กรมชลประทานจัดงบ 5.6 พันล้าน จ้างเกษตรกร-คนตกงานจากโควิด 9.4 หมื่นคน
31 ม.ค. 2564 นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 กรมชลประทานได้จัดสรรงบประมาณปี 2564 วงเงิน 5,662 ล้านบาท สำหรับจ้างงานเกษตรกรจำนวน 94,000 คน ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยคนละ 13,294 บาท โดยงานที่จ้างจะดำเนินการจ้างเพื่อซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุง งานชลประทาน โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องจากพระราชดำริ งานก่อสร้างแหล่งน้ำ ระบบน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง และการจัดการคุณภาพน้ำ
ล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2564 มีการจ้างงานไปแล้ว 8,237 คน ประมาณ 8.76% ของเป้าหมายที่วางไว้ วงเงินที่จ้างงานประมาณ 109.49 ล้านบาท หรือประมาณ 1.93% ของงบประมาณที่ตั้งไว้ สำหรับหลักเกณฑ์การจ้างงานจะให้กับ 4 กลุ่ม ดังนี้
1. เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือเกษตรกรในพื้นที่
2. สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่
3. ประชาชนผู้ใช้แรงงานทั่วไปในพื้นที่
4. หากแรงงานในพื้นที่ไม่พอ ให้พิจารณาจ้างเกษตรกรแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียง จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดและลุ่มน้ำตามลำดับ
“กรมชลประทาน จะจัดสรรงบประมาณเพื่อจ้างงานในช่วงฤดูแล้งในช่วงที่เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกได้ส่วนการระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลให้มีคนตกงานจำนวนมาก มีแรงงานเกษตรกรที่เข้าไปรับจ้างในกรุงเทพฯ หรือเมืองอุตสาหกรรม ที่มีการหยุดงาน หรือโรงงานปิดกิจการ ร้านอาหารไม่สามารถเปิดได้ตามปกติ ทางกรมชลประทานก็จะประกาศเชิญชวนให้เข้ามาร่วมทำงานด้วยกัน หากคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้ ก็พร้อมรับเข้าทำงาน”
นายทวีศักดิ์ ยังกล่าวว่า สำหรับโครงการการจ้างงานเพื่อจ้างเกษตรกรประจำปี 2563 ภายใต้งบประมาณ 4,498 ล้านบาท จ้างแรงงานวงเงิน 2,713 ล้านบาท หรือ 60% ของงบประมาณที่ตั้งไว้ แต่จ้างเกษตรกรทำงานได้ประมาณ 91,159 คน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือประมาณ 103% ของเป้าหมายที่วางไว้ที่จำนวน 88,838 คน แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 4,248 ล้านบาท เป้าหมายจ้างเกษตรกรทำงานได้ 81,538 คน และงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ.2563 วงเงิน 250 ล้านบาท เป้าหมายจ้างเกษตรกรทำงานได้ 7,300 คน
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจ้างทำงานกับกรมชลประทาน เฉลี่ยมีรายได้ประมาณคนละ 29,770 บาท สำนักชลประทานที่มีการจ้างงาน มากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ สำนักชลประทานที่ 7 จ้างงานจำนวน 14,761 คน สำนักชลประทานที่ 5 จ้างงานจำนวน 9,161 คน และสำนักชลประทานที่ 8 จ้างงานจำนวน 8,148 คน
“หลักเกณฑ์การจ้างงานยังยึดเกณฑ์เดิมเหมือนทุกปี คือจ้างเกษตรกรในพื้นที่ หากไม่มีเกษตรกรร่วมโครงการ ก็ให้พิจารณาจ้างเกษตรกรแรงานในพื้นที่ใกล้เคียง จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และลุ่มน้ำ ตามลำดับ”
สำหรับจังหวัดที่มีการจ้างแรงงานเพื่อซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุง งานชลประทาน ขุดลอกคูคลอง มากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ จ.อุบลราธานี จ้างแรงงานจำนวน 5,781 คน, จังหวัดเชียงใหม่ จ้างแรงงานจำนวน 5,377 คน และจังหวัดสกลนคร จ้างแรงงาน 3,938 คน ตามลำดับ
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 31/1/2564
ธปท.แนะจับตา 3 ปัจจัยใกล้ชิด ชี้ตลาดแรงงานยังเปราะบาง โดยเฉพาะภาคบริภาค
นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวย ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากผลกระทบของไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 รอบใหม่ ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางธ.ค. นั้นยอมรับว่ามีผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจบางส่วนตั้งแต่ธ.ค. ที่ผ่านมา และคาดว่าจะต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกปีนี้ด้วย
ดังนั้นมี 3 ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ด้านแรกคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าจะลากยาว และการแพร่ระบาดจะมีต่อเนื่องมากน้อยแค่ไหน ผลกระทบวงกว้างมากน้อยแค่ไหน
ขณะที่ด้านที่สอง คือตลาดแรงงาน แม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มบริการ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ ทำให้ภาคนบริการได้รับผลกระทบมากที่สุดในรอบนี้
โดยหากดูอัตราการว่างงาน จากจำนวนผู้รับสิทธิการว่างงานของผู้ประกันต้น พบว่า เดือนธ.ค.อยู่ที่ 5.9 แสนคน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 7.8 แสนคน ขณะที่จำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงาน อยู่ที่ 3.9 แสนคน จาก4.7 ล้านแสนคน ในเดือนก่อนหน้า
ส่วนผู้เสมือนว่างงานต่อรายสาขาธุรกิจ พบว่า จำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 2.4 ล้านคน จาก 2.2 ล้านคน ในเดือนก่อนหน้า โดยแบ่งเป็นภาคเกษตรที่ 0.8 ล้านคน จาก 0.9ล้านคนในเดือนก่อนหน้า ขณะที่นอกภาคนเกษตร เพิ่มมาอยู่ที่ 1.6 ล้านคน จาก 1.3 ล้านคน สุดท้ายคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ต้องติดตาม
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย เดือน ธ.ค. 2563 ยังทยอยฟื้นตัวได้ แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง และเริ่มเห็นผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางภาคส่วน
โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนแม้ยังขยายตัว แต่การระบาดระลอกใหม่เริ่มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเดินทางและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ด้านการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวได้ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ดีขึ้น เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงขึ้น ด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับ การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวตามรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน
ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยตามจำนวนผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้นอกภาคเกษตรปรับลดลง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากดุลการค้าที่เกินดุลมากขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้กับเดือนก่อน
ขณะที่ เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ยอดขายยานยนต์ปรับดีขึ้น ประกอบกับผลของฐานที่ต่ำ
อย่างไรก็ดี หลังขจัดปัจจัยฤดูกาล เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงจากเดือนก่อนตามการใช้จ่ายในหมวดบริการจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือน ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเดินทางและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ใช้มาตรการควบคุมการระบาดเข้มงวด
มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 4.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน โดยปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว ประกอบกับการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกส่งผลให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยขยายตัวดี
สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวตามการผลิตน้ำตาลเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตหมวดยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับความต้องการสินค้ากลุ่มดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะยอดจดทะเบียนรถยนต์และการนำเข้าสินค้าทุน สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างยังหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายลงทุนยังขยายตัวสูงตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนที่การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ล่าช้า
ขณะที่การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวต่อเนื่อง สำหรับรายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ
มูลค่าการนำเข้าสินค้าทรงตัวใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวร้อยละ 3.3 ในเดือนก่อนหน้า ตามการนำเข้าที่กลับมาขยายตัวในหลายหมวดสินค้าสำคัญ ทั้งหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับดีขึ้น
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ แม้ในเดือนนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของภาครัฐเพิ่มเติมในบางมิติ แต่โดยรวมยังมีจำนวนไม่มาก
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน
ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยตามจำนวนผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี แม้อัตราการว่างงานและสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมปรับลดลงบ้าง
แต่ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนความเปราะบางในตลาดแรงงาน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากการเกินดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้กับเดือนก่อน
ส่วน เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวได้ตามกำลังซื้อที่ทยอยฟื้นตัวในภาพรวมและแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ประกอบกับมีปัจจัยชั่วคราวจากวันหยุดยาวพิเศษ ทั้งนี้ แม้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมปรับดีขึ้น
แต่กำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังเปราะบางและมีความแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้และพื้นที่ สำหรับการส่งออกสินค้าหดตัวน้อยลงตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า
ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวสอดคล้องกับอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ดีขึ้น อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงสอดคล้องกัน
ขณะเดียวกันการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวตามรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อนจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ล่าช้า อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่สูงขึ้น
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง ด้านตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังคงเปราะบางและไม่ทั่วถึง ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากที่เกินดุลในไตรมาสก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงจากการนำเข้าทองคำ
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 29/1/2564
มอบสิทธิประโยชน์ว่างงานแก่ลูกจ้าง บ.บอดี้แฟชั่นฯ ที่ถูกเลิกจ้างจากโควิด-19
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 เวลา 09.30 น. ที่ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบเงินสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานแก่ผู้แทนลูกจ้าง บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด สาขานครสวรรค์ ที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากสถานประกอบการปิดตัวจากผลกระทบโควิด-19 โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวรายงาน
นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติในครั้งนี้ด้วย โดยรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินงานของกระทรวงแรงงานในการช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้ เพราะไม่ใช่แค่ลูกจ้างบริษัท บอดี้ แฟชั่นฯ จะได้รับผลประโยชน์ แต่ยังมีลูกจ้างอีกกว่า 15,000 คน ที่จะได้รับประโยชน์วงเงินกว่า 840 ล้านบาท สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” การดำเนินการของกระทรวงแรงงานในครั้งนี้จึงถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม
โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และการกำกับดูแลกระทรวงแรงงานของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่ประสบปัญหาว่างงานเนื่องจากสถานประกอบการปิดกิจการจากผลกระทบโควิด-19 และได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบเป็นการเร่งด่วน ซึ่งจากประเด็นข่าวลูกจ้างของบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด สาขานครสวรรค์ จำนวน 733 ราย ถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563 โดยนายจ้างประกาศเลิกจ้างเนื่องจากลูกจ้างกระทำความผิด
ส่งผลให้ลูกจ้างกลุ่มนี้ไม่ได้รับเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขการจ่ายเงินตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการของศาลกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการหารือประเด็นดังกล่าวกับคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานที่มีสาเหตุการลาออกจากงานของผู้ประกันตนกับนายจ้างไม่ตรงกัน และเรื่องอยู่กระบวนการของศาล
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า เพื่อมิให้เกิดความล่าช้าในการจ่ายประโยชน์ทดแทนแก่ผู้ประกันตน โดยการออกประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน พ.ศ. 2564 จัดทำระเบียบสำนักงานประกันสังคมว่าด้วยการขอรับประโยชน์ทดแทน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 และจัดทำแนวปฏิบัติการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานกรณีการแจ้งสาเหตุการออกจากงานของผู้ประกันตนกับนายจ้างไม่ตรงกัน จากการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม สามารถวินิจฉัยจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานให้กับลูกจ้างบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด สาขานครสวรรค์ จำนวน 733 ราย จะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 30,785,973.65 บาท (สามสิบล้านเจ็ดแสนแปดหมื่นห้าพันเก้าร้อยเจ็ดสิบสามบาทหกสิบห้าสตางค์)
สำหรับในวันนี้มีผู้แทนลูกจ้าง จำนวน 5 รายที่เข้ารับเงินสิทธิประโยชน์ทดแทนฯ ได้แก่ 1) นางระพีพร วันสืบเชื้อ จำนวน 70,000 บาท 2) นางสาวน้ำฝน จันทวิ จำนวน 67,520 บาท 3) นางวรรณิภา พุ่มโพ จำนวน 66,590 บาท 4) นางสาวนฤมล ทาหาวงศ์ จำนวน 67,630 บาท และ 5) นางสาวนิลวรรณ ภูมี จำนวน 44,450 บาท ซึ่งจะได้รับเงินดังกล่าวผ่านบัญชีธนาคารในวันนี้ (28 ม.ค. 2564) นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ลูกจ้างของบริษัทอื่นๆ ทั่วประเทศอีกกว่า 15,000 ราย ที่จะได้รับสิทธิดังกล่าวตามมา วงเงินที่จะได้รับประมาณ 840 กว่าล้านบาทต่อไป
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/1/2564
รมว.แรงงาน หนุนให้ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติมีส่วนร่วมในคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ ตามกลไกระบบทวิภาคี
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความพยายามพัฒนากลไกการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครอง ดูแลสิทธิของแรงงานต่างด้าวให้มีความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติสอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยสนับสนุนให้เข้าไปมีบทบาทในการแสดงความคิดเห็น ร่วมปรึกษาหารือกับนายจ้างในการจัดสวัสดิการภายในสถานประกอบกิจการให้แก่ลูกจ้างตามสัญชาติได้อย่างเหมาะสมในแต่ละประเภทกิจการ ตรงตามความต้องการของลูกจ้างเอง มิใช่นายจ้างจัดการเพียงฝ่ายเดียว
นอกจากนี้ การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ด้วยระบบทวิภาคี เพื่อยุติปัญหาข้อเรียกร้อง ข้อพิพาทแรงงานได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ได้มอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เร่งเข้าไปดำเนินการส่งเสริมสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างต่างด้าวทำงาน สนับสนุนให้มีตัวแทนของลูกจ้างต่างด้าวเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ เพื่อดูแลสิทธิประโยชน์อันพึงได้ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ลูกจ้างกลุ่มนี้จะได้มีตัวแทนประสานงานช่วยเหลือนายจ้างในการดูแลลูกจ้างต่างด้าวด้วยกันเองได้
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวในกรณีเดียวกันว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 96 ได้กำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คน ขึ้นไป ต้องจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายเดียวที่มาจากการเลือกตั้งอย่างน้อย 5 คน หากสถานประกอบกิจการที่มีคณะกรรมการลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการแรงงานสัมพันธ์แล้ว ให้คณะกรรมการลูกจ้างนั้นทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการได้ ซึ่งกรมได้เน้นย้ำไปยังหน่วยปฏิบัติทั่วประเทศให้เข้าไปส่งเสริมสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างต่างด้าว ได้สนับสนุนให้มีตัวแทนลูกจ้างต่างด้าวเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการ สภาพการจ้าง การทำงานที่เหมาะสมครอบคลุมลูกจ้างทุกประเภทอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกจ้างในสถานประกอบกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 27/1/2564
ครม.ไฟเขียว ผู้ประกันตน ม.33 ส่งเงินสมทบประกันสังคม 75 บาท 2 เดือน
26 ม.ค. 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนตามมาตรา 33
ตามที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอ ลดส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในส่วนของลูกจ้างจากร้อยละ 3 หรือ ส่งเงินสมทบสูงสุด 450 บาท ลดลงเหลือร้อยละ 0.5 หรือ ส่งเงินสมทบสูงสุด 75 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน (กุมภาพันธ์-มีนาคม) สำหรับในส่วนของนายจ้าง ยังคงส่งเงินสมทบร้อยละ 3 หรือ ส่งเงินสมทบสูงสุด 450 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม)
ทั้งนี้ เป็นการลดอัตราส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพิ่มเติมจากมติครม. เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ซึ่งปรับลดส่งเงินสมทบทั้งสองขา คือ ขาลูกจ้างและขานายจ้าง จากร้อยละ 5 หรือ ส่งเงินสมทบสูงสุด 750 บาท ลดลงเหลือร้อยละ 3 หรือ ส่งเงินสมทบสูงสุด 450 บาท
สำหรับผู้ประกันกันตนตามมาตรา 39 ลดลงเหลือ 38 บาทต่อเดือน จากเดิมต้องส่งเงินสมทบ 432 บาทต่อเดือน จะทำให้นายจ้าง จำนวน 4.86 แสนราย รวมถึงผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.64 ล้านราย ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.83 ล้านราย ลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในเดือนมกราคม -มีนาคม 2564 รวม 23,119 ล้านบาท
ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของผู้ประกันตนยังยังคงเท่าเดิม
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 26/1/2564
สทท.คาดแรงงานท่องเที่ยวเสี่ยงตกงานเพิ่ม 2 ล้านคน
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยผลการศึกษาดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยประจำไตรมาส 4 ปี 2563 ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ 62 และใกล้เคียงกับไตรมาส 3 โดยคาดว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีประมาณ 6.69 ล้านคน ลดลงร้อยละ 83.22 มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 3 แสนล้านบาท ลดลงร้อยละ 80.58
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เท่ากับ 53 ต่ำกว่าระดับปกติ เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นและคาดว่าใช้เวลาเกือบ 2 เดือน จึงจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ระบุว่า การระบาดของ COVID-19 กระทบแรงงานในระบบภาคท่องเที่ยวกว่า 4 ล้านคน และการระบาดรอบใหม่อาจทำให้มีแรงงานในภาคท่องเที่ยวต้องตกงานมากกว่า 2 ล้านคน จากปี 2563 ที่มีแรงงานตกงานแล้ว 1.04 ล้านคน
“ถือว่าน่ากังวลมาก เพราะหากเทียบเพียงไตรมาส 3 ไตรมาสเดียวมีแรงงานตกงาน 502,000 คน เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว”
นายชำนาญ ยังระบุอีกว่า เนื่องจากไตรมาส 4 ของปีก่อน มีกิจการภาคท่องเที่ยวต้องปิดกิจการลงชั่วคราวร้อยละ 10 และปิดกิจการถาวรประมาณร้อยละ 3 ซึ่งสถานประกอบการร้อยละ 85 ที่ยังเปิดกิจการ ก็ยังประสบปัญหาลูกค้าลดลง ร้อยละ 50 ทำให้ต้องลดพนักงานลงประมาณร้อยละ 30 - 40 ของพนักงานที่เคยจ้าง กระทบต่อรายได้พนักงานลดลงประมาณร้อยละ 20 - 30 ของรายได้ที่เคยรับ เนื่องจากมีการหักเงินเดือนและลดระยะเวลาในการทำงาน
ขณะที่ นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธาน สทท. เสนอว่า มาตรการเร่งด่วนที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ เพื่อประคองธุรกิจของผู้ประกอบการ คือ การปรับมาตรฐานเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ และคงมาตรการที่รัฐช่วยจ่ายค่าจ้างสำหรับผู้ประกอบการในระบบประกันสังคมที่ยังสร้างงานอยู่เป็นเวลา 1 ปี เพราะคาดการณ์ว่า กว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเข้าสู่ภาวะการได้ในเวลาอีก 2 ปี
ทั้งนี้ นายสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ รองประธาน สทท.เปิดเผยว่า หากไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 รอบใหม่ได้แล้ว ควรต้องเร่งกระตุ้นไทยเที่ยวไทย เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกันที่ครอบคลุมสินค้าและการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ กระตุ้นการเดินทางและจัดประชุมสัมมนาของภาครัฐ ท้องถิ่นและเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวพรีเมี่ยมชั้นสร้างสรรค์ โดยต้องเริ่มทำแผนกระตุ้นท่องเที่ยวตั้งแต่ช่วงนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความพร้อมและพัฒนาสินค้าทางการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะต่อไป
พนง.โรงแรมตรังถูกเลิกจ้าง ร้องเรียนยังไม่ได้รับเงินชดเชยตามกำหนด
25 ม.ค. 2564 อดีตพนักงานลูกจ้างโรงแรมใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง กว่า 19 คน เดินทางมาที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ตรัง โดยบางรายหอบลูกน้อยมาด้วย เพื่อร้องเรียนและเรียกร้องขอความเป็นธรรมหลังโรงแรม เลิกจ้างพนักงานในกลุ่มแรกไปกว่า 19 ชีวิต โดยให้เหตุผลตามหนังสือการเลิกจ้างว่า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีความจำเป็นต้องลดต้นทุนค่าใช้จ่าย จึงจำเป็นพิจารณาเลิกจ้างพนักงานในโครงการการลดต้นทุนโดยปฎิบัติตามระเบียบข้อบังคับบริษัทฯ เรื่องการเลิกจ้างและจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานในการชดเชยให้ต่อไป
ทางบริษัท ได้มีการพูดคุยว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้เป็นงวดตามอายุงานของพนักงานแต่ละราย ซึ่งอายุงานมากสุดในครั้งนี้คือ 27 ปี และอายุงานน้อยสุดคือ 1 ปี ซึ่งจะจ่ายให้ระยะยาวประมาณ 3 ปี เฉลี่ยตกอยู่เดือนละ 2,000 บาท ซึ่งทางพนักงานบางส่วนไม่เห็นด้วยและรับไม่ได้กับข้อเสนอดังกล่าว จึงพูดคุยกับทางบริษัท แต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และคล้ายจะยื้อเวลา พร้อมกันนั้นยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชย
จึงเดินทางมาทำการร้องเรียนขอความเป็นธรรมตามกระบวนการกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยในวันนี้มี น.ส.ชฎาณัฎฐ์ สุขสวัสดิ์ นิติกรปฎิบัติการเป็นผู้รับเรื่อง พร้อมทั้งให้กลุ่มลูกจ้างเขียนหนังสือยื่นคำร้อง
นายเมธี (สงวนนามสกุล) อายุ 53 ปี ตำแหน่งผู้จัดการภาคกลางคืน หนึ่งในผู้เดือดร้อน กล่าวว่า ที่เดินทางมาในวันนี้เป็นกลุ่มแรกที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งถูกเลิกจ้างมาตั้งแต่โควิดระบาดรอบแรก เดือนเมษายน 2563 ทำให้พวกตนได้รับสิทธิกินเบี้ยชดเชยของประกันสังคมอยู่ จนครบ 6 เดือน แล้วทางบริษัทจะเรียกตัวเข้าทำงานใหม่ แต่ปรากฏว่าเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา กลับมีหนังสือจากทางบริษัทมาพร้อมสัญญาเลิกจ้าง
โดยทางบริษัทแจ้งว่าจะชดเชยให้ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ตามอายุงาน ซึ่งตนมีอายุงานมากที่สุดที่อยู่ในกลุ่มถูกเลิกจ้างครั้งนี้คือ 27 ปี ขณะนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบอะไรจากทางบริษัทเลย เพียงแค่พูดว่าให้รอไปก่อน แต่รอไม่ไหวเพราะต้องกินต้องใช้ในทุกวัน เพราะไม่ได้ทำงานมาตั้งแต่เดือนเมษายน เงินก็ไม่มีจะใช้ ก็อยากให้นายจ้างเขามาพูดคุยและจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด
ด้าน น.ส.จารุวรรณ(สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี ตำแหน่งผู้ช่วยกุ๊ก หนึ่งในผู้เดือดร้อน กล่าวว่า อายุงานของตน 14 ปี 6 เดือน หลังจากถูกเลิกจ้างก็ได้กลับไปอยู่บ้าน ที่ผ่านมาก็ได้เดินทางมาพูดคุยกับทางบริษัทหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เงียบหาย ก็เลยรวมตัวกันมาในวันนี้ เพราะเรามีภาระค่าใช้จ่ายของตนเอง ลูกชายวัย 1 ขวบ และครอบครัวอีก ตกอยู่เดือนละ 15,000 บาท
ขณะนี้เงินที่ใช้จ่ายอยู่ก็มีเงินเก็บสะสมกับประกันสังคมที่ได้รับ แต่ก็เริ่มร่อยหรอไปทุกวัน แต่ถ้าได้เงินก้อนซึ่งเป็นเงินค่าชดเชยมา ก็สามารถที่จะนำไปขยายเพื่อหาช่องทางทำกินได้อีก มาถึงวันนี้ก็อยากจะให้นายจ้างจ่ายเงินให้ตามกำหนด อย่าทำเป็นระบบผ่อนจ่ายเลยเพราะเราก็มีภาระต้องจ่ายเยอะมาก ที่สำคัญคือลูกน้อย ซึ่งมีการต่อรองแล้วแต่ทางบริษัทก็เงียบ ก็เลยมาใช้สิทธิตรงนี้ ตนก็เข้าใจทางบริษัทว่าประสบปัญหาความเดือดร้อน แต่เราก็ให้โอกาสมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งการที่มาในวันนี้ก็มีความหวังกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ว่าสามารถจะช่วยได้
ขณะที่ นายสุรสิงห์ จุนณศักดิ์ศรี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ตรัง กล่าวว่า หลังจากนี้ก็จะทำการเชิญนายจ้างมาพูดคุยเพื่อหาทางออกทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าพูดคุยกับแล้วไม่สามารถหาทางออกได้ ทางเราก็จะรับคำร้องตามที่กลุ่มลูกจ้างมายื่นในวันนี้ และเดินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยการวินิจฉัยออกคำสั่ง โดยตามกรอบรับคำร้องวินิจฉัยระยะเวลาอยู่ที่ 60 วัน ขยายไปได้อีก 30 วัน แต่จะเร่งวินิจฉัยให้ได้ภายใน 30 วัน เพื่อให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด
โดยจะพยายามให้ลูกจ้างอยู่ได้ นายจ้างอยู่ได้ เพราะในขณะนี้ทุกฝ่ายจะต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน ซึ่งในส่วนของ จ.ตรัง โควิดรอบแรกที่ผ่านมามีลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนมาแล้ว 2-3 บริษัท เดือดร้อนกว่า 20-30 ชีวิต โดยส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทเกี่ยวกับการเดินทาง โรงแรม และการท่องเที่ยว และมองว่าแนวโน้มจะหนักขึ้นหากโควิด 19 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง
แรงงานเมียนมากว่า 400 คน ลุกฮือประท้วงขอกลับบ้าน
25 ม.ค. 2564 ที่อาคารกักตัวแรงงานชาวเมียนมาที่ทำผิดกฎหมาย เพื่อรอการส่งกลับประเทศประเทศซึ่งเป็นอาคารสูง 5 ชั้น ได้เกิดเหตุชาวเมียนมาจำนวน 402 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 365 คน ผู้หญิง 37 คน รวมตัวกันทุกชั้นพร้อมกับชูป้ายข้อความว่า อยากกลับบ้าน ไม่อยากถูกคุมขัง โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคง ทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งกำลังเข้าพื้นที่ เตรียมพร้อมหากเกิดเหตุฉุกเฉินจำนวนหลายร้อยนาย
จากนั้นนายโชตินรินทร์ เกิดสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ได้เดินทางมาที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองระนอง ประชุมร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนทราบสาเหตุว่า แรงงานเมียนมาถูกส่งมาจากหลายพื้นที่นำมากักตัวที่ระนอง เพื่อรอการส่งกลับประเทศ โดยพบว่าหลายคนอยู่นานกว่า 5 เดือนแล้วทั้งที่คดีจบแล้ว ที่ผ่านมาไทยพยายามประสานทางการเมียนมาในการส่งกลับ โดยมีผู้ช่วยทูตเมียนมาประจำประเทศไทยได้เข้ามาพูดคุยกับกลุ่มแรงงาน 2-3 ครั้ง พร้อมรับปากว่าจะรีบดำเนินการ แต่ยังติดปัญหาโควิด-19 ที่ยังการปิดชายแดนทั้ง 2 ประเทศ
เบื้องต้นหลังจาการหารือ มีการเตรียม 2 แนวทางแก้ไข คือ
1. ประสานสถานทูตเมียนมาเพื่อเข้ามาเจรจารับทราบปัญหา ซึ่งในข้อนี้ได้ทำการประสานแล้ว ทางสถานทูตได้ส่งผู้ช่วยทูตจากจังหวัดสุราษฎร์เพื่อทำการเจรจา ซึ่งทุกฝ่ายกำลังรอการเดินทางมา
2. หากยังหาทางออกไม่ได้ คงต้องมีการเสนอไปยังทางผู้บังคับบัญชาส่วนกลางว่าจะประสานให้กลุ่มแรงงานเข้าสู่ระบบทำงานทำบัตรใหม่ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องหรือไม่
ล่าสุดได้พูดคุยกับตัวแทนแรงงานที่ถูกคุมขังแล้ว ทำให้กลุ่มแรงงงานเข้าใจ เหตุการณ์จึงกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยไม่มีเหตุวุ่นวายหรือเหตุรุนแรง
ผู้ประกอบการธุรกิจ จ.มหาสารคาม ชี้ต้องการจ้าง ปวส.-ปวช.มากกว่าวุฒิ ป.ตรี
25 ม.ค. 2564 นายเดช ผุยคำสิงห์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานจัดหางาน จ.มหาสารคาม เปิดเผยว่า โครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ตามนโยบายของรัฐบาลได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการในพื้นที่ จ.มหาสารคามเป็นอย่างดี มีตัวแทนบริษัทมาตั้งโต๊ะรับสมัครงานโดยตรง และสามารถทราบผลได้ทันที
ซึ่งจังหวัดมหาสารคามได้โควตารับพนักงานจำนวน 2,160 ตำแหน่ง และมีนักศึกษาจบใหม่ที่มาลงทะเบียนทำงานโครงการ 739 ตำแหน่ง เป็นปริญญาตรี 640 คน ปวส. 54 คน ปวช. 14 คน ม.6 31 คน แต่นายจ้างมีตำแหน่งงานว่างไม่มากนัก
จากข้อมูล ณ วันที่ 11 มกราคม 2564 ในจังหวัดมหาสารคามมีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ 21 แห่ง มีตำแหน่งงานว่างจำนวน 226 อัตรา แยกเป็นวุฒิ ม.6 จำนวน 79 อัตรา ปวช.จำนวน 57 อัตรา ปวส.จำนวน 37 อัตรา และปริญญาตรีจำนวน 53 อัตรา แต่ระดับปริญญาตรีมีผู้จบการศึกษามาลงทะเบียน 640 คน ได้ทำงาน 23 คน เพราะอาจจบการศึกษาไม่ตรงกับที่ผู้ประกอบการต้องการ
โดยผู้ประกอบการมีตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการวุฒิการศึกษาสูงมากนัก เพราะสถานประกอบการส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี ไม่ค่อยมีตำแหน่งที่ต้องใช้พนักงานที่มีการศึกษาสูง อีกทั้งนักศึกษาจบใหม่จากสถาบันการศึกษาในจังหวัดมหาสารคาม มักจะเป็นคนนอกพื้นที่
เมื่อจบการศึกษาแล้วก็เดินทางกลับภูมิลำเนา จึงทำให้ตัวเลขผู้สมัครงานโครงการนี้มีน้อย ทั้งนี้ โครงการจ้างงานเด็กจบใหม่นั้น กระทรวงแรงงานต้องการส่งเสริมการจ้างงานคนรุ่นใหม่ และผู้ไม่เคยเข้าสู่ตลาดแรงงานให้มีงานทำตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
โดยภาครัฐและเอกชน (copayment) ซึ่งนายจ้างเจ้าของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะจ่ายเงินค่าจ้างเงินเดือนร้อยละ 50 ตามระดับการศึกษาให้กับลูกจ้าง เช่น วุฒิ ปวส.เงินเดือนเริ่มต้น 12,000 บาท วุฒิปริญญาตรีเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท และกรมการจัดหางาน จะโอนเงินค่าจ้างร้อยละ 50 เข้าบัญชีให้กับลูกจ้างโดยตรง
ด้านนายสมพงษ์ พวงเวียง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โสมภาส เอ็นจิเนียริ่ง (2005) จำกัด เปิดเผยกรณีนี้ว่า ความต้องการแรงงานในสถานประกอบการของมหาสารคาม มีความต้องการแรงงานที่จบการศึกษาสูง หรือมีการศึกษาระดับปริญญาตรีน้อยมาก
เพราะส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี ตำแหน่งระดับหัวหน้างานจึงมีไม่มาก อย่างโรงงานของตนผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ก็ต้องการแรงงานระดับปฏิบัติการ จบม.6 ปวช. หรือ ปวส.เท่านั้น ส่วนระดับหัวหน้างานหรือฝ่ายบัญชีก็เต็มหมดแล้ว
นายณรงค์ เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้าจังหวัดมหาสารคาม ให้ความเห็นกรณีเดียวกันนี้ว่า การจ้างงานของภาครัฐคือเปิดรับตามวุฒิที่ต้องการ แต่ของภาคเอกชนจะจ้างตามตำแหน่งงาน
แต่ก็นำวุฒิการศึกษามาพิจารณาประกอบเช่นกัน บางตำแหน่งอาจจ้างไม่ถึงวุฒิปริญญาตรีก็ได้ แต่จะดูความสามารถและผลงานเป็นหลัก สำหรับโครงการดังกล่าวมองว่าน่าจะเปิดกว้างไม่จำกัดคนจบใหม่ หรือคนจบมานานแล้วด้วยหากเป็นอย่างนั้นน่าจะตอบโจทย์ได้มากกว่า อีกทั้งในสถานการณ์เช่นนี้ โอกาสที่สถานประกอบการในมหาสารคามจะรับพนักงานเพิ่มคงน้อย เพราะธุรกิจต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กันถ้วนหน้า
มีผลแล้วเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร ให้ 800 บาท 'แรงงาน' ชี้เงื่อนไขกำหนดรับเงิน
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวง การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ออกโดยนาย สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา75 แห่งพระราชบัญญัติ ประกันสังคม พ.ศ. 2533 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 4 แห่งกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณี สงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 4 ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรให้เหมาจ่ายเป็นเงินในอัตรา 800 บาท ต่อเดือนต่อบุตรหนึ่งคน ” ให้ไว้ ณ วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564
ขณะที่นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เผยว่า การปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรให้กับบุตรของผู้ประกันตน ที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี ให้มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มจากเดิมเดือนละ 600 บาท เป็นเดือนละ 800 บาทต่อคน โดยจ่ายคราวละไม่เกิน 3 คน
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ประกาศกฎกระทรวง การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2564 ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตน และภาคแรงงาน ให้สามารถเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาประเทศชาติ
สำหรับการปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจากเดิม 600 บาท เป็น 800 บาท ในครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินในส่วน ที่ปรับเพิ่มขึ้นของงวดเดือน มกราคม 2564 ในวันที่ 30 เมษายน 2564 เนื่องจากระบบตัดจ่ายเงินกรณีสงเคราะห์บุตรของสำนักงานประกันสังคมที่กำหนดให้ การตัดจ่ายเงินย้อนหลัง 3 เดือน เพื่อปรับฐานข้อมูลผู้ประกันตนให้ถูกต้องก่อน การตัดจ่าย ผู้ประกันตนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง จังหวัด สาขา หรือโทร.1506 เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th
รมว.แรงงาน เผยเตรียมแก้ กม.ประกันสังคม นำเงินชราภาพช่วยแรงงานสู้โควิด อาจเข้า ครม.เดือน ก.ย. 2564
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณากระทู้สดของ น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ถามนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ถึงการเยียวยาผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง ว่า กระทรวงแรงงานได้ดูแลนายจ้างและลูกจ้างอย่างไร โดยบอร์ดการแพทย์สำนักงานประกันสังคมให้โรงพยาบาลเอกชนในเครือช่วยผู้ประกอบการ ตรวจคัดกรองในโรงงาน เพื่อลดการเคลื่อน้องแก่ย้ายแรงงานต่างด้าว ทำให้ตลาดการค้าต่างประเทศ ชื่นชมมาตรการดูแลของรัฐบาลไทย ทำให้ผู้รับสินค้าปลายทางมั่นใจว่าสินค้าปลอดภัย โดยที่จ.สมุทรสาคร ตั้งเป้าตรวจให้ผู้ใช้แรงงาน 1 แสนคน จากจำนวนที่มี 2 แสนคน ทั้งนี้มีเงินให้นายจ้างกู้ยืมเงินจำนวนหนึ่งเพื่อให้กู้ยืม โดยล่าสุดนั้น นายจ้างกู้เงินในส่วนดังกล่าวแล้ว 3,000 ล้านบาท เพื่อช่วยนายจ้างไม่ให้ลดคนงาน อีกทั้งยังลดส่งเงินสมทบเข้าระบบ
รมว.แรงงาน ชี้แจงว่า การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเมื่อ 15-21 ม.ค.มีแรงงานต่างด้าวที่มีนายจ้าง จำนวน 1 แสนคน และแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีนายจ้าง จำนวน 7,000 คน เป็นประเด็นที่วิเคราะห์ เบื้องต้นในส่วนของแรงงานหลักแสนคนนั้น เป็นแรงงานที่อยู่ในประเทศไทยก่อนโควิด-19 ระบาด และที่เข้ามาทีหลัง คาดว่าจะอยู่ที่หลักหมื่นคน อย่างไรก็ตามในประเด็นการรักษาพยาบาลแรงงานต่างด้าวที่ไม่อยู่ในระบบ ตนมองว่าไม่ถูกต้องที่จะนำภาษีของประชาชนจ่ายให้ ดังนั้นจึงต้องทำประกันสุขภาพ ราคา 3,200 บาท และหากแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม ครบ 3 เดือน จะสามารถขอคืนเงินทำประกันสุขภาพได้ ขณะที่ค่าตรวจโรคนั้น ตามที่ได้เอ็มโอยู จะมีค่าใช้จ่ายที่ 2,300 บาท
น.ส.อนุสรี กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่ต้องการให้นำเงินบำนาญชราภาพออกมาช่วยเหลือก่อนเป็นไปได้หรือไม่ นายสุชาติ กล่าว่า ตนได้ตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณานำเงินชราภาพ ออกมาใช้ 30% แต่ติดปัญหาเรื่องกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ซึ่งพยายามแก้ไขให้โดยเร็วที่สุด หากสามารถแก้ไขได้ จะนำมาแก้ไข 3 เรื่อง ให้กองทุนชราภาพ สามารถค้ำประกันการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ใช้ระบบบำเหน็จ บำนาญ ซึ่งต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์จากประชาชน ซึ่งวิธีดังกล่าว ต้องใช้เวลา ซึ่งอาจเข้าสู่ครม. ประมาณเดือนก.ย.นอกจากนั้นได้หารือกับสมาชิกวุฒิสภานอกรอบเพื่อพิจารณาถึงเรื่องดังกล่าว และได้มีการตีความและนำเสนอให้กฤษฎีกาตีความ เพื่อนำเงินส่วนดังกล่าวช่วยเหลือประชาชน
ธนาคารโลกแนะออกมาตรการอุ้มแรงงาน
ในการเปิดตัวรายงาน “ตามติดเศรษฐกิจไทย” (Thailand Economic) ฉบับใหม่ ภายใต้หัวข้อ Restoring Incomes : Recovering Jobs นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า ข้อเสนอแนะในระยะสั้น รัฐบาลควรเข้าไปดูแลเร่งด่วนกับกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงช่วยเหลือทางการเงิน ในช่วงที่แรงงานยังไม่สามารถกลับสู่ตลาดแรงงาน รวมไปถึงควรจัดให้มีการเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อสร้างความรู้ใหม่ๆให้กับแรงงานในการใช้ประกอบอาชีพในอนาคตเพิ่มขึ้น
ขณะที่ระยะยาวรัฐบาลควรเพิ่มผลิตภาพประเทศ ทำให้สังคมไทยสามารถเข้าสู่สังคมสูงอายุได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งการเพิ่มทักษะให้กลุ่มคน ขยายระยะเวลาการทำงานของกลุ่มผู้สูงอายุให้ยาวนานขึ้น รวมถึงเพิ่มให้สตรีเข้ามามีบทบาทในแรงงานมากขึ้น เพื่อลดช่องว่างของแรงงานลง
ทั้งนี้หากดูการออกมาตรการด้านการเงิน และการคลังของไทยที่ผ่านมา ถือว่าอยู่ระดับสูงที่ระดับ 13% ของจีดีพี ซึ่งสูงหากเทียบกับหลายประเทศ โดยเฉพาะจากการคลังที่มีการใช้เม็ดเงินในการเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจถึง 6% จากผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมา ดังนั้นในระยะข้างหน้า มองว่าภาคการคลังยังมีีพื้นที่เพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติมได้
“ที่ผ่านมา เรามองว่าภาคการคลังมีการใช้นโยบายการควบคุม การเยียวยาได้ระดับที่ดี ซึ่งหากรวมด้านการเงินด้วยสูงถึง 13% และการทำนโยบายการคลังก็สามารถรักษาเสถียรภาพด้านการคลังได้ค่อนข้างดี อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง แต่หากดูงบประมาณที่อนุมัติปัจจุบันถือว่ายังเบิกจ่ายไม่สูงมาก และมีความเสี่ยงที่จะเบิกจ่ายต่ำเป้า ดังนั้นการที่เศรษฐกิจซบเซาเป็นเวลานาน เป็นไปได้ว่าการใช้วงเงินอาจจะล้าช้า ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าคาด ดังนั้นการใช้เครื่องมือทางการคลัง ถือว่าอยู่ในภาวะที่ท้าทาย”
ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจในไตรมาสแรก ปีนี้คาดว่าผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ได้รุนแรงเท่ากับสถานการณ์โควิด-19 รอบแรก ซึ่งภาครัฐน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ดี ทำให้ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไม่ได้มาก แต่ยอมรับว่าจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความท้าทายและมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 21/1/2564
กทม.ประสานกระทรวงแรงงานตรวจสอบแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวกรณีกระทรวงมหาดไทย (มท.) มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัดว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงจัดตั้งด่านคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้า-ออกพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเน้นย้ำให้ทุกด่านใช้ระบบคัดกรอง BKK COVID-19 และแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือนายจ้างในพื้นที่กรุงเทพฯ บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในความดูแล โดยขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้อง ไม่เคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวออกนอกพื้นที่ เพื่อให้สามารถสืบค้นและคัดกรองได้ อีกทั้งยังได้ประสานกระทรวงแรงงาน เพื่อดำเนินการตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยสำรวจตรวจสอบแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ จัดระบบแรงงานทุกประเภทให้เรียบร้อย รวมทั้งขอความร่วมมือสถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวให้ดูแลแรงงานและจัดระบบความปลอดภัยด้านสาธารณสุขตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด หากพบแรงงานต่างด้าวหลบหนีให้จัดสถานที่ควบคุมดูแลให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 21/1/2564
หมอลำบุกขอความชัดเจนการจัดการแสดงถูกเลิกจ้างงานเพราะโควิด
จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนหลายอาชีพได้รับความเดือดร้อนถูกเลิกจ้างงานนั้น20 มกราคม 2564 ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นางสาวจงถนอม สืบสิงห์ นักร้องอิสระ พร้อมตัวแทนหมอลำ นักดนตรี แดนซ์เซอร์ ผู้ประกอบการเวทีเครื่องเสียง และรถแห่ กว่า 10 ราย ทำหนังสือร้องเรียน และขอความช่วยเหลือพร้อมหาแนวทางแก้ไขผ่อนปรนให้จัดกิจกรรมมหรสพสมโภช เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เจ้าภาพที่จัดงานขอยกเลิกสัญญาการจ้างงานและขอเงินมัดจำคืน ไม่สามารถจัดงานได้ ส่งผลทำให้ไม่มีรายได้ในการดูแลครอบครัว โดยได้ร้องเรียนพร้อมทั้งยื่นต่อนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมอบหมายให้นายวชิระ อักษร เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม เป็นตัวแทน รับหนังสือ
จากการสอบถามนางสาวภัชฎาพร โทวันนัง หมอลำซิ่ง ตัวแทนกลุ่ม กล่าวว่ากลุ่มที่มารวมตัวกันวันนี้เป็นกลุ่มศิลปินขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีสมาชิก 20-30 คนเท่านั้น ที่ผ่านมาทางผู้ประกอบการศิลปินที่มีทั้งหมอลำ นักร้อง นักดนตรี แดนซ์เซอร์ ผู้กอบการเวทีเครื่องเสียง ผู้ประกอบการรถแห่ ต่างได้รับความเดินร้อนจากสถานการณ์โควิด 19 เนื่องจากทางผู้จัดจ้างรวมที่เกิดขึ้นระลอกใหม่นี้อย่างหนัก ขาดรายได้จากการแสดง เนื่องจากเจ้าภาพที่จ้างงานขอยกเลิกสัญญาและขอเงินมัดจำคืน เพราะในหลายพื้นที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ให้จัดการแสดง โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด จึงต้องการสอบถามความชัดเจน พร้อมทั้งขอความเห็นใจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดผ่อนปรนข้อบังคับ เพราะแต่ละคนต่างได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างไม่มีรายได้ดูแลครอบครัว "ต้องการความชัดเจน เพราะจากการติดตามสถานการณ์ พบว่าการจัดงานนั้นไม่ได้ใช้ดุลยพินิจไปในทิศทางเดียวกัน เพราะบางสถานที่จัดได้ บางสถานที่ไม่ให้จัด ทางเจ้าภาพที่จ้างงานเองบอกว่าหน่วยงานที่ดลไม่ให้จัดงาน ส่งผลให้ถูกยกเลิกการจ้างงานไปด้วย โดยให้เหตุผลว่าผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นไม่ให้จัดงาน ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารจากทางราชการมาโดยตลอด และเท่าที่ทราบนั้น ทางจังหวัดไม่ได้มีคำสั่งห้ามจัดงานแต่เป็นการขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ละอาชีพที่เกี่ยวข้องกับหมอลำจึงรวมตัวกันเข้ามายื่นหนังสือเพื่อขอความช่วยเหลือ ขอความชัดเจนจากทางผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ในการจัดงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้กลุ่มศิลปินแขนงต่างๆได้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว" นางสาวภัชฎาพร กล่าว
ทางกลุ่มอาชีพทุกคนต้องการให้ทางจังหวัดระบุมาตรฐานในการให้จัดการแสดงภายใต้มาตรการป้องกันโรค ซึ่งทุกคนพร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพียงแค่ขอให้มีงานทำ มีรายได้บ้าง เพราะได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก และที่ผ่านมาทางกลุ่มของเรามีการปฏิบัติตามที่ทางราชการบอกอย่างเข้มงวด ตั้งแต่การตรวจคัดกรองคนในวง การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การเว้นระยะห่างทางสังคม ขอแค่ให้ทุกคนได้มีงานได้มีรายได้ ทุกคนพร้อมทำตามอย่างเข้มงวด เพราะงานของกลุ่มพวกเราไม่ได้มีจัดทุกวันมีแค่เป็นช่วงตามประเพณีเท่านั้น
สธ.ห่วงโควิดกระจายไปกับ พนง.ส่งของออนไลน์ แนะผู้ประกอบการตรวจคัดกรองเข้มงวด-คนงานในคลังสินค้าสวมแมสก์ตลอดเวลา
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าในช่วงเฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 หลายคนทำงานที่บ้าน (Work from home) หรือพยามออกจากบ้านให้น้อยที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดและแพร่ระบาดของเชื้อ จึงนิยมหันมาสั่งของออนไลน์ ซึ่งต้องมีการรับ-ส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์กันมากขึ้น
กรมอนามัยจึงมีคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้า โดยให้มีการคัดกรองพนักงานและผู้มาติดต่อทุกวัน หากพบว่ามีไข้ ไอ จาม จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสชาติ ให้หยุดงานและพบแพทย์ทันที รวมถึงให้ปฏิบัติตามมาตรการของ สธ.อย่างเคร่งครัด โดยการสวมหน้ากากตลอดเวลาที่ทำงาน จัดให้จุดล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์สำหรับพนักงานให้เพียงพอ กำหนดระยะห่างระหว่างปฏิบัติงาน อย่างน้อย 1 เมตร
ทำความสะอาดจุดที่ต้องสัมผัสร่วมกันบ่อยๆ จำกัดคนที่เข้ามาในสถานที่ โดยอาจจัดบริเวณ ที่รับ-ส่งของเฉพาะ พร้อมทั้งบันทึกผู้เข้ามาในสถานที่ทุกคน และจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่คลังสินค้า และพนักงานส่งพัสดุภัณฑ์ ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยให้ปิดทั้งจมูกและปากตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่างจากคนอื่นในระยะ 1 เมตร เมื่อไอหรือจามให้ไอใส่กระดาษทิชชู หากไม่มีให้พับข้อศอกเข้าหาตัวแล้วไอ หลังจากนั้นให้ล้างมือทันที
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ในส่วนของประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้รับของ เมื่อสินค้าหรือพัสดุภัณฑ์มาส่งผู้รับควร สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย จากนั้นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮออล์ภายหลังรับและเปิดสินค้าหรือพัสดุภัณฑ์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่กล่องบรรจุภัณฑ์แต่ควรนำกล่องไปทิ้งให้เรียบร้อยทันที
“สำหรับผู้ประกอบการที่จัดบริการอาหารแบบเดลิเวอรี (Delivery) ที่ต้องส่งให้กับผู้ซื้อที่บ้านให้ติดตามสถานการณ์และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโรค และให้ความรู้หรือประชาสัมพันธ์แก่ผู้ขนส่งอาหาร เมื่อไปส่งอาหารให้ลูกค้าขอให้ห่างจากลูกค้าอย่างน้อย 1 เมตร และห้ามวางอาหารบนพื้น
ส่วนผู้สั่งซื้ออาหาร หรือผู้บริโภคหลังจากรับอาหารให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ และควรจ่ายค่าบริการโดยวิธี E-Payment หรือเตรียมเงินสดให้พอดีเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินทอน จะช่วยให้ปลอดภัยและห่างไกลจากโควิด–19” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
สหภาพแรงงานฮิตาชิคอมเพรสเซอร์ หวั่นสภาพการจ้างเปลี่ยนหลังเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นบริษัทฯ
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายมนัส โกศล พรัอมด้วยนายธีระวิทย์ วงศ์เพชร คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นผู้แทนรับมอบหนังสือจากนายบรรจง บุญชื่น ประธานสหภาพแรงงานฮิตาชิคอมเพรสเซอร์ประเทศไทย และคณะ เพื่อขอความช่วยเหลือ กรณี บริษัท ฮิตาชิคอมเพรสเซอร์ (ประเทศไทย)จำกัด มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ ห้องประชุม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ชั้น 1 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ โดยมีการโอนหุ้นให้กับบริษัท มีเดียกรุ๊ป จำกัด ทำให้ลูกจ้างมีความกังวลใจว่า ผู้ถือหุ้นรายใหม่ จะรักษาสภาพการจ้างของลูกจ้างหลังการโอนหุ้นหรือไม่อย่างไร ซึ่งลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานจะขอใช้สิทธิตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม โดยขอใช้สิทธิลาออกก่อนเกษียณอายุที่ลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามข้อตกลงฯ แต่หากบริษัทฯ ให้คำรับรองการรักษาสภาพการจ้างตามข้อตกลง ลูกจ้างก็ประสงค์ทำงานต่อไป ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะได้นัดหมายบริษัทฮิตาชิฯ บริษัทมีเดีย กรุ๊ป จำกัด และ สหภาพแรงงาน ร่วมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 18/1/2564
เผย 'แอร์เอเชีย' ขยายเวลาให้พนักงานลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน ต่ออีก 4 เดือน
รายงานข่าวจาก บริษัท เอเชีย เอวิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เจ้าของสายการบินไทย แอร์เอเชีย แจ้งว่าเมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมบริษัทฯ มีมติให้บริษัทฯ ดำเนินมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายองค์กรอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบ 2 ส่งผลกระทบทำให้ความต้องการเดินทางลดลง โดยมีมติให้ บริษัทฯขอความร่วมมือให้ พนักงาน เข้าร่วมโครงการหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave Without pay) เป็นระยะเวลา 4 เดือน คือตั้งแต่ ก.พ. - พ.ค. 2564
โดยแบ่งพนักงานที่เข้าร่วมโครงการออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.กลุ่มพนักงานที่เข้าโครงการต่อเนื่องจากช่วงปี 2563 ซึ่งบริษัทขอความร่วมมือให้หยุดงาน ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาในเดือน มี.ค. 2564 ได้ขอให้ขยายระยะเวลาการหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้างต่อออกไปอีกจนถึงเดือน พ.ค. 2564
2.กลุ่มพนักงานที่ปัจจุบันยังทำงานอยู่ มอบหมายให้หัวหน้างานทำการคัดเลือกพนักงานให้เข้าร่วมโครงการหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. –พ.ค. 2564
“หากบริษัทดำเนินการตามแผนดังกล่าว จะส่งผลให้สายการบินมีจำนวนพนักงานที่ปฏิบัติงานเหลือเพียง 25% ของทั้งบริษัท ซึ่งมาตรการขอความร่วมมือให้มีการหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้างนั้น เป็นมาตรการที่สายการบิน ต้องการที่จะรักษาพนักงานและองค์กรไว้ให้สามารถเดินต่อไปได้ในช่วงวิกฤติ โดยไม่ต้องมีการปลดพนักงาน”
เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน-องค์กรภาคี จี้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาแรงงาน 5 พัน ต่อเนื่อง 3 เดือน ร้องยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินเปิดให้ชุมนุม
เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและองค์กรภาคี ยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เรียกร้องมาตรการเยียวยาในกลุ่มแรงงานจากผลกระทบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้มีความชัดเจน เพียงพอ และครอบคลุม พร้อมทำกิจกรรมบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ชูป้ายที่มีข้อความว่า "เงินเยียวยาแรงงานต้องได้ทุกคนอย่างเท่าเทียม เงินภาษีจากประชาชนทำไมต้องลงทะเบียน" โดยขอเรียกร้องที่ได้มีการยื่น ประกอบด้วย
1.ขยายมาตรการการชดเชยรายได้พื้นฐานให้แก่ประชาชนทุกคน ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป รวมถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่อาศัยในประเทศไทย ยกเว้นภาคราชการ โดยจ่ายเดือนละ 5,000 บาทต่อคน เป็นระยะเวลา 3 เดือนจนถึงช่วงรับวัคซีน
2.ปรับปรุงชั้นตอนการเข้าถึงสิทธิการได้รับเงินชดเชยดังกล่าวข้างต้น โดยใช้ฐานข้อมูลบุคคลสัญชาติไทยและคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติขอทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ฐานข้อมูลแรงงานจากประเทศเพื่อน
ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนใช้จ่ายเงินชดเชยดังกล่าว
กระจายรายได้ให้แก่ผู้ค้าปลีกรายย่อยมากกว่าร้านค้าสะดวกซื้อรายใหญ่
3. จากที่ผ่านมาแต่ละสถาบันการเงินจะใช้ดุลพินิจพักหนี้คราวละ 3 เดือน แต่การพักหนี้ระยะสั้นไม่ส่งผลดีต่อการวางแผนชีวิต สร้างงานใหม่ จึงควรให้ออกมาตรการพักหนี้ครัวเรือนเป็นการทั่วไปอย่างน้อย 1 ปี ได้แก่ หนี้สินส่วนบุคคล บ้าน รถ และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคและอินเตอร์เน็ต เป็นเวลา 3 เดือน (มกราคมถึงมีนาคม 2564)
4. ยกเลิกหนี้กองทุนเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยให้ดำเนิการจัดสรรเงินทุนให้เปล่าแก่นักเรียนนักศึกษาทุกคนขึ้นมาแทน เพราะการศึกษาควรเป็นสวัสดิการที่รัฐต้องจัดให้ประชาชนฟรี ซึ่งสามารถทำได้โดยการปรับลด โยกย้ายงบประมาณจากส่วนอื่นๆลง อาทิ งบกองทัพและงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาชดเชยเพื่อสร้างการศึกษาที่ดีสำหรับประชาชน
5.ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนไทยหรือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย ต้องเข้าถึงการตรวจโรคฟรี รวมถึงได้รับวัคซีนฟรีเมื่อแสดงเจตจำนงที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตามผู้ที่แสดงเจตจำนงไม่ฉีดวัคซีนจะต้องไม่มีความผิดตามกฎหมาย เช่นดียวกับการมีสิทธิเลือกที่จะดาวน์โหลดแอปพลิเคชันตระกูลชนะ ของรัฐหรือไม่ก็ได้
6.จากบทเรียนกรออกมาตรการเยียวยาครั้งที่ผ่านมา ที่ประสบปัญหาสับสน คลุมเครือ มีการแบ่งแยกกีดกันกัน ระหว่างแรงงานบางกลุ่ม และให้สิทธิไม่ถ้วนหน้า ครั้งนี้รัฐไม่ควรทำผิดพลาดซ้ำเดิม โดยต้องให้แรงงานทุกกลุ่มอาชีพเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐโดยไม่แบ่งแยก และจะต้องไม่นำงินประกันสังคมของลูกจ้างไปใช้เยี่ยวยาอีก
7.รัฐต้องดูแลแรงงานภาคส่วนศิลปวัฒนธรรม ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งราชการ
8.มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานจากประเทศเพื่อบ้าน
9.มีมาตรการลดและป้องกันช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย สร้างความมั่นคงเพิ่มอำนาจให้ประชาชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยจะต้องนำมาตรการเก็บภาษีรายได้ในอัตราก้าวหน้าและภาษีความมั่งคั่ง จากคนที่ร่ำรวยที่สุด 1% ในสังคมไทยมาบังคับใช้
10.การแพร่ระบาดรอบสองถือเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องแสดงความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นตัวการสร้างความเสียหายแก่ประเทศมาเป็นเวลามากกว่า 6 ปี รวมถึงเป็นผู้ไร้ความสามารถอย่างสิ้นเชิง ในการบริหารประเทศในสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ทางกลุ่มยังขอเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินเพื่อเปิดโอกาสชุมนุม เพราะที่ผ่านมาไม่เกิดการแพร่เชื้อจากการชุมนุม แต่มาจากการลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมาย
เริ่มแล้วแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติกลุ่มผ่อนผันตามมติ ครม.แจ้งบัญชีรายชื่อผ่านระบบออนไลน์
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนคนไทยและผู้ใช้แรงงานที่เป็นคนต่างด้าวเป็นอย่างยิ่ง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด–19 ระลอกใหม่ ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายจังหวัด รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด มีการปรับแผน ปฏิบัติการเชิงรุก รวมทั้งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ตามที่กระทรวงแรงงานได้เสนอแนวทางให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่องการผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา)ให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่เพื่อชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าวและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการ พร้อมยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด– 19 จากภายนอกประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายเป็นคนต่างด้าว 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.คนต่างด้าวที่มีนายจ้าง/สถานประกอบการ ประสงค์จ้างงาน
2.คนต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงาน
3.ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี โดยนายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่ต้องการจ้างและคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้างแจ้งข้อมูลบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th ได้ตั้งแต่วันที่15 ม.ค.-13 ก.พ. 2564 เป็นขั้นตอนแรกเพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสุขภาพ/ซื้อประกันสุขภาพ ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงาน และจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยต่อไป
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการว่า สำหรับขั้นตอนขอรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาวและเมียนมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่
กรณีคนต่างด้าวมีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้
1.แจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว – ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบรูปถ่ายคนต่างด้าว พิมพ์เอกสารใบแจ้งชำระเงินค่าใบอนุญาตทำงาน ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564
2.ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ – ให้นายจ้างพาคนต่างด้าวเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายรวม กิจการทั่วไป 7,200 บาท และกิจการประมงทะเล 7,300 บาท โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เมษายน 2564
3.ยื่นคำขออนุญาตทำงาน – ให้นายจ้างชำระค่าคำขอใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 -11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564
4.จัดทำทะเบียนประวัติ – ให้นายจ้างพาคนต่างด้าวไปทำทะเบียนประวัติ (ทร. 38/1) และบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง โดยนำใบรับคำขออนุญาตทำงานไปยื่นเป็นหลักฐาน ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานคร กำหนด ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 สำหรับค่าใช้จ่ายทำทะเบียนประวัติ 20 บาท และค่าบัตรชมพู 60 บาท
กรณีคนต่างด้าวยังไม่มีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้
1.คนต่างด้าวแจ้งข้อมูลบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th – ให้คนต่างด้าวแนบรูปถ่าย และพิมพ์หลักฐานการรับแจ้งข้อมูลบุคคลจากระบบออนไลน์ ซึ่งให้บริการ 4 ภาษา คือ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564
2.ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ – คนต่างด้าวใช้แบบแจ้งข้อมูลบุคคล เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายรวม 7,200 บาท โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เมษายน 2564
3.จัดทำทะเบียนประวัติ – คนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจโรค จะต้องไปทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร. 38/1) ณ สถานที่ ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 สำหรับค่าใช้จ่ายทำทะเบียนประวัติ 20 บาท และค่าบัตรสีชมพู 60 บาท (ในขั้นตอนนี้คนต่างด้าวยังไม่ได้รับบัตรสีชมพู)
4.คนต่างด้าวหานายจ้างและยื่นคำขออนุญาตทำงาน – ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบรูปถ่ายคนต่างด้าว พิมพ์เอกสารจากในระบบออนไลน์ เพื่อไปชำระค่าคำขอรับใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 -11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ (บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564
5.ปรับปรุงทะเบียนประวัติ – คนต่างด้าวนำใบรับคำขออนุญาตทำงานไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานคร กำหนด ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานกิจการประมงทะเล ต้องไปทำหนังสือคนประจำเรือ หรือ Sea book ณ กรมประมง เป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยมีค่าธรรมเนียม 100 บาท และเมื่อกรมประมงพิจารณาเรียบร้อยแล้วจะได้รับหนังสือคนประจำเรือ เป็นหลักฐานใช้คู่กับบัตรสีชมพูในการอยู่และทำงานในประเทศ
ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1–10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ
ที่มา: สำนักข่าวไทย, 15/1/2564
ชงตั้ง กก.สอบ 33 จนท.รัฐเอี่ยวขบวนการขนแรงงานเถื่อน ตร.ร่วมก๊วน 20 นาย ใหญ่สุดระดับ รอง ผบก.
14 ม.ค. 2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศในพื้นที่อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ว่าจากการตรวจสอบพบมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจริงจำนวน 33 คน ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 20 คน ตั้งแต่ระดับประทวนและสัญญาบัตร สูงสุดระดับรอง ผบก.ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่น ทั้งหมดมีพฤติการณ์ทั้งปล่อยปละละเลย และบางคนก็มีส่วนร่วมในขบวนการลำเลียงแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งหลังจากนี้ จะเสนอให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในวันที่ 18 ม.ค. 2564 รวมถึงพิจารณาว่ารายใดจะเข้าข่ายความผิดอาญา ซึ่งจะดำเนินคดีไปตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่หากยังไม่เข้าข่ายความผิดอาญาก็จะพิจารณาลงโทษทางวินัยและทางปกครอง
“นอกจากนี้ ภายในสัปดาห์หน้าตำรวจเตรียมออกหมายจับขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐอีก 8 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นคนไทยที่ร่วมมือกับขบวนการที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านลำเลียงแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายส่งไปยังจ.สมุทรสาคร” รอง ผบ.ตร.ระบุ
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีช่วงวันที่ 15 ม.ค.- 13 ก.พ.นี้ ที่จะมีผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจตระเวนชายแดน ให้เข้มงวดตามแนวชายแดนป้องกันการทะลักเข้ามาของแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง ผบ.ตร.อยู่ระหว่างการลงนามให้ระดับผู้ช่วย ผบ.ตร.ลงไปกำกับดูแลการปฎิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนเพื่อสกัดกั้นแรงงานเข้าประเทศผิดกฎหมาย
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 14/1/2564
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หนุนรัฐบาลไฟเขียวมาตรการลดหย่อนภาษีให้ผู้ประกอบการที่ลงทุนตรวจโควิด-19 จัดทำพื้นที่กักกันผู้ติดเชื้อ
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ตามที่ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดทำข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ต่อนายกรัฐมนตรีถึงมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเด็นดังนี้
1. จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อร่วมกันวางแผนระยะยาว เพื่อให้เกิดแผนการทำงานร่วมกัน และสามารถระดมกำลังและทรัพยากรในการจัดการปัญหาได้อย่างทันสถานการณ์ รวมถึงการสื่อสารและแถลงข่าวต้องบริหารจัดการข้อมูลให้เป็น single message
2. บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาคร เช่น ให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพร่วมมือให้มีการตรวจพนักงานผู้มีเชื้อทั้งรูปแบบการตรวจแบบ rapid test และ PCR กักพื้นที่ในเขตควบคุม local quarantine จนกระทั่งมีภูมิต้านทาน ควรดูแลผู้ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยง เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อต้องหาสถานที่ในการแยกกักตัว เพื่อสังเกตอาการ ลดการแพร่เชื้อ และการติดเชื้อซ้ำ โดยภาครัฐ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการดำเนินการช่วยดูแลแรงงานของตนเอง และสนับสนุนค่าตรวจ หรือใช้มาตรการลดหย่อนทางภาษีให้ผู้ประกอบการที่เหมาะสม
3. มาตรการป้องกันควบคุมการแพร่เชื้อของแรงงานต่างด้าว ควรต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้ออย่างถาวร ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนสำหรับแรงงานต่างด้าว พร้อมทั้ง ควรขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้แอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” เพื่อช่วยให้สามารถติดตามผู้มีความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว
จากที่กล่าวมาเบื้องต้น กระทรวงแรงงาน โดยดำริของนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมได้ทำงานเชิงรุกร่วมมือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดสมุทรสาครและพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้มีมาตรการเชิงรุกในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงแรงงานทั้งคนไทยและต่างด้าวที่เป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม ในสถานประกอบการโดยสำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าตรวจคัดกรองการติดเชื้อโรคโควิด-19 ตามค่าใช้จ่ายจริง
โดย ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ได้ทำการตรวจคัดกรองความเสี่ยงแรงงานทั้งคนไทยและต่างด้าวเชิงรุกในสถานประกอบการ ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งได้ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ของประเทศไทยอย่างเร่งด่วนในสถานการณ์ปัจจุบัน
“หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีความพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐทุกภาคส่วน เพื่อทำงานบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนและเศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และยั่งยืนต่อไป”
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 14/1/2564
เปิดขั้นตอน ขึ้นทะเบียนแรงงาน 3 สัญชาติ ตามการผ่อนผันของ ก.แรงงาน
วันที่ 14 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงแรงงาน เปิดให้นายจ้าง/สถานประกอบการดำเนินการแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่ต้องการจ้าง และคนต่างด้าวลงทะเบียนแจ้งข้อมูลบุคคลผ่านระบบออนไลน์ สำหรับคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ที่อยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งได้รับการผ่อนผัน ตามมติ ครม. 29 ธ.ค. 63 เริ่มวันแรก 15 ม.ค. 64 ถึง 13 ก.พ.64 หากพ้นกำหนดจะไม่สามารถดำเนินการขั้นตอนต่อไปได้ และไม่สามารถอยู่ในประเทศไทย เพื่อทำงานได้อีกต่อไป
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด – 19 ระลอกใหม่ ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายจังหวัด รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด มีการปรับแผนปฏิบัติการเชิงรุก รวมทั้งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน
ตามที่กระทรวงแรงงานได้เสนอแนวทางเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอกใหม่ เพื่อชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าว และบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการ พร้อมกับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จากภายนอกประเทศ
ซึ่งมีเป้าหมายเป็นคนต่างด้าว 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.คนต่างด้าวที่มีนายจ้าง/สถานประกอบการ ประสงค์จ้างงาน 2.คนต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงาน 3.ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี โดยนายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่ต้องการจ้าง
และคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้างแจ้งข้อมูลบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th ได้ตั้งแต่ วันที่ 15 มกราคม – 13 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นขั้นตอนแรก เพื่อเข้าสู่กระบวนการ ตรวจสุขภาพ/ซื้อประกันสุขภาพ ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงาน และจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนขอรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามมติครม.29 ธ.ค. 63 แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่
กรณีคนต่างด้าวมีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้
1.แจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว – ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบรูปถ่ายคนต่างด้าว พิมพ์เอกสารใบแจ้งชำระเงินค่าใบอนุญาตทำงาน ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564
2.ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ – ให้นายจ้างพาคนต่างด้าวเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายรวม กิจการทั่วไป 7,200 บาท และกิจการประมงทะเล 7,300 บาท โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เมษายน 2564
3.ยื่นคำขออนุญาตทำงาน – ให้นายจ้างชำระค่าคำขอใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 -11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564
4.จัดทำทะเบียนประวัติ – ให้นายจ้างพาคนต่างด้าวไปทำทะเบียนประวัติ (ทร. 38/1) และบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง โดยนำใบรับคำขออนุญาตทำงานไปยื่นเป็นหลักฐาน ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานคร กำหนด ภายในวันที่ 12 พ.ย. 64 สำหรับค่าใช้จ่ายทำทะเบียนประวัติ 20 บาท และค่าบัตรชมพู 60 บาท
กรณีคนต่างด้าวยังไม่มีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้
1. คนต่างด้าวแจ้งข้อมูลบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th – ให้คนต่างด้าวแนบรูปถ่าย และพิมพ์หลักฐานการรับแจ้งข้อมูลบุคคลจากระบบออนไลน์ ซึ่งให้บริการ 4 ภาษา คือ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 ก.พ.64
2. ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ – คนต่างด้าวใช้แบบแจ้งข้อมูลบุคคล เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายรวม 7,200 บาท โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เม.ย. 64
3.จัดทำทะเบียนประวัติ – คนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจโรค จะต้องไปทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร. 38/1) ณ สถานที่ ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 16 มิ.ย.64 สำหรับค่าใช้จ่ายทำทะเบียนประวัติ 20 บาท และค่าบัตรสีชมพู 60 บาท (ในขั้นตอนนี้คนต่างด้าวยังไม่ได้รับบัตรสีชมพู)
4.คนต่างด้าวหานายจ้างและยื่นคำขออนุญาตทำงาน – ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบรูปถ่ายคนต่างด้าว พิมพ์เอกสารจากในระบบออนไลน์ เพื่อไปชำระค่าคำขอรับใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11
หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ (บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 13 ก.ย.64
5.ปรับปรุงทะเบียนประวัติ – คนต่างด้าวนำใบรับคำขออนุญาตทำงานไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานคร กำหนด ภายในวันที่ 12 พ.ย. 64
สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานกิจการประมงทะเล ต้องไปทำหนังสือคนประจำเรือ หรือ Sea book ณ กรมประมง เป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยมีค่าธรรมเนียม 100 บาท และเมื่อกรมประมงพิจารณาเรียบร้อยแล้วจะได้รับหนังสือคนประจำเรือ เป็นหลักฐานใช้คู่กับบัตรสีชมพูในการอยู่และทำงานในประเทศ
ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 14/1/2564
ทีเอ็มบี คาดโควิดพ่นพิษแรงงานท่องเที่ยว 6.9 ล้านคน รายได้สูญอีก 1.4 แสนล้านบาท
จากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ระลอกใหม่ที่กระจายไปทุกภูมิภาคอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตามระดับพื้นที่ควบคุม แม้ยังไม่ยกระดับเป็นมาตรการล็อกดาวน์เหมือนการระบาดเมื่อเดือนเมษายน 2563 แต่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงร้านอาหาร สถานบันเทิง สะท้อนจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้จ่ายและท่องเที่ยวแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินผลกระทบของสถานการณ์โควิดต่อภาคการค้าและภาคการท่องเที่ยวในไตรมาสแรกปี 2564 จาก 3 ปัจจัยประกอบกัน ได้แก่ 1 ) ระดับความรุนแรงตามพื้นที่การระบาด 2) การพึ่งพิงภาคการค้าและภาคการท่องเที่ยว และ 3) รายได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจังหวัด (GPP) พบว่าในภาพรวม ไทยมีสัดส่วนการพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 22% ต่อ GPP รวมทั้งประเทศ และมีการจ้างงานรวมกัน 6.9 ล้านคน ซึ่งคาดว่าผลกระทบจากสถานการณ์โควิดจะทำให้รายได้จากภาคการค้าและการท่องเที่ยวลดลงรวมกันกว่า 1.4 แสนล้านบาท
โดยกลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุด ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นฐานการผลิต แหล่งการกระจายสินค้า และขายสินค้าที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งเป็นจังหวัดท่องเที่ยว โดยกลุ่มนี้มีสัดส่วนพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 23% การจ้างงานในพื้นที่ 4.1 ล้านคน คาดผลกระทบต่อรายได้ภาคการค้าและการท่องเที่ยวอยู่ที่ 1.28 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 91% ของรายได้ที่ถูกกระทบทั้งหมด ขณะที่กลุ่มที่เหลือซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมและเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง มีสัดส่วนพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 20% มีการจ้างงานในพื้นที่ 2.8 ล้านคน ผลกระทบต่อรายได้ภาคการค้าและการท่องเที่ยวคาดรวมกันกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท
ก.แรงงาน เตรียมตรวจเชิงรุก COVID-19 ฟรี ในโรงงานพื้นที่เสี่ยง 28 จังหวัด
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ภายหลังที่กระทรวงแรงงาน ได้รับนโยบายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้แนวทางลงช่วยเหลือเชิงรุก นายจ้างและลูกจ้าง โดยให้โรงพยาบาลในเครือข่ายสำนักงานประกันสังคมได้บูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยที่เข้าไปตรวจสถานประกอบการเพื่อตรวจคัดกรองเชื้อ COVID-19 ให้ผู้ใช้แรงงานในรูปแบบทางเดินหายใจ (PCR) ที่ จ.สมุทรสาคร ไปเบื้องต้นแล้ว
ล่าสุด กระทรวงแรงงานจะทำงานตรวจเชิงรุกต่อไปใน 28 จังหวัด ที่มีการคำสั่งควบคุมสูงสุด ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไป โดยขณะนี้มีโรงงานและสถานประกอบการได้ยื่นเข้ามาจำนวนมาก โดยรอพิจารณาคำขอจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ทั้งนี้ผู้ประกอบการ สถานประกอบการ ที่ผ่านการอนุมัติจะสามารถตรวจคัดกรอง COVID-19 ได้ฟรี ซึ่งสำนักงานประกันสังคมในสังกัดกระทรวงแรงงาน จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อให้การช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้าง ให้ภาคการผลิตเดินต่อ และ ด้านสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง ให้ปลอดภัยจาก COVID-19
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ประกอบการใน28 จังหวัดที่จะเข้ารับการตรวจนั้นจะต้องผ่านเกณฑ์พิจารณาต่างๆ โดยประการแรก ต้องยื่นความประสงค์ขอเข้าร่วมตรวจคัดกรอง จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ประกันสังคมจังหวัด ภายใต้การอำนวยการของ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เห็นชอบขั้นตอนสุดท้าย
เงื่อนไขหลัก สถานการประกอบการจะต้องมีสถานกักกันในโรงงานที่มีความพร้อม Factory Quarantine (FQ) ในกรณีตรวจไม่ผ่านก็ให้โรงงานไปปรับปรุงแก้ไขใหม่ และเมื่อผ่านการอนุมัติ แล้วโรงพยาบาลในเครือข่ายสำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการตรวจตามขั้นตอนการรักษาต่อไป
รมว.แรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานคาดหวังจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจเชิงรุกและป้องกัน COVID-19 โดยสถานประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรอง COVID-19 จากเดิมที่นายจ้างต้องเสียค่าใช้จ่ายเองในการตรวจคัดกรองลูกจ้างและที่สำคัญนโยบายรัฐบาลนี้ และยังเป็นการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการและลูกจ้าง ทั้งชาวไทย และแรงงานข้ามชาติไม่ต้องหยุดกิจการ ภาคการผลิต และลูกจ้างไม่ต้องหยุดงาน และการผลิตส่งออกเดินหน้าต่อไปเพื่อท่าจะมีเงินไปเลี้ยงชีพและดูแลครอบครัว
“กระทรวงแรงงานถือว่าเป็นกองหนุนเปรียบเสมือนเป็นผู้ช่วยการทำงานทุกภาคส่วนของภาครัฐ อาทิ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข ที่เราเข้าไปลุยตรวจถึงโรงนั้นๆ ถือว่าเป็นการดูแล และ ห่วงใยผู้ประกอบการและลูกจ้างเพื่อให้ผ่านสถานการณ์เช่นนี้ไปด้วยกัน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องทำทุกมิติ เพื่อชาติ บ้านเมือง พี่น้องประชาชน ต้องผ่านวิกฤตการแพร่ระบาด COVID-19 ไปด้วยกัน”
ประชาชนยื่นขอใช้สิทธิ์กรณีว่างงานออนไลน์เดือน ธ.ค. 2563 จำนวน 82,238 คน
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เดือนธันวาคมที่ผ่านมาถือว่ามีผู้ที่ขึ้นทะเบียนขอใช้สิทธิ์ และรายงานตัวกรณีว่างงานจำนวนน้อยที่สุด โดยไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 เดือนธันวาคม มีผู้ขึ้นทะเบียนว่างงาน 82,238 คน รายงานตัว 539,474 คน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ที่มีผู้ขึ้นทะเบียนว่างงาน 93,190 คน รายงานตัว 598,076 คน เดือนตุลาคม ขึ้นทะเบียนว่างงาน 116,160 คน รายงานตัว 643,148 คน และเดือนกันยายนขึ้นทะเบียน 121,023 คน รายงานตัว 680,825 คน
“แต่อย่างไรก็ดี กรมการจัดหางานคาดการณ์ว่าอาจจะมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงได้รวบรวมตำแหน่งงานว่างจากนายจ้าง/สถานประกอบการที่ยังมีความต้องการจ้างงาน จำนวน 58,151 อัตรา ซึ่งมีตำแหน่งงานรองรับทุกระดับการศึกษา และอัตราค่าจ้างเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศ 10 อันดับแรก ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1.แรงงานในด้านการผลิตต่าง ๆ ,แรงงานทั่วไป 2.แรงงานด้านการประกอบอื่นๆ 3.แรงงานด้านการผลิต 4.พนักงานขาย และผู้นำเสนอสินค้าอื่นๆ 5.ตัวแทนนายหน้าขายบริการธุรกิจอื่นๆ 6.พนักงานจัดส่งสินค้าอื่นๆ 7.เจ้าหน้าที่เก็บเงิน ,แคชเชียร์ 8.พนักงานบริการอื่นๆ 9.พนักงานขายสินค้า (ประจำร้าน) , พนักงานขายของหน้าร้าน และ 10.ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์
กรมการจัดหางานยังมีช่องทางการให้บริการจัดหางานออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://www.ไทยมีงานทํา.com ซึ่งสามารถค้นหาตำแหน่งงาน สถานที่ทำงานในพื้นที่ที่ต้องการ และมีการประมวลความเหมาะสมกับตำแหน่ง หรือเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่ สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและภาคเอกชน (Co-Payment) ที่เพิ่มโอกาสได้งานสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ หรือการจัดงานนัดพบแรงงาน โครงการนัดพบตลาดงานเชิงคุณภาพ และโครงการจัดหางานเชิงรุกเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งการแนะแนวอาชีพ แนวทางการประกอบอาชีพอิสระ และการฝึกอาชีพอิสระ โดยเน้นการให้บริการตรงถึงระดับตำบล ชุมชน และครัวเรือน เพื่อคนไทยทุกกลุ่มมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน และตำแหน่งงานอย่างทั่วถึง” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
สำหรับผู้ว่างงานที่ประสงค์มีงานทำ สามารถเลือกสมัครงานผ่านช่องทางการให้บริการจัดหางานรูปแบบออนไลน์ด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ smartjob.doe.go.th หรือ https://www.ไทยมีงานทํา.com เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางไปติดต่อที่สำนักงาน ลดการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก และป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แต่ในกรณีที่ไม่สามารถใช้บริการแบบออนไลน์ได้ สามารถติดต่อขอรับบริการ ณ ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด ทั้งนี้ขอความร่วมมือให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาที่ใช้บริการ รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการที่เจ้าหน้าที่แนะนำอย่างเคร่งครัด หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน
ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 12/1/2564
รมว.แรงงานแนะใช้แรงงานสัมพันธ์ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวออกไปในวงกว้างส่งผลกระทบต่อนายจ้าง สถานประกอบกิจการ และลูกจ้าง อาจเกิดวิกฤติด้านแรงงานที่รุนแรงได้ จนทำให้สถานประกอบกิจการบางแห่งจำเป็นต้องลดทุนการผลิต ลดชั่วโมงการทำงานของลูกจ้าง หยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนชั่วคราวโดยใช้มาตรา 75 ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ลดพนักงาน หรือเลิกกิจการในท้ายสุด ซึ่งจะเกิดความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อลดปัญหาที่มีผลกระทบต่อความสงบสุขในวงการแรงงาน จึงขอวอนให้นายจ้าง-ลูกจ้างควรเปิดใจปรึกษาหารือร่วมกันก่อนหยุดกิจการตามมาตรา 75 หรือเลิกจ้าง โดยนำมาตรการและแนวปฏิบัติที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พยายามมุ่งส่งเสริมให้เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน นั่นคือ แนวปฏิบัติว่าด้วยการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในภาวะวิกฤติ และมาตรการและแนวทางบรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง
ด้านนายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ นายจ้างควรนำแนวปฏิบัติว่าด้วยการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในภาวะวิกฤติมาปรับใช้ในสถานประกอบกิจการก่อน โดยมีสาระสำคัญ อาทิ นายจ้างควรเปิดเผยผลประกอบการตามสภาพความเป็นจริงแก่ฝ่ายลูกจ้าง และนายจ้างลูกจ้างหารือร่วมกันในการประหยัดค่าใช้จ่าย หลีกเลี่ยงการชุมนุมเผชิญหน้าด้วยความรุนแรง
หากดำเนินการแล้วสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย จึงค่อยใช้มาตรการหยุดกิจการบางส่วนชั่วคราว หรือทั้งหมด ตามมาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แต่ขอให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะต้องแจ้งพนักงานตรวจแรงงานในพื้นที่และลูกจ้างทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนเริ่มวันหยุดกิจการไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานและหากจำเป็น ต้องเลิกจ้างให้นำมาตรการและบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างมาปรับใช้
ซึ่งมี 3 มาตรการ ดังนี้ มาตรการลดค่าใช้จ่าย มาตรการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และมาตรการลดจำนวนลูกจ้าง โดยขอให้การเลิกจ้างเป็นทางเลือกสุดท้ายในการตัดสินใจ
ทั้งนี้ หากนายจ้างตกลงกับลูกจ้างในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เช่น ลดวันทำงาน ลดค่าจ้าง ก็สามารถทำได้แต่จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วย การผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้จะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือ และเสียสละของนายจ้างลูกจ้างพูดคุยกันด้วยหลักสุจริตใจ และหากมี ข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3
ที่มา: สำนักข่าวไทย, 12/1/2564
ขยายเวลานายจ้าง-ลูกจ้างเลื่อนนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้มีมาตรการขยายระยะเวลาการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้สามารถหยุด หรือเลื่อนการนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กองทุนฯ) เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่งวดนำส่งเงินของเดือน ม.ค. 2564 จนถึงงวดนำส่งเงินของเดือน มิ.ย. 2564 โดยนับอายุการเป็นสมาชิกกองทุนฯ ต่อเนื่อง และคงสมาชิกภาพไว้ จากเดิมที่ผ่อนผันให้จนถึงงวดนำส่งเงินของเดือน ธ.ค.63 ที่ผ่านมา ภายใต้หลักการและแนวปฏิบัติเดิม
ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของลูกจ้างและนายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยมุ่งหวังให้ลูกจ้างที่เป็นแรงงานในระบบยังคงสถานะการเป็นสมาชิกกองทุนฯ และสามารถออมผ่านกองทุนฯ หลังจากที่สถานการณ์การระบาดของของโรคโควิด-19 ได้คลี่คลาย เพื่อเป็นหลักประกันรายได้ และนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินเมื่อแรงงานในระบบเหล่านั้นผ่านพ้นวัยทำงาน
น.ส.กุลยา กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดประเภทธุรกิจ ระยะเวลา และเงื่อนไขให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในท้องที่ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2564 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 11/1/2564
ผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ ยื่นคำร้องให้กรมบังคับคดี สั่ง ธนาคารออมสิน-KTB คืนเงินบำเหน็จพนักงานการบินไทย
รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI แจ้งว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี ได้มีหนังสือส่งไปยังธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ให้คืนเงินเงินกองทุนบำเหน็จพนักงานการบินไทย คืนแก่บริษัท หลังธนาคารได้ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้จากบัญชีเงินฝาก เงินกองทุนบำเหน็จพนักงาน ไปก่อนหน้านี้
โดยหนังสือที่ส่งให้ธนาคารออมสิน แจ้งให้ธนาคารดำเนินการชำระหนี้คืนเงินให้บริษัท กรณีที่ธนาคารได้ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้จากบัญชีเงินฝาก เงินกองทุนบำเหน็จพนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) เป็นเงินจำนวนกว่า 2,279 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 63 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหรือส่งมอบเสร็จ โดยเป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา90/39 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย
ส่วนหนังสือที่ส่งให้ KTB แจ้งให้ธนาคารดำเนินการชำระหนี้คืนบริษัท เนื่องจากธนาคารได้ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้จากบัญชีเงินฝาก เงินกองทุนบำเหน็จพนักงานการบินไทย เป็นเงินจำนวนกว่า 55 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปีจากเงินต้นดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 63 จนกว่าจะชำระเสร็จ
สำหรับสาเหตุที่กรมบังคับคดีออกหนังสือทวงหนี้ไปยังธนาคารทั้งสองแห่ง เนื่องจากผู้รับมอบอำนาจผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ THAI ได้ยื่นคำร้อง ต่อเจ้าหนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ลูกหนี้มีสิทธเรียกร้องให้ธนาคารรับผิดชำระเงินหรือส่งมอบเงินที่ธนาคารได้ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้จากบัญชีเงินฝาก เงินกองทุนบำเหน็จพนักงานการบินไทย
ที่มา: efinancethai, 11/1/2564
ดีเดย์ เริ่มตรวจเชิงรุก COVID-19 "แรงงาน" พื้นที่ควบคุมสูงสุด
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีการระบาดใหม่ในขณะนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงแรงงานอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยแรงงานและประชาชนทุกกลุ่ม ได้มีการสั่งการ และให้ดำเนินการตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 หรือ ศบค.
และในวันนี้ จึงได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บูรณาการกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อทำงานเชิงรุกในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ให้มีการจำกัดอยู่ในพื้นที่ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนสุขภาวะของประชาชนทั่วประเทศ คณะกรรมการการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม จึงได้มีการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีคัดกรองการติดเชื้อ COVID-19 ให้ผู้ประกันตนได้รับบริการทางการแพทย์เชิงรุก
ทั้งนี้ เพื่อการค้นหาผู้ประกันตนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในสถานประกอบการ และเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจไปต่อโดยไม่ต้องหยุดการผลิต ค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรอง กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมออกให้ทั้งหมด สำหรับจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามระดับความรุนแรงที่ ศบค.มีคำสั่ง
นายสุชาติ กล่าวอีกว่า ในวันนี้ เป็นวันแรกในการดำเนินการเชิงรุก เพื่อบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปยังสถานประกอบการตรวจคัดกรองแบบ PCR ให้ลูกจ้างที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ COVID-19 ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อให้แก่แรงงานในสถานประกอบการพื้นที่ควบคุมสูงสุด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อแต่ละจังหวัดที่มีพื้นที่ควบคุมสูงสุด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร โดยลูกจ้างที่เข้ารับการตรวจจะทราบผลภายใน 6-8 ชั่วโมง ซึ่งพบเชื้อจะต้องเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดต่อไป
รมว.แรงงาน ขอผู้ประกอบการ ร่วมมือนำแรงงานผิดกฎหมายขึ้นทะเบียนถูกต้อง
7 ม.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 1/2564 ว่า นายกรัฐมนตรี สั่งการและกำชับให้กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย แก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งอยู่ในระหว่างการผ่อนผัน แต่ต้องยอมรับความจริงว่า การที่จะบอกให้สถานประกอบการนำแรงงานทั้งหมดมาตรวจโควิด-19 เพื่อตรวจสอบควบคุมโรค คงไม่มีใครกล้านำมาให้ตรวจทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีมาตรการออกมาเพื่อนำเข้าสู่ระบบ เพื่อไม่ให้สถานประกอบการขาดแรงงาน ขณะเดียวกันจะได้มีการตรวจคัดกรองโรคอย่างเข้มงวด จากนั้นแรงงานทั้งหมดจะเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย หรือแรงงานที่อยู่ใต้ดินให้ขึ้นมาอยู่บนดินอย่างถูกต้อง ถือเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น จากนั้นก็จะมีการแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาวต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำแผน
เมื่อถามว่า ปัจจุบันการจ้างงานในส่วนของแรงงานประมงมีความขาดแคลนจำนวนมากจะแก้ปัญหาอย่างไร นายสุชาติ กล่าวว่า เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ทางสมาคมประมงได้มาพบและขอให้ผ่อนผันเพราะแรงงานประมงไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามแรงงานประมงทุกคนที่มีอยู่ผ่านการคัดกรองอย่างถูกต้อง และยืนยันว่าไม่มีผิดกฎหมายอย่างแน่นอน แต่เมื่อคนงานกลับประเทศปัญหาการขาดแคลนแรงงานย่อมเกิดขึ้น ซึ่งในขณะนี้เรายังอนุญาตให้นำเข้าไม่ได้ เพราะการที่จะอนุญาตให้นำคนจากต่างประเทศเข้ามาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ความพยายามนำแรงงานที่เข้ามาแบบผิดกฎหมายที่มีอยู่ในประเทศไทย เข้าสู่ระบบก็จะเป็นประโยชน์กับกลุ่มประมง เพราะหลังจากทำบัตรสีชมพูเสร็จ จะสามารถเข้าสู่แรงงานประมงได้ เสียเงินอีกเพียง 100 บาท เพื่อขึ้นทะเบียนประจำเรือ
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 15 มกราคม-13 กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่รัฐบาลผ่อนผันให้กับผู้ประกอบการที่มีแรงงานไม่ถูกต้องมาขึ้นทะเบียน และหลังจากวันที่ 13 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป รัฐจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือ เราจะทำทุกอย่างเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง
"แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ที่อยู่ตามสถานประกอบการต่างๆ หรือตลาด ถือเป็นสิ่งที่อยู่ปลายเหตุ เราจึงต้องเอาของปลายเหตุขึ้นมาให้ได้ เพื่อให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย" นายสุชาติ กล่าว
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 7/1/2564
'ไทยยูเนี่ยน' เผยได้ตรวจหาเชื้อให้กับพนักงาน 23,630 คน หรือกว่า 85% ของพนังงานทั้งหมดที่ทำงานในสมุทรสาคร พบติดเชื้อ 69 คน หรือคิดเป็น 0.29%
นายธีรพงศ์ จันศิริประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ TU เปิดเผยว่า จากข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ตั้งโรงงานหลักของ บริษัท และบริษัทในเครือในจังหวัดสมุทรสาคร บริษัทขอรายงานสถานการณ์ปัจจุบันต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนดังนี้ ทั้งนี้วันที่ 5 มกราคม 2564 บริษัทได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับพนักงานของบริษัททุกคนในจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 23,630 คน หรือมากกว่าร้อยละ 85 จากจำนวนพนักงานที่ปฏิบัติงานในจังหวัดสมุทรสาครทั้งสิ้น 27,552 คน และได้รับผลยืนยันจากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี PCR ว่าติดเชื้อโควิด-19 เพียงร้อยละ 0.29 หรือ 69 คน เท่านั้น
บริษัทได้ดำเนินการตามมาตรการที่รัฐกำหนด กล่าวคือแยกพนักงานดังกล่าวออกเป็นสองส่วน คือ หากไม่มีอาการ ให้กักตัวที่บ้านหรือในสถานที่ที่บริษัทเตรียมไว้ พร้อมการติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิดและหากมีอาการ ให้เข้ารับการรักษาตามขั้นตอนของภาครัฐอย่างครบถ้วน สำหรับการตรวจพนักงานครบทั้งจำนวน คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ บริษัทได้ปฏิบัติตามระเบียบวิธีและแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข โดยพนักงานที่มีการติดต่อกับผู้ติดเชื้อนั้นอยู่ในช่วงกักตัวและหน่วยงานของรัฐมีการติดตามผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง บริษัทจะยังคงติดตามสถานการณ์และประสานงานกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด
สำหรับมาตรการและขั้นตอนต่างๆ ที่ชัดเจนในการดูแลผู้ที่ติดเชื้อ ยังรวมไปถึงการดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบในขณะที่กักตัวตามแนวทางของภาครัฐ มีการระบุผู้ใกล้ชิดผู้ที่ติดเชื้อและตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติม ตลอดจนการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ big cleaning ในบริเวณต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงงาน สิ่งที่สำคัญอีกประการคือ โรงงานของบริษัททุกแห่งยังคงเปิดดำเนินการด้วยกำลังการผลิตปกติ และสามารถส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนด เนื่องจากจำนวนพนักงานที่ได้รับผลกระทบมีอัตราและจำนวนที่น้อยมาก
บริษัทให้ความสำคัญสูงสุดในด้านสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน คู่ค้า ผู้บริโภคและชุมชนโดยรอบ และมีการเพิ่มมาตรการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยมีมาตรการคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาปฏิบัติงานที่โรงงาน แม้ว่าการผลิตยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง แต่งดการประชุมติดต่อระหว่างกัน ซึ่งครอบคลุมทั้งพนักงานของบริษัทและผู้ที่มาติดต่อ ยกเว้นธุรกรรมที่จำเป็น ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากคณะผู้บริหารของบริษัทก่อนเท่านั้น
นอกจากนี้ บริษัทยังมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายพนักงานภายในโรงงาน และให้ฝ่ายสนับสนุนต่างๆ ทำงานจากบ้าน มีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อต่างๆ ในบริเวณสถานที่ปฏิบัติงาน รวมถึงให้พนักงานปฏิบัติตามข้อแนะนำ ด้านสุขภาพและความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดบริษัทยังมีแผนการเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ อาทิ การฝึกซ้อมรับมือสถานการณ์ต่างๆ และมีแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทได้ดำเนินการตามมาตรฐานสูงสุดในด้านสุขภาพและความปลอดภัยเพื่อพนักงาน การดำเนินงานและผลิตภัณฑ์ของบริษัทอย่างเต็มที่ และจากรายงานองค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ระบุว่าไม่มีความเสี่ยงที่เกิดการแพร่เชื้อผ่านผลิตภัณฑ์อาหารหรือบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของบริษัทที่เข้มงวดในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อป้องกันการปนเปื้อนใดๆ รวมถึงไวรัสและการติดเชื้อต่างๆ อีกด้วยจึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณาการเผยแพร่ข้อมูลต่อผู้ลงทุนต่อไป
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 6/1/2564
เมียนมาขอให้แรงงานในไทยอย่าเพิ่งกลับประเทศ
อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านแรงงานของเมียนมา และองค์กรด้านแรงงานของเมียนมา ขอให้แรงงานชาวเมียนมาที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย อย่าเพิ่งเดินทางกลับเมียนมา ในช่วงระหว่างที่ไทยประสบกับสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้การเดินทางกลับเมียนมาเป็นเรื่องยากลำบาก
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 5/1/2564
ลดส่งเงินสมทบ 3 เดือน-เยียวยาว่างงานสุดวิสัยจ่ายครึ่ง
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รอบใหม่ โดยกำหนดให้ลดเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค. - มี.ค.2564
สำหรับอัตราเงินสมทบกองทุน ตามมาตรา 33 ให้ลดเหลือร้อยละ 3 ทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน แต่ฝ่ายรัฐยังส่งเงินสมทบในอัตราเดิม ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ส่งเงินสมทบจากเดิมเดือนละ 432 บาท เหลือเดือนละ 278 บาท
ส่วนการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย หรือ โรคระบาด สำหรับลูกจ้างผู้ประกันตนที่มีเงินสมทบครบ 6 เดือน แต่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัว หรือนายจ้างหยุดประกอบกิจการ ลูกจ้างจะได้รับสิทธิทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ตลอดระยะเวลากักตัวแล้วแต่กรณี แต่ไม่เกิน 90 วัน
เช่น ผู้ที่มีฐานเงินเดือน 15,000 บาท จะได้รับเงินเยียวยา 7,500 บาท ซึ่งมาตรการนี้ครอบคลุมทั้งประเทศ ไม่ใช่เพียง 28 จังหวัดตามที่มีประกาศสั่งให้หยุดกิจการ และสามารถขอรับสิทธิประโยชน์โดยกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th โดยต้องระบุเบอร์โทรศัพท์ติดต่อและเลขบัญชีธนาคาร
ศธ.ออกประกาศให้ข้าราชการ 28 จังหวัด ทำงานที่บ้าน 4 ม.ค.-17 ก.พ. 2564
นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนาม ในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่องการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โดยการปรับลดเวลาและวันทำงานของบุคลากรในสังกัดและในกำกับของ (ศธ.) ด้วยปรากฏว่ามีการแพทยระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ระลอกใหม่ขึ้นและแพร่กระจายในหลาย พื้นที่ของประเทศไทยทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมจำกัดการแพทยระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ศธ.จึงประกาศ ศธ. ลงวันที่ 2 มกราคมพ.ศ. 2564 เรื่องให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของศธ. ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษให้สถานศึกษาในเขต 28 จังหวัดปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษตั้งแต่วันจันทร์ที่สี่มกราคมถึงวันอาทิตย์ที่ 31 มกราคมตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้าย
ศธ. โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รวม.ศธ.) จึงกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 โดยการปรับลดเวลาและวันทำงานของบุคลากรในสังกัดและในกำกับของ ศธ.ในเขตจังหวัดทั้ง 28 เขตจังหวัดดังกล่าวดังต่อไปนี้
1. ให้ผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ.ที่มีสถานที่ทำงานในเขต 28 จังหวัดดังกล่าว มอบหมายให้บุคลากรในสังกัดปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัยตามความเหมาะสมและส่งเสริมให้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ตในการปฏิบัติงานทุกชนิดให้เปิดเครื่องมือสื่อสารเพื่อให้สามารถติดต่อได้ตลอดเวลาและให้ทุกหน่วยงานจัดบุคลากรหมุนเวียนมาปฏิบัติงานณสถานที่ทำงานไม่เกินร้อยละ 25 ของบุคลากรทั้งหมดโดยให้คำนึงถึงบุคลากรที่มีความจำเป็นสำหรับงานให้บริการประชาชนเป็นสำคัญ
2. กรณีบุคลากรในสังกัด มีที่พักอาศัยอยู่ในเขต 28 จังหวัด ตามวรรคแรกและจะต้องเดินทางไปปฏิบัติราชการทั้งปกติและกรณีเฉพาะนอกเขต 28 จังหวัดดังกล่าวให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องสั่งให้บุคลากรนั้นปฏิบัติการ ณ ที่พักอาศัยตามแนวทางในข้อที่ 1 กรณีบุคลากรในสังกัดมีที่พักอาศัยอยู่นอกเขต 28 จังหวัดตามวรรคแรกและต้องเดินทางไปปฏิบัติราชการทั้งในกรณีปกติและกรณีเฉพาะในเขต 28 จังหวัดดังกล่าวให้ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง
3. ให้ผู้บริหารแต่ละหน่วยงานกำหนดวิธีการที่ชัดเจนและเหมาะสมในการมอบหมายงานให้บุคลากรในสังกัดปฏิบัติงานที่พักอาศัยรวมถึงรายงานผลที่ปฏิบัติไปในช่วงที่ไม่ได้มาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำงานโดยคำนึงถึงเป้าหมายการดำเนินงานของงานที่ได้รับมอบหมายเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ในระหว่างที่กำหนดให้บุคลากรปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัยโดยให้มาทำงาน ณ สถานที่ทำงานไม่เกินร้อยละ 25 ตามข้อหนึ่งและข้อสองนั้นในส่วนของผู้บริหารสถานศึกษาครูและอาจารย์ในสถานศึกษาต้องกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางที่ ศธ. กำหนด เช่น การสื่อสารแบบทางไกล หรือ ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้นหากไม่สามารถจัดการเรียนการสอนโดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้จัดการเรียนการสอนโดยใบสั่งงาน หรือ มอบหมายงานตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องเข้าเรียนทั้งนี้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 มกราคน ถึงวันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม
รมว.ยุติธรรม เล็งปั้นอาชีพ ‘หมอดู’ ให้นักโทษ สร้างรายได้ สั่งเรือนจำเพิ่มวิชาโหราศาสตร์
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564 ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมราชทัณฑ์ เพื่อรับฟังปัญหา รายงานสรุปผลการดำเนินงานปี 2563 และติดตามนโยบาย โดยมี ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีรัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม นายวิทยา สุริยะวงค์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ คณะกรรมการราชทัณฑ์ และข้าราชการ ร่วมประชุม
โดยนายอายุตม์ได้รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2563 ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คือ 1.การพัฒนาเแนวทางบริหารจัดการสาธารณูปโภค เช่น การอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาพื้นที่เรือนจำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสังคม การจัดอบรมภาษาต่างประเทศ โดยภาษาอังกฤษมี 23 เรือนจำ ทัณฑสถาน ผู้ผ่านการอบรม 2,038 คน ภาษาจีน 3 เรือนจำ ทัณฑสถานผู้ผ่านการอบรม 169 คน และการจัดอบรมบัญชีครัวเรือนให้ผู้ต้องขัง 16 เรือนจำ 1,494 คน การฝึกวิชาชีพเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ 4 หลักสูตร คือ การเลี้ยงสุนัขเพื่อพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง รุ่นที่ 1 ในเรือนจำทัณฑสถาน 80 แห่ง ผู้ต้องขังเข้าร่วม 2,484 คนจำนวนสุนัขในโครงการ 337 ตัว การส่งเสริมฝึกวิชาชีพปลูกทุเรียน รุ่นที่ 1 ในเรือนจำทัณฑสถาน 22 แห่ง มีผู้ต้องขังเข้าร่วม 635 คน ทุเรียน 533 ต้น การส่งเสริมการเลี้ยงไก่ชน รุ่นที่ 1 ในเรือนจำทัณฑสถาน 45 แห่ง ผู้ต้องขังเข้าร่วม 1,352 คน จำนวนไก่ชน 312 ตัว โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ(โคขุน) รุ่นที่ 1 ในเรือนจำทัณฑสถาน 23 แห่ง ผู้ต้องขังเข้าร่วม 465 คน จำนวนโคเนื้อ(โคขุน) 107 ตัว
นายอายุตม์กล่าวอีกว่า นโยบายกรมราชทัณฑ์ 2564 คือ 1.การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้เป็นมาตรฐาน พัฒนาสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ ทั้งด้านเรือนนอน โรงเลี้ยงอาหาร สถานพยาบาล และการกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูล 2.การแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ จัดทำข้อมูลพื้นที่และอัตราความจุของเรือนจำทัณฑสถานทั่วประเทศให้เป็นปัจจุบัน การจัดทำเตียงนอน 2 ชั้น การพักการลงโทษกรณีปกติและกรณีมีเหตุพิเศษ การเลื่อนชั้นนักโทษเด็ดขาด 3.พัฒนาองค์กรให้ทันสมัยและโปร่งใส ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมันใหม่ ใช้ระบบขายสินค้าและเงินฝากผู้ต้องขังด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ติดตั้งระบบเยี่ยมญาติทางไกลด้วยแอปพลิเคชันไลน์ และการใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ พัฒนาบุคคลาการมีการอบรมให้ความรู้ให้ทันสมัย และ 4.การคืนคนดีสู่สังคมและติดตามผู้พ้นโทษ
ด้านนายสมศักดิ์กล่าวว่า สถิติที่ผ่านมา มีผู้ต้องขังส่วนหนึ่งประมาณ 35% อยากทำงาน แต่ไม่มีงานอะไรให้เขาทำ ส่วนอีก 15% ไม่อยากทำงานและกลับไปทำผิดซ้ำอีก หากเราไม่มีอะไรทำให้เขาอยากทำงานหรือประพฤติตนเป็นคนดี ก็ยากที่จะปรับเปลี่ยนเขา ตนได้เคยไปติดตามผู้ต้องขังที่เข้าเข้าออกเรือนจำ 8-9 ครั้ง เพราะเขาไม่รู้จะทำอะไร กลับไปติดคุกสบายกว่าอย่างน้อยก็มีข้าวกิน ซึ่งหากเราไม่รีบแก้ปัญหาจะเสียเวลาและเปล่าประโยชน์ในการทำงาน เราต้องพยายามทำอะไรที่เกิดประโยชน์ได้ ในส่วนของการสร้างอาชีพ อย่างการเลี้ยงไก่ชน คนอาจจะมองดูเหมือนเป็นการพนัน แต่ตนพยายามให้เขาเห็นในมุมที่เป็นประโยชน์
“ผมพยายามส่งเสริมวิชาชีพให้ผู้ต้องขัง คนกลุ่มนี้จะได้มีโอกาส มีที่ยืนในสังคม เราต้องลดสถิติผู้กระทำผิดซ้ำให้ได้ เราผลักดันกันเต็มที่ทั้ง การเรียนการสอน การเลี้ยงสัตว์ ที่ไปทำอาชีพได้ รวมถึงการฝึกเพาะปลูก เช่น การปลูกทุเรียน ที่คนส่วนใหญ่ปลูกแล้วตาย เรามีเรือนจำหลายจังหวัดมีพื้นที่ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ หากปลูกแล้วมีผลผลิต แสดงว่าปลูกได้ ชาวบ้านก็จะได้ปลูกตาม เป็นการนำร่อง จากนี้ต้องฝากราชทัณฑ์เพิ่มหลักสูตรวิชาดูหมอ เพราะมีต้นทุนที่ต่ำมาก เมื่อก่อนผมคิดว่าขายหมูปิ้งลงทุนน้อยสุดแล้ว แต่หมอดูมีไพ่แค่ 2 สำรับลงทุนประมาณ 500 บาท ก็เป็นอาชีพได้แล้ว จึงอยากให้กรมราชทัณฑ์ไปเพิ่มเติมตรงนี้ หัดให้ผู้ต้องขังนั่งสมาธิ และอ่านหนังสือ โหราศาสตร์ ขณะที่การขายของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องเป็นมาตรฐาน และพยายามยกระดับให้เป็นแบรนด์เนมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น” นายสมศักดิ์กล่าว
เผย อว. เสนอ ครม. ให้ขึ้นเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว
นายเชษฐา ทรัพย์เย็น ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เปิดเผยว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ได้หารือและมีมติเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปึงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรือแหล่งงบประมาณตามที่เห็นควร เพื่อแก้ไขเยียวยาให้กับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2554 เป็นจำนวน 35,984 คน เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 7,026,125,778 บาท เป็นการเพิ่มเงินเดือนร้อยละ 8 สำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าศาสตราจารย์หรือร้อยละ 3 สำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ แล้วแต่กรณี วันที่ 31 มี.ค. 2554 ของแต่ละราย มาปรับเข้าไปในอัตราเงินเดือนปัจจุบัน กรณีข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งยังคงสถานภาพอยู่ในปัจจุบันซึ่งถือเป็นการปรับฐานเงินเดือน
นายเชษฐา กล่าวต่อว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำเงินเดือนร้อยละ 8 ของข้าราชการมหาวิทยาลัยและครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีมานานตั้งแต่ปี 2554 และที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) และองค์กรเครือข่าย เช่น ชมรมข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ชขอท.) ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตลอด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ อว.รับทราบปัญหา และเร่งผลักดัน กระทั่งที่ประชุมก.พ.อ.มีมติแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำ จากนี้ต้องรอการพิจารณาของ ครม.ถือเป็นข่าวดีรับปีใหม่ 2564
ประกันสังคมเตรียมจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรหลังปรับเพิ่มจาก 600 บาท เป็น 800 บาทในเดือน เม.ย. 2564 เพื่อปรับฐานข้อมูลให้ถูกต้อง
นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยถึง การปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรให้กับผู้ประกันตน ว่า จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา เรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของสำนักงานประกันสังคม ให้แก่ ผู้ประกันตนในระบบกองทุนประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2564 โดย 1 ในของขวัญที่ได้รับการเห็นชอบ คือ การปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรให้กับบุตรของผู้ประกันตน ที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี ให้มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มจากเดิมเดือนละ 600 บาท เป็นเดือนละ 800 บาทต่อคน
โดยจ่ายคราวละไม่เกิน 3 คน ซึ่งขณะนี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ประกาศกฎกระทรวง เรื่อง การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตน และภาคแรงงานให้สามารถเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาประเทศชาติ
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวแจงต่อไปว่า สำหรับการปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจากเดิม 600 บาท เป็น 800 บาท ในครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินในส่วนที่ปรับเพิ่มขึ้นของงวดเดือน ม.ค. 2564 ในวันที่ 30 เม.ย. 2564 เนื่องจากระบบตัดจ่ายเงินกรณีสงเคราะห์บุตรของสำนักงานประกันสังคมที่กำหนดให้การตัดจ่ายเงินย้อนหลัง 3 เดือน เพื่อปรับฐานข้อมูลผู้ประกันตนให้ถูกต้องก่อนการตัดจ่าย ผู้ประกันตนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th
สภาองค์การนายจ้างคาดปี 2564 แรงงานไทยว่างงานสะสม 2.9 ล้านคน
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมการจ้างงานในปี 2564 ยังไปในทิศทางเดียวกับไตรมาส 4/2563 คือมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากภาคการส่งออกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น การนำเข้าวัตถุดิบกลับมาติดลบต่ำสุดในรอบ 9 ปี ประกอบกับหากพิจารณาจากอัตราการใช้กำลังผลิต (ซียูพี) ของภาคอุตสาหกรรมไทยเฉลี่ย 63-65% จากที่ต่ำสุดราว 52% แต่ก็ยังคงเป็นอัตราการผลิตที่ทำให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างไม่คิดที่จะเพิ่มอัตรากำลังคนแต่อย่างใด และยังคงดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดเป็นหลัก แต่ถือเป็นผลดีต่อการประคองการจ้างงานในภาคส่งออก ส่วนในเรื่องของค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ขณะนี้ มองว่าแรงงานส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการขึ้นของเงินเดือนมากนัก เพราะมีความกังวลในเรื่องของการมีงานทำและการลดลงของเงินเดือนมากกว่า
“โดยปี 2564 คาดว่าอัตราการว่างงานของแรงงานไทยยังคงสะสมอยู่ในระดับ 2.9 ล้านคน ปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามทิศทางเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวมากขึ้น แต่จะเป็นลักษณะของการค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยที่อาศัยการท่องเที่ยวจากต่างชาติเป็นหลักยังคงอยู่ในภาวะที่ชะลอตัวเช่นเดิม” นายธนิต กล่าว
นายธนิต กล่าวว่า ถึงแม้ภาพรวมตลาดแรงงานยังมีโอกาสฟื้นตัวขึ้น แต่ยังมีความเปราะบาง ตามทิศทางเศรษฐกิจและยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนสูงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานไทยที่มี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.แรงงานในตลาดแรงงานปัจจุบัน 2.แรงงานที่ตกงาน และ3.แรงงานใหม่ที่เตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสูง เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างต้องเร่งปรับลดรายจ่ายลงเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด
ปัจจุบันอัตราแรงงานไทยมีจำนวนประมาณ 37 ล้านคน ซึ่งใน 50% นี้เป็นแรงงานในระบบประกันสังคม ซึ่งมีแนวโน้มว่าแรงงานอายุ 45-50 ปี มีทิศทางที่จะถูกให้เข้าโครงการสมัครใจลาออก หรือเออร์ลี่รีไทร์ มากขึ้น และแรงงานเหล่านี้ เมื่อเข้าโครงการแล้วจะไม่ปรากฏเป็นผู้ว่างงานในการจัดเก็บสถิติว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ยึดคำนิยามขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศที่ยังคงไม่ปรับเปลี่ยน เช่นเดียวกับแรงงานที่มีอายุการทำงานเพียง 1 ปี ก็เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายในการลดจำนวนคนของนายจ้างเช่นกัน เนื่องจากมองว่ามีประสบการณ์น้อยและจ่ายชดเชยต่ำ ส่วนแรงงานที่ตกงานอยู่แล้วกำลังจะกลายเป็นปัญหาหนัก เพราะอาจกลายเป็นแรงงานที่ตกงานถาวรหากรัฐบาลไม่มีมาตรการใด ๆ ที่จะเข้ามาดูแลเพิ่มเติม
นายธนิต กล่าวว่า ส่วนแรงงานใหม่เสี่ยงตกงานสะสมซึ่งเป็นนักศึกษาจบใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามาในระบบอีกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประมาณ 5 แสนคน จะส่งผลให้เมื่อรวมกับนักศึกษาที่จบไปแล้วปี 2563 แต่ยังไม่มีงานทำประมาณเกือบ 4 แสนคน หรือมียอดสะสมประมาณ 9 แสนคน แม้ในจำนวนนี้จะตรงต่อความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลแต่เชื่อว่าปัจจุบันยังมีความต้องการไม่มาก ซึ่งความต้องการอาจเพิ่มขึ้นในปี 2565-2566 เมื่อถึงตอนนั้นจำนวนแรงงานที่จบใหม่อาจไม่พอต่อความต้องการของตลาดดิจิทัลก็ได้ เนื่องจากนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นสาขาที่ไม่ตรงต่อความต้องการตลาดอยู่ดี