัน เหลือ 6 วันรายงานข่าวจากการบินไทย กล่าวต่อว่า  ส่วนค่าล่วงเวลาหรือ โอที นั้นบริษัท ได้มีการปรับเกณฑ์ใหม่เช่นกัน โดยจะเปลี่ยนมาคำนวณจากอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง แทนรูปแบบเดิมที่คำนวณจาก อัตราเงินเดือนค่าจ้าง/ชั่วโมง โดยอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง จะคำนวณจากอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง หารด้วย 240(จำนวนชั่วโมงการทำงานในแต่ละวัน 8 ชั่วโมง คูณ ด้วยจำนวนวันใน 1 เดือน) ปรับเปลี่ยนจากเดิมที่คำนวณจาก อัตราเงินเดือนค่าจ้าง/ชั่วโมง หารด้วย 173 ซึ่งจะเห็นว่าจำนวนของตัวหารเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราค่าล่วงเวลาที่คิดโดยใช้เกณฑ์ใหม่ปรับลดลงจากเดิม 50%

สำหรับประเภทของการจ่ายค่าล่วงเวลา ดังนี้ 1.ค่าล่วงเวลาในวันทำการปกติ จ่าย 1.5 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง 2.ค่าทำงานวันหยุด  จ่าย เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีก 1 เท่าของอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง  จากเดิมจ่าย 2 เท่าของอัตราเงินเดือนค่าจ้างต่อชั่วโมง3.ค่าทำงานล่วงเวลาวันหยุด จ่ายอัตรา 3 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง จากเดิมจ่ายไม่น้อยกว่า 3 เท่า ของอัตราเงินเดือนค่าจ้างต่อชั่วโมง  ส่วนการเกษียณอายุของพนักงานนั้น ให้มีผลเมื่อพนักงานมีอายุครบ 60 ปี ส่วนวันที่เกษียณอายุนั้นปรับเปลี่ยนให้มีผล ในวันแรกของเดือนถัดจากเดือนที่พนักงานมีอายุครบ 60 ปี จากเดิม ให้มีผลวันที่ 30 ก.ย.ของทุกปี อย่างไรก็ตามการปรับลดวันลาพักร้อนและการปรับลดจำนวนค่าทำงานล่วงเวลา นั้น เป็นการปรับตามที่ บริษัท ได้เปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชน ทำให้บริษัทและพนักงานอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แทนพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 26/2/2564

ลูกจ้างบริษัทผลิตกรดมะนาว สัญชาติจีน บุกร้องผู้ว่าระยอง ถูกบริษัทค้างค่าจ้างกว่า 10 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีลูกจ้างบริษัทนิรันดร์ (ประเทศไทย) จก.ตั้งอยู่เลขที่ 8 ม.2 ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง สัญชาติจีน ผู้ผลิตกรดมะนาว นำโดยนายบุญยืน สุขใหม่ ที่ปรึกษากฏหมาย สภาองค์การลูกจ้างสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมผ่านทางนายยุทธพล องอาจอิทธิชัย รอง ผวจ.ระยอง นางสาวสายทิพย์ แสงไฟ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง และนายสุปนันท์ สังข์สุวรรณ ผอ.ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดระยอง ถึงอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง ปลัดกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กรณีลูกจ้าง จำนวน 92 คน ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และไม่ได้รับค่าจ้าง รวมเป็นเงิน 10,121,318.85 บาท โดยมีการห้องร้องต่ศาลหลายคดี และเรื่องยืดเยื้อมานาน และนายจ้างกลับนิ่งเฉย

นายบุญยืน ตัวแทนลูกจ้างกล่าวว่า ทางบริษัทอ้างว่าขาดสภาพคล่อง จึงไม่ยอมจ่ายค่าจ้างมาตั้งแต่ ปี 2562 แล้ว จึงได้มายื่นเรื่องขอความเป็นธรรมกับจังหวัด ได้ช่วยดำเนินการในเรื่องเงินค่าจ้างที่ลูกจ้างพึงจะได้รับตามสิทธิและให้ดำเนินคดีกับบริษัทให้ถึงที่สุด ให้ดำเนินคดีกับผู้บริหารบริษัทที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 ให้ถึงที่สุด และให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จัดหาที่เก็บทรัพย์สินที่ลูกจ้างยึดและอายัดนายจ้างที่รอการขายทอดตลาด รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการหาเงินมาชำระแก่ลูกจ้างตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 2 ซึ่งเป็นที่สุดแล้วทุกคนรวมเป็นเงิน 10,121,318.85 บาท

ด้านนางสาวสายทิพย์ แสงไฟ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง กล่าวว่า เบื้องต้นได้นัดทางลูกจ้างมาพูดคุยรายละเอียดความเดือดร้อนของทุกคนในวันที่ 5 เม.ย.นี้ เพื่อรวบรวมข้อเรียกร้องหาแนวทางแก้ไขบังคับให้นายจ้างได้ให้ความเป็นธรรมกับลูกจ้างต่อไป

ที่มา: คมชัดลึก, 25/2/2564

‘แรงงาน’ ซัดนายก ตัวการปัญหา ทวงนโยบายขายฝัน ‘425 ค่าแรงขั้นต่ำ’ ชวนไม่เลือกนักการเมืองหน้าเก่า

สืบเนื่องจากกรณี เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นัดหมายทำกิจกรรม “รวมพลคนไม่มีจะกิน” ครั้งที่ 2 ในเวลา 16.00 น. หน้าทำเนียบรัฐบาล นั้น เพื่อยื่น 5 ข้อเรียกร้อง คือ 1.มารดาประชารัฐ เเละค่าเเรงขั้นต่ำ 425 บาท ที่สัญญาไว้, 2.ประเด็นการศึกษา ลดค่าเทอม 3 ปี, 3.ลดขนส่งสาธารณะครึ่งราคา, 4.ลดภาษี จาก 7% เป็น 5% และ 5.เบี้ยชรา เบี้นคนพิการ 3,000 ต่อเดือน นั้น

เวลา 17.44 น. นายมงคล นางาม ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า ราษฎรมาทวงสัญญา สัญญาว่างเปล่า ทั้งที่ทวงแล้วทวงอีกก็ไม่มีความคืบหน้าต่างๆ ถ้าคุณแรมโบ้ มารับ จะไม่ยื่น จะไปยื่นให้ รปภ.แทน กำหนดการคือ จะมีการพูดคุยทำความเข้าใจ เรียนรู้ไปด้วยกัน กับปัญหาบ้านเมืองในเวลานี้ และจะมีการอ่านแถลงการณ์ หลังอ่านแล้ว จะเป็นขั้นตอนยื่นหนังสือ 2 ทุ่มก็ต้องรอ เราต้องรอพี่น้องที่กำลังเดินทางมา เพราะมีหลายเครือข่าย เชื่อว่าราษฎรขมขื่น ที่ออกแรง หาเลี้ยงข้าราชการที่คอยแต่จะทำร้ายประชาชน เรามาทวงที่พลังประชารัฐหาเสียงจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ 425 บาท”

นายมงคลกล่าวต่อว่า รมว.แรงงานคนเก่า บอกให้ไปขอขึ้นค่าแรงกับพรรคที่เลือก แต่พอคนใหม่มา เป็นพลังประชารัฐ ก็ยังไม่ได้ นายจ้างทวงบุญคุณ คนงานในฐานะหุ้นหลักไม่ได้แบ่งปัน ลดเงินเดือนอีกต่างหาก แม้กฎหมายจะบอกว่าไม่สามารถทำได้ แต่ในทางปฏิบัติลูกจ้างไม่อยากตกงานตอนนี้ อะไรก็ต้องเอา ซ้ำราย เจ้าหน้าที่รัฐยังเถียงแทนนายทุน แต่ไม่เคยพูดถึง 10-20 ปี ที่ได้กำไรมาเลย

“ตอนนี้มีโครงการ ม.33 เรารักกัน นายจ้างบางคนไม่ส่งข้อมูล ประกันสังคม ไม่ได้รับ จะไปไทยชนะ ก็หมดเขต ช่องทางการอุทธรณ์ ทำอย่างไรก็ดันไม่รู้ นี่คือผลของแรงงานที่ดันร่ำรวยในสายตาประยุทต์ แต่ความจริง เราไม่มีอันจะกินแล้ว ไม่อย่างนั้นคงไม่มานั่งตรงนี้ แต่เราหวังว่า ความเดือดร้อนของเราจะได้รับการเหลียวแล หวังว่า ประยุทธ์ จะแปลงร่างจากเผด็จการ มาเป็นประชาธิปไตย ตอนนี้ประชาชนมาส่งเสียง ว่าต้องการแบบนี้ ทำไม่ฟังเสียงประชาชน บอกแต่ว่า ‘คุณไม่อยู่ตรงนี้ คุณไม่รู้หรอก’ อยากแนะนำให้อ่านเรื่อง อำนาจ ของคุณประภัสสร ลักษณะเดียวกัน คือ ตั้งใจมาทำเพื่อประชาชน อยู่ไปนานๆ เริ่มเสพติดอำนาจ จนเชื่อว่าตัวเองจะเป็นแก้ไขปัญหาประเทศได้เพียงคนเดียว จึงวางแผนสืบทอดอำนาจ พรรคไหนก็ได้ สุดท้ายได้มาเป็นนายกแน่ๆ ซึ่งมีคนเก่งในประเทศอีกมาก ที่พร้อมแก้ไขปัญหา ท่านอยู่มา 6-7 คนยังจน สวัสดิการไม่กระเตื้อง เพียงแต่เป็นโอกาสดี ที่ท่านมีโควิดมาช่วย”

“ท่านควรลาออก คนเก่งๆ จะได้มาบริหาร ประชาชนมาส่งเสียง ขับไล่ ท่านก็ไม่ฟัง ไม่ได้เคารพเสียง ไม่เป็นประชาธิปไตยเลย มิหนำซ้ำยังจุดประเด็นจากการเลือกปฏิบัติ กับคนเห็นต่าง ซึ่งความต่างเป็นความสวยงาม ให้เงื่อนไขจะสร้างความปรองดอง แต่พอมาเป็นรัฐบาล กลับสร้างความแตกแยก ไม่ต้องคิดแก้ไขปัญหา เพราะท่านคือตัวการหลัก ทำให้เกิดความขัดแย้งในประชาชน

มีน้องๆ นักศึกษาคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิด ต้องการเสรีภาพ กลับต้องมาทำงานเพื่อคนเล็กคนน้อย เปิดเผยข้อมูลให้คนสูงอายุได้รับรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ และอย่าดูถูกประชาชนว่าโง่ ถูกจูงจมูก เพราะผมก็หาข้อมูล เมื่อข้อมูลหลายแหล่งตรงกัน ก็เชื่อได้ว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริง

ข้อเรียกร้องคือค่าจ้างขั้นต่ำ 425 บาท นั้น จะต้องเกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งความจริงควรมีโครงสร้างค่าจ้างด้วย ขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ ไม่อย่างนั้นไม่แตกต่างระหว่างคนเก่า กับคนใหม่ ต้องมีการปรับกันทุกปี ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ กลับซ้ำเติม คงได้แต่หวังล้มแล้งๆ คงไม่เกิดในรัฐบาลชุดนี้แน่นอน แต่เรายังยืนยัน ต้องการค่าจ้าง 425 บาท ต่อไปนี้ พรรคไหนหาเสียง แล้วไม่ทำตาม จะไม่เลือก จำหน้าไว้ โดนเฉพาะนักการเมือง ที่ชอบแปลงร่าง มีแต่นโยบายขายฝัน หน้าเก่าๆ ไม่ต้องไปเลือก ดูที่กึ๋น พวกบารมี นักเลงท้องถิ่น อย่าไปเลือกพวกนี้ใช้แต่กำลัง

ข้อเรียกร้องของผมในฐานะเครือข่ายแรงงาน ยังยืนยันเรียกร้อง” นายมงคลกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 25/2/2564

รมว.แรงงาน หารือ ก.คลัง ใช้เงินกองทุนชราภาพ 1.8 ล้านล้านบาท

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เจรจากระทรวงการคลังด้วยตัวเอง เปิดรับลงทะเบียนมาตรการ เยียวยา เรารักกัน ให้ผู้ประกันตนบริษัทใหญ่ ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนกว่า 1,000 คน พร้อมเดินหน้าทำประชาพิจารณ์แก้ไขกฎหมาย เปิดทางใช้ผู้ประกันตน ใช้เงินกองทุนชราภาพก่อนกำหนด

สถานการณ์การระบาดรอบใหม่ ที่กระทบผู้ใช้แรงงาน ทำให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือเกี่ยวกับ ความเป็นไปได้ ที่จะแก้ไขพระราชบัญญัติ ประกันสังคม ทั้งฉบับ เพื่อเปิดทางให้ ถอนนำเงินในกองทุนชราภาพ ก่อนผู้ประกันตน อายุ 55 ปี ตามเงื่อนไขกฎหมายเดิม

โดยกระทรวงแรงงาน จะเปิดเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะ เพื่อแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว สิ้นเดือนนี้ ก่อนนำเสนอ คณะรัฐมนตรี เพื่อยกร่างแก้ไขกฎหมายตามลำดับ ซึ่งปัจจุบัน กองทุนชราภาพฯ มีมากกว่า 1.8 ล้านล้านบาท

จากนั้นจะผลักดันการตั้งสถาบันการเงิน เพื่อผู้ใช้แรงงานเป็นการเฉพาะ คล้ายธนาคารทหารไทย ในอดีต หวังเป็นกลไกแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รวมทั้ง ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ จะเปิดช่องให้สำนักงานประกันสังคม ลงทุนสร้างโรงพยาบาลผู้ประกันตนด้วย

นอกจากนี้ นายสุชาติ ยังขอหารือกระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย นำเจ้าหน้าที่ ไปตั้งโต๊ะรับลงทะเบียน พนักงานบริษัทขนาดใหญ่ ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ "เรารักกัน" รอบผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน โดยไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดปิดลงทะเบียนรอบทั่วไป หรือ รอรอบลงทะเบียนทบทวนสิทธิ

หลังได้รับการประสานจากบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้เข้าไปรับลงทะเบียนที่โรงงาน เพราะ พนักงาน ที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และไม่มีสมาร์ทโฟน มากกว่า 1 พันคน ได้รับเงินเยียวยาอย่างทันท่วงที ซึ่งจะมีส่วนเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 5 เท่าครึ่ง ถึง 7 รอบ คิดเป็นเงินมากกว่า 1 แสน ล้านบาท

ที่มา: Thai PBS, 24/2/2564

ผู้ประกันตนลงทะเบียนโครงการ ม.33 เรารักกัน วันที่ 4 ยอด 7.8 ล้านคน

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน รายงานผลการลงทะเบียนของผู้ประกันตนมาตรา 33 ผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com เพื่อรับสิทธิเงินช่วยเหลือเยียวยาค่าครองชีพจากรัฐบาลคนละ 4,000 บาท โดยเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.-7 มี.ค. 2564 ตั้งแต่เวลา 06.00-23.00 น. ว่าวันนี้เป็นวันที่ 4 โดยตัวเลขล่าสุด ณ เวลา 15.00 น. สรุปรวมยอดผู้ลงทะเบียนรับสิทธิรวมกัน 4 วัน มีจำนวนทั้งสิ้น 7,807,103 ราย

อย่างไรก็ดีสำนักงานประกันสังคม ขอย้ำให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่เข้าหลักเกณฑ์ให้ลงทะเบียนโครงการ ม33เรารักกัน และหากผู้ประกันตนท่านใดที่ลงทะเบียนแล้วแต่ไม่ผ่านสามารถขอทบทวนสิทธิผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ได้ในวันที่ 15-28 มี.ค. 2564

ที่มา: 24/2/2564

สมาคมสายการบินวอนรัฐรีบฉีดวัคซีน COVID-19 ให้พนักงาน

24 ก.พ. 2564 รายงานข่าวจากสมาคมสายการบินประเทศไทย ซึ่งร่วมกันจัดตั้งโดยสายการบิน 7 สาย ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, สายการบินไทยแอร์เอเชีย, สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, สายการบิน ไทยสไมล์, สายการบินนกแอร์, สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท ประกาศแต่งตั้ง นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอก แอร์เวย์ส ให้เป็นนายกสมาคมฯคนแรก โดยอุปนายกสมาคมฯ ซึ่งรับตำแหน่งโดยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของสายการบินสมาชิก และคณะกรรมการสมาคมฯ รับตำแหน่งโดยตัวแทนผู้บริหารจากสายการบินทั้ง 7 สาย

นอกจากนี้ ได้จัดการประชุมสมาคมฯ เพื่อแจ้งขอบเขตการดำเนินงานของคณะกรรมการ รวมไปถึง การหารือถึงแนวทางและมาตรการ เพื่อลดผลกระทบของสมาชิกสายการบิน จากสถานการณ์โควิด-19 การจัดประชุมสมาคมฯครั้งนี้ เป็นการจัดประชุมครั้งแรก โดยมีวาระสำคัญในการแจ้งวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสมาคมฯรวมไปถึงการหารือถึงแนวทางและมาตรการเพื่อลดผลกระทบของสมาชิกสายการบิน จากสถานการณ์ โควิด-19

ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอของสมาชิกฯ ต่อรัฐบาล เช่น การเสนอให้รัฐบาลฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่พนักงานสายการบิน ซึ่งถือเป็นบุคลากรด่านหน้าในการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ การเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอีกครั้ง และสามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาได้อย่างปลอดภัย และการเสนอมาตรการและแนวทางสำหรับสายการบินเพื่อเตรียมตัวในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

สำหรับสมาคมสายการบินประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 ประกอบไปด้วยสมาชิกสายการบินจำนวน 7 สายการบินได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, สายการบินไทยแอร์เอเชีย, สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, สายการบินไทยสไมล์, สายการบินนกแอร์, สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ทมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อพัฒนาการบริการของสายการบินในประเทศไทยให้เกิดมาตรฐานอย่างยั่งยืนและเสริมสร้าง ความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย ,บูรณาการการพัฒนาเพื่อส่งเสริมสนับสนุนหน่วยงานของรัฐเพื่อพัฒนาการบินและการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย , ดำเนินการหรือสนับสนุนภาคการศึกษาในการผลิตชุดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบินและการท่องเที่ยว รวมไปถึงการร่วมทำการวิจัยและการพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย ,ส่งเสริม สนับสนุน และร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์

ที่มา: ไทยโพสต์, 24/2/2564

เปิดตัวเลขเงินออมหลังเกษียณ 2.8-4 ล้านถึงจะอยู่รอด

23 ก.พ. 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ยังเผยแพร่รายงานพิเศษเรื่อง ‘หลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุ : เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น’ โดยระบุว่าไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Completely Aged Society) ในปี 2566 และสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในปี 2576 หรือ 12 ปีข้างหน้า แต่การออมในผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิต โดยเสนอให้ภาครัฐดำเนินการใน 2 ประเด็น ได้แก่

1.การส่งเสริมการออมเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุโดยการสร้างการรับรู้และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงหลักประกันให้สะดวกและรวดเร็ว ทั้งการสมัครและการขอรับสิทธิประโยชน์และทบทวนฐานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบประกันสังคมและปรับอัตราการออมเพื่อให้แรงงานสามารถออมได้มากขึ้น ขณะที่ภาคประชาชนสามารถเตรียมความพร้อมโดยการเก็บออมได้อีกทางหนึ่งด้วย

2.การเพิ่มรายได้โดยส่งเสริมการมีรายได้หลังเกษียณและความรู้ทางการเงิน การประกอบอาชีพตามความสามารถของผู้สูงวัย และเพิ่มความรู้ในการบริหารจัดการการเงิน (Financial literacy)

“เราเคยมีการศึกษาไว้ว่าเงินออมที่พึงมีหลังจากอายุ 60 ปีไปแล้ว ในเขตเมือง ต้องมีเงินออม 4 ล้านบาท เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ต่อไปหลังเกษียณ ส่วนในชนบท ต้องมีเงินออมประมาณ 2.8 ล้านบาท แต่ระบบบำนาญของเรา จะพบว่าคนที่มีรายได้เพียงพอหลังเกษียณไปแล้วอยู่ในระดับไม่ค่อยดีนัก และหากเราไม่ทำอะไรเลย ในอนาคตจะมีคน 14 ล้านคน ที่จะอยู่ได้หรือมีรายได้จากเบี้ยผู้สูงอายุเท่านั้น จึงต้องทำให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบการออม” นายดนุชา กล่าว

ที่มา: ไทยโพสต์, 23/2/2564

สภาพัฒน์เผย COVID-19 ส่งผลว่างงาน-หนี้ครัวเรือนปี 2563 เพิ่ม

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2563 และภาพรวมปี 2563 ว่าสถานการณ์แรงงานไตรมาส 4/2563 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง และชั่วโมงการท่างานยังต่ากว่าภาวะปกติ

ขณะที่ตลอดปี 2563 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่ม และชั่วโมงการทำงานลดลง โดยกำลังแรงงานในปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 38.5 ล้านคน หรือขยายตัว 1.0% การจ้างงาน ขยายตัว 0.2% จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 0.3% ส่วนการจ้างงานภาคเกษตรกรรม ลดลง 0.1%

ด้านอัตราการว่างงานปี 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 1.69% เพิ่มจากปี 2562 ที่ 0.98% และชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยลดลง โดยชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 45.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือลดลง 5.7% ขณะที่แรงงานที่ทำงานล่วงเวลา (ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีจำนวนลดลง 17.1% ซึ่งส่วนหนึ่งทำให้แรงงานมีรายได้ลดลงและอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

ในส่วนหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 3/2563 มีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 3.9% ใกล้เคียงกับ 3.8% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 86.6% ต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยไตรมาส 3/63 ยอดคงค้างหนี้ NPLs เพื่อการอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 144,329 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.91% ของสินเชื่อรวม ลดลงเมื่อเทียบกับ 3.12% ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อชะลอการด้อยคุณภาพของสินเชื่อ ทำให้ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อดีขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังความสามารถในการชำระหนี้ เนื่องจากในไตรมาส 3/2563 สัดส่วนหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (Special Mention Loans: SM) ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนสูงถึง 6.7% ต่อสินเชื่อรวม หรือคิดเป็น 2 เท่าของสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวม ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่สินเชื่อดังกล่าวจะกลายเป็น NPLs หากมีปัจจัยลบมากระทบต่อรายได้หรือความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน

ขณะที่แนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในระยะถัดไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนตามมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ รวมถึงกิจกรรมเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่จะทำให้ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินในวงกว้างและเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น และเป็นความท้าทายสำคัญในการหาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาสภาพคล่องซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจ โดยระยะถัดไปอาจต้องพิจารณาถึง (1) การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่เคยได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้รายใหม่ (2) การจำแนกลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ออกจากลูกหนี้กลุ่มอื่น เพื่อไม่ให้เกิดการที่กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีปัญหาทางการเงินแต่เข้ารับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และ (3) การต้องให้ความช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยเป็นพิเศษ เนื่องจากการลดลงของรายได้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพ เพราะมีภาระหนี้สินและขัดสนด้านการเงินเดิมอยู่แล้ว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 23/2/2564

รมว.แรงงาน เล็งตั้งโต๊ะรับลงทะเบียน “ม.33 เรารักกัน” หน้าโรงงาน ช่วยลูกจ้างไม่มีสมาร์ทโฟน รับเงิน 4,000 บาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีแรงงาน เปิดเผยภายหลัง เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ว่า เพื่อแก้ปัญหาแรงงาน ม.33 กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ให้สามารถลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 4,000 บาทในโครงการ ม.33เรารักกัน ให้รวดเร็ว เนื่องจากกลุ่มแรงงานมีความกังวลหากหมดเขตการลงทะเบียนแล้วจะไม่ได้รับสิทธิ์ จึงมีแนวคิดให้ธนาคารกรุงไทย และสำนักงานประกันสังคม ตั้งโต๊ะรับลงทะเบียนที่หน้าโรงงานต่างๆ เพื่อดูแลกลุ่มดังกล่าว

“จากการสอบถามข้อมูลฝ่ายบุคคลของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ พบว่ามีพนักงานไม่มีสมาร์ทโฟนกว่า 1,000 คน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และอยู่ในกลุ่มเกษตรกร ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ประสานกับธนาคารกรุงไทย และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด เพื่อไปตั้งโต๊ะรับลงทะเบียนตามโรงงานต่างๆ แต่หากมีจำนวนไม่มากก็ให้ไปลงทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด”

นานสุชาติ กล่าวต่อว่า โครงการ ม.33เรารักกัน เป็นสิทธิ์เฉพาะตัว ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ไม่ต้องรีบมาลงทะเบียนและไม่ต้องรีบยืนยันสิทธิ์ ซึ่งยังสามารถทยอยลงทะเบียนได้จนถึงวันที่ 7 มีนาคม 64 และยังสามารถกดรับสิทธิ์ได้จนถึงวันที่ 12 เม.ย.64แต่ต้องใช้เงินให้หมดภายในวันที่ 31 พ.ค.64

พร้อมกันนี้ คาดว่ามาตรการ ม.33เรารักกัน ซึ่งใช้งบ 37,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้ประกันตน 9 ล้านกว่าคน จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 5-7 รอบ ทำให้จีดีพีไตรมาส 3 และ 4 เติบโตอย่างแน่นอน เนื่องจากเงินที่รัฐบาลให้ ไม่ใช่เงินสดแต่เป็นเงินที่ต้องใช้จ่ายทันที

นอกจากนี้ยังได้หารือกับ รมว.คลัง เกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อนำเงินในกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ 2.2 ล้านล้านบาท มาใช้ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายบังคับไม่ให้นำเงินไปใช้นอกวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะเงินในกองทุนชราภาพที่มีอยู่ 1.8 ล้านล้านบาท เพื่อให้ผู้ที่ต้องการใช้เงินในภาวะฉุกเฉิน สามารถนำเงินมาใช้ได้ก่อนเกษียณอายุ โดยภายในสิ้นเดือน ก.พ. 64 กระทรวงแรงงานจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมทั้งระบบ หลังจากนั้นจะเสนอ ครม.ขอความเห็นชอบต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/2/2564

สหภาพฯ "การบินไทย" ยื่นผู้ทำแผนขีดเส้นตายให้ยุบ "ไทยสมายล์" ย้ำห้ามเลิกจ้างพนักงาน

22 ก.พ. 2564 นายสรยุทธ หอมสุคนธ์ ประธานสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องเรื่องการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ต่อคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย โดยระบุว่าเห็นสมควรยื่นข้อเรียกร้องโดยอาศัยสิทธิตาม มาตรา 13 ประกอบมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 โดยมีข้อเรียกร้องทั้งหมด 20 ข้อ ได้แก่

1.ให้สายการบินไทย โดยบริษัทการบินไทยฯ ทำการบินในประเทศมากขึ้นโดยด่วนเพื่อสร้างรายได้ และสร้างงานให้แก่พนักงาน

2.ยุบหรือควบรวมบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (WE) ทั้งนี้ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด มีผลประกอบการขาดทุนสะสมเป็นจำนวนมากมาตลอดนับจากการก่อตั้งบริษัท และเป็นภาระของบริษัทการบินไทยฯ

3.ต้องไม่มีการเปิดให้พนักงานสมัครกลับเข้ามาทำงานใหม่ในตำแหน่งต่างๆ(Re-Launch) โดยการสอบข้อเขียน/สอบสัมภาษณ์ เพราะพนักงานมีศักยภาพ มีตำแหน่งการทำงานอยู่แล้วในปัจจุบัน และสามารถปฎิบัติงานได้ในทันที/ปฏิบัติงานอยู่แล้วเป็นปกติในปัจจุบัน

4.ห้ามมิให้บริษัทการบินไทยฯ แยกหน่วยธุรกิจหรือฝ่ายใดๆ เพื่อขายส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด ให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เพราะด้วยหลักการข้างต้นก็มีนัยยะที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยพนักงานมีการเปลี่ยนตัวนายจ้างโดยขัดต่อกฏหมาย

5. การกำหนดโครงสร้างอัตราเงินเดือนที่บริษัทการบินไทยฯ จะประกาศใหม่ต้องไม่กระทบสิทธิของพนักงาน ระดับ 1-7 และต้องไม่ต่ำกว่าราคาอัตราเงินเดือนของกลุ่มธุรกิจการบินในระดับสากล ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการลูกจ้าง หรือ สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) ก่อน

6.ห้ามมิให้มีการเลิกจ้างพนักงานระดับ 1-7 เพราะจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการเลิกจ้างอย่างมาก เพราะบริษัทการบินไทยฯต้องจ่ายทันทีในวันสุดท้ายของการทำงาน และอาจเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ต้องจ่ายค่าชดเชย 1-2 เดือน โดยหากผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด

7. ตามประกาศบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 004/2564 เรื่อง โครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan B (“MSPB”) และประกาศบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 005/2564 เรื่อง โครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan C (“MSPC”) เงินตอบแทนการเลิกจ้างและเงินชดเชยต่างๆตามกฏหมาย ห้ามมิให้ผ่อนจ่าย เว้นแต่พนักงานยินยอม

8. ขอให้บริษัทฯ คืนสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ของพนักงาน ตามระเบียบบริษัทฯ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลทั้ง 19 ตอน ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 ซึ่งเป็นข้อตกลงสภาพการจ้างที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ เนื่องจากเป็นการตกลงสองฝ่าย มิใช่ข้อบังคับการทำงานที่นายจ้างกำหนดแต่ฝ่ายเดียวและไม่เป็นคุณยิ่งกว่า ให้กับสมาชิกสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย ซึ่งเป็นพนักงานระดับ 1-7 สร.พบท.ยืนยันที่จะขอให้บริษัทฯ และคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ใช้ระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคลดังกล่าว

9.ขอให้บริษัทฯ ประกาศโครงสร้างอัตราเงินเดือนใหม่ให้พนักงานทราบอย่างเป็นทางการและเปิดเผย เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือก MSP B หรือ MSP C

10.ขอให้บริษัทฯ จ่ายค่าชดเชยจากผลกระทบที่เกิดขึ้นให้กับพนักงานอู่ตะเภา (UTP) ซึ่งตามมาตรา 60-64 ของ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระบุไว้ว่า EEC จะต้องนำกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษฯ มาดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย และให้หาอัตราตำแหน่งงานที่เหมาะสมให้กับพนักงานอู่ตะเภา โดยไม่ต้องมีการสอบเพิ่มเติมอื่นใดทั้งสิ้น

11.ให้บริษัทการบินไทยฯ มีหน้าที่จัดตั้งคณะกรรมการลูกจ้างตามกฎหมายให้กับ สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) ทั้งนี้ให้คณะกรรมการลูกจ้างมีหน้าที่เป็นคณะกรรมการสวัสดิการ ตามกฎหมาย

12.ขอให้ยกเลิกข้อกำหนดที่ประกาศการเลิกจ้าง สำหรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ 1 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป เพราะถือเป็นการเลือกปฏิบัติสำหรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แต่ให้มีการหาตำแหน่งงานในส่วนภาคพื้นให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเหล่านั้นทำแทน

13.ให้คงใช้ระเบียบริษัทฯ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลเดิมทั้งหมด ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 และหากจะมีการปรับปรุงแก้ไขในอนาคต ต้องจัดให้มีคณะกรรมการแก้ไขปรับปรุงระเบียบฯ โดยเป็นผู้แทนของ สร.พบท. เข้าร่วมในการพิจารณา

14.ให้สหภาพฯ สร.พบท. มีส่วนในการเข้าเป็นคณะทำงานฯ เพื่อร่วมพิจารณาในการออกประกาศ หรือคำสั่งใดๆ ที่กระทบสภาพการจ้าง สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการของพนักงาน อีกทั้งการแก้ไขระเบียบฯใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสภาพการจ้าง และการปฏิบัติงาน ต้องมีข้อตกลงร่วมกับสหภาพฯ สร.พบท.

15.ให้สหภาพฯ สร.พบท. มีส่วนร่วมในการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ในการสร้างกำไรให้กับบริษัทฯ

16.จัดให้มีสถานพยาบาล และแพทย์ตลอด 24 ชม. ในสถานประกอบการ และ จัดให้มีสวัสดิการ รถ-รับส่งตามเดิม

17.ให้บริษัทฯ แต่งตั้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้คณะกรรมการสหภาพฯสร.พบท. เข้าเป็นคณะกรรมการพิจารณาวินัยพนักงาน และเป็นกรรมการในเรื่องการพิจารณาหลักเกณฑ์การปรับโครงสร้างเงินเดือนประจำปี และผลประโยชน์ตอบแทนของพนักงาน

18.ในกรณีที่บริษัทฯ มีการโยกย้ายหรือสับเปลี่ยนพนักงานจากสังกัดเดิมไปปฏิบัติงานสังกัดอื่น ต้องแจ้งให้พนักงานผู้ถูกโยกย้ายหรือสับเปลี่ยนทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันทำการ โดยต้องได้รับคำยินยอมจากพนักงานก่อน

19.ให้บริษัทฯ คงสิทธิ์พนักงานกองทุนบำเหน็จทุกคนให้ได้รับสิทธิในเงินกองทุนบำเหน็จโดยเป็นไปตามระเบียบบริษัทว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 5 การจ่ายเงินบำเหน็จและเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน พ.ศ. 2537 และนำบรรจุในแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และที่ประชุมเจ้าหนี้ได้รับทราบถึงภาระที่บริษัทการบินไทยฯ มีอยู่ต่อพนักงานในกองทุนบำเหน็จ และแผนการจ่ายเงินจากกองทุนบำเหน็จในอนาคต

20.ให้บริษัทฯ คุ้มครองสิทธิ์สมาชิก สร.พบท.ที่เลือกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในส่วนการจ่ายเงินสมทบให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530ข้อตกลงใดที่ตกลงกันได้ตามข้อเรียกร้องฉบับนี้ ให้มีผลผูกพันและใช้บังคับระหว่างบริษัทการบินไทยฯ กับพนักงาน และสมาชิกของสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.)

ในการยื่นข้อเรียกร้องครั้งนี้ สหภาพแรงงานขอแจ้งรายชื่อผู้แทนเจรจา คือ ประธานและกรรมการสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.)และที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายของสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย และขอให้บริษัทการบินไทยฯนัดเจรจาภายใน 3 วันคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 มิฉะนั้น สร.พบท. จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เนื่องจากบริษัทละเมิดกฏหมายแรงงานหลายข้อ

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 22/2/2564

เจ้าหน้าที่สั่งห้ามแรงงานพม่าที่ระนองชุมนุม เสี่ยงโควิด ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และไม่ได้ขออนุญาต ส่วนที่เกาะสองคนแน่น

22 ก.พ. 2564 ที่ลานหน้าอนุสาวรีย์ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี หน้าสำนักงานเทศบาลเมืองระนอง ต.เขานิเวศน์ อ.เมือง จ.ระนอง เริ่มมีแรงงานชาวเมียนมาร่วม 20 คน ทยอยกันเดินทางมาเพื่อรวมตัวกันชุมนุมประท้วง และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน ควบคู่ไปกับการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในประเทศเมียนมาบ้านเกิด แต่ไม่สามารถรวมตัวกันได้

เนื่องจาก เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจังหวัดระนอง ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เข้าชี้แจงถึงกฎหมายห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งมิได้ขออนุญาตชุมนุมต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และอาจมีความผิด ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

จึงทำให้แรงงานชาวเมียนมาต่างผิดหวัง แต่เข้าใจในคำชี้แจงของฝ่ายงานความมั่นคงเป็นอย่างดี ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับ และแรงงานบางกลุ่ม ก็นั่งรถซาเล้งเดินทางกลับโดยดี ซึ่งเมื่อวานนี้ กลุ่มพี่น้องชาวแรงงานเมียนมาในเขต อ.เมืองระนอง ได้ร่วมกันบริจาคเงินสดคนละเล็กคนละน้อยเป็นเงินร่วม 70,000 บาท ส่งกลับให้กับกลุ่มชุมนุมประท้วงที่ จ.เกาะสอง ที่มีการนัดชุมนุมครั้งใหญ่ในวันนี้

สำหรับบรรยากาศที่เมืองเกาะสอง ที่อยู่ปลายแหลมและใต้สุดของประเทศเมียนมา ตรงกันข้ามกับ อ.เมือง จ.ระนอง ได้มีชาวเมืองเกาะสอง ร่วมกันปิดห้างร้านและหยุดงาน ร่วมกับหน่วยงานราชการในท้องถิ่น ออกมาร่วมเดินชุมนุมแสดงพลังครั้งใหญ่ ที่เมืองท่าเกาะสอง พร้อมตะโกน เราต้องการประชาธิปไตย รัฐบาลของประชาชน และไม่อยากกลับคืนไปสู่การปกครองโดยทหารแบบเดิม พร้อมกับตะโกนสโลแกนต่อต้านการรัฐประหารเช่น “เราไม่ต้องการเผด็จการทหาร เราต้องการประชาธิปไตย” และถือป้ายประท้วงมากมายรวมทั้งป้ายที่มีข้อความว่า “เคารพเสียงโหวตของเรา”

และมีการเดินถือ ป้ายซึ่งเขียนข้อความภาษาอังกฤษ “พวกเราต้องการประชาธิปไตย” รวมทั้งการยืนแปลอักษร ในข้อความ พวกเราต้องการประชาธิปไตย เช่นเดียวกัน ส่วนข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ เราไม่ต้องการกลับไปเป็นการปกครองโดยทหาร เราไม่ต้องการมีชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัว เราต้องการให้ อะ เหม่ ซู หรือคุณแม่ซูจี ได้รับการปลดปล่อยจากการควบคุมตัวอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้ง เราต้องการขุดรากถอนโคนระบบที่ทหารเข้ามาครองตำแหน่งบริหารของพลเรือน

ที่มา: คมชัดลึก, 23/2/2564

ก.แรงงาน ปล่อยกู้สถานประกอบการเพิ่มทักษะลูกจ้าง สุงสุด 1 ล้านบาทปลอดดอกเบี้ยฝ่าวิกฤตโควิด

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน มอบหมายให้ กพร.ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญจัดการความเสี่ยงด้วยแนวทางเยียวยาความเดือดร้อนของกำลังแรงงานของประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการที่ต้องการพัฒนาทักษะฝีมือของลูกจ้างเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานสามารถกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ปลอดดอกเบี้ย (ดอกเบี้ย 0%) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม หรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน

ทั้งนี้ กพร.ได้จัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่สถานประกอบกิจการกู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยต่อเนื่องจนถึง 31 สิงหาคม 2564 ในวงเงินกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท ในปี 2564 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดสรรเงินจำนวน 30 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน สำหรับให้สถานประกอบกิจการกู้ยืมไปใช้ในการพัฒนาทักษะ หรือนำไปใช้ในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้แก่พนักงาน แบบไม่มีดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2563-31 สิงหาคม 2564 ปัจจุบัน ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ได้อนุมัติให้เงินกู้ยืมไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท และมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ให้บริการรับคำขอกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน

โดยการให้กู้ยืมดังกล่าวเป็นมาตรการจูงใจเพื่อให้สถานประกอบกิจการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานที่เป็นลูกจ้างของตนเองเพื่อให้มีทักษะฝีมือเพิ่มสูงขึ้น สถานประกอบกิจการที่สนใจสามารถยื่นคำขอกู้ยืมได้ที่ สพร. และ สนพ.ทุกแห่งทั่วประเทศ โดยสามารถยื่นคำขอกู้พร้อมหลักฐานได้ตั้งแต่วันนี้-15 กรกฎาคม 2564 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สพร. และ สนพ.ทุกจังหวัด หรือกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 0 2643 6039 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

ที่มา: สยามรัฐ, 22/2/2564

ก.แรงงาน เปิด "DISDA" ยกระดับแรงงานดิจิทัล ป้อนภาคอุตสาหกรรม

18 ก.พ. 2564 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน Building Thailand Digital Workforce ซึ่งภายในงานประกอบด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ การเปิดตัวสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (Digital Skill Development Academy: DISDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อดูแลการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่แรงงาน การเปิดตัว DSD App ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมการให้บริการของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานไว้ในที่เดียว และเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการพัฒนาทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับธุรกิจ พร้อมมอบโอวาทให้แก่ผู้เข้ารับการสัมมนาจำนวน 100 คน ณ ห้องประชุม จอมพล ป.พิบูลสงคราม กระทรวงแรงงาน

โดย ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และการกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้หน่วยงานรัฐดำเนินงานภายใต้การบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายตามแนวทางประชารัฐ และมุ่งเน้นพัฒนาทักษะแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อปฏิรูปประเทศไทยสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 โดยได้กำหนดทิศทางให้กำลังคนในประเทศต้องมีความรอบรู้ สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการทำงานในทุกด้าน ทั้งการทำงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจ การประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติและอุปกรณ์อัจฉริยะ การทำงานรูปแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ไปจนถึงรองรับทักษะและอาชีพในอนาคต เพื่อให้แรงงานไทยสามารถเผชิญหน้ากับสถานการณ์การทำงานในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกได้ จึงได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล เพื่อจัดทำแผนพัฒนากำลังคน ส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม และเชื่อมโยงความร่วมมือพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ให้รองรับความต้องการของภาคเอกชนในการปรับเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพิ่มรูปแบบการเรียนรู้ทักษะด้านดิจิทัล จัดให้บริการทั่วประเทศ ทั้งรูปแบบ online และ offline ด้วย DSD Application ซึ่งเป็นช่องทางการเข้าถึงที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา

ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า ในวันนี้เราได้รับความร่วมมือจากบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสมาร์ทดีไวซ์ระดับโลก พร้อมจะร่วมช่วยสร้างโอกาสการเรียนรู้ และจัดการฝึกอบรมที่เน้นการพัฒนาทักษะแรงงาน รวมไปถึงการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน (Re Skill) และการยกระดับทักษะเดิมที่ดียิ่งขึ้น (Up Skill) เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะพร้อมตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ช่วยลดอัตราการว่างงาน เพิ่มรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น พัฒนาด้านดิจิทัลให้แข็งแกร่ง เพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะสูงให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 และในวันนี้ยังได้ส่งวิทยากรมาบอกเล่าเรื่องราวของ 5G, ไอโอที, Cloud กับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาทักษะและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในความร่วมมือในการพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งนอกจากจะมีเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับนวัตกรรมในอุตสาหกรรมด้านต่างๆด้วย และเปิดโอกาสให้ผู้นำด้านเทคโนโลยี ได้นำเสนอแนวทางและข้อเสนอแนะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการยกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรม ให้ผู้ประกอบกิจการได้แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนาทักษะแรงงาน และให้สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัลในฐานะผู้ให้บริการ มีข้อมูลในการวางแผนพัฒนากำลังคนต่อไป

"ขอบคุณหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและมีส่วนรวมในการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลเป็นทักษะที่แฝงอยู่ในทุกภาคอุตสาหกรรม มีบทบาทอย่างยิ่งในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจในอนาคต" ศ.ดร.นฤมล กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 18/2/2564

ราชกิจจานุเบกษาประกาศจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพผู้ประกันตนร้อยละ 2.75 - 3.11 ต่อปี

17 ก.พ. 2564 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ความว่า โดยที่เป็นการสมควรกำหนดอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพและวิธีการในการคำนวณจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 6 (2) ของกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ. 2550 สำนักงานประกันสังคมจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 เงินสมทบสุทธิ หมายถึง เงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ

ข้อ 3 การคำนวณจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพให้แก่ผู้มีสิทธิให้คำนวณจ่ายถึงวันที่มีสิทธิ ตามหลักเกณฑ์ในข้อ 7 แห่งกฎกระทรวงกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ. 2550

ข้อ 4 ผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพ ให้คำนวณจ่ายในอัตราร้อยละสองจุดเจ็ดห้าต่อปี ของเงินสมทบสุทธิและผลประโยชน์ตอบแทนสะสมรวมกัน

ข้อ 5 อัตราผลประโยชน์ตอบแทนตามข้อ 4 ให้ใช้ในการคำนวณจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพ จนกว่าสำนักงานประกันสังคมจะออกประกาศเปลี่ยนแปลง

ประกาศ ณ วันที่ 2 ก.พ. พ.ศ. 2564

ที่มา: คมชัดลึก, 18/2/2564

รมว.แรงงาน ลงนามประกาศ การจัดที่พักสวัสดิการให้ลูกจ้าง ลดเสี่ยงโควิด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่งเสริมให้นายจ้างจัดสวัสดิการที่เหมาะสมให้กับลูกจ้าง เพื่อช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง การจัดสวัสดิการเกี่ยวกับอาคารที่พักอาศัย ถือเป็นสวัสดิการนอกเหนือกฎหมายกำหนดที่นายจ้างจัดให้ลูกจ้าง หากอาคารที่พักอาศัยมีสภาพที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ถูกสุขลักษณะ และมีลูกจ้างพักอาศัยจำนวนมากเกินไป อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง

ดังนั้น จึงได้ลงนามในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การจัดสวัสดิการสำหรับสถานประกอบกิจการที่จัดที่พักอาศัยให้กับลูกจ้าง ในการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับนายจ้างที่จัดสวัสดิการที่พักอาศัยให้กับลูกจ้าง ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน เพื่อให้การพักอาศัยของลูกจ้างเป็นไปโดยถูกสุขลักษณะ และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ด้าน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ประกาศกระทรวงแรงงานฉบับดังกล่าว ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 93 (1) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานมีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับนโยบาย แนวทาง และมาตรการด้านสวัสดิการแรงงาน

โดยมีสาระสำคัญของลักษณะห้องพักอาศัย อาทิ ขนาดห้องพักอาศัยควรมีขนาดพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 9 ตารางเมตร ความสูงไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร พื้นที่พักอาศัย ไม่น้อยกว่า 3 ตารางเมตรต่อ 1 คน มีการจัดระยะห่างของเตียงนอน หลีกเลี่ยงการนอนเตียงเดียวกัน และบริเวณห้องพักในที่พักอาศัยต้องมีประตู หน้าต่าง หรือช่องระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ และจัดให้มีที่ล้างมือ พร้อมสบู่และน้ำ หรือแอลกอฮอล์เจลสำหรับทำความสะอาดมือไว้บริการผู้พักอาศัยในบริเวณต่าง ๆ อย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ ลูกจ้างต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 โดยยึดหลัก D-M-H-T-T ของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 17/2/2564

พนง.กรุงไทยวอนขอความเห็นใจหลังเปิดจุดลงทะเบียน "เราชนะ" ทำคนล้นจนเกิดดราม่าบริการไม่ดี

16 ก.พ.2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่าจากกรณีธนาคารกรุงไทยแจ้งว่า จะอำนวยความสะดวกให้ผู้มีความประสงค์ที่จะลงทะเบียนโครงการ "เราชนะ" แต่ไม่มี Smartphone โดยเปิดจุดบริการพิเศษ ระหว่างวันที่ 15-25 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านธนาคารกรุงไทย และจุดบริการรวม 871 จุด สำหรับกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน หรือ ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ สามารถลงทะเบียนได้ โดยในหลายจังหวัดได้มีประชาชนแห่ไปใช้บริการจำนวนมาก โดยมีประชาชนที่ไปเข้าคิวรอตั้งแต่ธนาคารยังไม่เปิด ทำให้พื้นที่ให้บริการไม่พอจนล้นออกมาหน้าธนาคารและบริเวณถนน อีกทั้งยังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการบริการของพนักงานที่ไม่สุภาพ ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

ล่าสุด แฟนเพจชื่อดังอย่าง "drama-addict" ได้ออกมาเผยแพร่เรื่องราวของเจ้าหน้าที่กรุงไทยรายหนึ่ง ซึ่งได้ส่งข้อความพร้อมทั้งเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่า "เราในฐานะที่เป็นพนักงาน กรุงไทยค่ะ เราแค่อยากเล่าให้แอดฟังนะคะ" ธนาคารกรุงไทยก็เป็นแค่หน่วยงานนึงที่รับนโยบายมาจากรัฐ พวกเราเป็นเพียงพนักงานที่ต้องทำตามคำสั่งค่ะแต่เราอยากให้มองอีกมุมนึง ตั้งแต่มีนโยบายที่ออกมามากมาย ตั้งแต่ "โครงการชิมช้อปใช้" พวกเราพนักงาน ต้องออกตลาดเพื่อเชิญชวนร้านค้ามาเข้าร่วมโครงการ และตอนนั้นร้านค้าต่างๆ ก็ไม่ได้ให้ความสนใจ ซึ่งพวกเราก็ต้องเชิญชวนร้านค้าให้ครบตามเป้าหมายของรัฐโครงการ เราไม่ทิ้งกัน พนง.ธ.กรุงไทย ต้องลงพื้นที่ไปทบทวนสิทธิให้แก่ประชาชน ซึ่งตอนนั้นโควิดกำลังระบาดหนัก พวกเรากลัวโควิดกันมาก แต่ก็ต้องลงพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์เพื่อทบทวนสิทธิให้กับชาวบ้าน

ทั้งการต้องลงพื้นที่หาร้านคำเข้าร่วมโครงการ ทั้งการยืนยันตัวตนให้กับผู้ที่ได้ลงทะเบียนไปแล้ว ในสถานะการณ์ที่โควิดระบาด ในช่วงที่หน่วยงานอื่นๆ เค้า work from home แต่พวกเราต้องออกมาทำหน้าที่ทุกวัน "จนมาถึงโครงการเราชนะในวันนี้ แอดรู้มั้ยคะว่า สาขานึง จะมี พนง.อยู่แค่ประมาณ 10 คนเองค่ะ บางส่วนต้องถูกแบ่งไปช่วยในจุดบริการที่ตั้งอยู่ในหน่วยงานของรัฐ และพวกเราก็ยังต้องทำงานประจำวันด้วย" การที่ พนง.แค่ 10 คน จะรับมือกับประชาชนเป็นร้อยเป็นพัน มันต้องมีข้อผิดพลาดกันบ้างค่ะ เราเข้าใจค่ะว่า อาจจะมี พนง.บางคนที่อาจจะควบคุมอารมณ์ไม่ได้จนแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีออกไปบ้าง ทุกวันนี้พวกเราก็กลัวโควิดเหมือนกับคนอื่นๆ นะคะ

"จากประสบการณ์ที่ได้ลงพื้นที่เป็นผู้พิทักษ์ทบทวนสิทธิให้ประชาชนในโครงการเราไม่ทิ้งกัน เมื่อเราได้เห็นรอยยิ้มของชาวบ้าน เมื่อเขาได้รับความช่วยเหลือ เรารู้สึกมีความสุขมากค่ะ. ซึ่งก็หวังว่าในครั้งนี้ ทุกคนจะได้บความช่วยเหลืออีกครั้งค่ะ และยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรอยยิ้มในครั้งนี้อีกครั้งค่ะ"

ที่มา: สยามรัฐ, 16/2/2564

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศผ่อนผันต่างด้าว 3 สัญชาติ ทำงานในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีเฉพาะ

16 ก.พ. 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ กระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564

ประกาศดังกล่าว มีใจความว่า อนุญาตให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถทำงานอยู่ในราชอาณาจักรไปพลางก่อนได้ จนถึงวันที่ 13 ก.พ. 2564 โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่า นายจ้างจะต้องยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต่อกรมการจัดหางาน พร้อมด้วยรูปถ่ายปัจจุบันของคนต่างด้าว ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ภายในวันที่ 13 ก.พ. 2564

นอกจากนี้ แรงงานต่างด้าวจะต้องตรวจโรคโควิด-19 และโรคต้องห้ามตามกฎกระทรวงก่อนรับอนุญาตทำงาน

ทั้งนี้ การบริการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ให้มีผลบังคับใช้ได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศดังกล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 16/2/2564

ร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ

คณะรัฐมนตรีมีติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ รง. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในกรณีนายจ้างหรือเจ้าของ สถานประกอบการที่รับคนพิการเข้าทำงานหรือดำเนินการอย่างอื่นแทนการรับคนพิการเข้าทำงานปฏิบัติไม่ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ โดยขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจาก ภายในสี่สิบห้าวัน เป็น ภายในเก้าสิบวัน โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติได้เห็นชอบด้วยแล้ว

ทั้งนี้ รง. เสนอว่า

1. โดยที่มาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติให้เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงกำหนดจำนวนที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทำงาน มาตรา 34 บัญญัติให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่มิได้รับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และมาตรา 35 บัญญัติให้ในกรณีที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงาน และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตราดังกล่าว นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐนั้นอาจให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงานหรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้

2. ต่อมาได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554 ซึ่งข้อ 3 ของกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่หนึ่งร้อยคนขึ้นไปรับคนพิการที่สามารถทำงานได้ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดในอัตราส่วนลูกจ้างที่มิใช่คนพิการทุกหนึ่งร้อยคนต่อคนพิการหนึ่งคน และข้อ 6 กำหนดให้ในกรณีที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการผู้ใดได้รับคนพิการเข้าทำงานตามที่กำหนดในข้อ 3 หรือได้ดำเนินการตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่ปฏิบัติไม่ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 33 หรือมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามจำนวนวันที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เว้นแต่ได้มีการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ครบตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

3. โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลกระทบต่อ สภาวะเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อนายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการที่รับคนพิการเข้าทำงานหรือดำเนินการอย่างอื่นแทนการรับคนพิการเข้าทำงาน แต่ปฏิบัติไม่ครบตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เว้นแต่ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดภายในสี่สิบห้าวันตามข้อ 2. ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการที่รับคนพิการเข้าทำงานฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้มีระยะเวลาในการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด รง. จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงในข้อ 2. ในส่วนที่เป็นข้อยกเว้นเกี่ยวกับระยะเวลาที่นายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการต้องดำเนินการ จาก ภายในสี่สิบห้าวัน เป็น ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ดำเนินการไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564

4. ในคราวประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 เห็นชอบตามหลักการในร่างกฎกระทรวงตามข้อ 3.

จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. มาเพื่อดำเนินการ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี), 15/2/2564

กระทรวงแรงงาน เผยยอดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ทั้งสิ้น 654,864 คน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการยื่นคำขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าวต่อนายทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ตาม มติ ครม.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563

โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงานอย่างถูกต้อง และมีการหลบหนีเนื่องจากเกรงกลัวความผิด และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งในกลุ่มคนไทยและคนต่างด้าวเป็นจำนวนมาก

จึงเห็นควรให้มีการกำหนดมาตรการตรวจสอบ คัดกรองโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เพื่อควบคุม ยับยั้ง ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด -19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวและให้แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองหรือผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบการทำงานที่ถูกต้องแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้นายจ้างสถานประกอบการสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาคต่าง ๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

รวมทั้งทำให้เกิดความมั่นคงของระบบฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย (Big Data) ว่ามีอยู่จำนวนเท่าใด ทำงานอยู่กับใคร ประเภทกิจการอะไร และอยู่ที่ไหนบ้าง ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน

และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ตาม มติ ครม.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 เห็นชอบ ผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ นั้น

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ผลการยื่นคำขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าวต่อนายทะเบียนโดยผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. -13 ก.พ. ที่ผ่านมาปรากฏว่า มีคนต่างด้าว 3 สัญชาติ

กลุ่มแรกคนต่างด้าวที่มีนายจ้าง นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อฯ จำนวน 133,910 ราย เป็นคนต่างด้าว 596,502 คน แยกเป็น กัมพูชา 180,476 คน ลาว 63,482 คน และเมียนมา 352,544 คน

กลุ่มสองคนต่างด้าวที่ไม่มีนายจ้าง 58,362 คน แยกเป็น กัมพูชา 23,203 คน ลาว 3,626 คน และเมียนมา 31,533 คน รวมทั้งสองกลุ่มจำนวน 654,864 คน แยกเป็น กัมพูชา 203,679 คน ลาว 67,108 คน และเมียนมา 384,077 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.พ.64 เวลา 23.59 น.)

จังหวัดที่อนุมัติบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 120,163 คน ชลบุรี 47,326 คน ปทุมธานี 38,994 คน สมุทรปราการ 37,621 คน และสมุทรสาคร 28,953 คน ประเภทกิจการที่อนุมัติบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว 5 อันดับแรก ได้แก่ กิจการก่อสร้าง คน 148,332 คน เกษตรและปศุสัตว์ 117,430 คน จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 49,702 คน การให้บริการต่างๆ 45,118 คน และกิจการต่อเนื่องการเกษตร 39,025 คน

สำหรับขั้นตอนต่อไปดำเนินการ ดังนี้ กรณีคนต่างด้าวที่มีนายจ้างเข้าตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 (สธ.) และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (ตม.) ภายในวันที่ 16 เม.ย. 2564 ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค (สธ.) ภายในวันที่ 18 ต.ค. 2564 จากนั้น สธ. ส่งผลการตรวจโรค และ ตม.ส่งข้อมูลการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ให้กกจ.ออกใบอนุญาตทำงานต่อไป นายจ้างชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 -11 หรือ ธนาคารกรุงไทย

และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th แนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงานเพื่อไปจัดทำทะเบียนประวัติ ภายในวันที่ 16 มิ.ย. 64 นายจ้างพาคนต่างด้าวไปทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) และรับบัตรสีชมพู ณ สถานที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนด ภายใน 30 ธ.ค. 2564

กรณีคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง เข้าตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 (สธ.) และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (ตม.) ภายในวันที่ 16 เม.ย. 2564 ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค (สธ.) ภายในวันที่ 18 ต.ค. 2564 คนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจโรค ทำทะเบียนประวัติ (ทร. 38/1) ณ สถานที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ

กำหนดภายในวันที่ 16 มิ.ย. 2564 นายจ้างที่ประสงค์จ้างคนต่างด้าวที่จัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) เข้าทำงาน ยื่นบัญชีรายชื่อแทนคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th ชำระค่าคำขอใบอนุญาตฯ ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th

โดยแนบใบรับรองแพทย์ หลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปจัดทำทะเบียนประวัติ ภายใน 13 ก.ย. 2564 นายจ้างพาคนต่างด้าวไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ณ สถานที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนดภายใน 28 ก.พ.2565 กรณีคนต่างด้าวทำงานประมงทะเลไปทำหนังสือคนประจำเรือ ณ ที่กรมประมงกำหนด

ทั้งนี้ ภายหลังจากวันนี้แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจังกับคนต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมือง และลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ซึ่งจะต้องดำเนินการผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงดำเนินคดีกับนายจ้าง/สถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายต่อไป

ที่มา: ประชาติธุรกิจ, 16/2/2564

กระทรวงแรงงาน ไม่ชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานกาตาร์แล้ว

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับการนำเข้าแรงงานไทยไปยังรัฐกาตาร์ และจากการประเมินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ของรัฐกาตาร์ที่มีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาด้านกฎระเบียบ และกฎหมายที่ดีขึ้น รวมทั้งเอื้อประโยชน์แก่แรงงานต่างชาติ ตลอดจนขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ตลาดแรงงานในรัฐกาตาร์มีความต้องการแรงงานไทยที่มีทักษะฝีมือ สำหรับโครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก เพื่อเร่งสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2022

“กระทรวงแรงงาน ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนและคนหางานที่มีความต้องการเดินทางไปทำงานในรัฐกาตาร์ทราบทั่วกัน เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานไทยได้เดินทางไปทำงานในต่างประเทศตามนโยบายส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศของรัฐบาล โดยการนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และความต้องการของตลาดแรงงานในรัฐกาตาร์ โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กรมการจัดหางานกำหนด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานมีภารกิจในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีค่าตอบแทนที่ดีและได้รับการดูแลตามสิทธิที่พึงมีตามกฎหมาย โดยยึดหลักความปลอดภัยของแรงงานไทยเป็นสำคัญ ซึ่งกรมการจัดหางานได้กำหนดมาตรการการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยกำหนดให้คนหางานที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ทุกประเทศและทุกวิธีการเดินทางในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) ลงนามในหนังสือรับทราบและยินยอมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) และจัดทำประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

“กรมการจัดหางานมีการชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในรัฐกาตาร์ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 เนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่กลุ่มประเทศอาหรับตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐกาตาร์ จนส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ การจ้างงานภาคก่อสร้างชะลอตัว และความต้องการแรงงานต่างชาติลดลง รวมทั้งปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทำให้เกิดมาตรการระงับการเข้าประเทศชั่วคราวสำหรับผู้ที่เดินทางจากประเทศไทย ซึ่งล่าสุดจากการประชุมสุดยอดอ่าวอาหรับ (GCC-Summit) เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 ณ เมืองอัล – อูลา (AL-Ula) ประเทศซาอุดีอาระเบีย ผลการประชุมมีมติให้ยุติมาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐกาตาร์ รวมทั้งมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการนำแรงงานไทยไปยังรัฐกาตาร์ตามมาตรการผ่อนคลายการนำเข้าแรงงานต่างชาติ ทำให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานพิจารณาให้ยกเลิกการชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในรัฐกาตาร์ ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป” “ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ทั้งนี้ ผู้สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 13/2/2564

จ้างงานคนพิการไม่ถึงเป้า เอกชนร้องปรับสูตรส่งเงินเข้ากองทุน

สื่อประชาชาติธุรกิจ รายงานว่าภาคแรงงานยังคงได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างจากการระบาดของโควิด-19 ล่าสุดผู้ประกอบการภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้หารือร่วมกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้านแรงงาน ในประเด็นการ “ขาดแคลน” แรงงานคนพิการที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

เนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต พ.ศ. 2550 คือ “ต้องจ้าง” จำนวนคนพิการที่มีคุณสมบัติตรงตามกฎหมายกำหนดที่ 1 : 100 นั้น แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลสถิติจำนวนคนพิการที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้คือคนพิการที่ได้รับการจ้างงานตามมาตรา 33 เพียง 39,878 คน คิดเป็น 45.79% ของจำนวนแรงงานคนพิการที่ต้องถูกจ้างทั้งหมดทั่วประเทศที่ 86,757 คน

ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่รับคนพิการเข้าทำงานนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554 ส่วนการจ้างงานตามมาตรา 34 คิดเป็นจำนวนคนพิการ 13,103 คน คิดเป็น 15.10% และการจ้างงานตามมาตรา 35 เป็นจำนวนคนพิการ 13,951 คน คิดเป็น 16.08% เท่ากับว่ายังมีจำนวนคนพิการเหลืออีกราว 19,825 คน คิดเป็น 22.85% ที่ควรจะต้องมีการจ้างแรงงานต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่าภายใต้เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในขณะนี้ ส.อ.ท.ยังได้เสนอให้มีการปรับสูตรการคำนวณจำนวนคนพิการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่กำหนดไว้ว่าหากนายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานให้ส่งเงินเข้ากองทุน โดยคำนวณจากอัตราต่ำสุดของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำคูณด้วย 365 วัน และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ไม่ได้รับเข้าทำงานตามมาตรา 33

อีกทั้งในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถจ้างคนพิการได้นั้น ด้วยเหตุที่ว่า “ไม่มีคนพิการ” ที่เพียงพอกับความต้องการจ้างงานได้ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนั้น จะต้องรับภาระส่งเงินเข้ากองทุน “เพิ่มขึ้นกว่าต้นทุนจริง” ถึง 16.61% จากการนำจำนวนเต็มปีที่ 365 วัน มาคำนวณแทน 313 วัน ที่เป็นวันที่แรงงานคนพิการได้ทำงานจริงนั้นเป็นการเพิ่มภาระโดยใช่เหตุ และไม่เป็นธรรม ที่สำคัญคือไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

“สถานการณ์ และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจากโควิด-19 เป็นเหตุผลที่ทำให้ภาคเอกชนที่ยังพอเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ไม่ต้องการแบกภาระเพิ่มขึ้นในเชิงธุรกิจมันมีความเสี่ยงอยู่แล้ว อีกทั้งในแต่ละภาคอุตสาหกรรมต่างมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป บางมาตรการที่ภาครัฐนำออกมาบังคับใช้อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ยกตัวอย่างกรณีของ ส.อ.ท.ถือว่าสะท้อนภาพปัญหาที่เราไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นปัญหา ก.แรงงานคงต้องมองให้ครอบคลุมมากขึ้น”

นอกจากนี้ยังมีความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทยระบุว่า เห็นด้วยในการปรับหลักเกณฑ์การคำนวณใหม่ของ ส.อ.ท. ขณะที่สภาหอการค้าไทยบอกว่า เตรียมนำเรื่องนี้เข้าหารือกับสมาคมธนาคารเพื่อให้ได้มุมมองภาคเอกชนที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เสนอให้พิจารณากลับไปเก็บเงินส่งเข้ากองทุนส่งเสริมฯ ตามมาตรา 34 ที่ 365 วันเช่นเดิม

ขณะที่ตัวแทนจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อสรรหาคนพิการมาทำงาน ทั้งนี้ สมาคมยังระบุอีกว่า ไม่เคยได้รับแจ้งข้อมูลว่ามีการขาดแคลนแรงงานคนพิการแต่อย่างใด ขณะที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้กล่าวถึงมาตรา 34 ว่า เป็นมาตรการเชิงลงโทษในกรณีที่ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถจ้างงานคนพิการได้ ทั้งนี้ตามที่หลายหน่วยงานที่ได้แสดงความเห็นต่าง ๆ นั้น ขอให้มีการศึกษาเพิ่มเติมถึงข้อดี-ข้อเสีย ก่อนจะมีการพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป อีกทั้งจะต้องเพิ่มความเห็นจากนักวิชาการด้านนี้โดยเฉพาะด้วย

แหล่งข่าวยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างร่างแผนปฏิบัติการคนพิการด้านแรงงาน (Action Plan) สำหรับปีงบประมาณ 2564 ในรายละเอียดระบุว่า ภายใต้แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2560-2564) รวม 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมพลังคนพิการและองค์กรด้านคนพิการให้มีศักยภาพและความเข้มแข็งรวม 18 โครงการ วางเป้าหมายว่าจะมีคนพิการเข้าร่วม 19,340 คน ใช้งบประมาณอยู่ที่ 110 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิได้จริง รวม 50 โครงการ เป้าหมายคนพิการเข้าร่วม 79,407 คน งบประมาณรวม 678 ล้านบาท ตามมาด้วยยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความเข้าใจและเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการจำนวน 13 โครงการ คาดว่าคนพิการเข้าร่วม 21,870 คน งบประมาณรวม 78 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างสภาพแวดล้อมการบริการสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ 4 โครงการ คาดว่า คนพิการเข้าร่วม 350 คน งบประมาณรวม 11 ล้านบาท และยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมการบูรณาการเครือข่ายและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างยั่งยืน 7 โครงการ คาดว่า คนพิการเข้าร่วม 2,845 คน งบประมาณรวม 10 ล้านบาท ตลอดทั้งปี 2564 นี้ มีแผนงานโครงการรวมทั้งสิ้น 92 โครงการ เป้าหมายคนพิการเข้าร่วม 123,812 คน งบประมาณรวม 890 ล้านบาท (ไม่รวมกองทุนกู้ยืมเงินสำหรับคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ)

แหล่งข่าวระบุเพิ่มเติมอีกว่า ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ในการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภาได้มีการนำเสนอกระทรวงแรงงานให้ปรับลดสัดส่วน การจ้างงานคนพิการในหน่วยงานภาครัฐอยู่ที่ 2% โดยลูกจ้างที่ 100 คน ให้จ้างคนพิการ 2 คน (100 : 2) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้มีหนังสือส่งไปถามความเห็นในหน่วยงานภาครัฐแล้ว ปรากฏว่าเห็นด้วยอยู่ที่ 44% และไม่เห็นด้วยอยู่ที่ 56% ภายหลังจากการถามความเห็นแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้คือนำเข้าหารือเพื่อพิจารณารายละเอียดต่อไป

ก่อนหน้านี้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง มีมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการที่จ้างคนพิการเข้าทำงานคือมาตรการส่งเสริมเสถียรภาพของการจ้างงานให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SMEs) ที่คงการจ้างงานของลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน และได้รับค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน

โดยหักรายจ่ายค่าจ้างของเดือนเมษายน-กรกฎาคม ได้ 3 เท่า มาตรการขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี มาตรการคืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในประเทศ แบ่งเป็นลดอัตราภาษีเงินได้ระยะที่ 1 จาก 3% ปรับลดเหลือ 1.5% ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-30 กันยายน 2563 และขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 จาก 3% ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2% ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพคืนภาษีให้รวดเร็วเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ พร้อมทั้งเร่งคืนภาษีให้ประชาชนและผู้ประกอบการอย่างรวดเร็ว ในส่วนอื่น ๆ อย่างเช่น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับลดอัตราเงินสมทบจาก 5% เหลือ 0.5% ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี โดยขยายเวลาไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และสำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจะสามารถฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม-31 สิงหาคมของทุกปี

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 12/2/2564

จ้างงานคนพิการไม่ถึงเป้า เอกชนร้องปรับสูตรส่งเงินเข้ากองทุน

สื่อประชาชาติธุรกิจ รายงานว่าภาคแรงงานยังคงได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างจากการระบาดของโควิด-19 ล่าสุดผู้ประกอบการภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้หารือร่วมกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้านแรงงาน ในประเด็นการ “ขาดแคลน” แรงงานคนพิการที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

เนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต พ.ศ. 2550 คือ “ต้องจ้าง” จำนวนคนพิการที่มีคุณสมบัติตรงตามกฎหมายกำหนดที่ 1 : 100 นั้น แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลสถิติจำนวนคนพิการที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้คือคนพิการที่ได้รับการจ้างงานตามมาตรา 33 เพียง 39,878 คน คิดเป็น 45.79% ของจำนวนแรงงานคนพิการที่ต้องถูกจ้างทั้งหมดทั่วประเทศที่ 86,757 คน

ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่รับคนพิการเข้าทำงานนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554 ส่วนการจ้างงานตามมาตรา 34 คิดเป็นจำนวนคนพิการ 13,103 คน คิดเป็น 15.10% และการจ้างงานตามมาตรา 35 เป็นจำนวนคนพิการ 13,951 คน คิดเป็น 16.08% เท่ากับว่ายังมีจำนวนคนพิการเหลืออีกราว 19,825 คน คิดเป็น 22.85% ที่ควรจะต้องมีการจ้างแรงงานต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่าภายใต้เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในขณะนี้ ส.อ.ท.ยังได้เสนอให้มีการปรับสูตรการคำนวณจำนวนคนพิการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่กำหนดไว้ว่าหากนายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานให้ส่งเงินเข้ากองทุน โดยคำนวณจากอัตราต่ำสุดของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำคูณด้วย 365 วัน และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ไม่ได้รับเข้าทำงานตามมาตรา 33

อีกทั้งในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถจ้างคนพิการได้นั้น ด้วยเหตุที่ว่า “ไม่มีคนพิการ” ที่เพียงพอกับความต้องการจ้างงานได้ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนั้น จะต้องรับภาระส่งเงินเข้ากองทุน “เพิ่มขึ้นกว่าต้นทุนจริง” ถึง 16.61% จากการนำจำนวนเต็มปีที่ 365 วัน มาคำนวณแทน 313 วัน ที่เป็นวันที่แรงงานคนพิการได้ทำงานจริงนั้นเป็นการเพิ่มภาระโดยใช่เหตุ และไม่เป็นธรรม ที่สำคัญคือไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

“สถานการณ์ และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจากโควิด-19 เป็นเหตุผลที่ทำให้ภาคเอกชนที่ยังพอเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ไม่ต้องการแบกภาระเพิ่มขึ้นในเชิงธุรกิจมันมีความเสี่ยงอยู่แล้ว อีกทั้งในแต่ละภาคอุตสาหกรรมต่างมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป บางมาตรการที่ภาครัฐนำออกมาบังคับใช้อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ยกตัวอย่างกรณีของ ส.อ.ท.ถือว่าสะท้อนภาพปัญหาที่เราไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นปัญหา ก.แรงงานคงต้องมองให้ครอบคลุมมากขึ้น”

นอกจากนี้ยังมีความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทยระบุว่า เห็นด้วยในการปรับหลักเกณฑ์การคำนวณใหม่ของ ส.อ.ท. ขณะที่สภาหอการค้าไทยบอกว่า เตรียมนำเรื่องนี้เข้าหารือกับสมาคมธนาคารเพื่อให้ได้มุมมองภาคเอกชนที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เสนอให้พิจารณากลับไปเก็บเงินส่งเข้ากองทุนส่งเสริมฯ ตามมาตรา 34 ที่ 365 วันเช่นเดิม

ขณะที่ตัวแทนจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อสรรหาคนพิการมาทำงาน ทั้งนี้ สมาคมยังระบุอีกว่า ไม่เคยได้รับแจ้งข้อมูลว่ามีการขาดแคลนแรงงานคนพิการแต่อย่างใด ขณะที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้กล่าวถึงมาตรา 34 ว่า เป็นมาตรการเชิงลงโทษในกรณีที่ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถจ้างงานคนพิการได้ ทั้งนี้ตามที่หลายหน่วยงานที่ได้แสดงความเห็นต่าง ๆ นั้น ขอให้มีการศึกษาเพิ่มเติมถึงข้อดี-ข้อเสีย ก่อนจะมีการพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป อีกทั้งจะต้องเพิ่มความเห็นจากนักวิชาการด้านนี้โดยเฉพาะด้วย

แหล่งข่าวยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างร่างแผนปฏิบัติการคนพิการด้านแรงงาน (Action Plan) สำหรับปีงบประมาณ 2564 ในรายละเอียดระบุว่า ภายใต้แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2560-2564) รวม 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมพลังคนพิการและองค์กรด้านคนพิการให้มีศักยภาพและความเข้มแข็งรวม 18 โครงการ วางเป้าหมายว่าจะมีคนพิการเข้าร่วม 19,340 คน ใช้งบประมาณอยู่ที่ 110 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิได้จริง รวม 50 โครงการ เป้าหมายคนพิการเข้าร่วม 79,407 คน งบประมาณรวม 678 ล้านบาท ตามมาด้วยยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความเข้าใจและเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการจำนวน 13 โครงการ คาดว่าคนพิการเข้าร่วม 21,870 คน งบประมาณรวม 78 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างสภาพแวดล้อมการบริการสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ 4 โครงการ คาดว่า คนพิการเข้าร่วม 350 คน งบประมาณรวม 11 ล้านบาท และยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมการบูรณาการเครือข่ายและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างยั่งยืน 7 โครงการ คาดว่า คนพิการเข้าร่วม 2,845 คน งบประมาณรวม 10 ล้านบาท ตลอดทั้งปี 2564 นี้ มีแผนงานโครงการรวมทั้งสิ้น 92 โครงการ เป้าหมายคนพิการเข้าร่วม 123,812 คน งบประมาณรวม 890 ล้านบาท (ไม่รวมกองทุนกู้ยืมเงินสำหรับคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ)

แหล่งข่าวระบุเพิ่มเติมอีกว่า ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ในการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภาได้มีการนำเสนอกระทรวงแรงงานให้ปรับลดสัดส่วน การจ้างงานคนพิการในหน่วยงานภาครัฐอยู่ที่ 2% โดยลูกจ้างที่ 100 คน ให้จ้างคนพิการ 2 คน (100 : 2) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้มีหนังสือส่งไปถามความเห็นในหน่วยงานภาครัฐแล้ว ปรากฏว่าเห็นด้วยอยู่ที่ 44% และไม่เห็นด้วยอยู่ที่ 56% ภายหลังจากการถามความเห็นแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้คือนำเข้าหารือเพื่อพิจารณารายละเอียดต่อไป

ก่อนหน้านี้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง มีมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการที่จ้างคนพิการเข้าทำงานคือมาตรการส่งเสริมเสถียรภาพของการจ้างงานให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SMEs) ที่คงการจ้างงานของลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน และได้รับค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน

โดยหักรายจ่ายค่าจ้างของเดือนเมษายน-กรกฎาคม ได้ 3 เท่า มาตรการขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี มาตรการคืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในประเทศ แบ่งเป็นลดอัตราภาษีเงินได้ระยะที่ 1 จาก 3% ปรับลดเหลือ 1.5% ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-30 กันยายน 2563 และขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 จาก 3% ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2% ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพคืนภาษีให้รวดเร็วเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ พร้อมทั้งเร่งคืนภาษีให้ประชาชนและผู้ประกอบการอย่างรวดเร็ว ในส่วนอื่น ๆ อย่างเช่น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับลดอัตราเงินสมทบจาก 5% เหลือ 0.5% ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี โดยขยายเวลาไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และสำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจะสามารถฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม-31 สิงหาคมของทุกปี

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 12/2/2564

ตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล เปิดตัว 18 ก.พ. 2564 นี้

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน เปิดเผยว่า จากมติที่ประชุมของคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) เห็นชอบให้จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัลขึ้น เพื่อทำหน้าที่เสนอนโยบาย กำหนดเป้าหมายและวางแผนการพัฒนกำลังคนด้านดิจิทัล รวมถึงจัดทำหลักสูตรการจัดฝึกอบรมให้แก่บุคลากร วิทยากรและกำลังคนในด้านดิจิทัล พร้อมทั้งดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลด้วย การดำเนินงานดังกล่าวจำเป็นต้องมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งล่าสุดบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายการพัฒนาทักษะฝีมือ สนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือที่จำเป็นต่อการจัดฝึกอบรม เพื่อใช้ประจำที่สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล พร้อมจัดส่งวิทยากรให้ความรู้แก่บุคลากรหรือครูฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้สามารถนำไปขยายผลถ่ายทอดไปยังกำลังแรงงานทั่วประเทศต่อไป

สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล ตั้งอยู่ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยจะมีพิธีรับมอบอุปกรณ์และเครื่องมือ เพื่อใช้ประจำที่สถาบันดังกล่าว ในวันที่ 18 ก.พ. 2564 โดยในวันดังกล่าวจะมีการจัดงานสัมมนา การพัฒนาทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อรับฟังข้อมูลและแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ จำนวน 3 หัวข้อ 5G สำหรับอุตสาหกรรมยุค 4.0 การจัดการองค์กรเพื่อการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม และการบริการระบบคลาวด์ของหัวเว่ยสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

"การจัดงานในครั้งนี้ จะทำให้ผู้ประกอบกิจการในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ได้เกิดความเข้าใจ ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงประชาสัมพันธ์การให้บริการของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ที่ได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัลขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการ รวมถึงพี่น้องแรงงานทุกคนที่มีความสนใจ เกิดการรับรู้และสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐต่อไป" รมช.แรงงาน กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 12/2/2564

ก.แรงงาน หวังเร่งแก้ปัญหาแรงงานเด็ก หวังถอดสินค้าออกจากบัญชี Blacklist สหรัฐฯ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลการสำรวจเด็กทำงานในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2561 พบว่า มีเด็กอายุ 5-17 ปี ทั้งหมด 10.47 ล้านคน เป็นแรงงานเด็ก จำนวน 1.77 แสนคน โดยมีการทำงานที่เข้าข่ายงานอันตราย จำนวน 1.3 แสนคน

รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความมุ่งมั่นในการต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก หรือแรงงานบังคับ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่สินค้าไทยถูกขึ้นบัญชีจากสหรัฐอเมริกาจำนวน 5 รายการ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและกุ้ง (แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ) อ้อยและสื่อลามก (แรงงานเด็ก) และปลา (แรงงานบังคับ) จึงมีนโยบายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งดำเนินการ หามาตรการถอดถอนรายการสินค้าดังกล่าวออกจากการถูกขึ้นบัญชี

โดยมีเป้าหมายที่จะถอดรายการสินค้า ออกจากบัญชีอย่างน้อย 1 รายการ ให้ได้ภายในปี 2565 เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการส่งออกอันเป็นแหล่งรายได้ของประเทศ โดยให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคมในการแก้ปัญหาแรงงานอย่างเป็นระบบและยั่งยืน รวมทั้งให้ได้รับการยอมรับในประชาคมโลก

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการดำเนินงานของกรมที่จะแสดงให้สหรัฐอเมริกาประจักษ์ถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ต้องเกิดจากความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมที่พร้อมจะดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

กรมจึงได้เชิญผู้แทนภาคอุตสาหกรรม ในสินค้ากุ้ง ปลา อ้อย เครื่องนุ่งห่ม และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้มาร่วมกันระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของสถานประกอบกิจการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับในสินค้าดังกล่าว และสรุปให้เป็นกรอบแนวทางดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การพิจารณาในการถอดรายการสินค้าออกจากการถูกขึ้นบัญชี ที่ประเทศไทยได้พยายามดำเนินการอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน ให้ปรากฏผลเห็นอย่างก้าวหน้า ชัดเจน และตรวจสอบได้ อันจะนำไปสู่การ รักษาตลาด และรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทยได้ในที่สุด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 11/2/2564

เสนอลดเงินสมทบผู้ประกันตน ม.40 40% นาน 6 เดือน

10 ก.พ. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ (คนช.) ว่า การประชุมคณะกรรมการประกันสังคมเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบในการเยียวยาผลกระทบกลุ่มแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 โดยมีมติเห็นชอบลดเงินสมทบร้อยละ 40 ของเงินที่จ่ายสมทบในแต่ละทางเลือก โดยทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาท ลดเหลือ 42 บาทต่อเดือน สิทธิประโยชน์เงินทดแทนการขาดรายได้ ทุพลภาพ และเสียชีวิต ทางเลือกที่ 2 จ่ายสมทบ 100 บาทต่อเดือน ลดเหลือ 60 บาทต่อเดือน สิทธิประโยชน์เหมือนทางเลือกที่ 1 แต่เพิ่มกรณีชราภาพ ทางเลือกที่ 3 จ่ายสมทบ 300 บาทต่อเดือน ลดเหลือ 180 บาทต่อเดือน สิทธิประโยชน์เหมือนทางเลือกที่ 2แต่เพิ่มกรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลยังคงจ่ายเงินสมทบให้ผู้ประกันตนเช่นเดิม

นอกจากนี้ ในเรื่องของมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 33 โครงการ ม.33เรารักกันที่ผู้ประกันตนจะได้รับเงิน 4,000 บาทระยะเวลา 1 เดือนจากเงินกู้ของรัฐบาลนั้น ผู้ประกันตนมีสิทธิที่จะได้โดยการลงทะเบียน WWW.ม33เรารักกัน.com ถือเป็นสิทธิที่จะได้รับโดยไม่ต้องเร่งรีบลงทะเบียนถือเป็นสิทธิที่จะได้รับกันทุกคน โดยมีเงื่อนไขต้องไม่มีเงินในบัญชีรวมกันเกิน 5 แสนบาท

ทั้งนี้ ในการประชุมครม.ในวันจันทร์ที่ 15 ก.พ.นี้ ในส่วนของกระทรวงแรงงานจะได้นำเสนอต่อการประชุม ครม.ใน 2 เรื่อง คือ การลดเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนมาตรา 40 และการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ในโครงการ ม.33เรารักกัน เชื่อว่า ครม.จะเห็นชอบ

ด้าน นางอรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ในฐานะกรรมการบอร์ดประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐบาลที่ดูแลที่จะลดเงินสมทบให้กับแรงงานนอกระบบ แต่เรื่องนี้ไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิด กลุ่มแรงงานนอกระบบได้รับผลกระทบอย่างหนักจนถึงวันนี้ยังไม่ดีขึ้น ทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมาขาดส่งเงินสมทบเพราะไม่มีเงิน เช่น กรณีวินมอเตอร์ไซต์ออกทำงานตั้งแต่ตี 5 วิ่งรถจนถึงบ่ายโมงได้เงิน 70 บาท ทำให้ขาดส่งเงินสมทบประกันสังคมแม้จะไม่หลุดจากการเป็นผู้ประกันตนที่ยังคงสามารถจ่ายได้ตลอด แต่ปัญหาการส่งเงินสมทบที่ไม่ต่อเนื่องทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้ เช่น กรณีเสียชีวิตก็ไม่สามารถขอรับเงินสงเคราะห์ค่าทำศพ จึงขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความช่วยเหลือจ่ายเงินสมทบให้ผู้ประกันตน ม.40 จำนวน 3.5 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 2 พันล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้รับสิทธิประโยชน์ต่อเนื่อง

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 10/2/2564

ผู้ช่วย รมว.แรงงาน-ผู้แทนสมาคมกีฬาคนพิการ หารือแก้ปมการจ้างงาน นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย 46 คนของ บ.เอส แอนด์ พีฯ

9 ก.พ. 2564 นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เข้าประชุมหารือผู้แทนสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ เพื่อขอคำแนะนำและปรึกษาเกี่ยวกับการจ้างงาน นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย ของบริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ที่มีการจ้างงานนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย ที่อยู่ในสังกัดของสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาคนพิการทางปัญญาแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี แต่เนื่องจากในปี 2564 ทางบริษัทฯ ได้รับผลกระทบตามสภาวะเศรษฐกิจในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 จึงมีความประสงค์ขอปรับลดการจ้างงานนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย จากเดิมในปี 2563 มีการจ้างงานอยู่ที่ จำนวน 63 คน เหลือเพียง จำนวน 46 คน แต่ได้รับการคัดค้านจาก สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่ 3 ดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยวินิจฉัยว่าการจ้างงานนักกีฬาคนพิการดังกล่าว เป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ว่าด้วยเรื่องของนิยามการจ้างงาน ส่งผลทั้ง 46 คน ต้องตกงานและได้รับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) มีความประสงค์ที่จะจ้างงานนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย ทั้ง 46 คน และการที่สมาคมกีฬาฯ เข้าพบในครั้งนี้ก็เพื่อขอความช่วยเหลือและหาทางออก ให้มีการจ้างงานนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย โดยไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ว่าด้วยเรื่องของนิยามการจ้างงาน และเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับนักกีฬาคนพิการ ณ ห้องประชุมมิตรไมตรี 2 ชั้น 5 กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 9/2/2564

กทม.ค้นหาเชิงรุกโรงงาน 123 แห่ง แรงงาน 13,480 คน พบติดเชื้อ 54 คน

นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้กรุงเทพฯ มีการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ 6 เขต โดยแบ่งเป็นการค้นหาเชิงรุกในโรงงาน 123 แห่ง แรงงาน 13,480 คน ในจำนวนนี้พบผู้ติดเชื้อ 54 คน หรือร้อยละ 0.40 ของการค้นหาเชิงรุก ซึ่งน้อยกว่าร้อยละ 1 แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้สอบสวนโรคหาผู้สัมผัสใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อ

ที่มา: Thai PBS, 8/2/2564

ขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ศบค. ชี้หากพ้น 13 ก.พ. ถือว่าผิดกฎหมาย

หลังกระทรวงแรงงานเปิดให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการดำเนินการแจ้งบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ตามการผ่อนผันจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอกใหม่

ล่าสุด แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.เมื่อช่วงเช้า ได้รับรายงานจากกระทรวงแรงงานเรื่องการขึ้นทะเบียนของแรงงานข้ามชาติ ระบุว่าวันที่ 13 ก.พ. 2564 จะเป็นวันสุดท้ายที่เปิดให้ขึ้นทะเบียน หากวันที่ 14 ก.พ. 2564 พบว่ายังไม่มีรายงานการขึ้นทะเบียนจะถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย

สำหรับแรงงานข้ามชาติที่เป็นเป้าหมายการขึ้นทะเบียน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มี 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.แรงงานที่มีนายจ้าง/สถานประกอบการ ประสงค์จ้างงาน 2.แรงงานที่ไม่ได้ทำงาน และ 3.ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี

ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องแจ้งบัญชีรายชื่อรายงานที่ต้องการจ้างและแรงงานที่ยังไม่มีนายจ้างแจ้งข้อมูลบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th ได้ตั้งแต่ วันที่ 15 ม.ค.-13 ก.พ. 2564

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 8/2/2564

รมว.แรงงานเปิดไทม์ไลน์ "ม.33 เรารักกัน" เริ่มลงทะเบียน 21 ก.พ.นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยความคืบหน้าโครงการ "ม.33 เรารักกัน" ว่า ได้ส่งหนังสือไปยังกระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย ยืนยันระยะเวลาการดำเนินการขั้นตอนต่างๆ แล้ว โดยกำหนดไทม์ไลน์ ดังนี้

ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com และตรวจสอบการได้รับสิทธิ ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ -7 มีนาคม 2564

ธนาคารทำการตรวจสอบข้อมูลรวมทั้งประมวลผลคัดกรอง วันที่ 8-14 มีนาคม 2564

กดใช้งานและกดยืนยันตัวผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง วันที่ 15-21 มีนาคม 2564

ได้วงเงินผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังครั้งละ 1,000 บาท ในวันที่ 22, 29 มีนาคม และวันที่ 5, 12 เมษายน 2564

เริ่มใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้าภายในโครงการเราชนะ ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม - 31 พฤษภาคม 2564

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เข้าข่ายมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาในครั้งนี้ จำนวน 9.27 ล้านคน ใช้วงเงินทั้งสิ้นประมาณ 37,100 ล้านบาท

ที่มา: ผู้จัดออนไลน์, 6/2/2564

เปิดผลสำรวจ แนวโน้มอัตราเงินเดือนและการจ้างงานปี 2564

โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลก รวบรวมผลสำรวจ และแนวโน้มอัตราเงินเดือน และการจ้างงานในปี 2564 จัดทำโดยฝ่ายวิจัยของบริษัท โดยการสำรวจครั้งนี้เป็นครั้งที่ 22 ด้วยการเจาะกลุ่มพนักงานระดับอาวุโสขึ้นไปในองค์กรกว่า 570 แห่งทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย

สำหรับการสำรวจในประเทศไทยจัดทำในเดือน ต.ค. 2563 มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 420 คน ใน 8 สายงาน ได้แก่ บัญชีและการเงิน, การเงินและการธนาคาร, วิศวกรรมและการผลิต, ทรัพยากรบุคคล, กฎหมาย, การขายและการตลาด, ซัพพลายเชนและจัดซื้อ และไอที จาก 130 บริษัทในกรุงเทพฯ และอีสเทิร์นซีบอร์ด ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม

“ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา” ผู้จัดการ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2563 ผ่านมาเป็นปีที่ตลาดการจ้างงานเจอกับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยไตรมาสแรกของปีเริ่มต้นด้วยทิศทางสดใส แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 และตามด้วยการล็อกดาวน์ จึงส่งผลให้การจ้างงานทั่วทุกอุตสาหกรรมเกิดภาวะหยุดนิ่ง

“อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 อัตราการจ้างงานในไทยมีการเติบโตขึ้นเล็กน้อยในภาคธุรกิจประเภทอุปโภคบริโภค (FMCG), เภสัชกรรม, การประกัน, การลงทุนส่วนบุคคล (private wealth), เทคโนโลยี, อีคอมเมิร์ซ, ซัพพลายเชน และอุตสาหกรรมการให้บริการขนส่ง”

“ทั้งนี้ ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 น้อยที่สุด ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบมากที่สุด และพนักงานมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนงานใหม่เพื่อลดความเสี่ยง”

“สถานการณ์การจ้างงานในปี 2564 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ยังคงอยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวัง โดยนายจ้างส่วนใหญ่ยังคงเฝ้ารอดูสถานการณ์ และการจ้างงานมักเป็นไปในรูปแบบของการทดแทนตำแหน่งเดิมที่ว่างลง หรือโยกย้ายคนในองค์กรไปตำแหน่งที่มีความจำเป็นมากกว่า และคาดว่าบริษัทในประเทศจะมีการจ้างงานมากกว่าบริษัทต่างชาติ เพราะบริษัทต่างชาติมีบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศมีสถานการณ์โควิด-19 แย่กว่าไทย ทั้งยังจ้างคนในประเทศมากกว่าชาวต่างประเทศ”

“ปุณยนุช” บอกว่า เศรษฐกิจในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัว และอุปสงค์การจ้างงานจะฟื้นตัวตามไปด้วย หลังจากประสบกับภาวะการจ้างงานที่หยุดนิ่งมาระยะหนึ่ง เพราะประเทศไทยมีประสบการณ์ในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บ้างแล้ว

“สำหรับผู้จัดการฝ่ายสรรหาบุคลากร ซึ่งมีบทบาทในการสรรหาและรักษาพนักงาน ต้องคำนึงว่าพนักงานยังคงมีโอกาสที่จะย้ายงานในปี 2564 แม้จะเป็นช่วงที่สถานการณ์ไม่แน่นอน โดย 72% ของพนักงานใน 8 สายงานที่เราทำการสำรวจเริ่มมองหางานใหม่ในปี 2564 ซึ่งผู้สมัครอาจให้ความสนใจไปยังอุตสาหกรรมที่มีผลการดำเนินการดีในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมเภสัชกรรม, การประกัน และทรัพยากรบุคคล”

“ดังนั้น บริษัทจึงควรที่จะสร้างความผูกพัน และแสดงให้เห็นว่าบริษัทเห็นคุณค่าของพนักงานทุกคน นอกจากนี้ ควรที่จะเปิดใจ และเปิดโอกาสในการจ้างพนักงานที่มีอายุน้อย และไม่มีประสบการณ์ โดยให้การฝึกอบรมที่จำเป็นต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ ทั้งนี้ ควรเริ่มมองหาคนเก่งที่ต้องการตั้งแต่ตอนนี้ และให้ความเชื่อมั่นแก่พวกเขาก่อนที่จะถูกชิงตัวโดยบริษัทคู่แข่งเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว”

“สิ่งที่พนักงานให้ความสำคัญในองค์กรมากที่สุดในปี 2564 คือการมีเพื่อนร่วมงานที่สร้างแรงบันดาลใจ และมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยอันดับหนึ่งที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในงาน ตามด้วยค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีและชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น นอกจากนั้น พนักงานต้องการให้บริษัทปรับปรุงเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการทำงานในโลกปัจจุบันด้วย”

สำหรับเรื่องค่าจ้าง “ปุณยนุช” กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้การปรับขึ้นของอัตราเงินเดือนในประเทศไทยลดลง ซึ่งในปี 2563 พนักงานส่วนใหญ่ย้ายงานโดยเงินเดือนไม่ได้ถูกปรับขึ้น และหากได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจะอยู่ที่ประมาณ 10-15% เท่านั้น ส่วนปี 2564 อัตราเงินเดือนจะปรับตัวสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย

“สำหรับแนวโน้มเงินค่าจ้างต่อปีของพนักงานตำแหน่งอาวุโสไปจนถึงผู้บริหารระดับสูงในปี 2564 มีดังนี้ ในสายบัญชีและการเงินมีอัตราเงินค่าจ้างอยู่ที่ 9.3 แสน-8.4 ล้านบาท/ปี, การธนาคาร 7 แสน-8.4 ล้านบาท/ปี, วิศวกรรมและการผลิต 1 ล้าน-5.8 ล้านบาท/ปี, ทรัพยากรบุคคล 7 แสน-4.2 ล้านบาท/ปี, กฎหมาย 6 แสน-8.4 ล้านบาท/ปี, การขาย และการตลาด 6 แสน-9 ล้านบาท/ปี, ซัพพลายเชนและจัดซื้อ 8.4 แสน-5.8 ล้านบาท/ปี และไอที 7.5 แสน-7.2 ล้านบาท/ปี”

“ทั้งนี้ 3 อันดับสูงสุดของตำแหน่งงานในฝ่ายบัญชี และการเงินเป็นที่ต้องการมากที่สุดในปี 2564 คือ หัวหน้าฝ่ายการเงิน, หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนข้อมูลและวิเคราะห์การจัดทำงบประมาณขององค์กร (FP&A) และฝ่ายควบคุมต้นทุน”

“ส่วนในสายการธนาคาร ได้แก่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ, ผู้ให้คำแนะนำและปรึกษาด้านการลงทุนเฉพาะกลุ่มลูกค้าคนสำคัญ หรือลูกค้าที่มีสินทรัพย์สูง (private banker) และฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์, สายวิศวกรรมและการผลิต ได้แก่ ผู้จัดการด้านปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่อง/การบริหารจัดการแบบลีน, ผู้จัดการระบบคุณภาพ และผู้จัดการวิศวกรรม/โปรแกรม”

“ในสายทรัพยากรบุคคลคือ ฝ่ายการเรียนรู้และพัฒนา, ผู้เชี่ยวชาญทั่วไปในงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์และเอชอาร์ที่เป็นคู่คิดทางธุรกิจ (HR business partner) ขณะที่สายงานกฎหมาย ได้แก่ ที่ปรึกษากฎหมายระดับภูมิภาค, ทนาย นิติกร หรือที่ปรึกษากฎหมายประจำบริษัท และผู้เชี่ยวชาญด้านการควบรวมกิจการ (M&A specialist)”

“นอกจากนั้น ในสายการขายและการตลาด ได้แก่ หัวหน้าฝ่ายช่องทางจัดจำหน่าย, ผู้จัดการแบรนด์ และ performance marketing manager สำหรับสายซัพพลายเชนและจัดซื้อ ได้แก่ ผู้จัดการฝ่ายจัดหา, ผู้จัดการฝ่ายโลจิสติกส์ และผู้จัดการฝ่ายวางแผนวัตถุดิบ 3 อันดับสูงสุดของตำแหน่งงานในสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ ฝ่ายความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity), ฝ่าย product owner และสถาปนิกที่หาทางออกของปัญหาต่าง ๆ ด้านเทคโนโลยี (solution architect)”

ในปี 2564 พนักงานจะต้องเร่งพัฒนาทักษะทั้งในเชิงเทคนิค และการบริหารจัดการ (soft skills) ขณะเดียวกันทางฝั่งนายจ้างจะต้องเริ่มมองหาคนเก่งตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่จะเสียเปรียบคู่แข่งในช่วงที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

“ปุณยนุช” ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ทักษะเป็นที่ต้องการอย่างสูงในปีนี้ คือ ทักษะในด้านเทคโนโลยี ซึ่งบุคลากรในสายงานเทคโนโลยี และการเปลี่ยนผ่านยังคงเป็นที่ต้องการอย่างมาก เนื่องจากการขาดแคลนทักษะ และความรู้ทางเทคนิคในกลุ่มบุคลากรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และดิจิทัลแบงกิ้งกำลังเฟื่องฟู

“ความรู้เชิงเทคนิคยังคงเป็นสิ่งจำเป็นและบริษัทจะยังคงพิจารณาทักษะด้านการจัดการ (soft skills) อีกด้วย เช่น ความสามารถทางภาษาอังกฤษ, ความรู้ในเชิงธุรกิจ, ความสามารถด้านการบริหารคนและทีมงาน รวมถึงความสามารถในการโน้มน้าวผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาบุคลากรที่มีความสามารถในการวางกลยุทธ์ และการคิดนอกกรอบอีกด้วย”

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้การประเมินผลงานพนักงานมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป เช่น พนักงานที่ปรับตัวเก่ง มีความสามารถคิดนอกกรอบ สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ และมีทักษะการสื่อสารที่ดีทั้งแบบตัวต่อตัว และสภาพแวดล้อมเสมือนจริง (virtual environments) จะมีความโดดเด่นขึ้นมา

จึงนับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อภาพรวมตลาดในปี 2563 และ 2564 มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้ทุกองค์กรต้องปรับตัว แต่กระนั้น กลับทำให้ “มนุษย์เงินเดือน” บางส่วนกลายเป็น “มนุษย์ทองคำ” จนทำให้เกิดการจ้างงานในอัตราเงินเดือนสูงที่สุด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 6/2/2564

ประกันสังคม ยันผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพ ยังมีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุต่อข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นข่าวในกรณีผู้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รับเงินซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญ หรือสวัสดิการอื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ, เบี้ยหวัด, บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใด ในลักษณะเดียวกันนั้น เพื่อให้ผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม คลายข้อกังวลดังกล่าว จึงได้สั่งการให้ นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ให้แก่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ จากกองทุนประกันสังคม ยังสามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อีกด้วย

ขณะที่ นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้สั่งการให้ น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงถึงข้อสงสัยของผู้ประกันตนในกรณีนี้ว่า "แม้ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม ก็มิใช่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกันตนดังกล่าวจึงเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามข้อ 6 (4) แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552" ดังนั้น ผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพ จึงเป็นผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินตาม นโยบายของรัฐบาล และกระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญด้านสวัสดิการสังคมในวัยเกษียณให้แก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เพื่อช่วยสร้างความอุ่นใจมีเงินเลี้ยงชีพในรูปแบบบำนาญชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนไปตลอดชีวิต และคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณอย่างยั่งยืน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 4/2/2564

พนักงานการบินไทยร้อง ปปช. เอาผิด กลต. ปล่อยบริษัทเบี้ยวจ่ายสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ 400 ล้าน

นายนเรศ ผึ้งแย้ม อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การบินไทย เปิดเผยว่าวันนี้ (4ก.พ.) ตนและ พนักงาน บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ประมาณ 50 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ให้สอบสวนเอาผิด นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ก.ล.ต.) ข้อหาปฏิบัติหน้าที่ และการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ จนก่อให้เกิดความเสียหายกับสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน)

เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา บริษัทการบินไทยฯ ได้มีการออกข้อบังคับกองทุนฯ เกี่ยวกับการจ่ายเงินสมทบกองทุนฯ โดยระบุว่าบริษัทฯจะจ่ายเงินสมทบให้ เฉพาะกรณีที่พนักงานลาออกจากกองทุนฯและลาออกจากการเป็นพนักงานบริษัทด้วยเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อบังคับที่ขัดกับกฎหมายกองทุนและประกาศ กลต. โดยก่อนหน้านี้สมาชิกกองทุนได้ยื่นหนังสือขอให้นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กลต.สั่งการให้ คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทการบินไทย แก้ไขข้อบังคับกองทุน ให้เป็นไปตามประกาศ กลต. แล้ว แต่ปัจจุบันพบว่าก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ

“เราเคยยื่นหนังสือร้องเรียนไปยัง นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กลต. แต่นายทะเบียนเพิกเฉย ไม่ได้สั่งการให้การบินไทย แก้ไขข้อบังคับกองทุนที่ขัดต่อกฎหมาย จึงจำเป็นต้องร้องให้ ปปช.ดำเนินคดีกับนายทะเบียน และ ขอให้สั่งการให้การบินไทยแก้ไขข้อบังคับกองทุนให้เป็นไปตาม ประกาศ กลต.ด้วย เนื่องจากปัจจุบันสมาชิกกองทุนฯของการบินไทยประมาณ 600 คนที่ลาออกจากกองทุนฯ กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก นอกจากปัจจุบันจะถูกบริษัทฯปรับลดเงินเดือนแล้ว ยังต้องสูญเสียเงินสมทบที่ควรจะได้จากองทุนฯ ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมายอีก รวมเป็นเงินราว 400 ล้านบาท และหากพนักงานฯ มีการทยอยลาออกจากกองทุนเพิ่มขึ้น อีกความเสียหายก็จะมากขึ้น โดยปัจจุบันมีพนักงานที่เป็นสมาชิกองทุนสำรองฯ มากกว่า1.5 หมื่นคน”

ที่มา: ข่าวสด, 4/2/2564

กรมโรงงานอุตสาหกรรมเผยปี 2563 มีการแจ้งปิดโรงงานไปทั้งหมด 719 แห่ง เลิกจ้างพนักงาน 29,917 คน

รายงานข่าวแจ้งว่าจากกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ล่าสุด กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้รายงานปี 2563 มีการแจ้งปิดโรงงานไปทั้งหมด 719 แห่ง คนงาน 29,917 คน เงินลงทุนรวม 41,722.30 ล้านบาท คิดเป็นกำลังเครื่องจักรรวม 679,434 แรงม้า โดยประเภทกิจการที่มีการปิดสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก 64 โรงงาน จำนวนแรงงาน 2,119 คน เงินทุน 1,502 ล้านบาท รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์จากพืช 62 โรงงาน แรงงาน 585 คน เงินทุน 1,771 ล้านบาท, ผลิตภัณฑ์โลหะ 58 โรงงาน แรงงาน 1,660 คน เงินทุน 1,923 ล้านบาท, อุตสาหกรรมอาหาร 52 โรงงาน แรงงาน 3,500 คน เงินทุน 10,704 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์อโลหะ 52 โรงงาน แรงงาน 786 คน เงินทุน 798 ล้านบาท

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปี 2563 มีการปิดโรงงานที่ผลิตเหล็กไปจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเหล็กเส้นและเหล็กข้ออ้อย เป็นผลมาจากการเกิดโอเวอร์ซัพพลายเหล็กล้นตลาดจาก 1.2 ล้านตัน เป็น 3 ล้านตัน ประกอบกับกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศห้ามเปิดโรงงานเหล็กเส้นในไทยเป็นเวลา 5 ปี ราคาเหล็กตกลงมากและลูกค้าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่แนวโน้มของอุตสาหกรรมเหล็กต่อจากนี้ไปจะมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์จากรัฐที่ทยอยออกมา จะส่งผลให้ปริมาณการใช้เหล็กในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันหากยังมีการปิดโรงงานเหล็กเพิ่มขึ้นอีกจะน่ากังวลว่า เหล็กในประเทศจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ และท้ายที่สุดไทยจะต้องนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาแทน

ด้าน นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่าปี 2563 ยอดขอตั้งโรงงานใหม่และขยายกิจการอยู่ที่ 3,324 โรง มูลค่า 325,393.12 ล้านบาท ใช้แรงงาน 187,088 คน อุตสาหกรรมอาหารมีจำนวนมากที่สุด ซึ่งลดลงต่ำกว่าปี 2562 ที่มีเพียง 200 โรงเท่านั้น จากสถานการณ์ที่แตกต่างกันอย่างมาก เทียบกับโรงงานที่ปิดมีแค่ 719 โรง มูลค่า 41,722.30 ล้านบาท (ต่ำกว่าปี 2562 ปิดโรงงานไปถึง 1,391 โรง) คนงานหายไปเพียง 29,9179 คน

ดังนั้นปี 2563 จึงถือว่าไทยเก่งและยังมีศักยภาพ เพราะถึงเจอกับโควิด-19 เต็มๆ กลับมีการตั้งโรงงานและขยายกิจการเพิ่ม แสดงให้เห็นว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นประเทศไทยอยู่ ที่ผลักดันส่งเสริมการลงทุนในด้านต่างๆ มีความพร้อมในเรื่องของพื้นที่ รวมถึงการที่ภาคเอกชนโดยเฉพาะนักลงทุนไทย ที่เป็นโอกาสช่วงที่จะลงทุนมีอำนาจการต่อรองช่วงที่ต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ตรงนี้มันจะมีผลต่อการจ้างงานอีกเกือบ 200,000 คน

“การเลิกจ้างและปิดโรงงานในช่วงนี้ก็ต้องยอมรับว่า มาจากสภาพเศรษฐกิจและผลกระทบโควิด-19 จะเป็นปัจจัยหลัก อย่างไรก็ตาม อยากให้คิดว่ายังมีโรงงานที่จะเปิดอีกมาก แรงงานเหล่านี้ยังมีโอกาสทำงานในที่ใหม่ๆ ได้ ทั้งนี้ปี 2564 เชื่อว่าแนวโน้มการตั้งโรงงานจะยังสูงขึ้นเรื่อยๆ การลงทุนไทยจะยังเป็นตัวหลัก จะเกิดการผลิต ความคึกคักภายในประเทศยังคงมีอยู่” นายประกอบกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 3/2/2564

กสศ.ผนึกกลุ่มสหภาพแรงงานปราจีนบุรี ค้นหาศักยภาพเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษาเป็น “ช่างชุมชน”

น.ส.เนตรดาว ยั่งยุบล ผู้ประสานงาน 41 เครือข่ายโครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี จัดกิจกรรมวางแผนช่วยเหลือเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษา ให้สามารถค้นหาศักยภาพตัวเองจากการได้รับทุนสนับสนุนให้มี “อาชีพเสริม” ระหว่างทำงานประจำในโรงงาน หรือ “ต่อยอดอาชีพเดิม” พร้อมหนุนเสริมอุปกรณ์ประกอบอาชีพ โดยมีเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษาทั้งที่ทำงานในโรงงาน หรือ บุตรหลานผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมกิจกรรม 40 กว่าคน

ทั้งนี้ กลุ่มเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษาเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ทาง กสศ.ต้องการเข้ามาดูแลสนับสนุนและช่วยเหลือให้น้อง ๆ เหล่านี้ได้รับการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการปัญหาตัวเองและมีทักษะความรู้ใหม่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงหรือปัญหาที่ซับซ้อน พร้อมกับได้มีความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพ “ครูพี่เลี้ยง” หรือ ครูนอกระบบการศึกษาให้เข้ามาช่วยดูแลเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยเฉพาะแกนนำสหภาพแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี ที่แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพที่ตนเองทำงานอยู่ในโรงงานเข้ามาร่วมจัดพื้นที่การศึกษาใหม่ที่เหมาะสมกับเยาวชนแรงงานและสภาพพื้นที่

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 2/2/2564

จนท.จัดหน่วยเคลื่อนที่ ลงทะเบียนแรงงานไร้นายจ้าง ในตลาดกลางกุ้ง

2 ก.พ. 2564 นางอัธยา อ่ำหนองโพ จัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร นำเจ้าหน้าที่ของสำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่ให้บริการลงทะเบียนออนไลน์ สำหรับแรงงานข้ามชาติที่รับจ้างทำงานภายในตลาดกลางกุ้ง แต่ไม่มีนายจ้าง ซึ่งมีอยู่ราว ๆ 700 คน ทั้งนี้เพื่อให้แรงงานเหล่านี้ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานตามระบบกระทรวงแรงงาน และการควบคุมโรค ตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข

นางอัธยา เปิดเผยว่า การลงทะเบียนทางออนไลน์นี้ เปิดโอกาสให้ลูกจ้างที่ยังไม่มีนายจ้างสามารถลงทะเบียนได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องผ่านนายหน้า เมื่อลงทะเบียนแล้วก็ต้องไปทำการตรวจโรคและหานายจ้าง เพื่อยื่นขอทำงานภายในวันที่ 13 ก.พ. นี้ ส่วนแรงงานที่อยู่นอกตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ที่ไม่มีนายจ้าง สามารถขอลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร ในซอยเทศบาล 8 ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ในวันและเวลาราชการ

ที่มา: ข่าวสด, 2/2/2564

“นักร้อง-ดนตรีอิสระ” ยื่นหนังสือทวงถาม นายกฯ ถึงแนวทางเยียวยาผลกระทบโควิด

1 ก.พ. 2564 กลุ่มนักร้อง นักดนตรีอิสระ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือทวงถามนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงแนวทางช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ที่เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

โดยตัวแทนกลุ่มคนทำงานสถานบันเทิง นักร้อง นักดนตรี และผู้ประกอบอาชีพกลางคืน นำโดย นายทักษะศิลป์ อุดมชัย ตัวแทนนักร้อง นักดนตรีอาชีพอิสระ ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกครั้งหลังจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 ที่ผ่านมาได้เคยมายื่นหยังสือไว้แล้ว โดยมี นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการ นายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนรับหนังสือ

ทั้งนี้ นายทักษะศิลป์ กล่าวว่า ทางกลุ่มเรียกร้องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือกลุ่มคนอาชีพนักร้อง-นักดนตรีอิสระ รวมถึงกลุ่มคนอาชีพทำงานกลางคืนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ เนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ซึ่งได้ทวงถาม 3 ข้อที่เคยเสนอไปดังนี้ 1. ขอให้รัฐเร่งพิจารณาหนังสือขอความช่วยเหลือที่ยื่นไปแล้วเมื่อวันที่ 8 มกราคมอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด 2. ขอให้ทบทวนมาตรการเยียวยา “เราชนะ” เป็นเงินสดเนื่องจากมาตรการที่ทางรัฐออกมาช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอาจไม่ตอบโจทย์ผู้ที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่สามารถนำไปจ่ายหนี้สินค่าที่พักอาศัยได้ และข้อสุดท้าย หากกลางเดือนกุมภาพันธ์ นี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น ขอให้กลุ่มนักร้องนักดนตรีอิสระ สามารถกลับไปทำงาน โดยจะยินยอมให้มีมาตรการร่วมกันของทางภาครัฐ ศบค. เพื่อมีมาตรการสร้างความปลอดภัยจากทุกฝ่าย

ที่มา: สยามรัฐ, 1/2/2564

ส.อ.ท.ห่วงแรงงานเมียนมาทะลักไทยจากเหตุรัฐประหาร ซ้ำเติมสถานการณ์ COVID-19

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หลังจาก พลเอกอาวุโส มินห์ อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองประเทศเมียนมา ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์ทางตรงต่อเศรษฐกิจไทย แต่ผลกระทบทางอ้อมที่น่าเป็นห่วงคือ แรงงานเมียนมาอาจไหลทะลักเข้ามาในไทย ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์โควิด -19 ที่แพร่ระบาดขณะนี้ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากแรงงานต่างด้าวในตลาดอาหารทะเลจังหวัดสมุทรสาคร จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดในการตรวจตราบริเวณชายแดน โดยเฉพาะบริเวณช่องทางธรรมชาติ 2,400 กิโลเมตร และต้องจัดการกับผู้เกี่ยวข้องลักลอกขนแรงงานผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 1/2/2564

สภาองค์การนายจ้างฯ ส่งสัญญาณแรงงานภาคท่องเที่ยวยังลำบาก-ส่งออกมีลุ้นดีขึ้น

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการและแรงงานปี 2564 มีความเปราะบางมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงมีอัตรากำลังการผลิตที่เหลืออยู่แต่ยังต้องพยายามรักษาสภาพการจ้างงานเอาไว้โอกาสจ้างแรงงานเพิ่มจึงมีอัตราต่ำ ขณะที่แรงซื้อยังไม่เพิ่มมากนัก ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ลงถึงชาวบ้านโดยเร็วและต่อเนื่องเพื่อที่จะพยุงให้ระบบเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ขับเคลื่อนไปได้ด้วยกลไกการใช้เงินที่เต็มประสิทธิภาพ

“ปีนี้ธุรกิจและแรงงานจะเหนื่อยกว่า ผมเห็นด้วยที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่อยากให้มองในเรื่องกลไกการปฏิบัติในเรื่องการเบิกจ่ายเงินที่ทำอย่างไรให้เบิกจ่ายจริงแล้วถึงมือประชาชนให้ได้ เพราะก่อนหน้านี้ที่รัฐออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทแต่กลับเบิกจ่ายใช้จริงไม่ถึง 50%” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมาถือว่ารัฐได้ทำอย่างเต็มที่ภายใต้เงินที่มีอยู่ รวมถึงโครงการเราชนะล่าสุดภาพรวมสนับสนุนที่จะต้องเร่งอัดฉีดให้ต่อเนื่อง แต่เงื่อนไขเช่น เงินฝากทุกบัญชีต้องไม่เกิน 5 แสนบาท ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรจะตั้งไว้เพราะหากรัฐส่งเสริมการออมการมีเงินออมเพียงเท่านี้ถือว่าไม่ได้มากเลย หากมีเงื่อนไขนี้ต่อไปคนอาจไม่อยากออม ขณะเดียวกัน เห็นด้วยที่กระทรวงแรงงานมีแนวคิดที่จะเยียวยาโควิด-19 แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นคนละ 3,500 บาท หรือ 4,000 บาท 1 เดือน ซึ่งเห็นว่าหากเป็นไปได้ก็ควรจะพิจารณาให้เท่ากับโครงการเราชนะคือ 7,000 บาท (3,500 บาท 2 เดือน) เป็นต้น

ปัจจุบันภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาสภาพคล่องโดยเฉพาะเอสเอ็มอี จึงอยู่ที่ว่าธุรกิจใดจะประคองตัวเองได้มากสุดเท่านั้นหากไม่ไหวก็ต้องปิดกิจการ ดังนั้น ปัญหาด้านสภาพคล่องธุรกิจเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่รัฐต้องเร่งเข้ามาแก้ไข โดยคาดว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มลำบาก หากไทยเริ่มฉีดวัคซีนและเสร็จภายในไตรมาส 3 การท่องเที่ยวภายในประเทศของไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาส 4 แต่ต่างชาติคงยังไม่มีมา ภาพรวมจะส่งผลให้แรงงานระดับ 1 ล้านคนในส่วนนี้ยังคงว่างงาน

ขณะที่ภาคส่งออกมีแนวโน้มที่อาจค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวขึ้นเนื่องจากสต๊อกสินค้าหลายรายการของต่างประเทศเริ่มหมดลงเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้โรงงานมีการปิดตัวลง จึงทำให้มีคำสั่งซื้อมายังภูมิภาคเอเชีย และไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอานิสงส์เนื่องจากเป็นประเทศที่มีห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ที่เข้มแข็ง ซึ่งจะเห็นได้จากการส่งออกในเดือน ธ.ค. 63 ที่เพิ่มขึ้น 4.71% เมื่อเทียบกับ ธ.ค. 2562 จึงทำให้มีการประเมินว่าส่งออกปี 2564 จะโตได้ 4% จากปี 2563 ที่การส่งออกรวมทั้งปีติดลบ 6.01% เมื่อเทียบกับปี 2562 อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องติดตามปัจจัยต่างๆ ใกล้ชิดเนื่องจากแม้ว่าทั่วโลกเริ่มทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ก็ยังไม่อาจชี้ชัดว่าจะได้ผลอย่างแท้จริง

“ภาคแรงงานของไทยยังคงต้องปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ซึ่งน่าห่วงเด็กจบใหม่ที่จะออกมาในช่วง มี.ค.-เม.ย.นี้อีกราว 5 แสนคน และยังมีเด็กจบใหม่ของปีก่อนที่ยังคงว่างงานอีกราว 3 แสนคนที่จะหางานยากขึ้นหากไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการ จึงเห็นว่ารัฐควรจะมีการสนับสนุนหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะ โดยมีแนวทางสนับสนุนการโอนหน่วยกิตเดิม เช่น คนจบรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ก็สามารถโอนหน่วยกิตบางส่วนที่จะไปเรียนต่อสาขาคอมพิวเตอร์ หรือภาษา ที่ตรงกับตลาดแรงงาน เพื่อดูดซับเด็กบางส่วนไปสร้างทักษะใหม่ เป็นต้น” นายธนิตกล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 1/2/2564

เรื่องที่ได้รับความนิยม