ปัจจุบันแรงงานใน “สายอาชีวะ” ยังคงขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับความต้องการแรงงานของประเทศ โดยจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่า ในปี 2563 มีความต้องการแรงงานจำนวน 351,957 ราย และตั้งแต่ช่วงปี 2563-2567 คาดว่าความต้องการแรงงานจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.75 ล้านคน ซึ่งการขาดแคลนดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่ผ่านมาภาครัฐได้มีแนวทางในการปฏิรูปการศึกษายกกำลังสอง โดยปลดล็อกการเรียนการสอนในรูปแบบเดิมที่ไม่ตอบโจทย์การทำงาน หันมาเชื่อมโยงความรู้และทักษะที่จำเป็นและสอดคล้องเข้าสู่ระบบการศึกษา นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาทวิภาคี เน้นการบูรณาการทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรเอกชน ในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนกำลังคนในทุกมิติ เพื่อร่วมกันผลิตบุคลากรและยกระดับศักยภาพกำลังคนอาชีวศึกษา ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
โครงการ “อาชีวศึกษาระบบทวิภาคี” ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีเป้าหมายในการมุ่งให้การศึกษาสายอาชีวะแก่เยาวชน อันจะนำไปสู่การเติบโตของบุคลากรด้านอาชีวะในอนาคตด้วยเช่นกัน
“นายแพทย์มงคล ณ สงขลา” กรรมการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “บริษัท ไลอ้อน มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจคู่คุณธรรม ด้วยระบบการบริหารจัดการองค์กรที่เรียกว่า “องค์กรคนดี” หรือ Humanized Organization เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนในองค์กรในการทำความดีและรู้สึกยินดีที่จะแบ่งปัน ซึ่งโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี นับเป็นโครงการที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม”
สำหรับโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ไลอ้อน ประเทศไทย ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี 2560 มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนไทย โดยผลิตนักศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีที่เป็นเลิศด้านคุณธรรมและปฏิบัติงานได้จริง ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดรับกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบัน ได้สร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนมาแล้ว 4 รุ่น รวมทั้งสิ้น 48 คน
ในรูปแบบการดำเนินการ ไลอ้อน ประเทศไทย ได้ประสานความร่วมมือกับ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี วิทยาลัยการอาชีพแกลง จ.ระยอง ในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม สาขาวิชาซ่อมบำรุง และสาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์ เรียนโดยไลอ้อนและวิทยาลัยเป็นผู้สอน ซึ่งการสอนนั้นจัดขึ้นที่ไลอ้อน ประเทศไทยทั้งหมด
ทั้งนี้ ในส่วนของรูปแบบการเรียนการสอน จะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่ 1 วิชาพื้นฐานสามัญ โดยอาจารย์จากวิทยาลัยเป็นผู้สอน ส่วนที่ 2 วิชาชีพ โดยอาจารย์จากวิทยาลัย และครูฝึกจาก ไลอ้อนเป็นผู้สอน ซึ่งในบางรายวิชาสามารถนำมาสอนที่โรงงานได้ ทางครูฝึกที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วเป็นผู้สอนตามหลักสูตรและสอดแทรกความรู้จากหน้างานจริงลงไปเพื่อให้นักเรียนได้เห็นภาพมากขึ้น และส่วนที่ 3 วิชาทักษะชีวิต โดยครูจิตอาสาและกลุ่มกิจกรรมองค์กรคนดีของไลอ้อน
นอกจากนี้ ไลอ้อน ยังสนับสนุนทุนการศึกษาแก่กลุ่มนักเรียนที่มีศักยภาพให้เข้าถึงระบบการศึกษา และให้สวัสดิการระหว่างเรียน ไม่ว่าจะเป็น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าบำรุงการศึกษา อุปกรณ์การเรียน ชุดนักศึกษา ชุดปฏิบัติการ รถรับส่ง ค่าสาธารณูปโภค ค่าประกันอุบัติเหตุ ที่พัก และรวมถึงร่วมใช้พื้นที่สวัสดิการพนักงาน อาทิ ห้องออกกำลังกาย ลานเล่นกีฬา พักผ่อนในสวนหย่อม เป็นต้น โดยเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับใบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และได้ใบรับรองการผ่านงาน รวมทั้งยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับบริษัทอีกด้วย
เรียกได้ว่า เยาวชนที่ได้เข้ามาเรียนในโครงการนี้ นอกจากจะได้ความรู้ในการเรียนวิชาพื้นฐานสามัญ และได้เพิ่มพูนทักษะวิชาชีพกับมืออาชีพในสถานที่จริงแล้ว สิ่งที่แตกต่างที่ไลอ้อนมีให้คือ การเติม “วิชาทักษะการใช้ชีวิต” ที่เน้นการปลูกฝังด้านคุณธรรมและจริยธรรม สำหรับการนำปรับใช้ได้ในทุกช่วงของชีวิต