โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลก รวบรวมผลสำรวจ และแนวโน้มอัตราเงินเดือน และการจ้างงานในปี 2564 จัดทำโดยฝ่ายวิจัยของบริษัท โดยการสำรวจครั้งนี้เป็นครั้งที่ 22 ด้วยการเจาะกลุ่มพนักงานระดับอาวุโสขึ้นไปในองค์กรกว่า 570 แห่งทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย
สำหรับการสำรวจในประเทศไทยจัดทำในเดือน ต.ค. 2563 มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 420 คน ใน 8 สายงาน ได้แก่ บัญชีและการเงิน, การเงินและการธนาคาร, วิศวกรรมและการผลิต, ทรัพยากรบุคคล, กฎหมาย, การขายและการตลาด, ซัพพลายเชนและจัดซื้อ และไอที จาก 130 บริษัทในกรุงเทพฯ และอีสเทิร์นซีบอร์ด ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม
“ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา” ผู้จัดการ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2563 ผ่านมาเป็นปีที่ตลาดการจ้างงานเจอกับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยไตรมาสแรกของปีเริ่มต้นด้วยทิศทางสดใส แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 และตามด้วยการล็อกดาวน์ จึงส่งผลให้การจ้างงานทั่วทุกอุตสาหกรรมเกิดภาวะหยุดนิ่ง
“อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 อัตราการจ้างงานในไทยมีการเติบโตขึ้นเล็กน้อยในภาคธุรกิจประเภทอุปโภคบริโภค (FMCG), เภสัชกรรม, การประกัน, การลงทุนส่วนบุคคล (private wealth), เทคโนโลยี, อีคอมเมิร์ซ, ซัพพลายเชน และอุตสาหกรรมการให้บริการขนส่ง”
“ทั้งนี้ ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 น้อยที่สุด ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบมากที่สุด และพนักงานมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนงานใหม่เพื่อลดความเสี่ยง”
“สถานการณ์การจ้างงานในปี 2564 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ยังคงอยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวัง โดยนายจ้างส่วนใหญ่ยังคงเฝ้ารอดูสถานการณ์ และการจ้างงานมักเป็นไปในรูปแบบของการทดแทนตำแหน่งเดิมที่ว่างลง หรือโยกย้ายคนในองค์กรไปตำแหน่งที่มีความจำเป็นมากกว่า และคาดว่าบริษัทในประเทศจะมีการจ้างงานมากกว่าบริษัทต่างชาติ เพราะบริษัทต่างชาติมีบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศมีสถานการณ์โควิด-19 แย่กว่าไทย ทั้งยังจ้างคนในประเทศมากกว่าชาวต่างประเทศ”
“ปุณยนุช” บอกว่า เศรษฐกิจในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัว และอุปสงค์การจ้างงานจะฟื้นตัวตามไปด้วย หลังจากประสบกับภาวะการจ้างงานที่หยุดนิ่งมาระยะหนึ่ง เพราะประเทศไทยมีประสบการณ์ในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บ้างแล้ว
“สำหรับผู้จัดการฝ่ายสรรหาบุคลากร ซึ่งมีบทบาทในการสรรหาและรักษาพนักงาน ต้องคำนึงว่าพนักงานยังคงมีโอกาสที่จะย้ายงานในปี 2564 แม้จะเป็นช่วงที่สถานการณ์ไม่แน่นอน โดย 72% ของพนักงานใน 8 สายงานที่เราทำการสำรวจเริ่มมองหางานใหม่ในปี 2564 ซึ่งผู้สมัครอาจให้ความสนใจไปยังอุตสาหกรรมที่มีผลการดำเนินการดีในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมเภสัชกรรม, การประกัน และทรัพยากรบุคคล”
“ดังนั้น บริษัทจึงควรที่จะสร้างความผูกพัน และแสดงให้เห็นว่าบริษัทเห็นคุณค่าของพนักงานทุกคน นอกจากนี้ ควรที่จะเปิดใจ และเปิดโอกาสในการจ้างพนักงานที่มีอายุน้อย และไม่มีประสบการณ์ โดยให้การฝึกอบรมที่จำเป็นต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ ทั้งนี้ ควรเริ่มมองหาคนเก่งที่ต้องการตั้งแต่ตอนนี้ และให้ความเชื่อมั่นแก่พวกเขาก่อนที่จะถูกชิงตัวโดยบริษัทคู่แข่งเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว”
“สิ่งที่พนักงานให้ความสำคัญในองค์กรมากที่สุดในปี 2564 คือการมีเพื่อนร่วมงานที่สร้างแรงบันดาลใจ และมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยอันดับหนึ่งที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในงาน ตามด้วยค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีและชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น นอกจากนั้น พนักงานต้องการให้บริษัทปรับปรุงเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการทำงานในโลกปัจจุบันด้วย”
สำหรับเรื่องค่าจ้าง “ปุณยนุช” กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้การปรับขึ้นของอัตราเงินเดือนในประเทศไทยลดลง ซึ่งในปี 2563 พนักงานส่วนใหญ่ย้ายงานโดยเงินเดือนไม่ได้ถูกปรับขึ้น และหากได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจะอยู่ที่ประมาณ 10-15% เท่านั้น ส่วนปี 2564 อัตราเงินเดือนจะปรับตัวสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย
“สำหรับแนวโน้มเงินค่าจ้างต่อปีของพนักงานตำแหน่งอาวุโสไปจนถึงผู้บริหารระดับสูงในปี 2564 มีดังนี้ ในสายบัญชีและการเงินมีอัตราเงินค่าจ้างอยู่ที่ 9.3 แสน-8.4 ล้านบาท/ปี, การธนาคาร 7 แสน-8.4 ล้านบาท/ปี, วิศวกรรมและการผลิต 1 ล้าน-5.8 ล้านบาท/ปี, ทรัพยากรบุคคล 7 แสน-4.2 ล้านบาท/ปี, กฎหมาย 6 แสน-8.4 ล้านบาท/ปี, การขาย และการตลาด 6 แสน-9 ล้านบาท/ปี, ซัพพลายเชนและจัดซื้อ 8.4 แสน-5.8 ล้านบาท/ปี และไอที 7.5 แสน-7.2 ล้านบาท/ปี”
“ทั้งนี้ 3 อันดับสูงสุดของตำแหน่งงานในฝ่ายบัญชี และการเงินเป็นที่ต้องการมากที่สุดในปี 2564 คือ หัวหน้าฝ่ายการเงิน, หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนข้อมูลและวิเคราะห์การจัดทำงบประมาณขององค์กร (FP&A) และฝ่ายควบคุมต้นทุน”
“ส่วนในสายการธนาคาร ได้แก่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ, ผู้ให้คำแนะนำและปรึกษาด้านการลงทุนเฉพาะกลุ่มลูกค้าคนสำคัญ หรือลูกค้าที่มีสินทรัพย์สูง (private banker) และฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์, สายวิศวกรรมและการผลิต ได้แก่ ผู้จัดการด้านปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่อง/การบริหารจัดการแบบลีน, ผู้จัดการระบบคุณภาพ และผู้จัดการวิศวกรรม/โปรแกรม”
“ในสายทรัพยากรบุคคลคือ ฝ่ายการเรียนรู้และพัฒนา, ผู้เชี่ยวชาญทั่วไปในงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์และเอชอาร์ที่เป็นคู่คิดทางธุรกิจ (HR business partner) ขณะที่สายงานกฎหมาย ได้แก่ ที่ปรึกษากฎหมายระดับภูมิภาค, ทนาย นิติกร หรือที่ปรึกษากฎหมายประจำบริษัท และผู้เชี่ยวชาญด้านการควบรวมกิจการ (M&A specialist)”
“นอกจากนั้น ในสายการขายและการตลาด ได้แก่ หัวหน้าฝ่ายช่องทางจัดจำหน่าย, ผู้จัดการแบรนด์ และ performance marketing manager สำหรับสายซัพพลายเชนและจัดซื้อ ได้แก่ ผู้จัดการฝ่ายจัดหา, ผู้จัดการฝ่ายโลจิสติกส์ และผู้จัดการฝ่ายวางแผนวัตถุดิบ 3 อันดับสูงสุดของตำแหน่งงานในสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ ฝ่ายความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity), ฝ่าย product owner และสถาปนิกที่หาทางออกของปัญหาต่าง ๆ ด้านเทคโนโลยี (solution architect)”
ในปี 2564 พนักงานจะต้องเร่งพัฒนาทักษะทั้งในเชิงเทคนิค และการบริหารจัดการ (soft skills) ขณะเดียวกันทางฝั่งนายจ้างจะต้องเริ่มมองหาคนเก่งตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่จะเสียเปรียบคู่แข่งในช่วงที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
“ปุณยนุช” ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ทักษะเป็นที่ต้องการอย่างสูงในปีนี้ คือ ทักษะในด้านเทคโนโลยี ซึ่งบุคลากรในสายงานเทคโนโลยี และการเปลี่ยนผ่านยังคงเป็นที่ต้องการอย่างมาก เนื่องจากการขาดแคลนทักษะ และความรู้ทางเทคนิคในกลุ่มบุคลากรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และดิจิทัลแบงกิ้งกำลังเฟื่องฟู
“ความรู้เชิงเทคนิคยังคงเป็นสิ่งจำเป็นและบริษัทจะยังคงพิจารณาทักษะด้านการจัดการ (soft skills) อีกด้วย เช่น ความสามารถทางภาษาอังกฤษ, ความรู้ในเชิงธุรกิจ, ความสามารถด้านการบริหารคนและทีมงาน รวมถึงความสามารถในการโน้มน้าวผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาบุคลากรที่มีความสามารถในการวางกลยุทธ์ และการคิดนอกกรอบอีกด้วย”
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้การประเมินผลงานพนักงานมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป เช่น พนักงานที่ปรับตัวเก่ง มีความสามารถคิดนอกกรอบ สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ และมีทักษะการสื่อสารที่ดีทั้งแบบตัวต่อตัว และสภาพแวดล้อมเสมือนจริง (virtual environments) จะมีความโดดเด่นขึ้นมา
จึงนับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อภาพรวมตลาดในปี 2563 และ 2564 มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้ทุกองค์กรต้องปรับตัว แต่กระนั้น กลับทำให้ “มนุษย์เงินเดือน” บางส่วนกลายเป็น “มนุษย์ทองคำ” จนทำให้เกิดการจ้างงานในอัตราเงินเดือนสูงที่สุด