Thursday, February 4, 2021

ManpowerGroup ประเมินตลาดแรงงาน 2564 นายจ้าง-ลูกจ้างต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง

 



แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เผยทิศทางและแนวทางการปรับทัพของตลาดงาน และการปรับตัวของแรงงานในปี 2564 ชี้ผลพวงวิกฤตไวรัสโควิด-19และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลตลาดงาน-แรงงานเปลี่ยนวิถี รูปแบบการทำงานและมองภาพปี 2564 เป็นปีแห่งฟื้นตัวสู่การฟื้นฟูครั้งสำคัญของภาครัฐภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่ต้องผนึกกำลังร่วมกัน พร้อมจัดอันดับงานมาแรง 10 อันดับที่ตลาดงานต้องการ และ 10 อันดับงานที่แรงงานพร้อมลุย เพื่อเป็นการลดช่องว่างและเติมเต็มตลาดงานในปัจจุบัน

มร.ไซมอน แมททิวส์ ผู้จัดการระดับภูมิภาค ประเทศไทย แถบตะวันออกกลาง และเวียดนาม แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ผู้นำที่ปรึกษาด้านแรงงานเชิงนวัตกรรมกว่า 80 ประเทศทั่วโลก และในประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจในทุกอุตสาหกรรมเพราะมีความเชื่อมโยงกัน รวมถึงตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทั้งวิถีการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติงาน ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ที่ต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์ทั้งการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจโลก รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศไทยนับเป็นผลพวงจากปัจจัยข้างต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนของภาครัฐในเชิงนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวที่นับว่าได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมถึงด้านการลงทุน และการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนที่เข้ามาช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจรายย่อย เพื่อขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจในประเทศ ทางด้านการลงทุนจากต่างประเทศแม้ลดลงแต่ยังได้รับการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

“นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงการทรานส์ฟอร์มครั้งสำคัญของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะรูปแบบการทำงานภายใต้วิถีชีวิตแบบ New Normal ดังนั้น ส่งผลให้ปี 2563 ที่ผ่านมาเป็นปีแห่งการ Recovery สู่การ Renew ในปี 2564 ที่ต้องจับตาการฟื้นตัวสู่การฟื้นฟูครั้งสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการร่วมกัน อย่างไรก็ตามแม้สัญญาณการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้าๆ แต่การตระหนักรู้ ตื่นตัว เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับจุลภาคจนถึงมหภาค ทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ทั้งในระดับประเทศจนถึงนานาประเทศในระดับโลก ผมคิดว่า หากพวกเราปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงเราจะสามารถรับมือกับทุกสถานการณ์ได้อย่างมีสติและสามารถแก้ไขปัญหาได้จนบรรลุความสำเร็จได้ต่อไป” มร.ไซมอน แมททิวส์ กล่าว

ทางด้านนางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เปิดเผยต่อว่า แนวโน้มในปี 2564 ตลาดงานในส่วนขององค์กรธุรกิจมีการกลยุทธ์และการออกแบบการทำงานในรูปแบบใหม่ เพื่อการลดต้นทุนจะถูกนำมาใช้ในองค์กรต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้มีความกระชับและมีต้นทุนที่ลดลง ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสตั้งแต่ต้นปี 2563 อีกทั้งการปรับโครงสร้างองค์กรและออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ส่งผลให้รูปแบบการจ้างงานมีความยืดหยุ่นจากการจ้างงานแบบประจำมาเป็นรูปแบบการจ้างงานระยะสั้นประเภทต่างๆ ทั้งการจ้างงานชั่วคราว การจ้างงานแบบสัญญาจ้าง และการจ้างงานในรูปแบบเอาท์ซอร์ส (Outsource)จะเป็นที่นิยมแพร่หลายตอบโจทย์การขาดแคลนกำลังคนได้ตามความต้องการ

นอกจากนี้ เรากำลังเห็นแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีในการทำให้ขั้นตอนบางอย่างเป็นอัตโนมัติและดิจิตัล โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นบางส่วนจนถึงทั้งกระบวนการทำงาน อาทิ พนักงานขายหน้าร้าน พนักงานบริการลูกค้า งานธุรการ พนักงานขนส่ง พนักงานฝ่ายการผลิต ทั้งนี้ ในการการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและเชื่อมโยงผ่านแพลตฟอร์มส่งผลให้เกิดการเพิ่มทักษะการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่แรงงานต้องเตรียมพร้อมให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล

เราพบการมีพนักงานที่หลากหลายและมีกลุ่มคนทำงานหลายช่วงอายุในองค์กร (Multi-Generational Pool of Workers) ซึ่งปัจจุบัน แต่ละเจนเนอเรชั่นมีสัดส่วนที่เป็นกำลังแรงงานที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปีในส่วนของ Gen X กับ Y มีมากสุด และในกลุ่ม Gen Z จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามการเริ่มต้นเข้ามาในตลาด ซึ่งคนแต่ละรุ่นมีวิธีคิดและการทำงานที่แตกต่างกันไปตามประสบการณ์และเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพนักงานที่จะต้องเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกันและประสบความสำเร็จด้วยกันต่อไป

อีกหนึ่งแนวโน้มที่จะเห็นในโลกของการทำงาน กลุ่มแรงงานจะเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างทางเลือกเพื่อสร้างรายได้ เพิ่มขึ้น อาทิ กลุ่มคนทำงานประจำยังคงรักษาความมั่นคงในอาชีพและจะมีการสร้างรายได้เสริมจากการรับงานอิสระประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายงานหรือเป็นเรื่องที่ถนัด เช่น ทำขนม ทำอาหารขายออนไลน์ หรือการขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น ทางด้านกลุ่มแรงงานที่ทำงานอิสระจะรับทำงานที่หลากหลายมากขึ้น บางคนผันไปเป็นรายได้หลักและการสร้างความมั่นคงจากงานระยะสั้นหลายๆงาน โดยสามารถบริหารจัดการและเลือกทำงานพร้อมๆ กันได้หลายอย่าง นอกจากนี้ กระบวนการเรียนรู้และการเสริมทักษะต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถในระดับบุคคลจะเป็นตัวเชื่อมโยงแรงงานและอาชีพต่างๆ ให้สามารถทำงานได้หลากหลายรูปแบบทั้งงานปัจจุบันและงานในอนาคตได้

สำหรับภาพรวมทิศทางตลาดแรงงานปี 2564 มีความสอดคล้องกัน 8 ใน 10 สายงาน แต่ลดลงมาจากปีที่แล้วร้อยละ 10 เนื่องจากตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะชะลอตัวทำให้บางสายงานโตสวนกระแส บางสายงานความต้องการลดลงถึงคงที่จากผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและโควิด-19 จึงยังไม่มีการขยายโครงสร้าง โดยจากผลสำรวจจากกลุ่มลูกค้าของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย 10 อันดับสายงานที่ตลาดงานต้องการ (ภาพในตาราง) ดังนี้ อันดับ 1 สายงานขายและการตลาด 23.10% อันดับ 2 สายงานบัญชีและการเงิน 9.58% อันดับ 3 สายงานขนส่งและงานโลจิสติกส์ 9.50% อันดับ 4 สายงานวิศวกร 8.52% อันดับ 5 สายงานไอที 7.78% อันดับ 6 งานระยะสั้นต่างๆ 6.96% อันดับ 7 สายงานธุรการ 6.80% อันดับ 8 สายงานบริการลูกค้า 5.32% อันดับ 9 สายงานการผลิต 5.24% และอันดับ 10 สายงานบริการทางการแพทย์และสุขภาพ 3.28% ส่วน 10 อันดับสายงานที่ตลาดแรงงานต้องการ ดังนี้ อันดับ 1สายงานขายและการตลาด 29.70% อันดับ 2 สายงานวิศวกร 15.23% อันดับ 3 สายงานบริการลูกค้า 13.43% อันดับ 4 สายงานธุรการ 7.40% อันดับ 5 สายงานทรัพยากรบุคคล 7.37% อันดับ 6 สายงานไอที 5.9% อันดับ 7 สายงานบัญชีและการเงิน 5.66% อันดับ 8 สายงานขนส่งและงานโลจิสติกส์ 5.51% อันดับ 9 งานระดับผู้บริหาร 3.51% และอันดับ 10 สายงานการผลิต 2.28%




ดังนั้น จะเห็นได้ว่าตลาดงานและแรงงานยังมีความสอดคล้องในสัดส่วนความต้องการของตลาดกับแรงงาน (ภาพในตาราง) อีกทั้ง ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าสายงานขนส่งและโลจิสติกส์มีอัตราการเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ 4.83% ตามทิศทางธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ, ค้าขายออนไลน์ และธุรกิจเดลิเวอรี่ ทางด้านงานขายและการตลาดขึ้นอันดับ 1 มา 5 ปีต่อเนื่องกันซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความต้องการเติบโตทางธุรกิจให้ความสำคัญกับบุคลากรที่เป็นตัวกลางในการนำเสนอสินค้าและบริการ โดยเฉพาะสินค้าความงาม และสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ ส่วนการตลาดเข้ามาวางกลยุทธ์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์สู่การนำเสนอการสื่อสารเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการโปรโมชั่นและกิจกรรมทางการตลาดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง



นอกจากนี้ ในกลุ่มงานระยะสั้นประเภทต่างๆ , งานบริการทางการแพทย์และสุขภาพมีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมากและเป็นตลาดงานส่วนที่มีความสำคัญในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนี้ แต่งานในกลุ่มงานธุรการ งานบริการลูกค้าและงานการผลิตก็ยังคงมีความต้องการสูง เนื่องจากผู้ประกอบการในประเทศส่วนใหญ่ยังคงเป็นธุรกิจและอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมและกำลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนแปลง แม้งานเหมือนเดิมแต่ก็มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทั้งบางส่วนจนถึงหลายส่วน จึงทำให้แรงงานต้องพัฒนาทักษะที่มารองรับกับการทำงานกับเทคโนโลยีโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี ในกระบวนการทำงานและการผลิต เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ยังเผยถึงอาชีพที่มาแรงในปี 2564 มี 10 อาชีพตามผลสำรวจ ประกอบด้วย อันดับหนึ่งงานขายและการตลาด อันดับสองงานบัญชีและการเงิน อันดับที่สามงานขนส่งและโลจิสติกส์ อันดับสี่งานวิศวกร อันดับที่ห้า งานไอที อันดับที่หกงานระยะสั้นต่างๆ อันดับเจ็ดงานธุรการ อันดับแปด งานบริการลูกค้า อันดับเก้างานการผลิตและ อันดับสิบ งานบริการทางการแพทย์และสุขภาพ

นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยถึงกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สูงสุด 5 อันดับ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจท่องเที่ยว รายได้ลดลง 73% 2.ธุรกิจบันเทิง รายได้ลดลด 59% 3.ธุรกิจรับจ้าง บริการ รายได้ลดลง 44% 4.ธุรกิจการผลิต รายได้ลดลง 42% 5.ธุรกิจอาหาร รายได้ลดลง 41% จากข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับแนวโน้มที่ภาคแรงงานต้องเตรียมพร้อมในการปรับเปลี่ยนรับการเปลี่ยนแปลงที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าวิกฤตดังกล่าวจะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานและธุรกิจต่างๆจะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ



“ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในตลาดงานและแรงงานในปีนี้ต่อไปจนถึงอนาคต การทำงานของแรงงานจะต้องตอบโจทย์ตลาดงาน มีทักษะที่มีความหลากหลาย พร้อมกับการพัฒนาตนเองด้วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง อันจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นบนพื้นฐานของความสมดุลในชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว โดยแรงงานสามารถออกแบบความมั่นคงของชีวิตได้ตามสถานการณ์และบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น หากทุกคนมีการเตรียมตัวและตั้งรับที่ดีโดยเฉพาะภาคแรงงาน แมนพาวเวอร์กรุ๊ปเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป แม้ในยามวิกฤตที่เกิดขึ้น หากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมและแรงงานเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง ปรับตัว ยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ เราจะสามารถค้นพบ “ทางเลือกสู่ทางรอดแรงงานไทยปี 64” เท่าทันยุคเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็วได้ต่อไป” นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องที่ได้รับความนิยม