Thursday, February 24, 2011

การเลิกจ้างที่เป็นธรรมช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (ตอน: 2) "แผนการโนอาห์" สร้างแรงงานสู่ผู้ประกอบการ

วิกฤตโลกระลอกล่าสุดนี้ การที่นายจ้าง ผู้ประกอบการ นำเอา "วิกฤต" มาเป็นข้ออ้างในการปลดแรงงาน ซึ่งถึงแม้เราจะเลี่ยงการเลิกจ้างไม่ได้ แต่การเลิกจ้างอย่างเป็นธรรมต่อแรงงาน ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงวิกฤต โดยในรายงานชุด "การเลิกจ้างแรงงานที่เป็นธรรมในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ" จะนำเสนอกรณีศึกษาของการเลิกจ้างแรงงานของบริษัทต่างๆ และมาตรฐานสากลที่ว่าด้วยการเลิกจ้างที่เป็นธรรม



การเลิกจ้างที่เป็นธรรมช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (ตอน: 2) "แผนการโนอาห์" สร้างแรงงานสู่ผู้ประกอบการ

วิทยากร บุญเรือง

บริษัท South African Breweries (SAB) เป็นบริษัทจดทะเบียนในลอนดอน ทำธุรกิจเบียร์ เครื่องดื่ม โรงแรมและธุรกิจเสี่ยงโชคใน 21 ประเทศในแถบแอฟริกา เอเชียและยุโรป บริษัท SAB ที่ต้องอยู่ในประเทศแอฟริกาใต้ เป็นหน่วยปฏิบัติการที่ใหญ่ที่สุดและเป็นฐานสำคัญที่นำไปสู่การขยายธุรกิจทั่วโลก

บริษัทมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงมากโดยต้องการเป็นหนึ่งในห้าบริษัทของโลกในด้านเครือข่ายคุณค่า ตั้งแต่การผลิต จัดจำหน่าย ไปจนถึงการสนับสนุนงานบริการ เช่น การเงิน การจัดระบบ การจัดการทรัพยากรมนุษย์ การจัดซื้อจัดหา และการตลาด ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในการปรับปรุงผลิตภาพและมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้บริษัทจำเป็นต้องมีความสามารถในการแข่งขันเพื่อการอยู่รอดและเติบโตของบริษัท ความต้องการเป็นผู้ประกอบการระดับโลกทำให้บริษัทต้องปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งนำไปสู่การปรับระบบงานหรือตัดงานบางอย่างทิ้งไป ในปี ค.ศ. 1996 บริษัท SAB และสหภาพแรงงาน FAWU (Food and Allied Workers Union) ทำการเจรจากันเนื่องจากความกังวลเรื่องการปรับลดพนักงาน จากการเจรจานี้เองทำให้เกิด "แผนการโนอาห์" (Project Noah) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทางเลือกให้กับพนักงานที่ถูกปลดออกจากงาน

บริษัท SAB และ FAWU เข้าประชุมปฏิบัติการที่สำนักงานใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ การที่ภาคธุรกิจก็ดี สหภาพแรงงานก็ดี ต่างติดต่อประสาน ILO ในระดับนานาชาตินี้แสดงให้เห็นว่าโลกแห่งการแข่งขันนี้มีการแข่งขันเข้มข้นรุนแรงมาก ซึ่งจำเป็นจะต้องพัฒนากลยุทธ์สร้างสรรค์ เพื่อช่วยพัฒนาสถานประกอบการขนาดเล็กที่เกิดขึ้นใหม่ให้สามารถอยู่รอดได้อย่างเร่งด่วน จากการประชุมดังกล่าว บริษัท SAB จึงได้กำหนดเจตจำนง หลักการและเหตุผลของแผนการโนอาห์ขึ้น

หลักการสำคัญของแผนการโนอาห์ คือจัดตั้งศูนย์ฝึกในเมือง ในประเทศแอฟริกาใต้ ที่บริษัท SAB คิดว่าจะมีการตัดทอนพนักงานของบริษัท โดยศูนย์เหล่านี้จัดขึ้นแปดเดือน บริษัทจ้างเจ้าหน้าที่ที่มาจากที่อื่นมาทำหน้าที่ให้บริการผู้ที่กำลังจะถูกปลดออกจากงาน แนะนำด้านการทำธุรกิจ และให้คำปรึกษาด้านสภาพจิตใจ

แผนการโนอาห์นี้ไม่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงใดๆ ระหว่างบริษัท SAB กับสหภาพหรือระบบแรงงานสัมพันธ์ทั้งสิ้น ฝ่ายบริหารของบริษัทกับสหภาพแรงงานก็ยังคงเจรจาเรื่องการปลดคนงานและค่าชดเชยต่อไป โดยไม่เกี่ยวข้องกับแผนการโนอาห์ แม้บริษัทจะเป็นผู้สนับสนุนการเงินและบริการทุกอย่างให้กับผู้ถูกปลดออกจากงานแต่บริษัทและแรงงานเหล่านี้ก็ไม่มีข้อพันธะสัญญาอะไรกัน ฉะนั้นผู้ถูกปลดออกจากงานจึงสามารถเลือกใช้บริการของแผนการโนอาห์ได้อย่างสมัครใจ แต่แผนการโนอาห์นี้ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะมีงานทำ แต่ที่ให้คือบริการสนับสนุนเพื่อให้ผู้ที่ตกงานสามารถทำงานอย่างอื่นได้

แม้ว่าแผนการโนอาห์จะพบกับอุปสรรคมากมาย แต่ก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เป็นต้นว่าผู้ที่ถูกปลดจากงานและเข้าร่วมแผนการนี้ สามารถเริ่มธุรกิจขนาดกลาง เล็ก รวม 161 ราย มีตั้งแต่เกษตรกรรมถึงภาคการผลิตและบริการ ซึ่งยังประโยชน์มากทั้งแก่ผู้มีงานทำและผู้ไม่มีงานทำในแอฟริกาใต้

แผนการโนอาห์ได้จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ที่สามารถช่วยเกื้อหนุนธุรกิจขนาดเล็กครั้งหนึ่งกว่า 20 รายพร้อมกัน นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดทำศูนย์บ่มเพาะธุรกิจในเขต Eastern Cape ซึ่งเป็นเขตชนบท โดยทำเป็นโครงการร่วมกับรัฐบาล ชุมชนและแรงงาน โดยในเวลาเก้าเดือน สามารถผลิตผู้ประกอบการขนาดเล็กได้ 100 กว่าราย

ที่มา:

Coporates Success Through People: Making International Labours Standards Work For You ( Nikolai Rogovsky And Emily Sims, ILO, 2002)
http://www.ilo.org/public/english/employment/skills/workplace/case/case7.htm

เรื่องที่ได้รับความนิยม